ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเดินเรือข้ามหลังคาโลก

การเดินเรือข้ามหลังคาโลก

การ​เดิน​เรือ​ข้าม​หลังคา​โลก

นัก​เดิน​เรือ​ใน​อดีต​ใฝ่ฝัน​ที่​จะ​ค้น​พบ​เส้น​ทาง​เดิน​เรือ​ทาง​เหนือ​ที่​เชื่อม​ระหว่าง​มหาสมุทร​แอตแลนติก​กับ​แปซิฟิก แต่​ต้อง​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​ที่​น่า​พรั่นพรึง นั่น​เป็น​เพราะ​เส้น​ทาง​ใน​มหาสมุทร​อาร์กติก​มี​น้ำ​แข็ง​ขวาง​กั้น​อยู่.

ถึง​กระนั้น ผู้​คน​ก็​ยัง​ต้องการ​ค้น​หา​เส้น​ทาง​ลัด​ข้าม​ขั้ว​โลก​เหนือ. พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 16 โปรตุเกส​และ​สเปน​ได้​ผูก​ขาด​เส้น​ทาง​การ​ค้า​ไป​ยัง​ดินแดน​แถบ​ตะวัน​ออก​ซึ่ง​อ้อม​ทาง​ใต้​สุด​ของ​ทวีป​แอฟริกา​และ​อเมริกา​ใต้. พ่อค้า​ชาติ​อื่น ๆ จำเป็น​ต้อง​หา​เส้น​ทาง​ทาง​เหนือ​หาก​ต้องการ​จะ​มี​ส่วน​แบ่ง​ทาง​การ​ค้า​กับ​โลก​ตะวัน​ออก. หลาย​คน​ได้​พยายาม ต่อ​ไป​นี้​เป็น​บาง​ตัว​อย่าง.

ชาว​อังกฤษ: ใน​ปี 1553 เซอร์ฮิว วิลลาบี​และ​ริชาร์ด แชนเซลเลอร์​ได้​นำ​การ​สำรวจ​ครั้ง​แรก​ของ​อังกฤษ. หลัง​จาก​เรือ​ของ​พวก​เขา​พลัด​หลง​กัน​ใน​พายุ วิลลาบี​จำเป็น​ต้อง​พัก​ช่วง​ฤดู​หนาว​บน​ชายฝั่ง​ที่​ปราศจาก​พืช​พรรณ​ของ​คาบสมุทร​โคลา ทาง​เหนือ​สุด​ของ​รัสเซีย. เนื่อง​จาก​ไม่​พร้อม​รับ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ทารุณ เขา​และ​ลูกเรือ​จึง​เสีย​ชีวิต​ทั้ง​หมด. ส่วน​แชนเซลเลอร์​เทียบ​ท่า​ใน​เมือง​อาร์ฮันเกลสก์. จาก​ที่​นั่น เขา​เดิน​ทาง​ไป​มอสโก​ตาม​คำ​เชิญ​ของ​ซาร์อีวาน​ที่ 4 วาซีเลียวิช ผู้​โหด​ร้าย. แชนเซลเลอร์​ไม่​พบ​เส้น​ทาง​ไป​เอเชีย แต่​เขา​ได้​เปิด​ทาง​สำหรับ​การ​ค้า​ขาย​ระหว่าง​อังกฤษ​และ​รัสเซีย.

