ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พวกเขาพยายามขัดขวางไม่ให้คนทั่วไปอ่านพระคำของพระเจ้า

พวกเขาพยายามขัดขวางไม่ให้คนทั่วไปอ่านพระคำของพระเจ้า

พวก​เขา​พยายาม​ขัด​ขวาง​ไม่​ให้​คน​ทั่ว​ไป​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า

เมื่อ​กาล​เวลา​ผ่าน​ไป ก็​มี​บาง​คน​พยายาม​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ที่​คน​ทั่ว​ไป​ใช้​กัน. มี​น้อย​คน​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ฮีบรู​หรือ​กรีก​ได้ ซึ่ง​เป็น​ภาษา​ที่​ใช้​เขียน​พระ​คัมภีร์. ใน​ปัจจุบัน พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​คง​ไม่​เข้าใจ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ถ้า​พระ​คำ​นั้น​มี​แต่​ใน​ภาษา​ฮีบรู​หรือ​กรีก​โบราณ.

เกือบ 300 ปี​ก่อน​พระ​เยซู​มี​ชีวิต​บน​แผ่นดิน​โลก ได้​เริ่ม​มี​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​กรีก. ฉบับ​แปล​นั้น​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​ฉบับ​กรีก​เซปตัวจินต์. ประมาณ 700 ปี​ต่อ​มา เจโรม​ได้​ผลิต​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​ที่​มี​ชื่อเสียง​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​ฉบับ​วัลเกต. ฉบับ​วัลเกต​นี้​เป็น​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก​เป็น​ภาษา​ละติน ซึ่ง​เป็น​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​จักรวรรดิ​โรมัน​สมัย​นั้น.

ภาย​หลัง ผู้​คน​ทั่ว​ไป​เริ่ม​ไม่​ค่อย​ใช้​ภาษา​ละติน. เฉพาะ​ผู้​มี​การ​ศึกษา​สูง​เท่า​นั้น​ที่​ยัง​คง​รู้​จัก​ภาษา​ละติน และ​คริสตจักร​คาทอลิก​ก็​ได้​ต่อ​ต้าน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​อื่น ๆ. ผู้​นำ​ศาสนา​ยืนกราน​ว่า​มี​เพียง​ภาษา​ฮีบรู กรีก และ​ละติน​เท่า​นั้น​ที่​เหมาะ​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล. *

การ​แบ่ง​แยก​คริสตจักร และ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล

ใน​ศตวรรษ​ที่​เก้า ส.ศ. เมโทดีอุส​และ​ซีริล มิชชันนารี​ชาว​เทสซาโลนิเก​ซึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​ของ​คริสตจักร​ตะวัน​ออก​ใน​ไบแซนทิอุม ได้​ส่ง​เสริม​ให้​ใช้​ภาษา​สลาวิก​เป็น​ภาษา​ของ​คริสตจักร. พวก​เขา​มี​เป้าหมาย​จะ​ให้​ชาว​สลาฟ​ใน​ยุโรป​ตะวัน​ออก ซึ่ง​ไม่​เข้าใจ​ทั้ง​ภาษา​กรีก​และ​ละติน​ได้​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​ใน​ภาษา​ของ​ตน​เอง.

แต่​มิชชันนารี​ทั้ง​สอง​เผชิญ​การ​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง​จาก​บาทหลวง​ชาว​เยอรมัน ซึ่ง​พยายาม​บังคับ​ให้​ใช้​ภาษา​ละติน​เพื่อ​ป้องกัน​อิทธิพล​ของ​ศาสนา​คริสต์​แบบ​ไบแซนไทน์​ซึ่ง​กำลัง​ขยาย​ตัว. เห็น​ได้​ชัด​ว่า สำหรับ​พวก​เขา​แล้ว เรื่อง​การ​เมือง​สำคัญ​กว่า​การ​ช่วย​ประชาชน​ให้​มี​ความ​รู้​ทาง​ศาสนา. ความ​ตึงเครียด​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​ระหว่าง​คริสต์​ศาสนจักร​ฝ่าย​ตะวัน​ตก​และ​ฝ่าย​ตะวัน​ออก​นำ​ไป​สู่​การ​แบ่ง​แยก​ระหว่าง​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​และ​คริสตจักร​ออร์โทด็อกซ์​ตะวัน​ออก​ใน​ปี 1054.

