ดนตรีเป็นสิ่งมีค่า
ดนตรีเป็นสิ่งมีค่า
คุณนึกภาพออกไหมว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีเสียงดนตรี? ไม่มีเพลงกล่อมเด็ก. ไม่มีเพลงรักโรแมนติก. ไม่มีเพลงป๊อปจังหวะคึกคัก. ไม่มีเพลงซิมโฟนีที่เร้าใจ. และไม่มีทำนองเพลงซึ่งสร้างแรงบันดาลใจ. ในความคิดของคนส่วนใหญ่ ชีวิตที่ไม่มีเสียงดนตรีคงน่าเบื่อมาก.
ใช่แล้ว ดนตรีทำให้คนเราเกิดความรู้สึกอย่างไรก็ได้. ดนตรีช่วยให้เราสบายใจ ตื่นเต้น เบิกบาน หรือมีกำลังใจ. เราอาจตื่นเต้นดีใจหรือเศร้าจนถึงกับร้องไห้เมื่อฟังเพลง. นอกจากนั้น เนื่องจากมีผลต่ออารมณ์ ดนตรีจึงมีพลังมาก. ทำไม? คำตอบง่าย ๆ: ดนตรีเป็นของประทานที่ยอดเยี่ยมจากพระเจ้า. (ยาโกโบ 1:17) ในเมื่อดนตรีมาจากพระเจ้า เราควรถือว่าดนตรีเป็นสิ่งมีค่า และคนทุกเพศทุกวัยฟังควรได้ฟังดนตรีที่เป็นประโยชน์.
ดนตรีมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน. ยกตัวอย่าง หลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่าหลายศตวรรษก่อนสากลศักราช ชนเผ่าในแอฟริกาเล่นเครื่องดนตรีหลายอย่าง เช่น กลอง แตร และกระดิ่ง. คนจีนสมัยโบราณเล่นเครื่องดนตรีคล้ายหีบเพลงปากและขลุ่ยแถว. ชาวอียิปต์ ชาวอินเดีย ชาวอิสราเอล และชาวเมโสโปเตเมียเล่นพิณ. หนึ่งในแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงดนตรีอย่างเฉพาะเจาะจงอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลที่เยเนซิศ 4:21. เรารู้จากข้อนั้นว่าชายชื่อยูบาลเป็น “คนแรกที่ดีดพิณและเป่าปี่.” (ล.ม.) หลายศตวรรษต่อมา กษัตริย์โซโลมอนแห่งอิสราเอลสนใจเรื่องดนตรีมาก และแสวงหาไม้ชั้นเลิศเพื่อนำมาทำพิณและเครื่องสายชนิดอื่น ๆ.—1 กษัตริย์ 10:11, 12.
แน่นอน ถ้าคนสมัยนั้นจะฟังดนตรี เขาก็ต้องเล่นเครื่องดนตรีเป็นหรือฟังคนอื่นที่เล่นเป็น. แต่ปัจจุบัน ผู้คนนับล้านฟังดนตรีได้โดยเพียงแค่กดปุ่มหรือคลิกเมาส์. ที่จริง เราอาจบันทึกหรือดาวน์โหลดเพลงได้ทุกชนิด แล้วเปิดฟังจากเครื่องเล่นขนาดพกพา. การสำรวจเมื่อปี 2009 ในประเทศหนึ่งทางตะวันตกพบว่า เยาวชนอายุระหว่าง 8 ถึง 18 ปีใช้เวลาฟังเพลงและรายการบันทึกเสียงอื่น ๆ มากกว่าสองชั่วโมงต่อวัน.
แนวโน้มเช่นนี้มีอยู่ทั่วไป และช่วยเราเข้าใจสาเหตุที่ดนตรีและเทคโนโลยีด้านดนตรีได้กลายมาเป็นเครื่องมือทางการค้าที่สำคัญ. ที่จริง ดนตรีเป็นธุรกิจใหญ่. แต่คุณเคยสงสัยไหมว่าต้องมีขั้นตอนอะไรบ้างในการทำเพลงขึ้นมาสักเพลงหนึ่งให้ฮิตติดหู?
[กรอบ/ภาพหน้า 3]
ดนตรีออนไลน์
ดาวน์โหลด: ตามปกติ ผู้ใช้ต้องจ่ายเงินสำหรับเพลงแต่ละเพลงที่เขาดาวน์โหลด แล้วเพลงนั้นจะเป็นทรัพย์สินของเขา. ส่วนบางคนสมัครสมาชิก พร้อมกับสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือหรือการซื้อสินค้าอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งทำให้เขาสามารถดาวน์โหลดเพลงได้ในช่วงเวลาของสัญญา.
สตรีมมิ่ง: ดนตรีดิจิตอลที่ต้องฟังทันทีโดยไม่เก็บไฟล์ไว้. ส่วนใหญ่ดนตรีแบบนี้ฟังได้ฟรี แม้อาจต้องสมัครสมาชิกเพื่อชมรายการดนตรีพิเศษบางรายการ.
[กรอบ/ภาพหน้า 3]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
ความก้าวหน้าของสื่อบันทึกเสียง
ทศวรรษ 1880
แผ่นเสียง
ทศวรรษ 1890
ลวดเหล็กบันทึกเสียง
ทศวรรษ 1940
เทปรีล (Reel)
ทศวรรษ 1960
ตลับเทป
ทศวรรษ 1980
แผ่นซีดี
ทศวรรษ 1990
ไฟล์เสียงดิจิตอล (MP3 AAC WAV ฯ ลฯ)