การปลุกเร้าแนวคิดเรื่องอเทวนิยม
การปลุกเร้าแนวคิดเรื่องอเทวนิยม
ในสังคมสมัยนี้มีคนกลุ่มใหม่ซึ่งไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง. นั่นคือพวกอเทวนิยมแนวใหม่. พวกเขาไม่พอใจแค่การเชื่อเรื่องอเทวนิยม แต่ต้องการรณรงค์ให้คนอื่นยอมรับด้วย อย่างที่นักเขียนคอลัมน์ชื่อริชาร์ด เบิร์นสไตน์ เขียนไว้ พวกเขา “พยายามชักจูงคนที่มีศาสนาให้รับแนวคิดของเขาด้วยการกระทำที่เกรี้ยวกราด, จริงจัง, และรุนแรง.” พวกเขาถึงกับพุ่งเป้าไปยังคนที่คิดว่าไม่มีทางจะรู้ความจริงเรื่องพระเจ้า เพราะนักอเทวนิยมแนวใหม่ไม่ยอมให้มีความสงสัยใด ๆ. พวกเขาเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าไม่มีพระเจ้า. และไม่จำเป็นต้องถกกันอีก.
สตีเวน ไวน์เบิร์ก ผู้ได้รับรางวัลโนเบล กล่าวไว้ว่า “โลกต้องตื่นจากความศรัทธาทางศาสนาซึ่งเปรียบได้กับฝันร้ายอันยาวนาน. พวกเราที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ควรจะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อลดอิทธิพลของศาสนา และในที่สุดแล้วนั่นอาจเป็นการทำประโยชน์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดให้แก่อารยธรรมของเรา.” เครื่องมืออย่างหนึ่งที่มุ่งเป้าจะลดอิทธิพลดังกล่าวคือข้อเขียนต่าง ๆ ซึ่งดูเหมือนเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากหนังสืออเทวนิยมแนวใหม่บางเล่มกลายเป็นหนังสือขายดี.
ศาสนาเองก็ช่วยส่งเสริมอเทวนิยมแนวใหม่ด้วย เพราะประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายกับความคิดแบบหัวรุนแรง, การก่อการร้าย, และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกเนื่องจากศาสนา. นักอเทวนิยมชั้นแนวหน้าคนหนึ่งพูดว่า “ศาสนาทำให้ทุกสิ่งเป็นพิษ.” ไม่ใช่แค่นั้น ว่ากันว่า ‘พิษ’ นั้นยังรวมไปถึงความเชื่อทางศาสนาโดยทั่วไป ไม่เฉพาะแนวคิดแบบสุดโต่ง. นักอเทวนิยมแนวใหม่กล่าวว่า จำเป็นต้องเปิดโปงหลักคำสอนที่เป็นแก่นของศาสนา ต้องเลิกเชื่อสิ่งเหล่านั้นแล้วนำเอาเหตุและผลเข้ามาแทนที่. นักอเทวนิยมชื่อแซม แฮร์ริส เขียนว่า ผู้คนต้องกล้าพูดอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเกี่ยวกับ “เรื่องไร้สาระที่ทำลายชีวิตซึ่งมีอยู่มากมาย” ในคัมภีร์ไบเบิลและคัมภีร์อัลกุรอาน. “เราจะมัวแต่ . . . เกรงใจอีกไม่ได้แล้ว.”
ในขณะที่นักอเทวนิยมแนวใหม่ปฏิเสธศาสนาแต่พวกเขากลับเทิดทูนวิทยาศาสตร์ บางคนถึงกับอ้างว่าวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าพระเจ้าไม่มีจริง. แต่เป็นอย่างนั้นไหม? วิทยาศาสตร์ทำอย่างนั้นได้จริง ๆ หรือ? แฮร์ริสกล่าวว่า “ถ้าเวลาผ่านไปนานพอ ฝ่ายหนึ่งจะต้องชนะและอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องแพ้.”
คุณคิดอย่างไร? เวลาจะพิสูจน์ว่าฝ่ายไหนถูก? เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ ขอให้ถามตัวเองว่า ‘การเชื่อเรื่องพระผู้สร้างเป็นอันตรายจริง ๆ ไหม? ถ้าทุกคนไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า โลกนี้จะดีขึ้นไหม?’ ให้เราพิจารณาว่านักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาบางคนที่ผู้คนให้ความนับถือพูดไว้อย่างไรเกี่ยวกับอเทวนิยม, ศาสนา, และวิทยาศาสตร์.