มะเร็งเต้านม—ความคาดหวัง วิธีรักษา
มะเร็งเต้านม—ความคาดหวัง วิธีรักษา
กอนชีตาไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่พบได้ในผู้หญิงหลายคน. * เธอเพิ่งอายุ 40 ปี สุขภาพแข็งแรง และไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม. การถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammogram) ไม่พบสิ่งผิดปกติ. แต่วันหนึ่งขณะตรวจเต้านมระหว่างอาบน้ำ เธอคลำพบก้อนบางอย่าง. เมื่อแพทย์ตรวจดูก็พบว่ามันเป็นมะเร็ง. กอนชีตากับสามีนั่งอึ้งขณะที่แพทย์อธิบายทางเลือกในการรักษา.
เมื่อก่อน แพทย์จะบอกผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมว่าความหวังอย่างเดียวของเธอคือการตัดเต้านม ตัดต่อมน้ำเหลืองในทรวงอกและรักแร้ รวมทั้งกล้ามเนื้อทรวงอกออกซึ่งทำให้เสียเอกลักษณ์ความเป็นหญิง แต่กระนั้นก็ไม่รับประกันว่าจะหาย. บ่อยครั้ง เคมีบำบัดหรือการฉายรังสียิ่งทำให้ช่วงทนทุกข์ทรมานยาวนานขึ้นไปอีก. หลายคนจึงกลัว “การรักษา” มากกว่ามะเร็งด้วยซ้ำ.
การต่อสู้กับมะเร็งเต้านมต้องใช้วิธีที่รุนแรงในการกำจัดมะเร็งร้าย แต่ก็ต้องพยายามเลี่ยงไม่ให้เสียโฉมโดยไม่จำเป็นอีกทั้งผลข้างเคียงที่เจ็บปวดด้วย. เช่นเดียวกับกอนชีตา ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในปัจจุบันอาจมีทางเลือกในการรักษาหลายอย่าง. * นอกจากนั้น งานวิจัยทางการแพทย์และรายงานข่าวที่มีออกมาเรื่อย ๆ ก็ให้ความหวังว่า ในที่สุดเราจะเอาชนะโรคร้ายนี้ได้ด้วยวิธีการรักษาใหม่ ๆ และการทดสอบที่ช่วยคาดคะเนแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็ง อีกทั้งการควบคุมอาหารซึ่งช่วยป้องกันมะเร็ง.
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ มะเร็งเต้านมก็ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง. * ประเทศอุตสาหกรรมในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกมีอัตราผู้เป็นมะเร็งเต้านมสูงที่สุด แต่ผู้ป่วยในเอเชียและแอฟริกาก็มีจำนวนสูงขึ้นด้วย ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนดินแดนเหล่านี้มีอัตราต่ำกว่า. ยิ่งกว่านั้น อัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งในเอเชียและแอฟริกานั้นสูงกว่าดินแดนแถบอื่น ๆ. เพราะเหตุใด? แพทย์คนหนึ่งในแอฟริกากล่าวว่า “น้อยคนจะตรวจพบมะเร็งในระยะแรก ๆ. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาหาเราตอนที่เป็นมากแล้ว.”
ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมีสูงขึ้นตามอายุ. ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป. แต่ข่าวดีคือมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่รักษาให้หายขาดได้มากที่สุดชนิดหนึ่ง. ที่จริง 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรก ๆ ซึ่งยังไม่ลุกลามยังคงมีชีวิตอยู่แม้จะผ่านไปห้าปีแล้วหลังจากตรวจพบมะเร็ง. สำหรับกอนชีตา เวลาผ่านไปห้าปีแล้วตั้งแต่เธอรู้ว่าเป็นมะเร็ง.
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
เช่นเดียวกับกรณีของกอนชีตา บ่อยครั้งมีการตรวจพบมะเร็งเต้านมจากการคลำพบก้อนแปลก ๆ. แต่น่าดีใจ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของก้อนดังกล่าวไม่ใช่เนื้อร้าย หรือยังไม่แพร่กระจาย. หลายครั้งก้อนเหล่านั้นเป็นเพียงถุงน้ำที่เรียกกันว่าซีสต์ (cyst).
