ฉบับแปลคิงเจมส์—กลายเป็นที่นิยมได้อย่างไร?
ฉบับแปลคิงเจมส์—กลายเป็นที่นิยมได้อย่างไร?
ปีนี้มีงานเฉลิมฉลองหลายงานที่อังกฤษเนื่องในโอกาสครบรอบ 400 ปีของคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลคิงเจมส์ หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าฉบับแปลออโทไรซ์. การฉลองนี้รวมถึงสารคดีพิเศษทางทีวีและวิทยุ รวมทั้งการประชุม การบรรยาย และสัมมนาด้วย.
เจ้าฟ้าชายชาลส์ทรงเป็นผู้นำในการฉลองสมบัติประจำชาติชิ้นนี้ซึ่งได้ชื่อมาจากพระนามของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ. แต่ฉบับแปลคิงเจมส์ ซึ่งจัดพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 1611 ได้กลายมาเป็นสิ่งล้ำค่าในจิตใจของผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างไร?
มีการแปลเพิ่มมากขึ้น
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ชาวยุโรปจำนวนมากต้องการได้ความรู้จากคัมภีร์ไบเบิล. เกือบสองศตวรรษก่อนหน้านั้น ในปี 1382 จอห์น วิคลิฟฟ์ได้แปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งกระตุ้นให้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษอยากอ่านคัมภีร์ไบเบิล. ในช่วงสองศตวรรษต่อจากนั้น พวกลอลลาร์ด ซึ่งเป็นผู้ติดตามของเขาได้จ่ายแจกข้อคัมภีร์ที่เขียนด้วยลายมือไปทั่วประเทศ.
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ของผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งที่ชื่อวิลเลียม ทินเดลเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ. พระคัมภีร์ฉบับนี้ได้รับการแปลจากภาษากรีกดั้งเดิมเป็นภาษาอังกฤษประมาณปี 1525. ต่อมาไม่นาน ในปี 1535 ไมลส์ คัฟเวอร์เดลได้ผลิตคัมภีร์ไบเบิลครบชุดในภาษาอังกฤษ. หนึ่งปีก่อนหน้านั้น เฮนรีที่ 8 ได้ตัดความสัมพันธ์กับโรมและอนุญาตให้แปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้ตำแหน่งของเขาในฐานะประมุขของคริสตจักรแห่งอังกฤษมั่นคงยิ่งขึ้น. พระคัมภีร์ฉบับนี้เป็นที่รู้จักกันว่าคัมภีร์ไบเบิลฉบับสำคัญ. ในปี 1539 มีการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่และใช้ตัวพิมพ์กอทิกแบบหนา.
พวกพิวริตันและชาวโปรเตสแตนต์คนอื่น ๆ ที่อพยพมาจากทั่วยุโรปได้มาลงหลักปักฐานที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์. ในปี 1560 มีการผลิตคัมภีร์ไบเบิลฉบับเจนีวา ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับแรกที่ใช้ตัวพิมพ์แบบอ่านง่าย และมีการแบ่งบทเป็นข้อ ๆ ด้วย. มีการนำคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้จากยุโรปส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่เข้ามาในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว. ในที่สุด มีการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับเจนีวาที่ประเทศอังกฤษในปี 1576 ด้วย. แผนที่และหมายเหตุริมหน้ากระดาษช่วยให้เข้าใจข้อความดีขึ้น. แต่หมายเหตุนั้นทำให้ผู้อ่านบางคนขุ่นเคืองเนื่องจากมีการกล่าวต่อต้านอำนาจของสันตะปาปา.
