การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย—จุดมุ่งหมายคืออะไร?
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย—จุดมุ่งหมายคืออะไร?
“แม่ของดิฉันอายุ 94 ปี เป็นโรคอัลไซเมอร์ หัวใจล้มเหลว และต้องนอนอยู่แต่บนเตียง. แม่ไม่ยอมกินอาหารและไม่ยอมตื่นเมื่อเราปลุก. โรงพยาบาลบอกดิฉันว่าแม่กำลังประสบ ‘ความเปลี่ยนแปลงสภาวะของจิตสำนึก.’ ดิฉันอยากดูแลแม่ที่บ้าน แต่ดิฉันก็ต้องการความช่วยเหลือ.”—จีน
ความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้เป็นเรื่องยอมรับได้ยากไม่ใช่สำหรับผู้ป่วยเท่านั้นแต่สำหรับครอบครัวด้วย. ญาติ ๆ ของผู้ป่วยต้องเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบาก. พวกเขาควรทำทุกวิถีทางเพื่อยืดชีวิตผู้ป่วยไว้ไหม แม้ว่าผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานอย่างยาวนานโดยไม่จำเป็น? หรือควรจะดูแลผู้ที่พวกเขารักให้มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่?
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือการดูแลผู้ป่วยด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และการเงิน. เป้าหมายคือการบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วยระยะสุดท้าย. ทุกวันนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศต่าง ๆ ในโลกมีโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แม้บางประเทศจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง. ตัวอย่างเช่น เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคเอดส์และมะเร็งเพิ่มขึ้นในแอฟริกา ประเทศส่วนใหญ่มีโครงการนี้หรือกำลังเริ่มโครงการเหล่านี้.
จุดมุ่งหมายของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าการเข้าร่วมโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่ากับการยอมตาย. สมาชิกในครอบครัวอาจรู้สึกว่าการให้ผู้ที่พวกเขารักได้รับการดูแลในฐานะผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเหมือนกับการให้ผู้ป่วยรอความตาย. แต่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่การรอสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้โดยไม่ทำอะไรเลย. การดูแลนี้สามารถช่วยผู้ป่วยให้รักษาศักดิ์ศรี ทำให้ชีวิตมีความหมายและได้อยู่กับคนที่เขารักนานเท่าที่เป็นไปได้ ในเวลาเดียวกันก็บรรเทาความเจ็บปวดด้วย. นอกจากนั้น ครอบครัวของผู้ป่วยยังมีโอกาสปลอบใจและช่วยเหลือคนที่เขารักนานเท่าที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ.
แม้ว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่สามารถรักษาการป่วยร้ายแรงให้หาย แต่สามารถรักษาอาการที่พอจะเยียวยาได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบหรือการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ. ถ้าสภาพการณ์เปลี่ยน ตัวอย่างเช่น หากมีการพัฒนาวิธีการรักษาโรคนั้นหรือโรคนั้นทุเลาลง ผู้ป่วยก็สามารถกลับไปรับการรักษาตามปกติได้.
ข้อดีของการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
ในบางประเทศ มีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเฉพาะในสถานพยาบาลที่จัดไว้เท่านั้น. ในประเทศอื่น ๆ สมาชิกในครอบครัวสามารถให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน. การดูแลที่บ้านทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้. การดูแลผู้ป่วยที่
บ้านสอดคล้องกับวัฒนธรรมของหลายประเทศด้วย เช่นในยูกันดาซึ่งมีธรรมเนียมให้สมาชิกในครอบครัวดูแลคนป่วยและคนสูงอายุ.ในโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน บ่อยครั้งผู้ดูแลจะได้รับความช่วยเหลือโดยมีทีมงานสนับสนุนซึ่งอาจประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยและอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม. บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้สามารถสอนผู้ที่ดูแลผู้ป่วยให้รู้วิธีช่วยผู้ป่วยให้รู้สึกสบายและอธิบายสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิต. พวกเขายังทำตามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวด้วย. ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นความต้องการของครอบครัว บุคลากรเหล่านี้จะไม่ทำการตรวจวินิจฉัยโรคที่ไม่จำเป็น หรือไม่ให้อาหารทางสายยางเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ.
โดโลเรสและจีนดูแลพ่อวัย 96 ปีที่บ้าน. เนื่องจากพ่อของพวกเธอมีอาการทรุดลงเรื่อย ๆ ทั้งสองจึงรู้สึกขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือที่ได้รับ. โดโลเรสพูดว่า “ผู้ช่วยมาช่วยเราอาบน้ำให้พ่อสัปดาห์ละห้าวัน. เธอยังเปลี่ยนผ้าปูที่นอนของพ่อและช่วยพ่อแต่งตัวด้วยถ้าพวกเราต้องการ. พยาบาลมาสัปดาห์ละครั้งเพื่อวัดสัญญาณชีพและนำยาที่แพทย์สั่งจ่ายมาให้. และแพทย์ก็มาเยี่ยมทุก ๆ สามสัปดาห์. ถ้าเราต้องการให้พวกเขามามากกว่านั้น พวกเขาก็พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง.”
การมีบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เนื่องจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้รู้ว่าควรใช้ยาชนิดใดและสามารถคอยติดตามอาการผู้ป่วย รวมทั้งดูแลผู้ป่วยไม่ให้รู้สึกเจ็บปวด และในเวลาเดียวกันก็ดูแลผู้ป่วยให้รู้สึกตัวเท่าที่เป็นไปได้. พวกเขาสามารถให้ออกซิเจนผู้ป่วยได้ด้วย. ความช่วยเหลือที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ทำให้ผู้ดูแลและผู้ป่วยมั่นใจ และขจัดความกลัวว่าจะประสบความเจ็บปวดอย่างรุนแรงหรือความทุกข์ทรมานอื่น ๆ ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต.