มะเร็งเต้านมเริ่มจากเซลล์ที่ผิดปกติเซลล์หนึ่งซึ่งแบ่งตัวจนควบคุมไม่ได้ และค่อย ๆ กลายเป็นก้อนเนื้องอก. เนื้องอก
นั้นกลายเป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็งเมื่อเซลล์ของมันรุกรานเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ. เนื้องอกบางชนิดโตเร็วมาก ส่วนบางชนิดต้องใช้เวลาถึงสิบปีกว่าจะตรวจพบ.เพื่อจะตรวจว่ากอนชีตาเป็นมะเร็งหรือไม่ แพทย์ใช้เข็มดูดเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมา. ชิ้นเนื้อนั้นมีเซลล์มะเร็งอยู่. เธอจึงเข้ารับการผ่าตัดเพื่อตัดก้อนเนื้อและเนื้อเยื่อเต้านมที่อยู่รอบ ๆ ก้อนเนื้อนั้นออก เพื่อจะได้ทราบขนาด ชนิด ระยะการแพร่ และความเร็ว (grade) ในการลุกลามของก้อนเนื้อนั้นด้วย.
หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยหลายคนเข้ารับการบำบัดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำและไม่ให้มะเร็งแพร่กระจาย. เซลล์มะเร็งอาจหลุดออกจากก้อนเนื้อแล้วเดินทางไปตามกระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลือง และโตเป็นก้อนเนื้อก้อนใหม่. การที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะสำคัญ ๆ เช่น สมอง ตับ ไขกระดูก หรือปอด เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต.
กอนชีตารับการฉายรังสีและเคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่หลุดออกมาอยู่รอบ ๆ บริเวณที่เคยมีก้อนเนื้อ รวมถึง
ทั่วร่างกาย. เนื่องจากมะเร็งของเธอเป็นชนิดที่อาศัยฮอร์โมนเอสโทรเจนในการเจริญเติบโต เธอจึงเข้ารับการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเติบโตของมะเร็งก้อนใหม่.ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเต้านมทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกอื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ ประวัติการเป็นมะเร็ง และก้อนมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคน. ตัวอย่างเช่น ในกรณีของผู้หญิงชื่ออาร์เลตต์ การตรวจทำให้รู้ว่าเธอเป็นมะเร็งก่อนที่มันจะแพร่ไปที่ท่อน้ำนม. เธอจึงตัดเฉพาะก้อนเนื้อออกโดยไม่ต้องตัดเต้านม. อะลิซรับเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กลง. ศัลยแพทย์ของแจนิซตัดเฉพาะก้อนเนื้อและต่อมน้ำเหลืองเซ็นติเนล ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองแรกที่รับน้ำเหลืองจากเนื้อมะเร็ง. เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองเซ็นติเนลของเธอไม่มีเซลล์มะเร็ง จึงไม่จำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองอื่น ๆ ออก. ด้วยเหตุนี้ แจนิซมีความเสี่ยงน้อยลงที่จะเกิดภาวะบวมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นอาการแขนบวมที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเนื่องจากการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกไปหลายต่อม.
เรามีความรู้ค่อนข้างมากเกี่ยวกับการลุกลามของมะเร็งเต้านม แต่คำถามพื้นฐานยังคงมีอยู่ นั่นคือมะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สาเหตุคืออะไร?
สาเหตุของมะเร็งเต้านมยังคงเป็นปริศนา. บางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการรักษาและการตรวจคัดโรคซึ่งทำเงินมากกว่า แทนที่จะศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุและการป้องกัน. กระนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเบาะแสสำคัญบางอย่าง. บางคนเชื่อว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากกระบวนการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน เริ่มจากยีนที่ผิดปกติซึ่งทำให้เซลล์แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ หลบเลี่ยงเซลล์ภูมิคุ้มกัน และจู่โจมอวัยวะสำคัญของร่างกาย.