เผชิญกับข้อท้าทาย
เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลฉบับสำคัญ ไม่ได้รับการยอมรับทั่วไปและคัมภีร์ไบเบิลฉบับเจนีวา มีหมายเหตุที่ทำให้ผู้อ่านไม่
พอใจ ดังนั้นจึงมีการตกลงกันว่าจะทำคัมภีร์ไบเบิลฉบับแก้ไขใหม่. มีการเลือกใช้คัมภีร์ไบเบิลฉบับสำคัญ เป็นพื้นฐานในการแปล. มีการมอบงานนี้ให้บิชอปของคริสตจักรแห่งอังกฤษ และในปี 1568 คัมภีร์ไบเบิลฉบับของบิชอป ก็ได้รับการจัดพิมพ์. นี่เป็นพระคัมภีร์เล่มใหญ่ซึ่งมีภาพพิมพ์ลายแกะหลายภาพ. แต่พวกคาลวินิสต์ที่ไม่ยอมรับตำแหน่งทางศาสนาไม่ชอบคำว่า “บิชอป.” ดังนั้นคัมภีร์ไบเบิลฉบับของบิชอป จึงไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในประเทศอังกฤษ.หลังจากกษัตริย์เจมส์ที่ 1 ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษในปี 1603 * พระองค์ได้อนุมัติการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับใหม่. เพื่อทุกคนจะอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ได้อย่างสบายใจ พระองค์จึงสั่งให้ผู้แปลลบหมายเหตุหรือคำอธิบายซึ่งทำให้บางคนไม่พอใจ.
กษัตริย์เจมส์สนับสนุนโครงการนี้. ในที่สุด ผู้คงแก่เรียน 47 คนซึ่งแบ่งออกเป็นหกกลุ่มทั่วประเทศได้จัดทำฉบับแปลนี้โดยแบ่งข้อความเป็นส่วน ๆ. โดยอาศัยผลงานของทินเดลและคัฟเวอร์เดล ที่แท้แล้วผู้คงแก่เรียนเหล่านี้ได้แก้ไขคัมภีร์ไบเบิลฉบับของบิชอป. อย่างไรก็ตาม พวกเขาอ้างอิงคัมภีร์ไบเบิลฉบับเจนีวา และพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ฉบับแรงส์ของโรมันคาทอลิกปี 1582 ด้วย.
กษัตริย์เจมส์ทรงเป็นผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับความนับถือด้วย และการอุทิศฉบับแปลนี้แด่ “กษัตริย์เจมส์ผู้ใหญ่ยิ่งและทรงอานุภาพสูงสุด” ก็เป็นการยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มทำฉบับแปลนี้. คนทั่วไปมองว่า กษัตริย์เจมส์ได้ใช้อำนาจในฐานะประมุขคริสตจักรแห่งอังกฤษนำชาติไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
ผลงานชิ้นเอก
นักเทศน์นักบวชพอใจที่ได้รับคัมภีร์ไบเบิลจากกษัตริย์ “ซึ่งกำหนดให้อ่านในโบสถ์ต่าง ๆ.” อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าคนในชาติจะตอบรับคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลใหม่นี้อย่างไร.
เมื่อเหล่าผู้แปลเขียนคำนำที่ยืดยาวในฉบับดั้งเดิม พวกเขาแสดงความกังวลว่าฉบับแปลใหม่นี้จะได้รับการตอบรับที่ดีหรือไม่. อย่างไรก็ตาม ฉบับแปลคิงเจมส์ ได้มาเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน. ถึงกระนั้นก็ต้องใช้เวลาถึง 30 ปีกว่าฉบับนี้จะเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนแทนคัมภีร์ไบเบิลฉบับเจนีวา.