ต่อ​ต้าน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล

ใน​ที่​สุด คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​ก็​มอง​ว่า​ภาษา​ละติน​เป็น​ภาษา​ศักดิ์สิทธิ์. ด้วย​เหตุ​นี้ เมื่อ​วราทิสเลาส์ ดุ๊ก​แห่ง​โบฮีเมีย ได้​ขอ​อนุญาต​ให้​มี​การ​ใช้​ภาษา​สลาโวนิก​ใน​การ​นมัสการ​ที่​โบสถ์​ใน​ปี 1079 สันตะปาปา​เกรกอรี​ที่ 7 จึง​เขียน​ตอบ​ว่า “เรา​ไม่​อาจ​อนุญาต​ตาม​คำ​ร้อง​นี้​ได้​เลย.” เพราะ​เหตุ​ใด?

เกรกอรี​กล่าว​ว่า “คน​ที่​พิจารณา​เรื่อง​นี้​อย่าง​ถี่ถ้วน​ก็​จะ​เห็น​ได้​ชัด​ว่า พระเจ้า​พอ​พระทัย​จะ​ทำ​ให้​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​นั้น​เข้าใจ​ได้​ยาก​ใน​บาง​แห่ง เพราะ​ถ้า​มี​การ​เปิด​เผย​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ชัดเจน​แก่​ทุก​คน​แล้ว ก็​อาจ​มี​การ​ลบหลู่​ดูหมิ่น​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้ หรือ​คน​ที่​มี​สติ​ปัญญา​จำกัด​อาจ​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์​ผิด​ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​คน​เหล่า​นั้น​ทำ​ผิด​ได้.”

ใน​สมัย​นั้น ผู้​คน​ทั่ว​ไป​แทบ​ไม่​ได้​รับ​โอกาส​ที่​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล และ​คิด​กัน​ว่า​จำ​ต้อง​เป็น​เช่น​นั้น​ต่อ ๆ ไป. เจตคติ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​พวก​นัก​เทศน์​นัก​บวช​มี​อำนาจ​เหนือ​ประชาชน. พวก​เขา​ไม่​อยาก​ให้​สามัญ​ชน​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ที่​พวก​เขา​คิด​ว่า​เป็น​เรื่อง​เฉพาะ​ของ​นัก​เทศน์​นัก​บวช.

ใน​ปี 1199 สันตะปาปา​อินโนเซนต์​ที่ 3 ได้​เขียน​เกี่ยว​กับ “พวก​นอก​รีต” ซึ่ง​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ฝรั่งเศส​และ​กล้า​ถก​กัน​เรื่อง​พระ​คัมภีร์​ใน​หมู่​พวก​เขา​เอง. อินโนเซนต์​ใช้​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​กับ​คน​เหล่า​นี้​ที่​ว่า “อย่า​ให้​สิ่ง​บริสุทธิ์​แก่​สุนัข และ​อย่า​โยน​ไข่มุก​ให้​สุกร.” (มัดธาย 7:6) เขา​หา​เหตุ​ผล​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​นี้? “เนื่อง​จาก​พระ​คัมภีร์​ศักดิ์สิทธิ์​มี​ความ​สูง​ส่ง​อย่าง​ยิ่ง สามัญ​ชน​และ​คน​ไร้​การ​ศึกษา​จึง​ไม่​ควร​ได้​ยุ่ง​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์ หรือ​สอน​พระ​คัมภีร์​แก่​คน​อื่น.” บ่อย​ครั้ง คน​ที่​ไม่​ยอม​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​ของ​สันตะปาปา​จะ​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ให้​พวก​เจ้าหน้าที่​ศาล​ศาสนา​ซึ่ง​ทรมาน​พวก​เขา​ให้​รับ​สารภาพ. คน​ที่​ไม่​ยอม​ละ​ทิ้ง​ความ​เชื่อ​ก็​ถูก​เผา​ทั้ง​เป็น.