ยีนที่ผิดปกติมาจากไหน? ประมาณ 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมียีนที่ทำให้มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้วตั้งแต่เกิด. แต่ดูเหมือนว่าในหลายกรณี ยีนที่ปกติดีอาจเกิดความเสียหายจากปัจจัยภายนอก. ส่วนใหญ่เชื่อกันว่ารังสีและสารเคมีเป็นสาเหตุ. การศึกษาในอนาคตอาจยืนยันเรื่องนี้.
สิ่งที่เกี่ยวข้องอีกอย่างหนึ่งคือฮอร์โมนเอสโทรเจน ซึ่งดูเหมือนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมบางชนิด. ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยเสี่ยงอาจสูงขึ้นถ้าผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือนเร็วหรือหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ ถ้าเธอมีลูกคนแรกช้าหรือไม่เคยมีลูกเลย หรือถ้าเธอเคยรับการบำบัดด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน. เนื่องจากเซลล์ไขมันผลิตเอสโทรเจน โรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ซึ่งรังไข่ไม่ผลิต
ฮอร์โมนอีกต่อไป. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ รวมไปถึงการมีระดับฮอร์โมนอินซูลินสูงและมีระดับฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งช่วยในการนอนหลับต่ำ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคนทำงานกะกลางคืน.เป็นไปได้ไหมที่จะมีการรักษามะเร็งเต้านมวิธีใหม่ ๆ ซึ่งได้ผลมากขึ้นและก่อความเจ็บปวดน้อยลง? นักวิจัยกำลังพัฒนาวิธีบำบัดซึ่งใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและยาที่โจมตีกระบวนการในระดับโมเลกุลซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้มะเร็งลุกลาม. ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการบันทึกภาพที่ดีขึ้นก็น่าจะช่วยแพทย์ฉายรังสีได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น.
นักวิทยาศาสตร์ยังค้นคว้าในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การไขปริศนาของการแพร่กระจาย การเอาชนะเซลล์มะเร็งที่ต้านทานเคมีบำบัด การขัดขวางสัญญาณกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ และการปรับวิธีรักษาสำหรับเนื้องอกแต่ละก้อน.
แต่ในโลกสมัยนี้ เราไม่มีทางกำจัดโรคภัยให้หมดไปได้ และมนุษย์ก็ยังคงต้องตาย. (โรม 5:12) มีแต่พระผู้สร้างเท่านั้นที่เปลี่ยนเรื่องน่าเศร้านี้ได้. แต่พระองค์จะทำอย่างนั้นไหม? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระองค์จะทำ! คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า เมื่อถึงเวลา “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’ ” * (ยะซายา 33:24) ตอนนั้นเราคงรู้สึกโล่งใจมากจริง ๆ!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 4 ตื่นเถิด!ไม่ได้สนับสนุนวิธีการรักษาแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ.
^ วรรค 5 ผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิง.
^ วรรค 21 มีการพิจารณาคำสัญญานี้อย่างละเอียดมากขึ้นในคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลชื่อคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 24, 25]
อาการที่ควรสังเกต
การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่การศึกษาวิจัยเตือนว่าการตรวจเต้านมและการถ่ายภาพรังสีเต้านมอาจไม่ค่อยแม่นยำถ้าเป็นกรณีของผู้หญิงอายุไม่มาก ซึ่งทำให้มีการบำบัดทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นและเกิดความกังวล. อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกระตุ้นให้ผู้หญิงคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงในเต้านมและต่อมน้ำเหลือง. ต่อไปนี้เป็นอาการบางอย่างที่ควรสังเกต:
● มีก้อนหรืออะไรนูน ๆ ในบริเวณรักแร้หรือเต้านม
● มีของเหลวขับออกจากหัวนมที่ไม่ใช่น้ำนม
● ผิวหนังมีสีหรือลักษณะเปลี่ยนไป
● หัวนมบุ๋มลงไปหรืออ่อนนุ่ม
[กรอบหน้า 25]
ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม
● คาดหมายว่าจะต้องใช้เวลาหนึ่งปีหรือนานกว่านั้นเพื่อมุ่งมั่นกับการรักษาและพักฟื้น.
