จะไว้ใจใครได้?
จะไว้ใจใครได้?
นายแพทย์คนหนึ่งถูกมองว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านการบำบัดความเจ็บปวด. กระนั้น เป็นเวลานานกว่าสิบปี เริ่มตั้งแต่ปี 1996 วิสัญญีแพทย์ผู้มีชื่อเสียงคนนี้ได้ปลอมแปลงผลการวิจัยซึ่งลงพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่เลื่องชื่อ.
นายแพทย์สตีเวน แอล. เชเฟอร์ ให้สัมภาษณ์ในวารสารข่าววิสัญญีวิทยา (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ผมไม่อาจจะเข้าใจได้เลยว่าเหตุใดคนเราจึงทำเช่นนี้.”
อะไรกระตุ้นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคนนับหน้าถือตาให้หลอกลวงเพื่อนมนุษย์? ขอพิจารณาสาเหตุที่เป็นไปได้สี่ประการ.
• ความโลภ. ในรายงานของนิวยอร์ก ไทมส์ นายแพทย์เจโรม แคสซีเรอร์ อดีตบรรณาธิการของวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “เมื่อพวกนักวิจัยมีรายได้ส่วนใหญ่จากบริษัท [ยา] พวกเขาก็มีแนวโน้มจะให้ผลการวิจัยเป็นประโยชน์แก่บริษัท.”
• การทำทุกวิถีทางเพื่อความสำเร็จ. เชื่อกันว่านักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ในเยอรมนีได้จ่ายเงินสินบนหลายพันยูโรให้อาจารย์เพื่อจะได้เป็นดอกเตอร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จในประเทศนั้น. งานวิจัยที่พรรณนาในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ พบว่านักศึกษาหลายคนที่ทำผิดจริยธรรมเพื่อประสบความสำเร็จได้พูดว่า พวกเขา “ตั้งใจจะปฏิบัติตามหลักศีลธรรมอย่างเคร่งครัด” หลังจากได้รับความสำเร็จแล้ว.
• การขาดแบบอย่างที่ดี. เมื่อพูดถึงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ศาสตราจารย์คนหนึ่งกล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า “เราคงอยากจะพูดว่านักเรียนเหล่านั้น
ขาดเครื่องนำทางด้านศีลธรรม . . . แต่อาจดีกว่าที่จะบอกว่าครูบาอาจารย์ของพวกเขาและคนในสังคมไม่เคยช่วยพวกเขาสร้างและปลูกฝังเครื่องนำทางด้านศีลธรรมตั้งแต่แรก.”• การปฏิบัติไม่สอดคล้องกับค่านิยม. จากการสำรวจนักศึกษาเกือบ 30,000 คน 98 เปอร์เซ็นต์บอกว่าพวกเขาเชื่อว่าความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคล. อย่างไรก็ดี นักศึกษา 8 ใน 10 คนยอมรับว่าเคยโกหกพ่อแม่ และ 64 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าเคยโกงข้อสอบในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา.
หลักศีลธรรมที่สูงกว่า
ดังที่กล่าวไว้ในกรอบหน้านี้ มนุษย์ดูเหมือนได้รับการออกแบบให้ไว้ใจผู้อื่น. ถึงกระนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ตรงกับความเป็นจริงว่า “ความคิดในใจของมนุษย์นั้นล้วนแต่ชั่วตั้งแต่เด็กมา.” (เยเนซิศ 8:21) คุณจะสู้กับแนวโน้มนั้นและต้านทานกระแสแห่งความไม่ซื่อสัตย์ซึ่งมีอยู่มากมายในปัจจุบันได้อย่างไร? หลักการในคัมภีร์ไบเบิลต่อไปนี้อาจช่วยได้:
• “อย่าคิดทำร้ายเพื่อนบ้านของเจ้า, เห็นแล้วว่าเขารู้สึกว่าปลอดภัยที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเจ้า.”—สุภาษิต 3:29
ความรักต่อเพื่อนบ้านกระตุ้นเราให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของเขา และไม่ฉวยประโยชน์จากความไว้วางใจของเขา. หลักการนี้สามารถยุติการฉวยประโยชน์หลายรูปแบบจากเพื่อนมนุษย์อันเนื่องมาจากความโลภ เช่น การลักลอบค้ายาปลอม ดังที่กล่าวไว้ตอนต้นของบทความชุดนี้.
• “ริมฝีปากที่กล่าวคำจริงจะตั้งมั่นคงถาวร, แต่ลิ้นมุสาจะคงอยู่ได้แต่ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น.”—สุภาษิต 12:19
ทุกวันนี้หลายคนเชื่อว่าคนซื่อสัตย์เสียเปรียบผู้อื่น. แต่ถามตัวเองสิว่า ‘อะไรมีค่ามากกว่ากัน—การได้รับผลประโยชน์ในทันทีทันใด หรือผลประโยชน์ถาวรรวมถึงการนับถือตัวเอง?’ นักศึกษาอาจหลอกคนอื่นในเรื่องความรู้หรือความสามารถของตนโดยการโกงข้อสอบ แต่เขาจะประสบความสำเร็จไหมเมื่อเขาไปทำงาน?
• “คนชอบธรรมที่ประพฤติตามความสุจริตของตน, ลูกหลานของเขาจะอยู่เป็นสุข.”—สุภาษิต 20:7
ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ จงวางตัวอย่างที่ดีสำหรับลูก ๆ โดย “ประพฤติตามความสุจริต.” จงอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าคุณได้รับประโยชน์อย่างไรจากการยึดมั่นในแนวทางแห่งความชอบธรรม. เมื่อลูกเห็นพ่อแม่ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์สุจริต เด็กก็มักจะดำเนินในแนวทางแห่งความซื่อสัตย์ด้วย.—สุภาษิต 22:6
หลักการของคัมภีร์ไบเบิลข้างต้นใช้ได้จริงไหม? สมัยนี้จะพบคนที่ไว้ใจได้จริง ๆ ไหม?
[คำโปรยหน้า 4]
ตามรายงานในหนังสือพิมพ์เลอ ฟิกาโร ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ “คิดว่าบุคคลชั้นนำทั้งในวงการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, และวัฒนธรรม ไม่ใช่คนดี และเขาจึงไม่เห็นเหตุผลที่เขาเองจะต้องเป็นคนดี.”
[กรอบหน้า 5]
ได้รับการออกแบบให้ไว้วางใจไหม?
จากการทดลองโดยไมเคิล โคสเฟลด์ ศาสตราจารย์ภาควิชาบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมนี เขาได้ให้ข้อสรุปว่าการไว้วางใจคนอื่นเป็น “ส่วนหนึ่งในธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมีพื้นฐานทางชีววิทยา.” โคสเฟลด์ค้นพบว่าเมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน สมองของมนุษย์จะหลั่งออกซิโทซิน ฮอร์โมนที่กระตุ้นความไว้วางใจ. โคสเฟลด์กล่าวว่า “ที่จริง นี่เป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์. เมื่อขาดความไว้วางใจ ในแง่หนึ่งเราก็คงจะขาดความเป็นมนุษย์.”