ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โมเลกุลฮีโมโกลบินที่น่าทึ่ง—การออกแบบอันน่าอัศจรรย์

โมเลกุลฮีโมโกลบินที่น่าทึ่ง—การออกแบบอันน่าอัศจรรย์

โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​ที่​น่า​ทึ่ง—การ​ออก​แบบ​อัน​น่า​อัศจรรย์

“การ​หายใจ​ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​เหลือ​เกิน กระนั้น​ก็​ดู​เหมือน​ว่า​การ​หายใจ​ซึ่ง​เป็น​การ​สำแดง​เบื้อง​ต้น​ของ​ชีวิต เกิด​ขึ้น​ได้​ก็​เพราะ​อันตรกิริยา​ของ​อะตอม​หลาก​หลาย​ชนิด​ภาย​ใน​โมเลกุล​ขนาด​ใหญ่​ชนิด​หนึ่ง​ที่​ซับซ้อน​อย่าง​ยิ่ง.”—มักซ์ เอฟ. เปรุตซ์ ผู้​ร่วม​รับ​รางวัล​โนเบล​ปี 1962 จาก​การ​ศึกษา​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน

การ​หายใจ ไม่​มี​อะไร​จะ​ง่าย​กว่า​นี้​อีก​แล้ว. พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ค่อย​คำนึง​ถึง​การ​หายใจ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​หายใจ​ก็​ไม่​อาจ​ช่วย​ให้​เรา​มี​ชีวิต​อยู่​ได้​ถ้า​ไม่​มี​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน โมเลกุล​อัน​ซับซ้อน​ซึ่ง​เป็น​ผล​งาน​ชิ้น​เอก​ของ​พระ​ผู้​สร้าง. ฮีโมโกลบิน​ที่​อยู่​ภาย​ใน​เม็ด​เลือด​แดง 30 ล้าน​ล้าน​เซลล์​ของ​เรา​ลำเลียง​ออกซิเจน​จาก​ปอด​ไป​สู่​เนื้อ​เยื่อ​ทุก​ส่วน​ใน​ร่าง​กาย. ถ้า​ไม่​มี​ฮีโมโกลบิน เรา​จะ​ตาย​ทันที.

โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​สามารถ​รับ​โมเลกุล​ออกซิเจน​ขนาด​จิ๋ว​ใน​เวลา​ที่​เหมาะ​สม, รักษา​มัน​ไว้​อย่าง​ปลอด​ภัย​จน​ถึง​เวลา​ที่​เหมาะ​สม, และ​ปล่อย​มัน​ใน​เวลา​ที่​เหมาะ​สม​ได้​อย่าง​ไร? เรื่อง​นี้​ต้อง​อาศัย​กลไก​ทาง​โมเลกุล​ที่​น่า​ทึ่ง​หลาย​อย่าง.

โมเลกุล​ขนาด​จิ๋ว​ที่​เป็น​เสมือน “แท็กซี่”

คุณ​อาจ​มโนภาพ​ว่า​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​แต่​ละ​โมเลกุล​ใน​เซลล์​เป็น​เหมือน​รถ​แท็กซี่​สี่​ประตู​ขนาด​จิ๋ว ซึ่ง​รับ “ผู้​โดยสาร” ได้​สี่​คน​พอ​ดี. แท็กซี่​เหล่า​นี้​ไม่​ต้อง​มี​คน​ขับ เนื่อง​จาก​มัน​เดิน​ทาง​ไป​พร้อม​กับ​เม็ด​เลือด​แดง ซึ่ง​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​ถัง​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน.