● ถ้าเป็นไปได้ ให้เลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเคารพความต้องการและความเชื่อของคุณ.
● ปรึกษากันในครอบครัวเพื่อตัดสินใจว่าจะบอกให้ใครรู้บ้าง และบอกเมื่อไร. เพื่อนของคุณจึงจะมีโอกาสได้แสดงความรักแก่คุณและอธิษฐานกับคุณและเพื่อคุณ.—1 โยฮัน 3:18
● เพื่อจะทนกับความทุกข์ใจได้ ให้อ่านคัมภีร์ไบเบิล อธิษฐาน และใคร่ครวญเรื่องที่เสริมสร้าง. —โรม 15:4; ฟิลิปปอย 4:6, 7
● พูดคุยกับคนอื่นที่เป็นมะเร็งเต้านมและเป็นคนที่จะให้กำลังใจคุณได้.—2 โครินท์ 1:7
● พยายามจดจ่อกับวันนี้ ไม่ใช่วันพรุ่งนี้. พระเยซูตรัสว่า “อย่าวิตกกังวลกับพรุ่งนี้เลย เพราะว่าพรุ่งนี้ก็จะมีความวิตกกังวลของพรุ่งนี้.”—มัดธาย 6:34
● ออมแรงไว้ทำสิ่งที่จำเป็น. คุณต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอ.
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
การพูดกับแพทย์
● เรียนรู้ศัพท์ทางการแพทย์ง่าย ๆ เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม.
● ก่อนจะพบแพทย์ ให้เขียนคำถามที่ต้องการถาม แล้วขอสามีหรือเพื่อนให้ไปด้วยกันเพื่อจดบันทึก.
● ถ้าแพทย์พูดอะไรที่คุณไม่เข้าใจ ขอให้เขาอธิบาย.
● ถามแพทย์ว่าเขาเคยรักษากรณีคล้าย ๆ กับคุณมากี่รายแล้ว.
● ถ้าเป็นไปได้ ให้ปรึกษาแพทย์คนอื่นด้วย.
● ถ้าแพทย์สองคนมีความเห็นแตกต่างกัน ให้พิจารณาประสบการณ์ของแพทย์. ขอให้เขาปรึกษากันเกี่ยวกับกรณีของคุณ.
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
จัดการกับผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของการบำบัดมะเร็งบางอย่างอาจรวมถึงอาการคลื่นไส้ ผมร่วง อ่อนเพลียเรื้อรัง เจ็บปวด ชาหรือเป็นเหน็บที่ปลายมือปลายเท้า และอาการทางผิวหนัง. วิธีง่าย ๆ ต่อไปนี้อาจช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านั้นได้:
● กินอาหารที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของคุณ.
● จดบันทึกว่าแต่ละวันคุณมีเรี่ยวแรงแค่ไหนและมีปฏิกิริยาอย่างไรต่ออาหารแต่ละอย่าง.
● ลองดูว่ายา การฝังเข็ม หรือการนวดจะช่วยลดการคลื่นไส้และความเจ็บปวดได้หรือไม่.
● ออกกำลังกายอย่างพอประมาณเพื่อช่วยให้มีกำลังอดทนได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยควบคุมน้ำหนักและปรับปรุงภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นด้วย. *
● พักผ่อนบ่อย ๆ แต่จำไว้ว่าการนอนมากเกินไปอาจยิ่งทำให้อ่อนล้า.
● ดูแลผิวให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ. สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ. อาบน้ำอุ่น.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 57 ผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะเริ่มออกกำลังกาย.
