ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เชิญมาดูและฟังเสียง “เจ้าแห่งนาฬิกา”

เชิญมาดูและฟังเสียง “เจ้าแห่งนาฬิกา”

เชิญ​มา​ดู​และ​ฟัง​เสียง “เจ้า​แห่ง​นาฬิกา”

เมื่อ​ไฟ​ไหม้​พระ​ราชวัง​เวสต์มินสเตอร์​จน​เสียหาย​ย่อยยับ​ใน​ปี 1834 นัก​การ​เมือง​ชาว​อังกฤษ​ได้​จัด​ให้​มี​การ​ประกวด​แบบ​อาคาร​รัฐสภา​หลัง​ใหม่? แบบ​ที่​ชนะ​เลิศ​โดย​เซอร์​ชาลส์ แบร์รี​นั้น​เป็น​พระ​ราชวัง​แบบ​กอทิก​อัน​งาม​วิจิตร รวม​ไป​ถึง​หอ​นาฬิกา​อัน​สูง​ตระหง่าน​ที่​มอง​เห็น​ได้​จาก​สี่​ด้าน. สำนักงาน​การ​ก่อ​สร้าง​ของ​รัฐบาล​ได้​อนุมัติ​ให้​สร้าง “เจ้า​แห่ง​นาฬิกา ซึ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​เท่า​ที่​โลก​เคย​เห็น.”

หอ​นาฬิกา​นี้​เป็น​สถาน​ที่​สำคัญ​แห่ง​หนึ่ง​ของ​กรุง​ลอนดอน และ​เสียง​ระฆัง​บอก​เวลา​ก็​เป็น​ที่​คุ้น​เคย​กัน​ดี​ทั่ว​โลก. ชื่อ​ของ​มัน​คือ​บิกเบน แม้​ว่า​แต่​เดิม​ชื่อ​นี้​จะ​ใช้​เรียก​เฉพาะ​ระฆัง​ใบ​ใหญ่​ที่​สุด. นาฬิกา​ที่​รู้​จัก​กัน​ทั่ว​โลก​เรือน​นี้​เป็น​ผล​งาน​ที่​น่า​อัศจรรย์​ทาง​วิศวกรรม.

งาน​ที่​ยาก​มาก

การ​ก่อ​สร้าง​หอ​นาฬิกา​สูง 96 เมตร​เริ่ม​ขึ้น​ใน​ปี 1843. สาม​ปี​ต่อ​มา มี​การ​เสาะ​หา​ช่าง​ที่​สามารถ​สร้าง​นาฬิกา​ที่​เที่ยง​ตรง โดย​ไม่​ให้​เดิน​ช้า​หรือ​เร็ว​เกิน​หนึ่ง​วินาที​ภาย​ใน​หนึ่ง​ชั่วโมง. นี่​เป็น​งาน​ที่​ยาก​มาก. ใน​หอ​สูง​ที่​เปิด​โล่ง เข็ม​ของ​นาฬิกา​จะ​โดน​ลม, หิมะ, และ​น้ำ​แข็ง—รวม​ไป​ถึง​นก​พิราบ​ที่​บิน​มา​เกาะ​ด้วย​ซ้ำ! การ​รบกวน​เหล่า​นี้​มี​ผล​ต่อ​ลูก​ตุ้ม​นาฬิกา ซึ่ง​ต้อง​แกว่ง​อย่าง​สม่ำเสมอ​จึง​จะ​สามารถ​บอก​เวลา​ได้​อย่าง​เที่ยง​ตรง. ขณะ​ที่​ผู้​เชี่ยวชาญ​ถก​กัน​ว่า​จะ​แก้​ปัญหา​นี้​อย่าง​ไร ช่าง​ทำ​นาฬิกา​ชื่อ​เอดมันด์ เบกเกตต์ เดนิสัน ได้​เสนอ​แบบ​ที่​หลาย​คน​ยอม​รับ และ​มี​การ​มอบหมาย​ช่าง​ทำ​นาฬิกา​ชั้น​แนว​หน้า​คน​หนึ่ง​ให้​สร้าง​นาฬิกา.