ชาว​ดัตช์: ใน​ปี 1594 วิลเลม บาเร็นตส์​แล่น​เรือ​รอบ​แรก​ไป​ยัง​หมู่​เกาะ​โนวายาซิมลียา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​ปี 1596 ใน​การ​เดิน​ทาง​รอบ​ที่​สาม ขณะ​แล่น​อ้อม​ด้าน​เหนือ​สุด​ของ​หมู่​เกาะ​ของ​รัสเซีย เรือ​ของ​เขา​ได้​เข้า​ไป​ติด​อยู่​ใน​น้ำ​แข็ง​และ​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​จน​ซ่อมแซม​ไม่​ได้. หลัง​จาก​ต้อง​อด​ทน​ตลอด​ช่วง​ฤดู​หนาว​อัน​แสน​ทารุณ​ใน​ที่​กำบัง​ซึ่ง​สร้าง​ด้วย​ไม้​ที่​ลอย​มา​ตาม​น้ำ​และ​กิน​เนื้อ​หมี​ขั้ว​โลก​ประทัง​ชีวิต ลูกเรือ​ของ​บาเร็นตส์​กลับ​บ้าน​ได้​ด้วย​เรือ​เล็ก​สอง​ลำ. บาเร็นตส์​ไม่​รอด​ชีวิต​กลับ​มา.

ชาว​รัสเซีย: นัก​สำรวจ​ชาว​รัสเซีย​ได้​ทำ​การ​สำรวจ​ขนาน​ใหญ่​ใน​ไซบีเรีย​และ​แถบ​ตะวัน​ออก​ไกล​ของ​รัสเซีย. ภาย​ใน​เวลา​เพียง 60 ปี ตั้ง​แต่​ปี 1581 ถึง 1641 พวก​เขา​ออก​เดิน​ทาง​ตั้ง​ต้น​ที่​เทือก​เขา​อูรัล​ไป​ยัง​มหาสมุทร​แปซิฟิก. ประมาณ​เวลา​นั้น ชาว​คอสแซก​แล่น​เรือ​ตาม​แม่น้ำ​ใน​ไซบีเรีย​เพื่อ​ไป​ยัง​มหาสมุทร​อาร์กติก. พวก​เขา​อ้าง​สิทธิ์​เขต​แดน​ใน​ไซบีเรีย​ให้​รัสเซีย และ​บุกเบิก​การ​ขน​ส่ง​ตาม​ชายฝั่ง​ภาค​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​ไซบีเรีย. ใน​ปี 1648 เรือ​ของ​รัสเซีย​แล่น​ผ่าน​ช่องแคบ​ซึ่ง​ใน​เวลา​ต่อ​มา​เรียก​ว่า​ช่องแคบ​เบริง ตั้ง​ชื่อ​ตาม​วีตุส เบริง นัก​สำรวจ​ชาว​เดนมาร์ก.

การ​สำรวจ​ใน​เวลา​ต่อ​มา

ตั้ง​แต่​ปี 1733 ถึง 1743 ลูกเรือ​เกือบ​หนึ่ง​พัน​คน​ภาย​ใต้​การ​นำ​ของ​เบริง​ถูก​แบ่ง​เป็น​เจ็ด​กลุ่ม​เพื่อ​ออก​สำรวจ​ชายฝั่ง​อาร์กติก​และ​แปซิฟิก​ของ​รัสเซีย. เรือ​ของ​พวก​เขา​เข้า​ไป​ติด​อยู่​ใน​น้ำ​แข็ง​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า และ​กะลาสี​หลาย​คน​ต้อง​เสีย​ชีวิต. แต่​การ​สำรวจ​ครั้ง​นั้น​ก็​ได้​ช่วย​สร้าง​แผนที่​ชายฝั่ง​อาร์กติก​เกือบ​ทั้ง​หมด. ข้อมูล​ที่​รวบ​รวม​มา​ได้ รวม​ทั้ง​แผน​ผัง, แนว​หยั่ง​น้ำ, และ​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​สภาพ​น้ำ​แข็ง ปรากฏ​ว่า​มี​ค่า​เหลือ​ประมาณ​สำหรับ​นัก​เดิน​เรือ​แถบ​อาร์กติก​รุ่น​ต่อ​มา.

