ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พ่อแม่บางคนพูดอย่างไร?

พ่อแม่บางคนพูดอย่างไร?

พ่อ​แม่​บาง​คน​พูด​อย่าง​ไร?

เมื่อ​ลูก​เป็น​วัยรุ่น พ่อ​แม่​หลาย​คน​ประสบ​ข้อ​ท้าทาย​หลาย​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​พบ​มา​ก่อน. การ​เป็น​วัยรุ่น​อาจ​ทำ​ให้​ทั้ง​ลูก​และ​พ่อ​แม่​สับสน​ได้. ดัง​นั้น คุณ​จะ​ช่วย​ลูก​ให้​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ชีวิต​ช่วง​นี้​ได้​อย่าง​ไร? โปรด​สังเกต​คำ​กล่าว​ของ​พ่อ​แม่​บาง​คน​จาก​ทั่ว​โลก.

การ​เปลี่ยน​แปลง

“เมื่อ​ลูก​ชาย​ของ​ผม​ยัง​เล็ก เขา​เชื่อ​ฟัง​ผม​โดย​ไม่​สงสัย. แต่​ใน​ช่วง​วัยรุ่น ดู​เหมือน​เขา​จะ​ไม่​เชื่อ​มั่น​ใน​สิ่ง​ที่​ผม​บอก​เขา​อีก​ต่อ​ไป. เขา​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​ทั้ง​ใน​สิ่ง​ที่​ผม​พูด​และ​ท่าที​ของ​ผม.”—แฟรงก์ แคนาดา

“ลูก​ชาย​ฉัน​ไม่​ช่าง​พูด​ช่าง​คุย​เหมือน​เมื่อ​ก่อน. ฉัน​ต้อง​ถาม​ว่า​เขา​คิด​อะไร​อยู่​แทน​ที่​จะ​คาด​หมาย​ให้​เขา​พูด​เอง. ฉัน​ถาม​อะไร​เขา​ก็​ไม่​ค่อย​ตอบ. ต้อง​รอ​อยู่​พัก​หนึ่ง​กว่า​เขา​จะ​ตอบ.”—แฟรนซิส ออสเตรเลีย

“ความ​อด​ทน​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​มาก. บาง​ครั้ง​เรา​อยาก​จะ​ดุ​ว่า​ลูก​เพราะ​ความ​โมโห แต่​การ​สงบ​ใจ​ลง​แล้ว​ค่อย ๆ พูด​คุย​กับ​เขา​จะ​แก้​ปัญหา​ได้​ดี​กว่า​เสมอ!”—เฟลีเชีย สหรัฐ

การ​พูด​คุย​กัน

“บาง​ครั้ง​ลูก​สาว​วัยรุ่น​ของ​ฉัน​จะ​เถียง​เพื่อ​ปก​ป้อง​ตัว​เอง เพราะ​คิด​ว่า​ฉัน​ชอบ​ตำหนิ​เธอ. ฉัน​ต้อง​ย้ำ​ว่า​ฉัน​รัก​เธอ และ​คอย​สนับสนุน​เธอ​อยู่!”—ลิซา สหรัฐ

“ตอน​ที่​ยัง​เล็ก ลูก ๆ บอก​ฉัน​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง. ไม่​ยาก​เลย​ที่​จะ​รู้​ว่า​เขา​คิด​อะไร​อยู่. ตอน​นี้​ฉัน​ต้อง​พยายาม​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​และ​ให้​เกียรติ​เขา. นี่​เป็น​วิธี​เดียว​ที่​ลูก ๆ จะ​บอก​เล่า​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​ของ​เขา.”—นันฮี เกาหลี

“สำหรับ​วัยรุ่น​แล้ว การ​ห้าม​ไม่​ให้​เขา​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ยัง​ไม่​พอ. เรา​ต้อง​หา​เหตุ​ผล​กับ​เขา​และ​พูด​คุย​กัน​จน​เข้าใจ. เพื่อ​จะ​ให้​เขา​พูด​ออก​มา เรา​ต้อง​เต็ม​ใจ​รับ​ฟัง แม้​ว่า​เขา​จะ​พูด​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​เรา​ไม่​อยาก​ฟัง.”—ดาลีลา บราซิล