การ​เดิน​ทาง​ของ​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​เริ่ม​เมื่อ​เม็ด​เลือด​แดง​มา​ถึง​ถุง​ลม​ใน​ปอด หรือ​เปรียบ​ได้​กับ “ท่า​อากาศยาน.” เมื่อ​เรา​หายใจ​เข้า​ปอด โมเลกุล​ออกซิเจน​ขนาด​จิ๋ว​จำนวน​มหาศาล​ซึ่ง​พึ่ง​เดิน​ทาง​มา​ถึง​ก็​เริ่ม​มอง​หา​แท็กซี่. โมเลกุล​เหล่า​นี้​จะ​แทรกซึม​เข้า​ไป​ใน​เม็ด​เลือด​แดง​อย่าง​รวด​เร็ว. ณ ตอน​นี้​ประตู​ของ​แท็กซี่​ฮีโมโกลบิน​ภาย​ใน​เม็ด​เลือด​แดง​แต่​ละ​เซลล์​กำลัง​ปิด​อยู่. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​นาน​โมเลกุล​ออกซิเจน​ที่​แน่วแน่​โมเลกุล​หนึ่ง​ก็​จะ​แทรก​เข้า​ไป​นั่ง​ใน​รถ​แท็กซี่​ฮีโมโกลบิน​ได้.

ตอน​นี้​เกิด​สิ่ง​ที่​น่า​สนใจ. ภาย​ใน​เม็ด​เลือด​แดง โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​จะ​เริ่ม​เปลี่ยน​รูป​ร่าง. “ประตู” ทั้ง​สี่​ของ​แท็กซี่​ฮีโมโกลบิน​จะ​เปิด​โดย​อัตโนมัติ​ขณะ​ที่​ผู้​โดยสาร​คน​แรก​เข้า​ไป​นั่ง เปิด​ทาง​ให้​ผู้​โดยสาร​อีก​สาม​คน​ขึ้น​ไป​นั่ง​ได้​สบาย ๆ. กระบวนการ​นี้​ซึ่ง​เรียก​ว่า​การ​ร่วม​มือ​กัน มี​ประสิทธิภาพ​ถึง​ขนาด​ที่​ระหว่าง​การ​หายใจ​เข้า​เพียง​ครั้ง​เดียว 95 เปอร์เซ็นต์​ของ “ที่​นั่ง” ใน​แท็กซี่​ทุก​คัน​ใน​เม็ด​เลือด​แดง​จะ​มี​ผู้​โดยสาร​เข้า​ไป​จับ​จอง. รวม​ทั้ง​หมด​แล้ว ฮีโมโกลบิน​ประมาณ 250 ล้าน​โมเลกุล​ใน​เม็ด​เลือด​แดง​เพียง​เซลล์​เดียว​สามารถ​บรรจุ​ออกซิเจน​ได้​ราว ๆ หนึ่ง​พัน​ล้าน​โมเลกุล! ไม่​นาน​เม็ด​เลือด​แดง​ที่​บรรทุก​แท็กซี่​เหล่า​นี้​ก็​จะ​ส่ง​ออกซิเจน​อัน​ล้ำ​ค่า​ไป​ตาม​เนื้อ​เยื่อ​ของ​ร่าง​กาย​ที่​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ออกซิเจน. แต่​คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า ‘อะไร​ป้องกัน​อะตอม​ออกซิเจน​ไม่​ให้​หลุด​ออก​จาก​เซลล์​ก่อน​เวลา​อัน​ควร?’

คำ​ตอบ​คือ​ภาย​ใน​ฮีโมโกลบิน​แต่​ละ​โมเลกุล โมเลกุล​ออกซิเจน​จะ​จับ​ตัว​กับ​อะตอม​ของ​เหล็ก​ที่​รอ​อยู่. คุณ​อาจ​เคย​เห็น​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น​เมื่อ​ออกซิเจน​กับ​เหล็ก​มา​เจอ​กัน​ใน​ที่​ที่​มี​น้ำ. ปกติ​แล้ว จะ​เกิด​เหล็ก​ออกไซด์​หรือ​สนิม. เมื่อ​เหล็ก​เป็น​สนิม ออกซิเจน​จะ​ถูก​ขัง​ไว้​ถาวร​ใน​ผลึก. โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​สามารถ​ทำ​ให้​เหล็ก​กับ​ออกซิเจน​จับ​กัน​หรือ​หลุด​จาก​กัน​ภาย​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​มี​น้ำ​ใน​เม็ด​เลือด​แดง​ได้​อย่าง​ไร​โดย​ไม่​ให้​เกิด​สนิม?