การ​เดิน​เรือ​ใน​แถบ​อาร์กติก​ทั้ง​หมด​นี้​ล้วน​ใช้​เรือ​ที่​ต่อ​ด้วย​ไม้. แต่​การ​สำรวจ​ของ​เบริง​แสดง​ชัด​ว่า​เรือ​ไม้​ไม่​เหมาะ​เลย​สำหรับ​การ​เดิน​ทาง​ใน​เส้น​ทาง​ทะเล​เหนือ. * ใน​ปี 1778 นัก​สำรวจ​ชาว​อังกฤษ​ชื่อ​เจมส์ คุก​ได้​ข้อ​สรุป​เดียว​กัน​เมื่อ​เขา​แล่น​ผ่าน​ช่องแคบ​เบริง​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก แต่​แล้ว​ก็​พบ​ว่า​น้ำ​แข็ง​ขวาง​กั้น​เส้น​ทาง​ของ​เขา. อีก​หนึ่ง​ศตวรรษ​ผ่าน​ไป​ก่อน​ที่​นิลส์ อะดอล์ฟ เอริก นอร์เดนชูลด์​ผู้​มี​เชื้อ​สาย​ฟินแลนด์​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​แล่น​ผ่าน​เส้น​ทาง​นี้​โดย​ใช้​เรือ​กลไฟ.

ความ​ชำนาญ​ของ​ชาว​รัสเซีย

หลัง​การ​ปฏิวัติ​รัสเซีย​ใน​ปี 1917 การ​ขน​ส่ง​ทาง​เรือ​ใน​แถบ​อาร์กติก​ของ​รัสเซีย​ทั้ง​หมด​ถูก​ห้าม​ยก​เว้น​เรือ​ของ​รัสเซีย. ตั้ง​แต่​ทศวรรษ 1930 เป็น​ต้น​มา สหภาพ​โซเวียต​ได้​พัฒนา​เส้น​ทาง​ทะเล​เหนือ​และ​สร้าง​ท่า​เรือ​รอง​รับ​การ​ตั้ง​ชุมชน​อุตสาหกรรม​แห่ง​ใหม่. ด้วย​เหตุ​นี้ รัสเซีย​จึง​มี​ความ​ชำนาญ​ใน​ทุก​ด้าน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เดิน​เรือ​แถบ​อาร์กติก.

ใน​ระหว่าง​สงคราม​เย็น เส้น​ทาง​ทะเล​เหนือ​ก็​ยัง​คง​ห้าม​เรือ​ต่าง​ชาติ​ผ่าน. อย่าง​ไร​ก็​ดี เนื่อง​จาก​มี​การ​ปฏิรูป​ทาง​การ​เมือง​และ​การ​เปลี่ยน​แปลง​สู่​ระบบ​เศรษฐกิจ​แบบ​ตลาด​เสรี ปัจจุบัน​เจ้าหน้าที่​รัสเซีย​จึง​สนับสนุน​การ​ขน​ส่ง​ทาง​เรือ​ใน​เส้น​ทาง​นี้. ตัว​อย่าง​ต่อ​ไป​นี้​แสดง​ถึง​ผล​ประโยชน์​ที่​ได้.

ใน​ฤดู​ร้อน​ปี 2009 เรือ​สินค้า​เยอรมัน​สอง​ลำ​แล่น​ผ่าน​ช่องแคบ​เบริง​แล้ว​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​เลียบ​ชายฝั่ง​ทาง​เหนือ​ของ​เอเชีย​และ​ยุโรป​เพื่อ​ไป​ยัง​เนเธอร์แลนด์ ซึ่ง​ตลอด​เส้น​ทาง​แทบ​ไม่​พบ​น้ำ​แข็ง​เลย. นี่​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​บริษัท​เดิน​เรือ​ที่​ไม่​ใช่​สัญชาติ​รัสเซีย​ได้​เดิน​เรือ​ตลอด​เส้น​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ. การ​เดิน​ทาง​ครั้ง​นี้​ช่วย​ย่น​ระยะ​ทาง​ประมาณ 3,000 ไมล์​ทะเล​และ​ประหยัด​เวลา​ได้​สิบ​วัน. บริษัท​ที่​ทำ​การ​เดิน​เรือ​ประมาณ​ว่า​ทาง​บริษัท​ได้​ประหยัด​เงิน​ราว ๆ 300,000 ยูโร (สมัย​นั้น​เท่า​กับ 15,000,000 บาท) ต่อ​เรือ​หนึ่ง​ลำ​โดย​การ​ใช้​เส้น​ทาง​ลัด​แถบ​ขั้ว​โลก.