ระหว่าง​การ​ต่อ​สู้​ที่​ยาว​นาน​เพื่อ​แย่ง​สิทธิ์​การ​ครอบครอง​และ​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล มี​การ​อ้าง​ถึง​สาสน์​ของ​สันตะปาปา​อินโนเซนต์​หลาย​ครั้ง​เพื่อ​สนับสนุน​การ​ห้าม​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​อื่น. ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​ออก​กฤษฎีกา​ของ​เขา ก็​เริ่ม​มี​การ​เผา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ที่​คน​ทั่ว​ไป​อ่าน​ได้ และ​บาง​คน​ที่​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​ใน​ครอบครอง​ก็​ถูก​เผา​ด้วย. ใน​ช่วง​หลาย​ศตวรรษ​หลัง​จาก​นั้น บิชอป​และ​นัก​ปกครอง​ใน​ยุโรป​ที่​นับถือ​ศาสนา​คาทอลิก​ได้​ใช้​ทุก​วิถี​ทาง​เพื่อ​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​สั่ง​ห้าม​ของ​สันตะปาปา​อินโนเซนต์​ที่ 3.

คณะ​ปกครอง​ของ​คาทอลิก​รู้​ดี​ว่า​คำ​สอน​หลาย​ข้อ​ของ​พวก​เขา​ไม่​ได้​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก แต่​อาศัย​คำ​สอน​สืบ​ปาก​ของ​คริสตจักร. แน่นอน นี่​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​พวก​เขา​ไม่​ต้องการ​ให้​สานุศิษย์​ของ​ตน​ได้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล. ถ้า​ประชาชน​ได้​อ่าน​พระ​คัมภีร์ พวก​เขา​ก็​จะ​รู้​ว่า​หลัก​คำ​สอน​ของ​คริสตจักร​ไม่​สอดคล้อง​กับ​พระ​คัมภีร์.

ผล​กระทบ​ของ​การ​ปฏิรูป​ศาสนา

การ​กำเนิด​ของ​นิกาย​โปรเตสแตนต์​ทำ​ให้​สภาพการณ์​ทาง​ศาสนา​ของ​ยุโรป​เปลี่ยน​ไป. มาร์ติน ลูเทอร์​พยายาม​ปฏิรูป​คริสตจักร​คาทอลิก​แต่​ต่อ​มา​ได้​แยก​ตัว​ออก​ไป​ใน​ปี 1521 ซึ่ง​สาเหตุ​หลัก​คือ​เขา​ได้​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์​มาก​ขึ้น. ดัง​นั้น ครั้น​เขา​แยก​ตัว​ออก​ไป​อย่าง​สมบูรณ์​แล้ว ลูเทอร์​ซึ่ง​เป็น​นัก​แปล​ที่​มี​พรสวรรค์​จึง​ได้​มุ่ง​มั่น​จะ​เผยแพร่​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​คน​ทั่ว​ไป​หา​อ่าน​ได้.

พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​ภาษา​เยอรมัน​ของ​ลูเทอร์​ที่​ถูก​เผยแพร่​ไป​อย่าง​กว้างขวาง​ทำ​ให้​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​เริ่ม​กังวล เพราะ​รู้สึก​ว่า​น่า​จะ​มี​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​หนึ่ง​ที่​คริสตจักร​ยอม​รับ​มา​ลด​อิทธิพล​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​ลูเทอร์. ไม่​นาน​นัก ฉบับ​แปล​ภาษา​เยอรมัน​สอง​ฉบับ​ที่​คริสตจักร​ยอม​รับ​ก็​ถูก​พิมพ์​ออก​มา. แต่​แล้ว​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​ถึง 25 ปี​คือ​ใน​ปี 1546 การ​ประชุม​สังคายนา​ที่​เมือง​เทรนต์​ของ​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​ได้​ออก​กฎ​ซึ่ง​ทำ​ให้​การ​พิมพ์​หนังสือ​ทาง​ศาสนา​ทุก​อย่าง รวม​ถึง​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล ต้อง​ถูก​ควบคุม​โดย​คริสตจักร.