พิจารณา​อย่าง​ละเอียด​ยิ่ง​ขึ้น

เพื่อ​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​นี้ ให้​เรา​พิจารณา​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​อย่าง​ละเอียด​ยิ่ง​ขึ้น. โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​ประกอบ​ด้วย​อะตอม​ของ​ไฮโดรเจน, คาร์บอน, ไนโตรเจน, กำมะถัน, และ​ออกซิเจน​ประมาณ 10,000 อะตอม​ซึ่ง​รวม​ตัว​กัน​อย่าง​ประณีต​รอบ ๆ อะตอม​ของ​เหล็ก​เพียง 4 อะตอม. ทำไม​อะตอม​ของ​เหล็ก​สี่​อะตอม​นี้​จึง​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​มาก​ถึง​เพียง​นั้น?

ประการ​แรก อะตอม​เหล็ก​เป็น​อะตอม​ที่​มี​ประจุ​ไฟฟ้า และ​ต้อง​ถูก​ควบคุม​ให้​ดี. ถ้า​อะตอม​ที่​มี​ประจุ​ไฟฟ้า ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​ไอออน หลุด​ออก​มา มัน​จะ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ได้​มาก​ภาย​ใน​เซลล์. ฉะนั้น ไอออน​เหล็ก​แต่​ละ​อะตอม​ใน​จำนวน​สี่​อะตอม​จะ​ถูก​ยึด​ไว้​ตรง​กลาง​แผ่น​แข็ง​ที่​ช่วย​ป้องกัน. * จาก​นั้น แผ่น​ทั้ง​สี่​จะ​ถูก​ยึด​อยู่​ภาย​ใน​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​อย่าง​ที่​โมเลกุล​ออกซิเจน​สามารถ​เข้า​ไป​ถึง​ไอออน​เหล็ก​ได้ แต่​โมเลกุล​น้ำ​ไม่​สามารถ​เข้า​ไป​ได้. เมื่อ​ไม่​มี​น้ำ ผลึก​สนิม​ก็​เกิด​ขึ้น​ไม่​ได้.

เหล็กใน​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​ไม่​สามารถ​จับ​หรือ​ปลด​ปล่อย​ออกซิเจน​ได้​เอง. แต่​ถ้า​ไม่​มี​อะตอม​ของ​เหล็ก​ที่​มี​ประจุ​ไฟฟ้า​สี่​อะตอม​นี้ โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​ที่​เหลือ​ก็​จะ​ไร้​ประโยชน์. เฉพาะ​เมื่อ​ไอออน​เหล็ก​เหล่า​นี้​ถูก​ยึด​ไว้​อย่าง​เหมาะเจาะ​ใน​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​เท่า​นั้น จึง​สามารถ​ลำเลียง​ออกซิเจน​ไป​ทาง​กระแส​เลือด​ได้.

การ​ปลด​ปล่อย​ออกซิเจน

ขณะ​ที่​เม็ด​เลือด​แดง​ผ่าน​หลอด​เลือด​แดง​เข้า​ไป​ใน​หลอด​เลือด​ฝอย​ตาม​เนื้อ​เยื่อ​ของ​ร่าง​กาย สภาพ​แวด​ล้อม​รอบ ๆ เม็ด​เลือด​แดง​จะ​เปลี่ยน​ไป. ตอน​นี้​อุณหภูมิ​จะ​อุ่น​กว่า​ใน​ปอด ออกซิเจน​จะ​มี​น้อย​กว่า และ​มี​กรด​สูง​กว่า​เนื่อง​จาก​มี​คาร์บอนไดออกไซด์​รอบ ๆ เซลล์. สัญญาณ​เหล่า​นี้​บอก​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​ภาย​ใน​เซลล์ หรือ​รถ​แท็กซี่​ว่า​ถึง​เวลา​ปล่อย​ผู้​โดยสาร​ลง​ได้​แล้ว นั่น​คือ​การ​ปล่อย​ออกซิเจน​ที่​ล้ำ​ค่า.