ทุก​วัน​นี้ น้ำ​แข็ง​ใน​มหาสมุทร​อาร์กติก​กำลัง​หด​ตัว​อย่าง​รวด​เร็ว. ผล​ที่​ตาม​มา​ก็​คือ อาณา​บริเวณ​อัน​กว้าง​ใหญ่​ของ​มหาสมุทร​นี้​มี​เรือ​แล่น​ผ่าน​ได้​ใน​ทุก​ฤดู​ร้อน. * แม้​เรื่อง​นี้​จะ​เป็น​ปัญหา​ทาง​สิ่ง​แวด​ล้อม​ที่​น่า​เป็น​ห่วง แต่​ถ้า​น้ำ​แข็ง​ยัง​ละลาย​อยู่​เรื่อย ๆ เรือ​จะ​สามารถ​เลี่ยง​ชายฝั่ง​น้ำ​ตื้น​ของ​รัสเซีย​แล้ว​แล่น​ตรง​จาก​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ไป​ยัง​แปซิฟิก​โดย​ผ่าน​ขั้ว​โลก​เหนือ​ได้​เลย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 “เส้น​ทาง​ทะเล​เหนือ” เป็น​ชื่อ​ที่​ชาว​รัสเซีย​เรียก​เส้น​ทาง​นี้ ซึ่ง​ผู้​คน​ใน​ที่​อื่น​จะ​เรียก​ว่า​เส้น​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ.

^ วรรค 14 เนื่อง​ด้วย​เหตุ​นี้​และ​ปัจจัย​อื่น ๆ ฤดู​การ​เดิน​เรือ​จึง​ยาว​นาน​ขึ้น​เกือบ​สาม​เท่า​ใน​ภาค​ตะวัน​ออก​ของ​อาร์กติก​และ​มาก​กว่า​สอง​เท่า​ใน​ภาค​ตะวัน​ตก​ของ​อาร์กติก.

[แผนที่​หน้า 15]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

เส้น​ทาง​เดิน​เรือ​ของ

เซอร์ฮิว วิลลาบี​และ​ริชาร์ด แชนเซลเลอร์

วิลเลม บาเร็นตส์

วีตุส เบริง

นิลส์ อะดอล์ฟ เอริก นอร์เดนชูลด์

ขอบ​เขต​ของ​น้ำ​แข็ง

[แผนที่]

มหาสมุทร​อาร์กติก

ขั้ว​โลก​เหนือ

ขอบ​เขต​ที่​น้ำ​แข็ง​ปก​คลุม​อย่าง​ถาวร

ขอบ​เขต​น้ำ​แข็ง​ใน​ฤดู​ร้อน

ขอบ​เขต​น้ำ​แข็ง​ใน​ฤดู​หนาว

อาร์กติก​เซอร์เคิล

สวีเดน

กรีนแลนด์

แคนาดา

อะแลสกา

ช่องแคบ​เบริง

รัสเซีย

ไซบีเรีย

เทือก​เขา​อูรัล

โนวายาซิมลียา

คาบสมุทร​โคลา

อาร์ฮันเกลสก์

มอสโก

[ภาพ​หน้า 16]

น้ำ​แข็ง​ใน​มหาสมุทร​อาร์กติก​กำลัง​หด​ตัว​อย่าง​รวด​เร็ว

[ภาพ​หน้า 14]

Library and Archives Canada/Samuel Gurney Cresswell collection/C-016105