ณ การ​ประชุม​สังคายนา​ที่​เมือง​เทรนต์ มี​การ​ออก​กฤษฎีกา​ว่า “นับ​จาก​นี้​ไป​พระ​คัมภีร์​ศักดิ์สิทธิ์ . . . ต้อง​ได้​รับ​การ​จัด​พิมพ์​อย่าง​ถูก​ต้อง​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้ และ​ถือ​เป็น​เรื่อง​ผิด​กฎหมาย​ถ้า​ใคร ๆ จะ​พิมพ์​หรือ​ว่า​จ้าง​ให้​ผู้​อื่น​พิมพ์​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ศักดิ์สิทธิ์​โดย​ไม่​ระบุ​ชื่อ​ผู้​เขียน หรือ​ใน​วัน​ข้าง​หน้า​จะ​ขาย​หรือ​แม้​แต่​ครอบครอง​หนังสือ​เหล่า​นั้น นอก​จาก​จะ​ได้​รับ​การ​ตรวจ​และ​เห็น​ชอบ​จาก [บิชอป​ใน​ท้องถิ่น] เสีย​ก่อน.”

ใน​ปี 1559 สันตะปาปา​พอล​ที่ 4 ได้​ออก​ราย​ชื่อ​ชุด​แรก​ของ​หนังสือ​ที่​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​สั่ง​ห้าม. คำ​สั่ง​นั้น​ห้าม​การ​ครอบครอง​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ภาษา​ดัตช์ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อังกฤษ อิตาลี และ​ฉบับ​ภาษา​ละติน​บาง​ฉบับ. มี​การ​กำหนด​ว่า​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ต้องการ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ต้อง​ไป​ขอ​ใบ​อนุญาต​จาก​บิชอป​หรือ​เจ้าหน้าที่​ศาล​ศาสนา ซึ่ง​ถือ​เป็น​เรื่อง​ค่อนข้าง​น่า​กลัว​สำหรับ​ผู้​ที่​ไม่​อยาก​ถูก​สงสัย​ว่า​เป็น​คน​นอก​รีต.

คน​ที่​กล้า​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​ใน​ครอบครอง​หรือ​จำหน่าย​จ่าย​แจก​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ที่​คน​ใน​ดินแดน​ของ​ตน​อ่าน​ได้​ต้อง​เผชิญ​ความ​โกรธ​แค้น​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก. หลาย​คน​ถูก​จับ​กุม ถูก​มัด​ติด​กับ​เสา​แล้ว​เผา​ทั้ง​เป็น ถูก​ย่าง ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​ตลอด​ชีวิต หรือ​ถูก​ส่ง​ไป​เป็น​ฝีพาย​ใน​เรือ. คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ยึด​ได้​จะ​ถูก​เผา. ที่​จริง บาทหลวง​คาทอลิก​ยัง​คง​ยึด​และ​เผา​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​จน​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 20.

นี่​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​นิกาย​โปรเตสแตนต์​ปก​ป้อง​คัมภีร์​ไบเบิล. ใน​ศตวรรษ​ที่ 18 และ 19 นัก​เทววิทยา​ของ​โปรเตสแตนต์​บาง​คน​สนับสนุน​การ​ศึกษา​ซึ่ง​ต่อ​มา​เรียก​กัน​ว่า​การ​วิจารณ์​คัมภีร์​ไบเบิล. ภาย​หลัง หลาย​คน​ยอม​รับ​คำ​สอน​ที่​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ทฤษฎี​ของ​ดาร์วิน​ที่​ว่า​ชีวิต​ไม่​ได้​ถูก​สร้าง​ขึ้น แต่​เกิด​ขึ้น​โดย​บังเอิญ​และ​วิวัฒนาการ​ต่อ​ไป​โดย​ไม่​มี​พระ​ผู้​สร้าง.

นัก​เทววิทยา​และ​แม้​แต่​นัก​เทศน์​หลาย​คน​สอน​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ส่วน​ใหญ่​อาศัย​เรื่อง​ปรัมปรา​และ​เทพนิยาย. ผล​ก็​คือ ทุก​วัน​นี้ บ่อย​ครั้ง​นัก​เทศน์​โปรเตสแตนต์ รวม​ทั้ง​สมาชิก​โบสถ์​หลาย​คน​ไม่​ยอม​รับ​คัมภีร์​ไบเบิล โดย​กล่าว​ว่า​พระ​คัมภีร์​ไม่​ถูก​ต้อง​ตาม​ประวัติศาสตร์.

