ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!”—เสียงเรียกที่ช่วยชีวิต

“เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!”—เสียงเรียกที่ช่วยชีวิต

“เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!”—เสียง​เรียก​ที่​ช่วย​ชีวิต

ไฟ​ลุก​ท่วม​เรือ​ประมง​พร้อม​กับ​ควัน​หนา​ทึบ! ทุก​คน​ใน​เรือ​กำลัง​อยู่​ใน​อันตราย​ร้ายแรง. เจ้าหน้าที่​รักษา​การณ์​ชายฝั่ง​กล่าว​ว่า “ถ้า​กัปตัน​ไม่​ส่ง​สัญญาณ​เมย์เดย์ คง​ไม่​มี​ใคร​ได้​เห็น​เรือ ‘นอติคัล เลกาซี’ อีก​เลย.” กอง​รักษา​การณ์​ชายฝั่ง​แคนาดา​ได้​รีบ​ไป​ทันที​และ​ช่วย​ชีวิต​ลูกเรือ​ได้​ทุก​คน. *

“เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!” คำ​นี้​ที่​ได้​ยิน​ผ่าน​ทาง​วิทยุ​เป็น​การ​ประกาศ​ว่า​มี​เหตุ​ฉุกเฉิน​ที่​เป็น​อันตราย​ต่อ​ชีวิต​และ​เป็น​เสียง​เรียก​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​อย่าง​เร่ง​ด่วน. การ​ส่ง​สัญญาณ​เมย์เดย์​ได้​ผล​ไหม? ใน​ปี 2008 กอง​รักษา​การณ์​ชายฝั่ง​สหรัฐ​ออก​ปฏิบัติการ​กู้​ภัย​มาก​กว่า 24,000 ครั้ง. พวก​เขา​ช่วย​ชีวิต​ได้​ถึง 4,910 คน—เฉลี่ย​แล้ว​วัน​ละ 13 คน—และ​ยัง​ช่วยเหลือ​ผู้​คน​ที่​ประสบ​ภัย​อีก​กว่า 31,000 คน.

แต่​ทำไม​เรา​ใช้​คำ​ว่า “เมย์เดย์”? และ​ก่อน​สมัย​ที่​มี​การ​ใช้​วิทยุ​สื่อสาร เรือ​ที่​ประสบ​ภัย​ส่ง​สัญญาณ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​โดย​วิธี​ใด?

วิธี​การ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ใน​สมัย​ก่อน

ปี 1588 เรือ​ซานตา มาเรีย เด ลา โรซา ใน​กอง​เรือ​อาร์มาดา​ของ​สเปน​ยิง​ปืน​ใหญ่​เป็น​สัญญาณ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​เมื่อ​ถูก​พายุ​ซัด​กระหน่ำ. เรือ​ลำ​นี้​จม​ลง​โดย​ไม่​ปรากฏ​ว่า​มี​คน​รอด​ชีวิต​เลย. ใน​เหตุ​การณ์​อื่น กะลาสี​สมัย​ก่อน​จะ​ชัก​ธง​ที่​ส่ง​สัญญาณ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ. แม้​แต่​ปัจจุบัน ทุก​ประเทศ​ก็​รู้​กัน​ว่า​เรือ​ที่​ชัก​ธง​สี​ขาว​และ​มี​เส้น​ทแยง​มุม​สี​แดง​ไขว้​กัน​คือ​เรือ​ที่​กำลัง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ.

กะลาสี​ใน​ทศวรรษ 1760 เริ่ม​เรียน​รู้​ระบบ​สัญญาณ​ที่​มอง​เห็น​ได้​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ระบบ​เซมา​ฟอร์. ที่​จะ​ใช้​รหัส​นี้ ผู้​ส่ง​สัญญาณ​ถือ​ธง​ใน​มือ​ทั้ง​สอง​ข้าง​เลียน​แบบ​เข็ม​นาฬิกา. สัญญาณ “บอก​เวลา” แต่​ละ​ตำแหน่ง​เป็น​เครื่องหมาย​แสดง​ตัว​อักษร​หรือ​ตัว​เลข​หนึ่ง​ตัว.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ธง, ปืน​ใหญ่, และ​สัญญาณ​ที่​มอง​เห็น​จะ​ใช้​ได้​ผล​ก็​ต่อ​เมื่อ​คน​อื่น​อยู่​ใกล้​พอ​จะ​เห็น​หรือ​ได้​ยิน​การ​ส่ง​สัญญาณ​นั้น. บ่อย​ครั้ง ลูกเรือ​ที่​ตก​อยู่​ใน​อันตราย​แทบ​ไม่​มี​ความ​หวัง​ว่า​จะ​มี​คน​มา​ช่วยเหลือ. จะ​แก้ไข​สภาพการณ์​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