สอง​ปี​ผ่าน​ไป การ​สร้าง​นาฬิกา​ก็​แล้ว​เสร็จ แต่​ก็​ต้อง​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​ร้าน​ทำ​นาฬิกา​อีก​ห้า​ปี​จน​กว่า​จะ​สร้าง​หอ​นาฬิกา​เสร็จ. ใน​ช่วง​นี้ เดนิสัน​ได้​ประดิษฐ์​อุปกรณ์​ที่​ป้องกัน​ลูก​ตุ้ม​ไม่​ให้​ถูก​รบกวน​จาก​แรง​ภาย​นอก ซึ่ง​ช่วย​ให้​มั่น​ใจ​ว่า​นาฬิกา​จะ​เดิน​อย่าง​เที่ยง​ตรง.

บิกเบน​ถือ​กำเนิด

เมื่อ​จักร​กล​นาฬิกา​พร้อม​แล้ว ขั้น​ต่อ​ไป​คือ​การ​สร้าง​ระฆัง. โรง​หล่อ​ใน​ภาค​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​อังกฤษ​ได้​หล่อ​ระฆัง​ที่​ตี​บอก​ชั่วโมง. ระฆัง​ใบ​นี้​ใหญ่​กว่า​ที่​คาด​ไว้​และ​หนัก​กว่า 16 ตัน! มัน​หนัก​มาก​จน​สร้าง​ความ​เสียหาย​ให้​แก่​ดาดฟ้า​เรือ​ที่​จะ​ขน​ย้าย​มัน​มา​ลอนดอน. ต่อ​มา เรือ​ก็​ได้​ออก​เดิน​ทาง. เมื่อ​เทียบ​ท่า​แล้ว​ก็​มี​การ​ขน​ระฆัง​ด้วย​รถ​ม้า​ที่​จัด​ทำ​เป็น​พิเศษ ลาก​จูง​ด้วย​ม้า​ขาว 16 ตัว. จาก​นั้น​ก็​นำ​ไป​แขวน​ไว้​บน​โครง​สูง​หน้า​รัฐสภา​เพื่อ​การ​ทดสอบ.

ระฆัง​ใหญ่​หลาย​ใบ​มี​ชื่อ และ​ระฆัง​ยักษ์​ใบ​นี้​มี​ชื่อ​ว่า​บิกเบน. เพราะ​เหตุ​ใด? ไม่​มี​ใคร​รู้​แน่. บาง​คน​บอก​ว่า​มัน​อาจ​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ตาม​เซอร์​เบนจามิน ฮอลล์ ชาย​ร่าง​ใหญ่​ที่​ทำ​งาน​ให้​รัฐสภา. ส่วน​บาง​คน​คิด​ว่า​ระฆัง​นี้​ได้​ชื่อ​จาก​เบนจามิน คอนต์ นัก​มวย​รุ่น​เฮฟวีเวต​ผู้​โด่งดัง​ใน​สมัย​นั้น. ไม่​ว่า​จะ​ได้​ชื่อ​มา​จาก​ไหน ปัจจุบัน​บิกเบน​ไม่​เป็น​เพียง​ชื่อ​เรียก​ระฆัง​ที่​ตี​บอก​ชั่วโมง แต่​ได้​กลาย​เป็น​ชื่อ​ของ​ทั้ง​นาฬิกา​และ​หอ​นาฬิกา.