คุณ​อาจ​เคย​ได้​ยิน​การ​วิจารณ์​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ถูก​ต้อง และ​คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​ที่​มี​การ​พยายาม​ทำลาย​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​หลาย​ศตวรรษ​ที่​ผ่าน​มา. แต่​การ​โจมตี​เหล่า​นั้น​ล้มเหลว. คัมภีร์​ไบเบิล​รอด​พ้น​มา​ได้​เสมอ!

เหตุ​ใด​คัมภีร์​ไบเบิล​รอด​พ้น​มา​ได้?

จริง​อยู่ หลาย​คน​รัก​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​เต็ม​ใจ​สละ​ชีวิต​เพื่อ​ปก​ป้อง​พระ​คัมภีร์. แต่​สิ่ง​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​รอด​พ้น​มา​ได้​คือ​พลัง​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า​ความ​รัก​ของ​มนุษย์. เหตุ​ผล​พื้น​ฐาน​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​อยู่​รอด​คือ​ผู้​ที่​มี​ส่วน​ใน​การ​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​เขียน​ภาย​ใต้​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า.—ยะซายา 40:8; 1 เปโตร 1:25

การ​อ่าน​และ​การ​ทำ​ตาม​สิ่ง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​จะ​ทำ​ให้​เรา​มี​ชีวิต​ที่​ดี​ขึ้น รวม​ทั้ง​มี​สุขภาพ​และ​ครอบครัว​ที่​ดี​ขึ้น​ด้วย. พระเจ้า​ทรง​ประสงค์​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​อยู่​ต่อ​ไป​และ​ได้​รับ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ไป​ได้ เพื่อ​ทุก​คน​จะ​มี​โอกาส​เรียน​รู้​ที่​จะ​รัก​พระองค์ รับใช้​พระองค์ และ​ชื่นชม​กับ​พระ​พร​ถาวร​ของ​พระองค์​ใน​ที่​สุด. แน่นอน นั่น​คือ​สิ่ง​ที่​เรา​ทุก​คน​ต้องการ!

ใน​คำ​อธิษฐาน​ของ​พระ​เยซู​ถึง​พระ​บิดา​ใน​สวรรค์ พระองค์​ตรัส​ว่า “คำ​ของ​พระองค์​เป็น​ความ​จริง.” (โยฮัน 17:17) คัมภีร์​ไบเบิล คำ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​พระ​เยซู​อ่าน​และ​สอน​นั่น​แหละ เป็น​ช่อง​ทาง​ที่​พระเจ้า​ใช้​ตอบ​คำ​ถาม​ของ​ผู้​คน​ที่​จริง​ใจ.

เรา​ขอ​สนับสนุน​คุณ​ให้​เรียน​รู้​เพิ่ม​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​ข่าวสาร​ของ​พระเจ้า​ถึง​มนุษยชาติ​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. พยาน​พระ​ยะโฮวา ผู้​แจก​จ่าย​วารสาร​นี้ ยินดี​จะ​ช่วย​คุณ. *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 แนว​คิด​นี้​ดู​เหมือน​เกิด​จาก​ข้อ​เขียน​ของ​บิชอป​ชาว​สเปน​ชื่อ​อีซีโดโร​แห่ง​เซบียา (ส.ศ. 560-636) ซึ่ง​กล่าว​ว่า “มี​ภาษา​ศักดิ์สิทธิ์​สาม​ภาษา นั่น​คือ​ฮีบรู กรีก และ​ละติน และ​ทั้ง​สาม​ภาษา​เป็น​ภาษา​สูง​สุด​ใน​โลก. เพราะ​ปีลาต​ได้​เขียน​ข้อ​กล่าวหา​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไว้​บน​ไม้กางเขน​ใน​สาม​ภาษา​นี้.” แน่นอน ผู้​ที่​ตัดสิน​ให้​ติด​ข้อ​กล่าวหา​ดัง​กล่าว​ใน​ภาษา​ทั้ง​สาม​คือ​ชาว​โรมัน​นอก​รีต. พระเจ้า​ไม่​ได้​เป็น​ผู้​ชี้​นำ​ให้​ทำ​เช่น​นั้น.

^ วรรค 28 คุณ​อาจ​ติด​ต่อ​พยาน​ฯ ตาม​ที่​อยู่​ใน​หน้า 5 ของ​วารสาร​นี้​หรือ​ที่ www.​watchtower.org. ทั้ง​นี้​ไม่​มี​ข้อ​ผูก​มัด​ใด ๆ.

