คัมภีร์ไบเบิลถูกโจมตี
คัมภีร์ไบเบิลถูกโจมตี
ชุดข้อเขียนที่เรารู้จักกันว่าคัมภีร์ไบเบิล หรือพระคัมภีร์บริสุทธิ์ใช้เวลาบันทึกนานกว่า 1,600 ปี. ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของคัมภีร์ไบเบิลเขียนโดยโมเซ; ส่วนสุดท้ายเขียนโดยสาวกคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์ประมาณหนึ่งร้อยปีหลังจากพระองค์ประสูติ.
ความพยายามขัดขวางไม่ให้ผู้คนอ่านพระคัมภีร์มีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนสากลศักราช มาถึงยุคกลาง และสมัยปัจจุบัน. บันทึกเก่าแก่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความพยายามเช่นนั้นมีอายุย้อนหลังไปถึงสมัยยิระมะยาห์ ผู้พยากรณ์ของพระเจ้า ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนการประสูติของพระเยซูคริสต์กว่า 600 ปี.
การโจมตีข่าวสารที่ผู้คนไม่ชอบ
ผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์ได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้เขียนม้วนหนังสือม้วนหนึ่งแจ้งข่าวประณามชาวยูดาห์สมัยโบราณที่ทำบาป และเตือนว่าเยรูซาเลม เมืองหลวงของพวกเขาจะถูกทำลายถ้าพวกเขาไม่เปลี่ยนแนวทางของตน. บารุค เลขานุการของยิระมะยาห์อ่านข่าวสารนั้นให้ประชาชนฟังที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. เขาอ่านข่าวสารนั้นครั้งที่สองให้พวกเจ้านายแห่งยูดาห์ฟัง แล้วพวกเขาได้นำม้วนหนังสือนั้นไปให้กษัตริย์ยะโฮยาคิม. เมื่อกษัตริย์ได้ฟังพระคำของพระเจ้า ท่านไม่ชอบข่าวสารที่ได้ยิน. ดังนั้น ท่านจึงตัดม้วนหนังสือเป็นชิ้น ๆ และทิ้งลงในไฟ.—ยิระมะยา 36:1-23
จากนั้นพระเจ้าสั่งยิระมะยาห์ว่า “เจ้าจงเอากระดาษอีกม้วนหนึ่ง, แลจงเขียนในม้วนนั้นแต่บรรดาถ้อยคำซึ่งมีในหนังสือม้วนก่อน, ซึ่งยะโฮยาคิมกษัตริย์เมืองยะฮูดาให้เผาเสียนั้น.” (ยิระมะยา 36:28) ประมาณ 17 ปีต่อมา กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย ผู้ปกครองหลายคนถูกประหารและประชาชนถูกนำตัวไปเป็นเชลยที่บาบิโลน ซึ่งเป็นไปตามคำตรัสของพระเจ้าผ่านทางยิระมะยาห์. ข่าวสารในม้วนหนังสือและบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการโจมตีครั้งนั้นยังคงมีอยู่จนถึงสมัยของเราในคัมภีร์ไบเบิลที่หนังสือยิระมะยาห์.
การเผาคัมภีร์ไบเบิลดำเนินต่อไป
ยะโฮยาคิมไม่ได้เป็นคนเดียวเท่านั้นในยุคก่อนคริสเตียนที่พยายามเผาพระคำของพระเจ้า. หลังจากจักรวรรดิกรีกถูกแบ่งแยก อิสราเอลก็อยู่ภายใต้การปกครองโดยราชวงศ์เซเลอคิด. กษัตริย์อันทิโอกุส เอพิฟาเนสแห่งราชวงศ์เซเลอคิด
ซึ่งปกครองตั้งแต่ปี 175 ถึง 164 ก่อน ส.ศ. ต้องการทำให้จักรวรรดิของเขารวมเป็นหนึ่งและให้มีวัฒนธรรมกรีกอย่างเดียวกัน. เพื่อจะทำเช่นนั้น เขาพยายามบังคับให้ชาวยิวรับเอาวิถีชีวิต ประเพณีและศาสนาของกรีก.ประมาณปี 168 ก่อน ส.ศ. อันทิโอกุสเข้าไปยึดของมีค่าจากพระวิหารของพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเลม. เขาสร้างแท่นบูชาอีกแท่นหนึ่งไว้บนแท่นบูชาที่พระวิหารนั้นเพื่อนมัสการเทพเจ้าซูสของกรีก. อันทิโอกุสห้ามไม่ให้ถือวันซะบาโตและไม่ให้ชาวยิวทำสุหนัตแก่ลูกชาย. หากใครฝ่าฝืนคำสั่งนี้จะมีโทษถึงตาย.