ความ​เสียหาย​ครั้ง​ใหญ่​สอง​ครั้ง

ดู​เหมือน​ว่า​ค้อน​อัน​แรก​ของ​บิกเบน​เบา​เกิน​ไป จึง​มี​การ​สร้าง​ค้อน​หนัก 660 กิโลกรัม​ขึ้น​ใช้​แทน. แต่​หลัง​จาก​ทดสอบ​หลาย​เดือน ก็​เกิด​ความ​เสียหาย​ครั้ง​ใหญ่. ระฆัง​แตก​และ​ไม่​อาจ​ซ่อม​ได้ จึง​ต้อง​มี​การ​รื้อ​บิกเบน แล้ว​นำ​โลหะ​ไป​หลอม​เป็น​ระฆัง​ใบ​ใหม่​น้ำหนัก 13.7 ตัน. อีก​ครั้ง​หนึ่ง ประชาชน​ยืน​เรียง​ราย​ตาม​ถนน​ขณะ​รถ​ม้า​ที่​บรรทุก​ระฆัง​ใบ​ใหม่​เคลื่อน​ไป​ยัง​รัฐสภา.

สอง​สาม​เดือน​ต่อ​มา การ​สร้าง​หอ​นาฬิกา​ก็​เสร็จ. คน​งาน​หลาย​ทีม​ทำ​งาน​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ใน​การ​ชัก​รอก​บิกเบน​ขึ้น​ไป​บน​หอ​นาฬิกา. ใน​ที่​สุด ระฆัง​ใบ​ใหญ่​ก็​ขึ้น​ไป​แขวน​รวม​กับ​ระฆัง​สี่​ใบ​ที่​เล็ก​กว่า​ซึ่ง​ใช้​ตี​บอก​เวลา​ทุก ๆ สิบ​ห้า​นาที. จักร​กล​นาฬิกา​ที่​หนัก​มาก​ก็​ตาม​ขึ้น​ไป. ใน​ที่​สุด ดู​เหมือน “เจ้า​แห่ง​นาฬิกา” พร้อม​จะ​ทำ​งาน.

ใน​เดือน​กรกฎาคม 1859 บิกเบน​เริ่ม​ตี​บอก​ชั่วโมง. แต่​เป็น​เช่น​นั้น​ได้​ไม่​นาน. ต้น​เดือน​ตุลาคม ระฆัง​ใบ​ใหญ่​ก็​แตก​อีก! การ​นำ​มัน​ลง​มา​จาก​หอ​นาฬิกา​นั้น​เป็น​ไป​ไม่​ได้. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น คน​งาน​หมุน​ระฆัง​ไป​เศษ​หนึ่ง​ส่วน​สี่​รอบ​เพื่อ​ไม่​ให้​ค้อน​ตี​ตรง​รอย​แตก. จาก​นั้น เพื่อ​ป้องกัน​ความ​เสียหาย​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​อีก จึง​ได้​มี​การ​ติด​ตั้ง​ค้อน​ที่​มี​น้ำหนัก​เบา​กว่า. ภาย​ใน​สาม​ปี บิกเบน​ก็​ทำ​งาน​อีก​ครั้ง! รอย​แตก​ยัง​คง​มี​อยู่ และ​เป็น​เหตุ​ให้​มัน​มี​เสียง​ไม่​เหมือน​ระฆัง​ใบ​อื่น.

เหตุ​การณ์​สำคัญ​ใน​ประวัติศาสตร์

ใน​ปี 1924 บีบีซี หรือ​บรรษัท​กระจาย​เสียง​และ​แพร่​ภาพ​แห่ง​บริเตน ได้​ติด​ตั้ง​ไมโครโฟน​เป็น​การ​ถาวร​ไว้​ใน​หอ​นาฬิกา และ​เริ่ม​ออก​อากาศ​เสียง​ระฆัง​ของ​บิกเบน​เป็น​สัญญาณ​บอก​เวลา​ของ​ประเทศ. แปด​ปี​ต่อ​มา ผู้​ฟัง​ทั่ว​เครือ​จักรภพ​อังกฤษ​ก็​ได้​ฟัง​ด้วย และ​ทุก​วัน​นี้ เสียง​ที่​ไพเราะ​จาก​บิกเบน​ก็​ดัง​ไป​ทั่ว​โลก​ผ่าน​ทาง​บีบีซี​เวิลด์เซอร์วิส.

