ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
สมควรอธิษฐานถึง “นักบุญ” ไหม?
มารีและเทเรซาคิดว่าตัวเองเป็น “คาทอลิกที่ดี.” ทั้งสองคนเลื่อมใสใน “เหล่านักบุญ.” มารีเชื่อว่าเธออธิษฐานขอนักบุญให้ช่วยเหลือได้. เทเรซาอธิษฐานเป็นประจำถึง “นักบุญ” ผู้พิทักษ์หมู่บ้านของเธอ ทั้งยังได้อธิษฐานถึง “นักบุญเทเรซา” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเธอ.
เช่นเดียวกันกับมารีและเทเรซา ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกอธิษฐานขอพรจาก “นักบุญ” ที่ตนนับถือ. สารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “เหล่านักบุญทูลขอเพื่อมนุษย์” และ “เป็น ‘เรื่องดีและเป็นประโยชน์’ ที่จะอ้อนวอนเหล่านักบุญเพื่อจะได้ . . . พรจากพระเจ้า.”
กระนั้น พระเจ้ามองเรื่องนี้อย่างไร? พระเจ้ายอมรับไหมถ้าเราอ้อนวอน “นักบุญ” ให้ขอเพื่อเรา? ขอพิจารณาเรื่องที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว.
เราควรอ้อนวอน “นักบุญ” ไหม?
ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษากรีกที่มีการแปลว่า “นักบุญ” ในฉบับแปลบางฉบับหมายถึง “ผู้บริสุทธิ์.” อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวถึงผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าแม้แต่คนเดียวที่ได้อธิษฐานถึง “นักบุญ.” เพราะเหตุใด? สารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ บอกว่าเพิ่ง “มีการยอมรับอย่างเปิดเผยเมื่อศตวรรษที่ 3 ว่าการอธิษฐานถึงพวกนักบุญนั้นได้ผล.” นั่นคือประมาณ 200 ปีหลังพระคริสต์สิ้นพระชนม์. ฉะนั้น คำสอนนี้จึงไม่ได้เกิดจากพระเยซูหรือผู้เขียนพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าซึ่งบันทึกเรื่องราวงานรับใช้ของพระองค์. ทำไมพระเยซูและผู้เขียนเหล่านั้นไม่ได้สอนให้อธิษฐานถึง “นักบุญ”?
คัมภีร์ไบเบิลสอนมาโดยตลอดว่าเราควรอธิษฐานถึงพระเจ้าแต่องค์เดียว ทำเช่นนั้นในนามพระเยซูคริสต์. พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต. ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา.” (โยฮัน 14:6) คำตรัสที่ชัดเจนนั้นสอดคล้องกับคำสอนของพระเยซูที่บันทึกไว้ในมัดธาย 6:9-13. ขณะอธิบายเรื่องการอธิษฐาน พระเยซูตรัสแก่สาวกว่า “เจ้าทั้งหลายจงอธิษฐานอย่างนี้ ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. . . . ’” (มัดธาย ) ชัดเจนทีเดียว เราควรอธิษฐานถึงพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์แต่เพียงองค์เดียว. ความจริงข้อนี้มีพื้นฐานจากหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. 6:9
การอธิษฐานเป็นการนมัสการรูปแบบหนึ่ง
สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก กล่าวว่า “การอธิษฐานหมายถึงการพูดและการคิดด้วยความเคารพนับถือต่อพระเจ้า, เทพเจ้า, เทพธิดา, หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการนมัสการ. . . . การอธิษฐานเป็นการนมัสการรูปแบบหนึ่ง ที่สำคัญในเกือบทุกศาสนาในโลก.” (เราทำให้เป็นตัวเอน.) ขอให้ถามตัวเองว่า ‘เหมาะสมไหมที่จะคุกเข่านมัสการผู้ใดผู้หนึ่งนอกเหนือจากพระผู้สร้างผู้ประสาทชีวิต?’ (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) พระเยซูตรัสว่า “ผู้นมัสการแท้จะนมัสการพระบิดา ด้วยพระวิญญาณและความจริง เพราะพระบิดาทรงแสวงหาคนอย่างนั้นนมัสการพระองค์.” (โยฮัน 4:23) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวว่า พระผู้สร้างของเราเรียกร้อง “ความเลื่อมใสโดยเฉพาะ” จากเรา.—พระบัญญัติ 4:24; 6:15, ล.ม.