หนังสือคัมภีร์ไบเบิลและชาวแองโกล-แซกซัน (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ในเวลานั้น ฉบับแปลออโทไรซ์ได้กลายมาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเนื่องจากการแปลที่ดีเยี่ยม.” หนังสือประวัติศาสตร์ของคัมภีร์ไบเบิลฉบับเคมบริดจ์ (ภาษา
อังกฤษ) ลงความเห็นว่า “ฉบับแปลนี้ถูกมองว่าศักดิ์สิทธิ์ราวกับเป็นพระสุรเสียงของพระเจ้า; สำหรับคริสเตียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำใด ๆ ในฉบับแปลคิงเจมส์แทบจะถือเป็นการดูหมิ่นพระเจ้าเลยทีเดียว.”ถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก
ในสมัยแรก ๆ ชาวอังกฤษที่มาตั้งถิ่นฐานในอเมริกาเหนือได้นำคัมภีร์ไบเบิลฉบับเจนีวาติดตัวมาด้วย. แต่ในเวลาต่อมา ผู้คนในอเมริกายอมรับฉบับแปลคิงเจมส์ มากกว่า. ขณะที่จักรวรรดิอังกฤษแผ่ขยายไปทั่วโลก พวกมิชชันนารีของโปรเตสแตนต์ได้เผยแพร่การใช้คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้. เนื่องจากหลายคนที่แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่นไม่คุ้นเคยกับภาษาฮีบรูและภาษากรีกที่ใช้เขียนคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาจึงใช้ฉบับแปลคิงเจมส์ ที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานในการแปลฉบับภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ.
ในทุกวันนี้ ตามข้อมูลจากหอสมุดแห่งบริเตน “คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลคิงเจมส์หรือฉบับแปลออโทไรซ์ยังคงเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่มีการพิมพ์มากที่สุด.” บางคนกะประมาณว่ามีการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลคิงเจมส์ แล้วมากกว่าหนึ่งพันล้านฉบับทั่วโลก!
ถึงเวลาต้องปรับปรุง
ตลอดหลายศตวรรษ ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าฉบับแปลคิงเจมส์ เป็นคัมภีร์ไบเบิล “ที่แท้จริง” เพียงฉบับเดียว. ในปี 1870 การปรับปรุงแก้ไขฉบับแปลนี้ได้เริ่มขึ้นในอังกฤษ. ต่อมา มีการนำฉบับที่ปรับปรุงเสร็จแล้วซึ่งเรียกกันว่าฉบับแปลอิงลิชรีไวส์ นั้นมาปรับปรุงอีกที่อเมริกา และจัดพิมพ์ในชื่อฉบับแปลอเมริกันสแตนดาร์ด. * เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งในปี 1982 คำนำของฉบับแปลรีไวส์ออโทไรซ์ กล่าวว่ามีการพยายาม “รักษาความไพเราะของถ้อยคำให้เหมือนกับฉบับออโทไรซ์ [ปี 1611] ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างสูง.”
แม้ว่าคัมภีร์ไบเบิลยังคงเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลก และฉบับแปลคิงเจมส์ เป็นคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับความนิยมสูงสุด แต่กระนั้น ศาสตราจารย์ริชาร์ด จี. มุลทันกล่าวว่า “เราได้ทำเกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้กับข้อเขียนภาษาฮีบรูและกรีกเหล่านี้ . . . เราได้แปลและแก้ไขฉบับแปลต่าง ๆ . . . แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ได้ทำ นั่นคือการอ่านคัมภีร์ไบเบิล.”
แน่นอน ฉบับแปลคิงเจมส์ เป็นผลงานชิ้นเอกซึ่งผู้คนเห็นคุณค่าเนื่องจากความสละสลวยที่ไม่มีฉบับอื่นเทียบได้. แต่จะว่าอย่างไรกับความสำคัญของข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล? ข้อเขียนที่มีขึ้นโดยการดลใจของคัมภีร์ไบเบิลบอกทางแก้ถาวรสำหรับปัญหาในสมัยที่วิกฤติของเรานี้. ไม่ว่าคุณเลือกจะอ่านฉบับแปลไหน พยานพระยะโฮวาก็ยินดีจะช่วยคุณเรียนรู้จักคัมภีร์ไบเบิล.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 กษัตริย์เจมส์ประสูติในปี 1566 และขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ในปี 1567 โดยมีพระนามว่าเจมส์ที่ 6. เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษในปี 1603 พระองค์ได้เป็นกษัตริย์ของทั้งสองประเทศ. ในปี 1604 พระองค์เริ่มใช้ตำแหน่ง “กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่.”