[กรอบหน้า 28]
ถ้าคนที่คุณรักเป็นมะเร็ง
คุณจะช่วยคนที่คุณรักซึ่งเป็นมะเร็งได้อย่างไร? โดยใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “จงชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้.” (โรม 12:15) ให้แสดงว่าคุณรักเขาเป็นห่วงเขาโดยโทรศัพท์ไปหา เขียนจดหมาย ส่งการ์ด อีเมล และไปเยี่ยมสั้น ๆ. อธิษฐานด้วยกัน และอ่านข้อคัมภีร์ที่หนุนใจ. เบรีลขอร้องว่า “อย่าพูดถึงคนที่เสียชีวิตเพราะมะเร็ง แต่ให้พูดถึงคนที่มีชีวิตอยู่.” แจนิซ ซึ่งเคยสู้กับมะเร็งมาแล้วแนะนำว่า “ไปหาเพื่อนของคุณ และกอดเขาไว้. ถ้าเขาอยากพูดเรื่องนั้น เขาจะพูดเอง.” ผู้เป็นสามีจำเป็นต้องทำให้ภรรยามั่นใจว่าเขารักเธอ.
เจฟฟ์เล่าว่า “เราจัดให้บางวันเป็นวันปลอดมะเร็ง. ภรรยาผมตั้งใจว่าจะไม่ให้เราหมกมุ่นอยู่กับปัญหาสุขภาพของเธออย่างเดียว. เราจึงตัดสินใจว่าเป็นครั้งคราว เราจะไม่พูดถึงมะเร็งเลยทั้งวัน. แต่เราจะใส่ใจกับเรื่องดี ๆ ในชีวิตแทน. เหมือนกับเราลาพักจากโรคไปช่วงหนึ่ง.”
[กรอบหน้า 28]
เมื่อนึกย้อนไป
เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง
ชารอน: ชีวิตของดิฉันเปลี่ยนไปในชั่วพริบตาเดียว. ดิฉันบอกว่า “ชีวิตของฉันจบแล้ว.”
เกี่ยวกับช่วงที่ยากที่สุด
แซนดรา: ความทุกข์ทรมานทางใจหนักกว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากการรักษาเสียอีก.
มากาเร็ต: หลังจากการรักษาครั้งที่สอง คุณจะพูดว่า “ฉันไม่ต้องการจะรักษาแล้ว.” แต่คุณก็ต้องทำ.
เกี่ยวกับเพื่อน ๆ
อาร์เลตต์: เราบอกเพื่อน ๆ เพื่อเขาจะอธิษฐาน เผื่อเราได้.
เจนนี: เพียงแค่รอยยิ้ม การพยักหน้า หรือการทักทายล้วนมีความหมายสำหรับดิฉัน.
เกี่ยวกับสามีที่คอยช่วยเหลือ
บาร์บารา: ดิฉันตัดสินใจโกนผมก่อนที่มันจะร่วง. โคลินบอกว่า “หัวของคุณสวยจังเลย!” เขาทำให้ดิฉันหัวเราะ.
แซนดรา: เราส่องกระจกด้วยกัน. ดิฉันสังเกตสีหน้าของโจ และรู้สึกได้ว่าเขายังรักดิฉันอยู่.
ซาชา: คาร์ลชอบบอกคนอื่นว่า “เราเป็นมะเร็ง.”
เจนนี: เจฟฟ์รักดิฉันเสมอ และความเลื่อมใสภักดีที่เขามีต่อพระเจ้าทำให้ดิฉันอุ่นใจ.
[แผนภาพ/ภาพหน้า 27]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
เซลล์มะเร็งไม่เชื่อฟังสัญญาณกระตุ้นการเจริญเติบโตตามปกติ แต่แบ่งตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และกระจายไปที่เนื้อเยื่ออื่น ๆ
[แผนภาพ]
ท่อน้ำนมที่มีเซลล์ปกติ
มะเร็งท่อน้ำนมที่ยังไม่ลุกลาม
มะเร็งท่อน้ำนมที่กำลังลุกลาม
[ภาพหน้า 28]
ส่วนสำคัญของการรักษามะเร็งคือการช่วยเหลือด้วยความรักจากครอบครัวและมิตรสหาย