แม้​นาฬิกา​และ​ระฆัง​รอด​ผ่าน​การ​ทิ้ง​ระเบิด​ใน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง แต่​ใน​ปี 1976 ความ​ล้า​ของ​โลหะ​ใน​กลไก​การ​ตี​ระฆัง​เป็น​เหตุ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​ครั้ง​ใหญ่​ภาย​ใน​ห้อง​นาฬิกา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ระฆัง​ใบ​ใหญ่​ไม่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​ใด ๆ และ​ใน​ไม่​กี่​สัปดาห์​ก็​กลับ​มา​ตี​บอก​เวลา​ได้​อีก. ต้อง​ใช้​เวลา​เก้า​เดือน​เพื่อ​ซ่อมแซม​นาฬิกา​ให้​กลับ​มา​ทำ​งาน​ได้​อีก​ครั้ง.

ใน​ช่วง​หนึ่ง บิกเบน​เป็น​นาฬิกา​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก และ​มัน​ยัง​คง​เป็น​นาฬิกา​กลไก​ใน​ที่​สาธารณะ​ซึ่ง​บอก​เวลา​แม่นยำ​ที่​สุด. ทำนอง​เพลง​ที่​เป็น​เอกลักษณ์​ของ​มัน​ถูก​ลอก​เลียน​บ่อย ๆ และ​ฟัง​ได้​จาก​นาฬิกา​ทั้ง​เรือน​ใหญ่​เรือน​เล็ก​ใน​หลาย​ดินแดน. ไม่​น่า​ประหลาด​ใจ​ที่​บิกเบน​กลาย​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​ประเทศ​อังกฤษ​และ​ของ​เมือง​หลวง​ด้วย. มัน​เป็น “เจ้า​แห่ง​นาฬิกา” อย่าง​แท้​จริง!

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18]

เที่ยง​ตรง​เสมอ

สัปดาห์​ละ​สาม​ครั้ง ช่าง​จะ​ขึ้น​บันได​เวียน 300 ขั้น​ที่​ก่อ​ด้วย​หิน แล้ว​ใช้​มือ​หมุน​พัน​สาย​เคเบิล​ที่​มี​ตุ้ม​น้ำหนัก​ถ่วง​อยู่. ตุ้ม​นี้​ให้​แรง​ขับ​เคลื่อน​กลไก​นาฬิกา. นอก​จาก​นั้น ช่าง​จะ​ตรวจ​ดู​ว่า​นาฬิกา​เดิน​อย่าง​เที่ยง​ตรง​หรือ​ไม่. ก้าน​ที่​แขวน​ลูก​ตุ้ม​มี​ความ​ยาว 4 เมตร​และ​แกว่ง​ทุก ๆ สอง​วินาที. ใกล้​ด้าน​บน​ของ​ก้าน​ลูก​ตุ้ม​จะ​มี​ขอบ​ซึ่ง​มี​เหรียญ​เพนนี​และ​ครึ่ง​เพนนี​รุ่น​เก่า​วาง​อยู่​บ้าง. ถ้า​นาฬิกา​เดิน​ช้า​ไป ช่าง​จะ​วาง​อีก​หนึ่ง​เหรียญ​เพิ่ม. ถ้า​เดิน​เร็ว​ไป เขา​จะ​เอา​เหรียญ​หนึ่ง​ออก​ไป.

[ภาพ]

เหรียญ​เพนนี​รุ่น​เก่า​ช่วย​ควบคุม​นาฬิกา

[ที่​มา​ภาพ]

Winding clock: AP Photo/Lefteris Pitarakis; coins on ledge: Parliamentary copyright images are reproduced with the permission of Parliament

[ภาพ​หน้า 19]

ระฆัง​ใบ​ใหญ่ (บิกเบน) ตี​บอก​ชั่วโมง มี​น้ำหนัก 13.7 ตัน

[ที่​มา​ภาพ]

Popperfoto/Getty Images