^ วรรค 21 ดูกรอบ “ฉบับแปลอเมริกันสแตนดาร์ด.”
[กรอบ/ภาพหน้า 23]
ฉบับแปลอเมริกันสแตนดาร์ด
ในปี 1901 มีการจัดพิมพ์ฉบับแปลอเมริกันสแตนดาร์ด ซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยฉบับแปลคิงเจมส์. คำนำของฉบับนี้กล่าวว่า “เราไม่ได้มองข้ามความสละสลวยและความมีชีวิตชีวาของฉบับออโทไรซ์ [คิงเจมส์] ซึ่งสมควรแล้วที่ได้รับการยกย่อง.” ถึงกระนั้น ฉบับแปลอเมริกันสแตนดาร์ด ก็ได้แก้ไขหลายจุด.
คำนำอธิบายว่า “หลังจากผู้แก้ไขฉบับอเมริกันนี้ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว พวกเขาเห็นพ้องกันว่าการเชื่อโชคลางของชาวยิวซึ่งถือว่าพระนามพระเจ้าศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะเอ่ยออกมาได้นั้น ไม่ควรมีผลต่อพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมภาษาอังกฤษหรือฉบับอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่การเชื่อโชคลางนี้ไม่ได้มีผลต่อฉบับแปลอื่น ๆ ที่เหล่ามิชชันนารีได้ทำขึ้น.”
ไม่ใช่ว่าพระนามพระเจ้า คือยะโฮวา ไม่ปรากฏเลยในฉบับแปลคิงเจมส์. พระนามนี้ปรากฏสี่ครั้ง คือที่เอ็กโซโด 6:3; บทเพลงสรรเสริญ 83:18; ยะซายา 12:2; และยะซายา 26:4. อย่างไรก็ตาม ฉบับแปลอเมริกันสแตนดาร์ด ปี 1901 ได้นำพระนามนั้นมาใส่ไว้ที่เดิมประมาณ 7,000 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิล.
[รูปภาพ]
1901
[กรอบ/ภาพหน้า 24]
สนองความจำเป็นพิเศษ
ในปี 1907 ฉบับแปลคิงเจมส์ สำหรับนักศึกษาพระคัมภีร์ได้รับการจัดพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาเพื่อสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์. ฉบับนี้มีภาคผนวกที่ละเอียดซึ่งเรียกว่า “คู่มือผู้สอนคัมภีร์ไบเบิลของชาวเบโรยา.” ต่อมา พยานพระยะโฮวาได้พิมพ์ฉบับแปลคิงเจมส์ ด้วยเครื่องพิมพ์ของพวกเขาเอง. เมื่อถึงปี 1992 พยานฯ ได้พิมพ์พระคัมภีร์ฉบับนี้ไปแล้ว 1,858,368 เล่ม.
[รูปภาพ]
1907
[กรอบ/ภาพหน้า 24]
ฉบับแปลสมัยใหม่ที่ล้ำค่า
ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา มีการผลิตคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับ (บางฉบับมีการพิมพ์ในหลายภาษา). ฉบับที่หลายคนถือว่ามีค่าอย่างยิ่งคือพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่. มีการจำหน่ายฉบับนี้ออกไปมากกว่า 170 ล้านเล่ม ทั้งแบบครบชุดหรือบางส่วนใน 100 ภาษา. แผนที่ ดัชนีที่เรียงตามตัวอักษร และภาคผนวกในฉบับมีข้ออ้างอิงได้ช่วยผู้อ่านให้เข้าใจข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลที่เกี่ยวข้องกับสมัยของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น.
[รูปภาพ]
1961
[ภาพหน้า 22]
1611
[ที่มาของภาพหน้า 22]
Art Resource, NY