วิธี​การ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ที่​ได้​ผล​มาก​ขึ้น

การ​พัฒนา​ครั้ง​สำคัญ​ด้าน​เทคโนโลยี​การ​สื่อสาร​เกิด​ขึ้น​ใน​ทศวรรษ 1840. แซมมูเอล มอร์ส คิด​ค้น​รหัส​ที่​พนักงาน​รับ​ส่ง​โทรเลข​สามารถ​จะ​ใช้​เพื่อ​ส่ง​ข้อ​ความ​ไป​ตาม​สาย​ไฟ​ด้วย​เครื่อง​ส่ง​ที่​ควบคุม​ด้วย​มือ. ตราบ​เท่า​ที่​พนักงาน​กด​ปุ่ม​ค้าง​เอา​ไว้ อีก​คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ปลาย​ทาง​ก็​สามารถ​ตรวจ​จับ​กระแส​ไฟฟ้า​ได้. มอร์ส​ได้​กำหนด​เสียง​สั้น​กับ​เสียง​ยาว หรือ​จุด​กับ​ขีด ผสม​กัน​เพื่อ​หมาย​ถึง​ตัว​อักษร​หรือ​ตัว​เลข​แต่​ละ​ตัว.

เพื่อ​จะ​ใช้​รหัส​มอร์ส​ใน​ทะเล กะลาสี​ไม่​ได้​ใช้​เสียง​เหมือน​พนักงาน​โทรเลข แต่​ใช้​ลำ​แสง​จ้า. เพื่อ​ให้​สัญญาณ​จุด ผู้​ส่ง​สัญญาณ​จะ​ฉาย​ลำ​แสง​เป็น​ช่วง​สั้น และ​เพื่อ​ให้​สัญญาณ​ขีด เขา​จะ​ฉาย​เป็น​ช่วง​ยาว. ไม่​นาน​ผู้​ส่ง​สัญญาณ​ก็​เริ่ม​ใช้​วิธี​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ที่​พิเศษ​เฉพาะ​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​จุด​สาม​จุด, ขีด​สาม​ขีด, และ​จุด​อีก​สาม​จุด ซึ่ง​หมาย​ถึง​ตัว​อักษร SOS. *

น่า​ดีใจ ขอบ​เขต​และ​ระยะ​ทาง​การ​ส่ง​สัญญาณ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ไม่​ได้​จำกัด​อยู่​แค่​นั้น. กูลเยลโม มาร์โกนี​ได้​ส่ง​สัญญาณ​วิทยุ​ครั้ง​แรก​ข้าม​มหาสมุทร​แอตแลนติก​เมื่อ​ปี 1901. ตอน​นี้​สามารถ​ส่ง​สัญญาณ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ “SOS” โดย​ใช้​คลื่น​วิทยุ​แทน​การ​ใช้​ลำ​แสง​ได้​แล้ว. ถึง​กระนั้น ผู้​ส่ง​วิทยุ​ยัง​ไม่​สามารถ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​เป็น​คำ​พูด​ได้. ณ เวลา​นั้น​ยัง​ไม่​มี​การ​ใช้​คำ “เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!”

ใน​ที่​สุด ก็​สามารถ​ถ่ายทอด​เสียง​พูด​จริง ๆ ผ่าน​คลื่น​วิทยุ​ได้​ใน​ปี 1906 เมื่อ​เรจินัลด์ เฟสเซนเดน​ได้​ถ่ายทอด​เสียง​พูด​และ​เสียง​ดนตรี. กะลาสี​ที่​มี​เครื่อง​รับ​วิทยุ​สามารถ​ได้​ยิน​การ​ถ่ายทอด​ของ​เฟสเซนเดน​ห่าง​ออก​ไป 80 กิโลเมตร. ใน​ปี 1915 ผู้​คน​อีก​มาก​มาย​ตื่นเต้น​ที่​ได้​ยิน​เสียง​พูด​สด ๆ ถ่ายทอด​จาก​อาร์ลิงตัน รัฐ​เวอร์จิเนีย สหรัฐ ไป​ยัง​หอ​ไอเฟล​ใน​กรุง​ปารีส ฝรั่งเศส ซึ่ง​ห่าง​กัน​ถึง 14,000 กิโลเมตร! และ​นึก​ภาพ​ความ​ตื่นเต้น​ของ​กะลาสี​ใน​เรือ​เอส. เอส. อเมริกา ใน​ปี 1922 เมื่อ​มี​การ​สนทนา​ทาง​วิทยุ​จาก​เรือ​ไป​ถึง​ฝั่ง​เป็น​ครั้ง​แรก​ระหว่าง​เมือง​ดีลบีช รัฐ​นิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ​และ​เรือ​ของ​พวก​เขา ซึ่ง​อยู่​ไกล​ออก​ไป​ใน​ทะเล 600 กิโลเมตร.

