สภาพอากาศเปลี่ยนวิถีแห่งประวัติศาสตร์
สภาพอากาศเปลี่ยนวิถีแห่งประวัติศาสตร์
บันทึกทางประวัติศาสตร์มีเรื่องราวที่น่าทึ่งหลายเรื่องซึ่งสภาพอากาศส่งผลอย่างมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. ขอพิจารณาเพียงสองตัวอย่าง.
เมื่อพายุพัดกระหน่ำ
ในปี 1588 กษัตริย์ฟิลิปแห่งสเปนส่งกองเรืออาร์มาดาไปรุกรานอังกฤษ. แต่สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามแผนเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย.
เมื่อกองเรือสเปนเข้าสู่ช่องแคบอังกฤษ กองเรืออังกฤษจึงออกมาต้าน. เรือของอังกฤษที่คล่องตัวกว่าเข้าต่อสู้กับพวกสเปน แต่สร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้กับเรือของสเปน. จากนั้น กองเรืออาร์มาดาจึงทอดสมอใกล้เมืองกาเลส์โดยมีคำสั่งให้รับกองทหารเพื่อเข้าโจมตีอังกฤษตามแผนที่วางไว้.
ในช่วงเวลานั้นภายใต้ความมืด พวกอังกฤษจุดไฟเผาเรือของตนบางลำและปล่อยให้ลอยตรงเข้าไปหาเรือของพวกสเปนที่ทอดสมออยู่โดยที่มีลมและกระแสน้ำช่วยพัดไป. เรือสเปนหลายลำต้องตัดสมอของตนเพื่อหนีเรือไฟอังกฤษ. การตัดสมอของเรือสเปนปรากฏว่าเป็นความหายนะสำหรับพวกเขาในเวลาต่อมา.
หลังจากเหตุการณ์นั้นที่เมืองกาเลส์ กองเรือของทั้งสองฝ่ายก็มุ่งหน้าไปที่ทะเลเหนือแล่นเรือไปตามกระแสลม. พอถึงตอนนั้น ดินปืนของกองเรืออังกฤษหมด ดังนั้น พวกเขาจึงถอยทัพกลับไปที่ชายฝั่งอังกฤษ. โดยที่มีลมพัดต้านกองเรือสเปนและมีกองเรืออังกฤษอยู่ระหว่างพวกเขากับประเทศสเปน พวกสเปนจึงถูกบังคับให้แล่นเรือไปทางเหนืออ้อมสกอตแลนด์ จากนั้นไปทางใต้จนพ้นไอร์แลนด์และเพื่อในที่สุดจะกลับไปถึงสเปน.
ในเวลานั้น อาหารและน้ำของกองเรือสเปนจวนจะหมด และเรือที่ได้รับความเสียหายมีทหารที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน รวมทั้งบางคนที่ป่วยด้วยโรคลักปิดลักเปิด. ฉะนั้น ทั้งกองเรือจึงมีการปันส่วนอาหาร ซึ่งทำให้ลูกเรืออ่อนแอลงไปอีก.
หลังจากที่กองเรืออ้อมสกอตแลนด์ พายุอันรุนแรงแห่งมหาสมุทรแอตแลนติกได้พัดเรือหลายลำเข้าหา
ชายฝั่งไอร์แลนด์. ในกรณีเช่นนี้ ปกติแล้วลูกเรือจะทอดสมอและรอให้กระแสลมพัดไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ. แต่เนื่องจากเรือหลายลำได้ตัดสมอไปแล้วก่อนหน้านี้ตอนที่หนีเรือไฟ เรือสเปน 26 ลำจึงอับปางใกล้ชายฝั่งของไอร์แลนด์โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 ถึง 6,000 คน.ตอนที่กองเรืออาร์มาดากลับมาถึงสเปนมีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 20,000 คน. สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและการสูญเสียเรือจำนวนมากก็คือสภาพอากาศ. ดูเหมือนชาวดัตช์จะคิดเช่นนี้. ต่อมาชาวดัตช์จัดทำเหรียญเพื่อฉลองการพ่ายแพ้ของกองเรืออาร์มาดาแห่งสเปน. ในเหรียญนั้นพวกเขาได้จารึกถ้อยคำที่แสดงถึงความเชื่อของคนทั่วไปที่ว่าพระเจ้าเป็นผู้บันดาลภัยธรรมชาติดังนี้: “พระยะโฮวาทรงเป่าและพวกเขาก็กระจัดกระจายไป.”