ขอให้พิจารณาตัวอย่างของคริสเตียนอัครสาวกโยฮัน. หลังจากได้รับนิมิตที่น่าตื่นตาดังบันทึกไว้ที่หนังสือวิวรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล อัครสาวกผู้เกรงกลัว “หมอบลงจะนมัสการแทบเท้าทูตสวรรค์” ซึ่งได้แสดงสิ่งเหล่านั้นให้ท่านเห็น. ทูตสวรรค์ทำอย่างไร? ทูตสวรรค์บอกว่า “อย่าเลย! อย่าทำอย่างนั้น! ข้าพเจ้าเป็นเพียงเพื่อนทาสของท่านและของพี่น้องของท่าน . . . จงนมัสการพระเจ้าเถิด.” (วิวรณ์ 22:8, 9) ใช่แล้ว คัมภีร์ไบเบิลเน้นอีกครั้งหนึ่งว่าเราควรนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าองค์เดียว.
สอดคล้องกับเรื่องที่กล่าวไปแล้ว มีพระเจ้าแต่องค์เดียวที่ได้รับฉายาว่า “ผู้สดับคำอธิษฐาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) ยิ่งกว่านั้น ในฐานะเป็นองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง พระองค์แต่ผู้เดียวมีสิทธิ์, ความรู้, และอำนาจจะตอบคำอธิษฐานใด ๆ ที่ถูกต้องสมควร. (โยบ 33:4) แม้แต่พระเยซูคริสต์เองก็ยอมรับว่าพระองค์มีข้อจำกัด. (มัดธาย 20:23; 24:36) อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเช่นนั้น พระเยซูคริสต์ก็มีอำนาจยิ่งใหญ่ รวมทั้งการเป็นผู้กลางให้มนุษยชาติ.
ผู้กลางที่เห็นอกเห็นใจ
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระเยซูว่า “พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าโดยทางพระองค์ให้รอดได้อย่างสมบูรณ์ด้วย เพราะพระองค์ทรงพระชนม์อยู่เสมอเพื่อทูลอ้อนวอนแทนพวกเขา.” (ฮีบรู 7:25) พูดอีกอย่างหนึ่ง พระเยซูสามารถเป็นผู้กลางที่เห็นอกเห็นใจและทูลขอเพื่อคนที่ “เข้าเฝ้าพระเจ้า โดยทางพระองค์.” นี่ไม่ได้หมายความว่าเราควรอธิษฐานถึงพระเยซูแล้วพระองค์จะถ่ายทอดคำอธิษฐานของเราไปยังพระเจ้า. แต่นี่หมายความว่าเราต้องอธิษฐานถึงพระเจ้าในนามของพระเยซู ซึ่งเป็นการยอมรับสิทธิอำนาจของพระเยซู. เพราะเหตุใดพระเยซูเป็นผู้กลางที่สมบูรณ์แบบ?
เหตุผลหนึ่ง พระเยซูเคยดำเนินชีวิตอย่างมนุษย์ ซึ่งทำให้พระองค์เข้าใจมากขึ้นในเรื่องความทุกข์ยากของผู้อื่น. (โยฮัน 11:32-35) นอกจากนั้น พระองค์แสดงความรักต่อประชาชนด้วยการรักษาคนป่วย ปลุกคนตายให้เป็นขึ้นมา และช่วยผู้คนที่มาหาพระองค์ให้รู้จักพระเจ้า. (มัดธาย 15:29, 30; ลูกา 9:11-17) พระองค์ทรงยกบาปโทษได้ด้วยซ้ำ. (ลูกา 5:24) ด้วยเหตุนี้เราจึงมั่นใจ เพราะถ้าเราทำบาป “เราก็มีผู้ช่วยซึ่งอยู่กับพระบิดา คือพระเยซูคริสต์ผู้ชอบธรรม.”—1 โยฮัน 2:1
ความรักและความเมตตาสงสารของพระเยซูเป็นคุณลักษณะที่เราควรเลียนแบบ. จริงอยู่ พวกเราไม่ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้กลาง. แต่เราสามารถอธิษฐานเพื่อคนอื่นได้. ยาโกโบบอกว่า “จง . . . อธิษฐานเพื่อกันและกัน . . . คำวิงวอนของผู้ชอบธรรมมีพลังทำให้เกิดผลมากเมื่อได้รับคำตอบ.”—ยาโกโบ 5:16
มารีและเทเรซาได้มาเข้าใจความจริงอันมีค่าเหล่านี้โดยการตรวจสอบคัมภีร์ไบเบิลด้วยตนเอง. พยานพระยะโฮวาขอเชิญคุณตรวจสอบด้วยเช่นกัน. ดังที่พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่นมัสการ [พระเจ้า] ต้องนมัสการด้วยพระวิญญาณและความจริง.”—โยฮัน 4:24