ต้นคริสต์มาส—มีที่มาก่อนยุคคริสเตียน
ต้นคริสต์มาส—มีที่มาก่อนยุคคริสเตียน
ในหลายแห่งทั่วโลก ผู้คนทั่วไปรู้จักต้นคริสต์มาสกันดี. ต้นคริสต์มาสคือไม้ไม่ผลัดใบซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ในการฉลองวันหยุดและในเชิงการค้าด้วย. ต้นไม้นี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนามานานแล้วในประวัติศาสตร์ของมนุษย์.
เรื่องนี้เห็นได้ชัดในแคว้นบูฮูสลัน ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งตะวันตกของสวีเดน และในแคว้นเอิสท์โฟล์ดของนอร์เวย์ที่อยู่ใกล้เคียง. ในพื้นที่ทั้งสอง มีการค้นพบภาพสลักหินมากกว่า 75,000 ภาพกระจายอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ประมาณ 5,000 แหล่ง. นักโบราณคดีกล่าวว่าภาพสลักหินเหล่านี้หลายภาพถูกทำขึ้นประมาณ 1,800 ถึง 500 ปีก่อน ส.ศ. *
ภาพสลักที่น่าทึ่งเหล่านี้เปิดเผยบางสิ่งเกี่ยวกับความเชื่อของผู้คนที่มีชีวิตอยู่นานก่อนการประสูติของพระเยซูชาวนาซาเรท. ตัวอย่างเช่น นักวิจัยบางคนเชื่อว่าในยุคแรก ๆ มีการใช้ต้นไม้ไม่ผลัดใบ เช่น ต้นสปรูซ เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นสวีเดนและนอร์เวย์.
เหตุใดผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนชายฝั่งทางเหนือแถบนี้จึงทำภาพสลักหินเป็นรูปต้นสปรูซ? ผู้คงแก่เรียนบางคนคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นไม้เหล่านี้ดูเหมือนเป็นต้นไม้ที่หายากในช่วงก่อนยุคคริสเตียน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทำภาพสลักเหล่านี้. เป็นเรื่องธรรมดา ต้นไม้ที่เขียวตลอดปี หรือยัง “มีชีวิต” อยู่ขณะที่ต้นไม้อื่น ๆ ดูเหมือนตายไปหมดในช่วงอากาศหนาวคงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลก.
ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ความอยู่รอด และความเป็นอมตะในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก. ข้อเท็จจริงเรื่องนี้อาจช่วยให้เข้าใจด้วยว่าเหตุใดจึงมีการสลักภาพต้นไม้ซึ่งดูเหมือนต้นสปรูซไว้ที่หินในบูฮูสลันและเอิสท์โฟล์ดหลายร้อยปีก่อนที่ต้นไม้ชนิดนี้จะพบเห็นได้ทั่วไปในดินแดนแถบนั้น.
หนังสือชื่อภาพสลักหินในพื้นที่ชายแดน (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยความร่วมมือของคณะกรรมการมรดกแห่งสวีเดนกล่าวว่า “ภาพสลักหินรูปต้นไม้แสดงว่าตั้งแต่ยุคทองสัมฤทธิ์แล้วที่ดินแดนทางใต้ของภูมิภาคสแกนดิเนเวียมีความเกี่ยวพันทางศาสนาและวัฒนธรรมกับส่วนอื่น ๆ ของยุโรปและพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชีย. มีการปรับศาสนาและแนวคิดเรื่องจักรวาลวิทยาให้เข้ากับผู้คนที่เลี้ยงชีพด้วยการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์. ส่วนใหญ่พวกเขานมัสการเทพเจ้าแบบเดียวกันแม้ว่าจะเรียกชื่อต่างกัน.”
อนุสารการเที่ยวชมภาพสลักหิน (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งจัดพิมพ์โดยพิพิธภัณฑสถานบูฮูสลันอธิบายเพิ่มเติมว่า “นักสลักหินไม่ได้ต้องการจะสลักภาพชีวิตประจำวัน. เราเชื่อว่าภาพของพวกเขาเป็นการสวดภาวนาและการวิงวอนต่อเทพเจ้ารูปแบบหนึ่ง.” อนุสารกล่าวต่อไปว่า “ในสมัยนั้น ความ
เชื่อของผู้คนวนเวียนอยู่กับวัฏฏะแห่งชีวิต การเจริญพันธุ์ ความตาย และการเกิดใหม่.”เมื่อพรรณนางานศิลป์อันโดดเด่นที่เป็นภาพสัญลักษณ์เหล่านี้ซึ่งถูกทำขึ้นนานก่อนจะมีการนำวิธีเขียนหนังสือเข้ามาในยุโรป สารานุกรมเพื่อการอ้างอิงแห่งสวีเดน (Nationalencyklopedin) กล่าวดังนี้: “การที่มีภาพเกี่ยวกับเพศเป็นจำนวนมากแสดงว่าลัทธิบูชาการเจริญพันธุ์มีความสำคัญมากในศาสนาของผู้คนยุคทองสัมฤทธิ์ในดินแดนทางเหนือ.”
ดูเหมือนว่า ธรรมเนียมเกี่ยวกับไม้ไม่ผลัดใบได้แพร่ไปและเป็นที่ยอมรับกันในหลายแห่ง. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวถึงต้นคริสต์มาสว่า “การนมัสการต้นไม้มีอยู่ทั่วไปท่ามกลางชาวยุโรปนอกรีต และยังคงมีอยู่แม้พวกเขาจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว.” การนมัสการนี้ปรากฏในพิธีกรรมและธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้ง “ธรรมเนียม . . . การตั้งต้นยูลไว้ที่ทางเข้าบ้านหรือในบ้านระหว่างเทศกาลวันหยุดตอนกลางฤดูหนาว.”
เมื่อราชวงศ์อังกฤษใช้ต้นสปรูซที่ประดับประดาแล้วในการฉลองคริสต์มาสในปี 1841 ก็เป็นการปูทางให้ผู้คนนิยมใช้ต้นไม้ไม่ผลัดใบในปัจจุบัน. ทุกวันนี้ต้นคริสต์มาสเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และความต้องการต้นคริสต์มาสทั้งต้นจริงและต้นปลอมจำนวนหลายล้านต้นก็ดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด. ในขณะเดียวกัน ภาพสลักหินแห่งสแกนดิเนเวียก็เป็นหลักฐานว่าต้นคริสต์มาสนั้นไม่ได้มีที่มาจากศาสนาคริสเตียน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 สถานที่ซึ่งมีภาพสลักหินของบูฮูสลันหลายแห่งอยู่ในรายชื่อมรดกโลกขององค์การยูเนสโก.
[คำโปรยหน้า 12]
ภาพสลักหินชวนให้เชื่อว่าการนมัสการนอกรีตที่ใช้ต้นไม้ไม่ผลัดใบเริ่มมาตั้งแต่ก่อนสมัยของพระคริสต์
[ภาพหน้า 13]
ภาพสลักหินรูปต้นไม้ใน (1) ทอร์สโบ (2) บัคคา และ (3) เลอเคเบิร์ก สวีเดน
[ที่มาของภาพหน้า 13]
Courtesy Stiftelsen för dokumentation av Bohusläns hällristningar