ส่วนหนึ่งของการกวาดล้างศาสนายิวของอันทิโอกุสคือการพยายามทำลายม้วนหนังสือแห่งพระบัญญัติทั้งหมด. ถึงแม้ว่าอันทิโอกุสจะรณรงค์การกวาดล้างศาสนายิวทั่วอิสราเอล แต่เขาไม่ได้กำจัดสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมด. ม้วนหนังสือบางม้วนที่ซ่อนไว้อย่างดีในอิสราเอลอาจรอดพ้นจากการถูกเผา และเป็นที่รู้กันว่ามีการเก็บรักษาสำเนาของพระคัมภีร์บริสุทธิ์ไว้ตามชุมชนชาวยิวในต่างแดน.
กฤษฎีกาของดิโอเคลเชียน
ผู้ปกครองที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งซึ่งพยายามทำลายพระคัมภีร์คือจักรพรรดิชาวโรมันชื่อดิโอเคลเชียน. ใน ส.ศ. 303 ดิโอเคลเชียนได้ออกกฤษฎีกาซึ่งเป็นการข่มเหงคริสเตียนที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ. ผลก็คือนักประวัติศาสตร์บางคนเรียกช่วงเวลานี้ว่า “การข่มเหงครั้งใหญ่.” กฤษฎีกาฉบับแรกของเขาสั่งให้เผาสำเนาของพระคัมภีร์และรื้อทำลายสถานที่ประชุมของคริสเตียน. แฮร์รี วาย. แกมเบิล อาจารย์ภาควิชาศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเขียนว่า “ดิโอเคลเชียนคาดว่าชุมชนคริสเตียนทุกแห่งไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็มีหนังสือจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ และหนังสือเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อชุมชนเหล่านั้นจะอยู่รอดได้.” นักประวัติศาสตร์แห่งคริสตจักรซึ่งอยู่ในช่วงเวลานั้นชื่อยูเซบิอุสแห่งซีซาเรียในปาเลสไตน์รายงานว่า “เราเห็นด้วยตาตัวเองว่าสถานที่สำหรับอธิษฐานถูกรื้อทำลายจนสิ้นซากและพระคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์และมีขึ้นโดยการดลใจถูกเผากลางตลาด.”
สามเดือนหลังจากที่ดิโอเคลเชียนออกกฤษฎีกา นายกเทศมนตรีของเมืองเซอร์ตาในแอฟริกาเหนือ ซึ่งตอนนี้เป็นที่รู้จักกันว่าเมืองคอนสแตนติน สั่งให้คริสเตียนส่ง “ข้อเขียนแห่งพระบัญญัติ” และ “สำเนาของพระคัมภีร์” ให้ทางการ. บันทึกในช่วงเวลาเดียวกันบอกว่าคริสเตียนยอมถูกทรมานและถูกฆ่าแทนที่จะยอมส่งสำเนาของคัมภีร์ไบเบิลให้ทางการเพื่อนำไปทำลาย.
เจตนาของการโจมตี
เจตนาของทั้งยะโฮยาคิม อันทิโอกุส และดิโอเคลเชียนคือการกำจัดพระคำของพระเจ้าให้หมดสิ้นไป. แต่คัมภีร์ไบเบิลก็รอดพ้นมาได้ทุกครั้ง. ผู้ปกครองของโรมยุคหลังจากดิโอเคลเชียนเริ่มอ้างว่าตนเปลี่ยนมาเข้าศาสนาคริสเตียน. แต่กระนั้น การโจมตีคัมภีร์ไบเบิลก็ยังคงมีอยู่ต่อไป. ทำไม?
ผู้ปกครองและผู้นำคริสตจักรอ้างว่าที่พวกเขาเผาคัมภีร์ไบเบิลนั้น พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำลาย คัมภีร์ไบเบิล. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาเพียงแค่พยายามไม่ให้สามัญชนได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล. แต่ทำไมผู้นำคริสตจักรต้องการทำเช่นนั้น? และคริสตจักรพยายามขนาดไหนในการห้ามผู้คนไม่ให้อ่านคัมภีร์ไบเบิล? ให้เรามาดูด้วยกัน.