ฝนทำให้พ่ายแพ้
อีกเหตุการณ์สำคัญของโลกที่สภาพอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างมาก คือสมรภูมิวอเตอร์ลูในปี 1815. ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ในสมรภูมิวอเตอร์ลูซึ่งอยู่ไกลประมาณ 21 กิโลเมตรทางใต้ของกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีมากกว่า 70,000 คนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บภายในไม่กี่ชั่วโมง. ดุ๊กแห่งเวลลิงตันชาวอังกฤษเลือกสนามรบและยึดพื้นที่สูง. แม้กองทัพฝรั่งเศสของนะโปเลียนจะมีทหารมากกว่าเวลลิงตัน นะโปเลียนต้องเอาชนะข้าศึกให้ได้ก่อนเวลากลางคืน เพราะเวลลิงตันจะได้รับกำลังเสริมจากกองทัพปรัสเซียในคืนนั้น. อย่างไรก็ดี สภาพอากาศส่งผลกระทบอย่างมากอีกครั้งหนึ่ง.
มีฝนตกหนักมากในคืนก่อนการสู้รบ. ทหารส่วนมากจำได้ว่าคืนนั้นเป็นคืนที่ลำบากที่สุดในชีวิตของพวกเขา. แม้เมื่อบางคนกางเต็นท์ขนาดเล็ก ทหารคนหนึ่งก็ยังคร่ำครวญว่าที่นอนในเต็นท์นั้นเปียกโชกราวกับอยู่ก้นทะเลสาบ. พื้นดินซึ่งเฉอะแฉะเนื่องจากฝนก็กลายเป็นหล่มโคลน. นะโปเลียนต้องการเริ่มโจมตีแต่เช้าเพราะอยากเอาชนะเวลลิงตันให้ได้. อย่างไรก็ตาม กว่าเขาจะเริ่มการโจมตีเวลาก็ล่วงเลยมาอีกหลายชั่วโมง.
เหตุผลหลักที่ล่าช้าคือสภาพของพื้นดิน ซึ่งต้องรอให้แห้งบ้างก่อนจะสู้รบกันได้. โคลนยังทำให้ปืนใหญ่ที่นะโปเลียนชอบใช้มีประสิทธิภาพลดลง. ประการแรก พิสัยการยิงลดลง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายปืนใหญ่หนัก ๆ ในโคลนทำได้ยาก. ประการที่สอง กระสุนปืนใหญ่ถูกออกแบบมาให้กระดอนพื้นและสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นให้แก่กองทัพของเวลลิงตัน. อย่างไรก็ดี วันนั้นกระสุนปืนใหญ่ไม่กระดอน เพราะพื้นซึ่งเปียกแฉะดูดซับพลังงานส่วนใหญ่ไว้. นั่นกลายเป็นความหายนะสำหรับนะโปเลียนและกองทัพของเขา. ด้วยเหตุนี้ กองทัพของนะโปเลียนจึงพ่ายแพ้เนื่องจากสภาพอากาศ และเขาก็ถูกเนรเทศ.
ในทั้งสองเหตุการณ์ที่กล่าวมา ดูเหมือนว่าสภาพอากาศเป็นตัวกำหนดว่าเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์จะมีผลออกมาเช่นไร. ต่อมา เหตุการณ์เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญให้จักรวรรดิอังกฤษขึ้นมามีอำนาจ.
[ภาพหน้า 24]
กองเรืออาร์มาดาของสเปน
[ที่มาของภาพ]
© 19th era/Alamy
[ภาพหน้า 25]
สมรภูมิที่วอเตอร์ลู
[ที่มาของภาพ]
© Bettmann/CORBIS