การดูแลด้วยความเห็นอกเห็นใจ
บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายรู้ว่าต้องรักษาศักดิ์ศรีของผู้ป่วยและปฏิบัติต่อเขาด้วยความนับถือตลอดช่วงที่ป่วย. มาร์ทาซึ่งทำงานในแวดวงนี้มากว่า 20 ปี พูด
ว่า “ดิฉันได้มารู้จักผู้ป่วย รู้ว่าพวกเขาชอบและไม่ชอบอะไร และดิฉันพยายามช่วยให้พวกเขามีความสุขกับช่วงเวลาที่เหลืออยู่เท่าที่เป็นไปได้. ดิฉันมักจะรู้สึกผูกพันกับพวกเขามากและถึงกับรักบางคน. จริงอยู่ ผู้ป่วยบางคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ จะขัดขืนขณะที่ดิฉันช่วยพวกเขา. พวกเขาจะพยายามตี กัดหรือแม้กระทั่งเตะดิฉันด้วยซ้ำ. ดิฉันพยายามจำไว้เสมอว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งใจ แต่เพราะพวกเขาป่วยอยู่.”มาร์ทารู้สึกอิ่มใจด้วยที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ดูแลผู้ป่วย. เธอกล่าวว่า “ความช่วยเหลือของดิฉันทำให้พวกเขาไม่ต้องรับภาระหนักเกินไปในการดูแลผู้ที่พวกเขารัก. แค่ได้รู้ว่ามีบุคลากรที่ช่วยดูแลผู้ป่วยคอยแบ่งเบาภาระอยู่ก็ทำให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจแล้ว.”
ถ้ามีโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในละแวกที่คุณอยู่ คุณอาจเข้าร่วมโครงการนี้ซึ่งเป็นทางเลือกที่เห็นอกเห็นใจและใช้ได้จริงนอกจากโรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชรา. จีนซึ่งกล่าวถึงตอนต้นรู้สึกดีใจที่เธอเลือกใช้โครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสำหรับแม่ของเธอ. เธอพูดว่า “โครงการนี้ทำให้แม่อยู่ที่บ้านต่อไปได้ และได้อยู่ท่ามกลางครอบครัว ซึ่งคอยช่วยเหลือแม่ทั้งทางกาย อารมณ์ และจิตใจ ขณะเดียวกันแม่ก็ได้รับการดูแลทางการแพทย์และยาที่จำเป็นเพื่อให้แม่รู้สึกสบาย. บุคลากรในโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกคนเป็นมืออาชีพและมีความเห็นอกเห็นใจ. คำแนะนำและความเชี่ยวชาญของพวกเขาช่วยเราได้มาก. ฉันเชื่อว่าแม่คงไม่อยากได้รับการดูแลในรูปแบบอื่น.”
[คำโปรยหน้า 17]
การมีบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
[กรอบ/ภาพหน้า 16]
“เราได้อยู่กับแม่”
อีซาเบล ผู้หญิงคนหนึ่งในเม็กซิโกมีแม่ซึ่งต้องสู้กับมะเร็งเต้านมมานานถึง 16 ปีจนกระทั่งมะเร็งกระจายและหมดหวังในการรักษา. เธอเล่าว่า “ดิฉันกับครอบครัวเป็นห่วงมากว่าแม่จะทรมาน. เราอธิษฐานขอให้แม่ไม่ต้องทนเจ็บปวดเหมือนที่ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหลายคนต้องประสบก่อนจะเสียชีวิต. หมอคนหนึ่งในเม็กซิโกซึ่งเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตเป็นคำตอบสำหรับคำอธิษฐานของเรา. หมอคนนี้มาเยี่ยมเราสัปดาห์ละครั้ง ให้ยาแก้ปวดที่เหมาะกับอาการ และให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยาและวิธีดูแลแม่อย่างละเอียดซึ่งปฏิบัติตามได้ง่าย. เราสบายใจมากที่รู้ว่าเราโทรศัพท์ไปหาหมอคนนี้ในเวลาใดก็ได้ ทั้งกลางวันและกลางคืน และหมอก็จะมาหาเรา. เป็นเรื่องดีที่เราได้เห็นแม่ไม่เจ็บปวดทรมานในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต และมีความสุขกับการกินอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่แม่จะกินได้ด้วย. เราได้อยู่กับแม่ที่บ้าน จนกระทั่งแม่จากไปอย่างสงบ.”
[กรอบหน้า 17]
เมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้าย
ดูแลให้ผ้าปูที่นอนสะอาด แห้ง และเรียบ. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ ให้พลิกตัวผู้ป่วยเป็นประจำ และถ้าผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ให้เปลี่ยนกางเกงชั้นในหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้ใหญ่ตามที่จำเป็น. อาจช่วยให้คนไข้ขับถ่ายได้โดยใช้ยาเหน็บหรือยาสวนทวารถ้าจำเป็น. เมื่อวาระสุดท้ายใกล้เข้ามามาก อาจไม่จำเป็นต้องให้อาหารและน้ำ. ระวังอย่าให้ปากแห้ง โดยใช้น้ำแข็งหรือผ้าชื้น ๆ แตะที่ริมฝีปากบ่อย ๆ หรือไม่ก็ใช้ขี้ผึ้งทาปาก. เพียงแค่การจับมือผู้ป่วยไว้ก็เป็นการปลอบโยนได้มาก และจำไว้ว่าเขาอาจได้ยินเราพูดจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต.