พระเจ้าทรงห่วงใยสัตว์ไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
พระเจ้าทรงห่วงใยสัตว์ไหม?
ชีวิตสัตว์กำลังอยู่ในอันตราย. นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ในปัจจุบันการสูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มีอัตราที่เร็วขึ้น. สัตว์ต้องเดือดร้อนมากจากการที่มนุษย์รุกล้ำถิ่นอาศัยของมัน. อุตสาหกรรมผลิตอาหาร การนำสัตว์มาต่อสู้กันเพื่อความบันเทิง และการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงอย่างไร้ความปรานียิ่งทำให้มีสภาพที่น่าสังเวชมากขึ้น.
อย่างไรก็ตาม บางคนรู้สึกว่าประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นเหตุให้สภาพการณ์นี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. แต่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็นอย่างนั้นไหม? พระองค์ปล่อยให้มนุษย์ทำร้ายสัตว์อย่างไม่ไยดีไหม? เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงห่วงใยสัตว์?
เห็นได้ชัดว่าทรงห่วงใยตั้งแต่แรก
หลังจากพระเจ้าสร้างปลา นก และสัตว์บก พระองค์ทรงพอพระทัย. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระองค์ “ทรงเห็นว่าดี.” (เยเนซิศ 1:21, 25) พระผู้สร้างทรงห่วงใยรักใคร่สรรพสัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ตั้งแต่ตัวเล็กที่สุดไปจนถึงตัวใหญ่ที่สุด. พระเจ้าไม่เพียงสร้างพวกมันให้ “มีปัญญาโดยสัญชาตญาณ” แต่ยังดูแลให้พวกมันดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในถิ่นอาศัยของมัน. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างเหมาะเจาะว่า “บรรดาสัตว์เหล่านั้นคอยท่าพระองค์, เพื่อพระองค์จะทรงประทานอาหารตามเวลา. สัตว์เหล่านั้นได้รับ, ตามที่พระองค์ทรงประทาน; เมื่อพระองค์ทรงแบพระหัตถ์, มันก็อิ่มด้วยของดี.”—สุภาษิต 30:24, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 104:24, 25, 27, 28
จริงอยู่ พระเจ้าสร้างสัตว์ให้อยู่ใต้อำนาจอาดาม มนุษย์คนแรก. พระเจ้าไม่ได้สร้างให้สัตว์คิดหาเหตุผลเป็นหรือมีความสามารถที่จะเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า. (2 เปโตร 2:12; ยูดา 19) ในทางตรงกันข้าม อาดามเหนือกว่าสัตว์ เขาถูกสร้าง “ตามแบบ” พระเจ้า. เขาสามารถแสดงบุคลิกภาพของพระยะโฮวา พระผู้สร้างได้. (เยเนซิศ 1:27; บทเพลงสรรเสริญ 83:18) แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์มีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้กับสัตว์โดยไม่คำนึงถึงพระประสงค์ของพระองค์.
ตัวอย่างเช่น อาดามเริ่มตั้งชื่อสัตว์ต่าง ๆ เนื่องจากพระยะโฮวาประทานสิทธิพิเศษนี้แก่เขา. ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงช่วยอาดามโดย “พา [สัตว์ต่าง ๆ] มายังชายนั้นเพื่อดูว่าเขาจะเรียกชื่ออย่างไร.” (เยเนซิศ 2:19) มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยการชี้นำจากพระผู้สร้างจึงจะดูแลสรรพสัตว์ได้อย่างประสบความสำเร็จ.
พระเจ้าทรงห่วงใยจริง ๆ!
น่าเศร้า อาดามขืนอำนาจพระผู้สร้าง. การขืนอำนาจของเขาก่อผลเสียหายร้ายแรงต่อครอบครัวมนุษย์และทุกชีวิตบนโลก. ถึงกระนั้น พระผู้สร้างทรงชี้ให้เห็นชัดเจนว่าควรปฏิบัติต่อสัตว์ต่าง ๆ อย่างไร. ถึงแม้ว่าในภายหลังมนุษย์ได้รับอนุญาตให้กินเนื้อสัตว์และใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ พระเจ้าไม่เคยอนุญาตให้มนุษย์ทำทารุณสัตว์. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คนชอบธรรมย่อมเห็นแก่ชีวิตแห่งสัตว์เลี้ยงของเขา; แต่ความปรานีอ่อนโยนของคนชั่วร้ายก็ยังเป็นอำมหิต.”—สุภาษิต 12:10
พระเจ้าถึงกับประทานกฎหมายแก่ชาติอิสราเอลโบราณซึ่งเป็นการปกป้องสัตว์. สัตว์ใช้ของชาวอิสราเอลได้รับประโยชน์จากวันซะบาโต คือวันหยุดพักวันหนึ่งในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งพวกมันจะได้พักด้วย. (เอ็กโซโด 23:12) น่าสังเกต ถึงแม้มีการห้ามไม่ให้ทำงานในวันศักดิ์สิทธิ์นี้ แต่ผู้คนต้องช่วยสัตว์ที่กำลังลำบาก. (ลูกา 14:5) พระเจ้าทรงบัญชาอีกว่าไม่ควรบังคับโคไม่ให้กินอาหารขณะทำงาน และไม่ควรใช้สัตว์บรรทุก ของหนักเกินไป. (เอ็กโซโด 23:5; พระบัญญัติ 25:4) มีการห้ามเอาโคกับลาเข้าเทียมด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ. (พระบัญญัติ 22:10) เห็นได้ชัด คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าควรดูแลสัตว์อย่างดีและด้วยความสงสาร!
ถึงแม้หลายคนจะมุ่งสนใจแต่ผลประโยชน์ของตนเองและไม่สนใจว่านั่นจะส่งผลเช่นไรต่อสัตว์ แต่พระเจ้าทรงห่วงใยและสงสารพวกมัน. เมื่อผู้พยากรณ์โยนาห์ไม่แสดงความเมตตาต่อชาวเมืองนีเนเวห์ที่กลับใจซึ่งได้รับการยกเว้นโทษจากพระเจ้า พระยะโฮวาตรัสว่า “อันตัวเราจะไม่อาลัย นีนะเวกรุงใหญ่นั้นซึ่งมีพลเมืองมากกว่าแสนสองหมื่นคน, เป็นผู้ไม่รู้เดียงสาว่าข้างไหนเป็นมือขวามือซ้าย, รวมทั้งสัตว์เดียรัจฉานเป็นอันมากด้วย, อย่างนั้นหรือ?” (โยนา 4:11) ใช่แล้ว พระผู้สร้างทรงสงสารแม้แต่สัตว์ต่าง ๆ ด้วย!
มั่นใจว่าพระองค์จะทรงห่วงใย ในอนาคตเช่นกัน
เห็นได้ชัดว่า พระเจ้าทรงห่วงใยว่าสัตว์ได้รับการปฏิบัติอย่างไร. พระเยซู พระบุตรที่รักของพระองค์ถึงกับกล่าวว่าไม่มีนกกระจอกแม้แต่ตัวเดียวที่ตกถึงดินโดยที่พระยะโฮวาไม่ทรงทราบ. (มัดธาย 10:29) ในทางตรงกันข้าม แม้มนุษย์บางคนพยายามไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่พวกเขาไม่เข้าใจเต็มที่ว่าการกระทำของตนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร. เพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์จะไม่ทำร้ายสัตว์ มนุษย์ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวความคิด.
น่าดีใจ คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงเวลาที่ “แผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวา” เมื่อราชอาณาจักรของพระเจ้ามาปกครอง. (ยะซายา 11:9) ความรู้เช่นนั้นรวมถึงการทำให้มนุษย์ที่เชื่อฟังได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อจะจัดการแผ่นดินโลกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม. ในตอนนั้นเมื่อได้รับการชี้นำจากพระผู้สร้าง ก็มั่นใจได้ว่ามนุษย์กับสัตว์จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูแผ่นดินโลกให้มีสภาพเหมือนที่พระเจ้าทรงประสงค์ไว้ตั้งแต่แรก.
คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตอนนั้นว่า “สุนัขป่าจะนอนปะปนกับลูกแกะ, และเสือดาวจะนอนปะปนกับลูกแพะ, และลูกโคกับลูกสิงโตจะหากินอยู่ด้วยกัน; และเด็กเล็ก ๆ จะเป็นผู้เลี้ยงผู้นำ. และนางโคกับหมีจะเป็นเพื่อนกัน, และลูกของมันจะนอนปะปนอยู่ด้วยกัน; และสิงโตจะกินฟางเป็นอาหารเหมือนโคผู้. และทารกกินนมจะเล่นอยู่ที่ปากปล่องงูเห่า, และทารกหย่านมจะล้วงมือเข้าไปในรังของงูแมวเซา.” ช่างเป็นความหวังที่สดใสจริง ๆ!—ยะซายา 11:6-8
คุณเคยสงสัยไหม?
● พระเจ้าทรงห่วงใยไหมว่าสัตว์ได้รับการปฏิบัติอย่างไร?—สุภาษิต 12:10; มัดธาย 10:29
● เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับสัตว์จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติจริง ๆ?—ยะซายา 11:6-9
[ส่วนโปรยเรื่องหน้าหน้า 11]
เพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์จะไม่ทำร้ายสัตว์ มนุษย์ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวความคิด
[ที่มาของภาพหน้า 11]
La Voz de Galicia/Fotógrafo: Víctor Mejuto