“ถ้า​ฉัน​ต้อง​ว่า​กล่าว​แก้ไข​ลูก​สาว ฉัน​จะ​ไม่​ทำ​ต่อ​หน้า​คน​อื่น.”—เอดนา ไนจีเรีย

“บาง​ครั้ง​เมื่อ​ฉัน​กำลัง​คุย​กับ​ลูก​ชาย ฉัน​จะ​หัน​ไป​สนใจ​เรื่อง​อื่น​ใน​บ้าน​และ​ไม่​ได้​ตั้งใจ​ฟัง. เขา​รู้​ว่า​ฉัน​ไม่​ได้​ฟัง และ​ฉัน​คิด​ว่า​นี่​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​เขา​ไม่​ค่อย​คุย​กับ​ฉัน. ฉัน​ต้อง​พยายาม​ตั้งใจ​ฟัง​มาก​ขึ้น​เวลา​เรา​คุย​กัน​เพื่อ​เขา​จะ​เผย​ความ​รู้สึก​กับ​ฉัน​ต่อ ๆ ไป.”—มิเรียม เม็กซิโก

การ​มี​อิสระ

“ผม​เคย​กังวล​เรื่อง​การ​ให้​อิสระ​กับ​ลูก​ที่​เป็น​วัยรุ่น และ​นั่น​คง​จะ​เป็น​ต้น​เหตุ​ของ​ความ​ขัด​แย้ง​ใน​บาง​ครั้ง. ผม​คุย​เรื่อง​นี้​กับ​พวก​เขา​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา. ผม​อธิบาย​ว่า​ผม​กังวล​เรื่อง​อะไร หลัง​จาก​นั้น​พวก​เขา​อธิบาย​เหตุ​ผล​ที่​เขา​อยาก​มี​อิสระ​มาก​ขึ้น. เรา​สามารถ​ตก​ลง​กัน​ได้​ว่า​เขา​จะ​มี​อิสระ​มาก​ขึ้น แต่​ต้อง​อยู่​ใน​ขอบ​เขต​ที่​ผม​กำหนด​ไว้.”—เอ็ดวิน กานา

“ลูก​ชาย​ฉัน​อยาก​ได้​รถ​มอเตอร์ไซค์ แต่​ฉัน​ไม่​เห็น​ด้วย​เลย. ฉัน​ดุ​ว่า​เขา​และ​พูด​ถึง​แต่​ข้อ​เสีย​ของ​รถ​มอเตอร์ไซค์ โดย​ไม่​ให้​โอกาส​เขา​อธิบาย. นั่น​ทำ​ให้​เขา​โมโห​และ​ยิ่ง​ตั้งใจ​จะ​ซื้อ​ให้​ได้! ฉัน​ลอง​ใช้​วิธี​อื่น. ฉัน​สนับสนุน​ลูก​ให้​ไป​ค้นคว้า​อย่าง​ละเอียด ทั้ง​เรื่อง​อันตราย ค่า​ใช้​จ่าย และ​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​การ​ทำ​และ​ต่อ​อายุ​ใบ​ขับ​ขี่. ฉัน​บอก​ให้​ลูก​ขอ​คำ​แนะ​นำ​จาก​คริสเตียน​ที่​อาวุโส​ใน​ประชาคม. ฉัน​ตระหนัก​ว่า​แทน​ที่​จะ​บังคับ​ลูก ดี​กว่า​ที่​จะ​ให้​ลูก​พูด​ออก​มา​ให้​หมด​ว่า​เขา​ต้องการ​อะไร. โดย​วิธี​นี้​ฉัน​สามารถ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​เขา​ได้.”—เฮ-ยอง เกาหลี

“เรา​ตั้ง​ข้อ​จำกัด แต่​เรา​ก็​ให้​อิสระ​ลูก​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย. ถ้า​ลูก ๆ ไม่​ฝ่าฝืน​ข้อ​จำกัด เรา​จะ​ให้​อิสระ​เขา​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. เรา​ให้​โอกาส​ลูก​แสดง​ว่า​เขา​สม​ควร​ได้​รับ​อิสระ​มาก​ขึ้น และ​บอก​ให้​เขา​รู้​ว่า​เรา​อยาก​ให้​เขา​มี​อิสระ แต่​เขา​ต้อง​รับ​ผล​ถ้า​เขา​ใช้​อิสระ​ใน​ทาง​ที่​ผิด.”—โดโรเต ฝรั่งเศส