[คำ​โปรย​หน้า 6]

ผู้​คน​ทั่ว​ไป​แทบ​ไม่​ได้​รับ​โอกาส​ที่​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​ทำ​ให้​พวก​นัก​เทศน์​นัก​บวช​มี​อำนาจ​เหนือ​ประชาชน

[คำ​โปรย​หน้า 8]

หาก​ถูก​จับ​ได้ คน​ที่​กล้า​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​ใน​ครอบ​ครอง​หรือ​จำหน่าย​จ่าย​แจก​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​ถูก​มัด​ติด​กับ​เสา​แล้ว​เผา​ทั้ง​เป็น หรือ​ไม่​ก็​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​ตลอด​ชีวิต

[กรอบ​หน้า 9]

คำ​ตอบ​ที่​มี​อยู่​ใน​คัมภีร์ไบเบิล

พระ​ผู้​สร้าง​ประสงค์​ให้​เรา​ตอบ​คำ​ถาม​สำคัญ​ต่อ​ไป​นี้​ได้:

● เรา​เกิด​มา​ทำไม?

● ทำไม​มี​ความ​ทุกข์​มาก​เหลือ​เกิน?

● คน​ตาย​แล้ว​ไป​ไหน?

● มนุษย์​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ต่อ​ไป​ใน​วัน​ข้าง​หน้า?

คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้​รวม​ทั้ง​มี​คำ​แนะ​นำ​ที่​ใช้​ได้​จริง​เกี่ยว​กับ​วิธี​พบ​ความ​สุข​แท้.

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 6, 7]

แผนภูมิ​แสดง​ลำดับ​เวลา​ของ​การ​โจมตี​คัมภีร์​ไบเบิล

ประมาณ ส.ศ. 636

อีซีโดโร​แห่ง​เซบียา​ยืน​ยัน​ว่า​ภาษา​ฮีบรู กรีก และ​ละติน​เป็น​ภาษา “ศักดิ์สิทธิ์” และ​เฉพาะ​แต่​สาม​ภาษา​นี้​เท่า​นั้น​ที่​เหมาะ​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล

1079

เกรกอรี​ที่ 7 ยืนกราน​ปฏิเสธ​คำ​ขอ​ของ​วราทิสเลาส์​ที่​จะ​ใช้​ภาษา​สลาโวนิก​ใน​โบสถ์ โดย​กล่าว​ว่า “คน​ที่​มี​สติ​ปัญญา​จำกัด” ไม่​ควร​จะ​ได้​อ่าน​พระ​คัมภีร์

1199

สันตะปาปา​อินโนเซนต์​ที่ 3 ถือ​ว่า​ใคร​ก็​ตาม​ที่​กล้า​แปล​และ​พิจารณา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​พวก​นอก​รีต. บ่อย​ครั้ง ผู้​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​คำ​สั่ง​ของ​สันตะปาปา​ถูก​ทรมาน​และ​ถูก​ฆ่า

1546

กฤษฎีกา​ที่​ออก​ใน​การ​ประชุม​สังคายนา​ที่​เมือง​เทรนต์​ระบุ​ว่า​การ​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ฉบับ​แปล​ต่าง ๆ ต้อง​ได้​รับ​การ​อนุมัติ​จาก​คริสตจักร​คาทอลิก​เสีย​ก่อน

1559

สันตะปาปา​พอล​ที่ 4 ห้าม​การ​ครอบครอง​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เป็น​ภาษา​ของ​สามัญ​ชน. ฉบับ​แปล​ที่​เป็น​ภาษา​ของ​สามัญ​ชน​ถูก​ยึด​และ​เผา​และ​บ่อย​ครั้ง​ผู้​ที่​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​ใน​ครอบครอง​ก็​ถูก​เผา​ไป​พร้อม​กัน​ด้วย

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Pope Gregory VII: © Scala/White Images/Art Resource NY; Pope Innocent III: © Scala/Art Resource NY; Council of Trent: © Scala/White Images/Art Resource NY; Pope Paul IV: © The Print Collector Great Britain/HIP/Art Resource NY

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 8]

From Foxe’s Book of Martyrs