เมื่อ​โมเลกุล​ออกซิเจน​ออก​จาก​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน มัน​จะ​เปลี่ยน​รูป​ร่าง​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. มัน “ปิด​ประตู” และ​ปล่อย​ออกซิเจน​ไว้​ข้าง​นอก ที่​ซึ่ง​ออกซิเจน​เป็น​ที่​ต้องการ​มาก​ที่​สุด. การ​ปิด​ประตู​ยัง​ช่วย​ไม่​ให้​ฮีโมโกลบิน​จับ​ออกซิเจน​แล้ว​พา​กลับ​ไป​ที่​ปอด. แต่​มัน​จะ​รับ​คาร์บอนไดออกไซด์​กลับ​ไป​แทน.

ไม่​นาน​เม็ด​เลือด​แดง​ที่​ถ่าย​ออกซิเจน​แล้ว​จะ​กลับ​ไป​ที่​ปอด แล้ว​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน​จะ​ปล่อย​คาร์บอนไดออกไซด์​และ​รับ​ออกซิเจน​ที่​ค้ำจุน​ชีวิต​อีก​ครั้ง​หนึ่ง ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​กระบวนการ​ที่​เกิด​ขึ้น​ซ้ำ ๆ หลาย​พัน​ครั้ง​ตลอด​อายุ​ของ​เม็ด​เลือด​แดง​ซึ่ง​ยาว​นาน​ราว ๆ 120 วัน.

เห็น​ได้​ชัด​ว่า ฮีโมโกลบิน​ไม่​ใช่​โมเลกุล​ธรรมดา. มัน​เป็น​อย่าง​ที่​กล่าว​ไว้​ต้น​บทความ​นี้ คือ “โมเลกุล​ขนาด​ใหญ่​ที่​ซับซ้อน​อย่าง​ยิ่ง.” แน่นอน เรา​รู้สึก​ทึ่ง​และ​ขอบคุณ​พระ​ผู้​สร้าง​สำหรับ​การ​ออก​แบบ​โมเลกุล​ที่​ยอด​เยี่ยม​และ​ละเอียด​ถี่ถ้วน​ซึ่ง​ทำ​ให้​ชีวิต​ดำรง​อยู่​ได้!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 12 แผ่น​นี้​เป็น​อีก​โมเลกุล​หนึ่ง​ต่าง​หาก​ที่​เรียก​ว่า​ฮีม. ฮีม​ไม่​ได้​ทำ​จาก​โปรตีน แต่​ประกอบ​กับ​โครง​สร้าง​โปรตีน​ของ​ฮีโมโกลบิน.

[กรอบ/แผน​ภาพ​หน้า 28]

ใส่​ใจ​ดู​แล​ฮีโมโกลบิน​ของ​คุณ​ให้​ดี!

“สภาวะ​ขาด​ธาตุ​เหล็กใน​เลือด” ที่​พูด​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​บาง​แห่ง​ที่​แท้​แล้ว​ก็​คือ​สภาวะ​เลือด​ขาด​ฮีโมโกลบิน. ถ้า​ไม่​มี​อะตอม​เหล็ก​สี่​อะตอม​ที่​จำเป็น​ใน​โมเลกุล​ฮีโมโกลบิน อะตอม​ที่​เหลือ​อีก 10,000 อะตอม​ใน​โมเลกุล​นั้น​ก็​ไม่​มี​ประโยชน์​อะไร. ดัง​นั้น สำคัญ​มาก​ที่​จะ​ได้​รับ​ธาตุ​เหล็ก​อย่าง​เพียง​พอ​โดย​การ​กิน​อาหาร​ที่​มี​ประโยชน์​ต่อ​สุขภาพ. ตาราง​ต่อ​ไป​นี้​บอก​รายการ​อาหาร​ที่​อุดม​ด้วย​ธาตุ​เหล็ก.