“ฉัน​ไม่​เคย​ลด​มาตรฐาน​ลง. แต่​ถ้า​ลูก​เชื่อ​ฟัง ฉัน​ก็​พร้อม​จะ​ผ่อนปรน เช่น บาง​ครั้ง​ฉัน​จะ​อนุญาต​ให้​ลูก​กลับ​บ้าน​ช้า​กว่า​เดิม. แต่​ถ้า​ลูก​ไม่​กลับ​บ้าน​ตาม​เวลา​ที่​กำหนด​ไว้​หลาย​ครั้ง ลูก​ก็​จะ​ต้อง​ถูก​ลง​โทษ.”—อีล-ฮยอน เกาหลี

“ยิ่ง​ลูกจ้าง​เชื่อ​ฟัง​และ​รู้​จัก​รับผิดชอบ​มาก​เท่า​ไร เจ้านาย​ก็​จะ​คำนึง​ถึง​เขา​มาก​เท่า​นั้น. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน ลูก​ชาย​ผม​รู้​ว่า​ถ้า​เขา​เชื่อ​ฟัง​และ​รู้​จัก​รับผิดชอบ​โดย​ไม่​ฝ่าฝืน​ข้อ​จำกัด​ที่​เรา​ตั้ง​ไว้ เขา​ก็​จะ​ได้​อิสระ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. ลูก​ชาย​ผม​รู้​ด้วย​ว่า เขา​ก็​อาจ​ถูก​จำกัด​สิทธิ์​ถ้า​เขา​ประพฤติ​ตัว​อย่าง​ไม่​รับผิดชอบ เช่น​เดียว​กับ​ลูกจ้าง​ที่​ถูก​ทำ​โทษ​เนื่อง​จาก​ไม่​ทำ​หน้า​ที่​ของ​ตัว​เอง.”—รามอน เม็กซิโก

[คำ​โปรย​หน้า 22]

“จง​ฝึก​สอน​เด็ก​ให้​ประพฤติ​ตาม​ทาง​ที่​ควร​จะ​ประพฤติ​นั้น: และ​เมื่อ​แก่​ชรา​แล้ว​เขา​จะ​ไม่​เดิน​ห่าง​จาก​ทาง​นั้น.”—สุภาษิต 22:6

[กรอบ/ภาพ​หน้า 23]

ประสบการณ์​ของ​ครอบครัว

“การ​เลี้ยง​ดู​ลูก​วัยรุ่น​เป็น​ประสบการณ์​ที่​ยอด​เยี่ยม”

โจเซฟ: ลูก​สาว​สอง​คน​แรก​ของ​ผม​เป็น​วัยรุ่น และ​ผม​พบ​ว่า​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​จะ​ฟัง​และ​ยอม​รับ​ทัศนะ​ของ​ลูก ๆ. การ​ยอม​รับ​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​ตัว​เอง​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​และ​การ​ให้​เกียรติ​เมื่อ​พูด​คุย​กับ​ลูก​ช่วย​ให้​มี​การ​สื่อ​ความ​กัน​อยู่​เสมอ. สรุป​แล้ว ผม​รู้สึก​ว่า​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก​วัยรุ่น​เป็น​ประสบการณ์​ที่​ยอด​เยี่ยม เนื่อง​จาก​เรา​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​คำ​ของ​พระเจ้า.

ลิซา: ฉัน​สังเกต​ว่า​เมื่อ​ลูก​สาว​คน​โต​เข้า​สู่​วัยรุ่น เธอ​ก็​ต้องการ​ความ​เอา​ใจ​ใส่​จาก​ฉัน​มาก​ขึ้น. ฉัน​จำ​ได้​ว่า​ต้อง​ใช้​เวลา​มาก​ที​เดียว​ใน​การ​ฟัง พูด​คุย และ​ให้​กำลังใจ​เธอ. ฉัน​กับ​สามี​บอก​ลูก ๆ ว่า พวก​เขา​จะ​พูด​คุย​กับ​เรา​ได้​ทุก​เรื่อง​และ​เรา​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​เขา. ฉัน​พยายาม​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​ฉลาด​สุขุม​ใน​ยาโกโบ 1:19 ที่​ให้ “ไว​ใน​การ​ฟัง ช้า​ใน​การ​พูด.”