กำหนด​มาตรฐาน​เดียว​ขึ้น​มา​เพื่อ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ

ไม่​นาน หลาย​คน​ใน​ทศวรรษ 1920 และ 1930 ก็​เริ่ม​ใช้​วิทยุ​สำหรับ​การ​สนทนา. เนื่อง​จาก​ลูกเรือ​ใน​ทะเล​อาจ​พูด​ภาษา​ต่าง​กัน กัปตัน​จะ​ส่ง​สัญญาณ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​เร่ง​ด่วน​ซึ่ง​ทุก​คน​จะ​เข้าใจ​ได้​โดย​วิธี​ใด? อนุ​สัญญา​ว่า​ด้วย​โทรเลข​วิทยุ​นานา​ชาติ​ตอบ​ประเด็น​นี้​ใน​ปี 1927 โดย​กำหนด​ให้​คำ “เมย์เดย์” เป็น​คำ​ที่​ใช้​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ที่​ทุก​ชาติ​เข้าใจ​ได้. *

เรา​ดีใจ​ที่​การ​สื่อสาร​ยัง​คง​พัฒนา​ต่อ​ไป​เรื่อย ๆ. ยก​ตัว​อย่าง เรดาร์​และ​ระบบ​กำหนด​ตำแหน่ง​ทั่ว​โลก​ได้​เข้า​มา​แทน​ที่​ปืน​ใหญ่​และ​สัญญาณ​ธง. อีก​อย่าง​หนึ่ง วิทยุ​ได้​กลาย​มา​เป็น​เครื่อง​มือ​มาตรฐาน​และ​หน่วย​งาน​กู้​ภัย​ก็​ติด​ตาม​ฟัง​คลื่น​วิทยุ​และ​เฝ้า​ระวัง​ตลอด​เวลา. ดัง​ใน​กรณี​เรือ​นอติคัล เลกาซี ไม่​ว่า​เกิด​เหตุ​ฉุกเฉิน​ที่​ไหน​และ​เมื่อ​ไร เสียง​ร้อง “เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!” ก็​คง​มี​คน​ได้​ยิน. ไม่​เหมือน​คน​ใน​ยุค​อดีต ถ้า​คุณ​ประสบ​ภัย​ใน​ทะเล แทน​ที่​จะ​มี​ความ​หวัง​เพียง​ริบหรี่​ว่า​จะ​มี​คน​มา​ช่วย คุณ​ย่อม​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​จะ​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 รายงาน​นี้​มี​อยู่​ใน​หนังสือ​เรื่อง​จริง​เกี่ยว​กับ​การ​กู้​ภัย​และ​การ​รอด​ชีวิต—ผู้​กล้า​หาญ​ซึ่ง​ไม่​เป็น​ที่​รู้​จัก​ของ​แคนาดา (ภาษา​อังกฤษ).

^ วรรค 11 อักษร SOS ถูก​เลือก​มา​ใช้​เพราะ​รับ​ส่ง​ได้​ง่าย. อักษร​สาม​ตัว​นี้​ไม่​มี​ความ​หมาย​พิเศษ​ใด ๆ.

^ วรรค 15 คำ​ว่า “เมย์เดย์” จะ​ต้อง​พูด​สาม​ครั้ง​เพื่อ​แสดง​ความ​ชัดเจน​และ​หลีก​เลี่ยง​ความ​สับสน​กับ​คำ​อื่น.

[ภาพ​หน้า 27]

ไฟ​ลุก​ท่วม​เรือ “นอติคัล เลกาซี” และ​มี​ควัน​หนา​ทึบ

[ที่​มา​ภาพ]

Courtesy Fisheries and Oceans Canada reproduced with the permission of © Her Majesty the Queen in Right of Canada 2010

[ภาพ​หน้า 28]

เพื่อ​จะ​ใช้​รหัส​มอร์ส​ใน​ทะเล กะลาสี​ไม่​ได้​ใช้​เสียง​เหมือน​พนักงาน​โทรเลข แต่​ใช้​ลำ​แสง​จ้า

[ที่​มา​ภาพ]

© Science and Society/SuperStock