นอก​จาก​การ​กิน​อาหาร​ที่​อุดม​ด้วย​ธาตุ​เหล็ก เรา​ควร​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ต่อ​ไป​นี้: 1. ออก​กำลัง​กาย​อย่าง​พอ​เหมาะ​เป็น​ประจำ. 2. ไม่​สูบ​บุหรี่. 3. หลีก​เลี่ยง​การ​สูด​ควัน​บุหรี่​จาก​ผู้​อื่น. ทำไม​ควัน​บุหรี่​และ​ควัน​ยาสูบ​ชนิด​อื่น ๆ จึง​เป็น​อันตราย​มาก?

นั่น​เป็น​เพราะ​ควัน​บุหรี่​เต็ม​ไป​ด้วย​คาร์บอนมอนอกไซด์ สาร​พิษ​ตัว​เดียว​กัน​กับ​ใน​ไอ​เสีย​รถยนต์. คาร์บอนมอนอกไซด์​เป็น​สาเหตุ​ของ​การ​เสีย​ชีวิต​โดย​ไม่​รู้​ตัว​และ​เป็น​วิธี​ที่​บาง​คน​ใช้​ฆ่า​ตัว​ตาย. คาร์บอนมอนอกไซด์​จับ​กับ​อะตอม​เหล็กใน​ฮีโมโกลบิน​ได้​ดี​กว่า​ออกซิเจน​ถึง 200 เท่า. ฉะนั้น ควัน​บุหรี่​จึง​ก่อ​ผล​เสีย​ต่อ​คน​เรา​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว​โดย​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​ไม่​ได้​รับ​ออกซิเจน​เต็ม​ที่.

[แผน​ภาพ]

อาหาร ปริมาณ ธาตุ​เหล็ก (มก.)

กาก​น้ำตาล 1 ช้อน​โต๊ะ 5.0

เต้าหู้​สด 1/2 ถ้วย 4.0

ถั่ว​เลนทิล 1/2 ถ้วย 3.3

มันฝรั่ง 1 หัว​ใหญ่ 3.2

เนื้อ​วัว 85 กรัม 3.2

ถั่ว​แดง 1/2 ถ้วย 2.6

จมูก​ข้าว​สาลี 28 กรัม 2.6

บรอกโคลี 1 ต้น​ขนาด​กลาง 2.1

ลูก​เกด 1/2 ถ้วย 1.6

เนื้อ​ไก่​ที่​เป็น​สี​เข้ม 84 กรัม 1.0

ผัก​ปวยเล้ง 1 ถ้วย 0.8

[แผน​ภาพ​หน้า 26]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

โครง​สร้าง​โปรตีน

ออกซิเจน

อะตอม​เหล็ก

ฮีม

ใน​ปอด​ที่​อุดม​ไป​ด้วย​ออกซิเจน โมเลกุล​ออกซิเจน​จะ​จับ​กับ​ฮีโมโกลบิน

หลัง​จาก​ออกซิเจน​โมเลกุล​แรก​จับ​กับ​ฮีโมโกลบิน​แล้ว รูป​ร่าง​ของ​ฮีโมโกลบิน​จะ​เปลี่ยน​ไป​เล็ก​น้อย ทำ​ให้​จับ​ออกซิเจน​อีก​สาม​โมเลกุล​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว.

ฮีโมโกลบิน​ลำเลียง​โมเลกุล​ออกซิเจน​จาก​ปอด​แล้ว​ปล่อย​ไว้​ใน​เนื้อ​เยื่อ​ของ​ร่าง​กาย​ที่​ต้องการ​ออกซิเจน