วิกตอเรีย: แม่​เป็น​เพื่อน​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​หนู. หนู​ไม่​เคย​เห็น​ใคร​อ่อนโยน​และ​ห่วงใย​คน​อื่น​มาก​เท่า​แม่ และ​แม่​เป็น​อย่าง​นั้น​กับ​ทุก​คน. หนู​คิด​ว่า​แม่​เป็น​คน​จริง​ใจ​ที่​สุด. ขอบคุณ​มาก​ที่​แม่​เป็น​แม่​ของ​หนู.

โอลิเวีย: พ่อ​ของ​หนู​ห่วงใย​คน​อื่น​และ​ใจ​กว้าง. พ่อ​ยินดี​ช่วย​คน​อื่น​เสมอ​แม้​เรา​เอง​จะ​มี​ไม่​มาก. บาง​ครั้ง​พ่อ​ก็​จริงจัง แต่​บาง​ครั้ง​พ่อ​ก็​มี​เวลา​สนุกสนาน​ด้วย. พ่อ​เป็น​พ่อ​ที่​ยอด​เยี่ยม และ​หนู​ดีใจ​ที่​มี​พ่อ​เช่น​นี้!

“เรา​ไม่​มี​เวลา​ที่​จะ​เบื่อ!”

ซันนี: ถ้า​ลูก ๆ มี​ปัญหา เรา​จะ​นั่ง​คุย​กัน​เป็น​ครอบครัว. เรา​เผย​ความ​รู้สึก​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​เสมอ​และ​เรา​ตัดสิน​ใจ​โดย​อาศัย​หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล. นอก​จาก​นั้น ผม​กับ​อิเนซ​พยายาม​ให้​ลูก​คบ​กับ​คน​ที่​มี​ความ​คิด​ความ​อ่าน​เป็น​ผู้​ใหญ่. เพื่อน​ของ​เรา​เป็น​เพื่อน​ของ​ลูก และ​เพื่อน​ของ​พวก​เขา​ก็​เป็น​เพื่อน​ของ​เรา​ด้วย.

อิเนซ: เรา​ไม่​อยู่​เฉย และ​เรา​ทำ​อะไร​ต่อ​อะไร​ร่วม​กัน​เป็น​ครอบครัว. เนื่อง​จาก​เรา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา เรา​จึง​ง่วน​อยู่​กับ​งาน​เผยแพร่ การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​และ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ประจำ​ครอบครัว รวม​ทั้ง​งาน​อาสา​สมัคร เช่น งาน​บรรเทา​ทุกข์​และ​งาน​ก่อ​สร้าง​หอ​ประชุม. นอก​จาก​นี้ เรา​ไม่​ละเลย​การ​หย่อนใจ​ที่​มี​ประโยชน์. เรา​ไม่​มี​เวลา​ที่​จะ​เบื่อ!

เคลล์ซี: พ่อ​ของ​หนู​ฟัง​คน​อื่น​เสมอ และ​ปรึกษา​กับ​ครอบครัว​ทุก​ครั้ง​ก่อน​จะ​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​ใหญ่ ๆ. แม่​พร้อม​จะ​ช่วย​และ​รับ​ฟัง​หนู​เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​หนู​ต้องการ.

ซา​แมน​ทา: แม่​ทำ​ให้​หนู​รู้สึก​ว่า​เป็น​คน​พิเศษ คน​สำคัญ และ​เป็น​คน​ที่​แม่​รัก​มาก แต่​บาง​ที​แม่​ก็​ไม่​รู้​ตัว​ว่า​ทำ​ให้​หนู​รู้สึก​อย่าง​นั้น. แม่​รับ​ฟัง​และ​ห่วงใย​หนู. หนู​จะ​ไม่​ยอม​ให้​อะไร​มา​ทำลาย​ความ​สัมพันธ์​ของ​หนู​กับ​แม่.

[รูป​ภาพ]

ครอบครัว​คาเมรา: โจเซฟ ลิซา วิกตอเรีย โอลิเวีย และ​อีซาเบลลา

ครอบครัว​ซาปาตา: เคลล์ซี อิเนซ ซันนี และ​ซาแมนทา

[ภาพ​หน้า 22]

พ่อ​แม่​อาจ​ให้​อิสระ​ใน​ระดับ​หนึ่ง แต่​ก็​ต้อง​วาง​ข้อ​จำกัด​ที่​สม​เหตุ​สม​ผล