ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

แรงกดดันให้ทุจริต

แรงกดดันให้ทุจริต

แรง​กดดัน​ให้​ทุจริต

“การ​ทำ​ธุรกิจ​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์​เป็น​เรื่อง​ของ​อดีต และ​คน​ที่​พยายาม​จะ​เป็น​คน​ซื่อ​สัตย์​จะ​ประสบ​แต่​ความ​ล้มเหลว.”—สตีเฟน สหรัฐ

คุณ​เห็น​ด้วย​กับ​คำ​กล่าว​ที่​น่า​หดหู่​นี้​ไหม? จริง​อยู่ บ่อย​ครั้ง​การ​คด​โกง​ก่อ​ผล​ประโยชน์ อย่าง​น้อย​ก็​ใน​ระยะ​สั้น. ผล​ก็​คือ คน​ที่​พยายาม​จะ​เป็น​คน​ซื่อ​สัตย์​ต้อง​ถูก​กดดัน​อย่าง​หนัก​ใน​แง่​มุม​ต่อ​ไป​นี้.

ความ​อยาก​ได้​ใคร่​มี​ของ​ตน​เอง. ใคร​จะ​ไม่​อยาก​ได้​เงิน​หรือ​สิ่ง​ของ​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย​บ้าง? เมื่อ​มี​โอกาส​โกง​เพื่อ​ได้​ผล​ประโยชน์​ทาง​การ​เงิน ก็​อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​ปฏิเสธ.

● “ผม​มี​หน้า​ที่​อนุมัติ​สัญญา​ต่าง ๆ ของ​บริษัท. มี​การ​เสนอ​จะ​ให้​สินบน​จน​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา. เมื่อ​มี​โอกาส​จะ​ได้​เงิน​มา​ง่าย ๆ คน​ส่วน​ใหญ่​อด​ใจ​ไม่​ไหว.”—แฟรนซ์ ตะวัน​ออก​กลาง

แรง​กดดัน​ที่​จะ​หา​ผล​กำไร​ให้​มาก​ที่​สุด. ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ บริษัท​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก​ต้อง​ต่อ​สู้​อย่าง​หนัก​เนื่อง​จาก​สภาพ​เศรษฐกิจ​ที่​ย่ำแย่. พวก​เขา​ยัง​ต้อง​รับมือ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​รวด​เร็ว​ทาง​เทคโนโลยี​และ​การ​แข่งขัน​ที่​สูง​ขึ้น​ทั้ง​ใน​ระดับ​ภูมิภาค​และ​ระดับ​โลก​อีก​ด้วย. ลูกจ้าง​อาจ​คิด​ว่า​วิธี​เดียว​ที่​จะ​บรรลุ​เป้าหมาย​การ​ทำ​งาน​ซึ่ง​เจ้าของ​บริษัท​และ​ผู้​จัด​การ​ตั้ง​ไว้​ก็​คือ​ต้อง​โกง.

● “เรา​คิด​ว่า​เรา​จำเป็น​ต้อง​ทำ. . . . ถ้า​เรา​ไม่​ทำ บริษัท​จะ​สูญ​เสีย​มาก.”—ไรน์​ฮาร์ด ซีคาเชก ถูก​จับ​ด้วย​ข้อ​หา​ติด​สินบน.—เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์

แรง​กดดัน​จาก​คน​อื่น. บาง​ครั้ง เพื่อน​ร่วม​งาน​หรือ​ลูกค้า​อาจ​ชักชวน​หรือ​ถึง​กับ​เรียก​ร้อง​ให้​คุณ​ร่วม​มือ​ใน​แผนการ​ทุจริต.

● “ผู้​จัด​การ​ของ​บริษัท​ซึ่ง​เป็น​ลูกค้า​ราย​ใหญ่​ของ​เรา​มา​หา​ผม และ​พูด​ว่า​บริษัท​ของ​เขา​จะ​ไม่​เป็น​ลูกค้า​ของ​เรา​อีก​ต่อ​ไป​ถ้า​ผม​ไม่​จ่าย ‘ส่วน​ที่​เขา​ควร​ได้’ ซึ่ง​ก็​คือ​เงิน​ใต้​โต๊ะ​นั่น​เอง.”—โยฮาน แอฟริกา​ใต้

วัฒนธรรม. ใน​บาง​วัฒนธรรม เป็น​ธรรมเนียม​ที่​จะ​มี​การ​แลก​เปลี่ยน​ของ​ขวัญ​พร้อม ๆ กับ​การ​ติด​ต่อ​ซื้อ​ขาย. เส้น​แบ่ง​ระหว่าง​การ​ทำ​ธุรกิจ​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์​และ​ไม่​ซื่อ​สัตย์​อาจ​ไม่​ชัดเจน ทั้ง​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​มูลค่า​ของ​ของ​ขวัญ​และ​สภาพการณ์. ใน​หลาย​ดินแดน เจ้าหน้าที่​ที่​ทุจริต​เรียก​เก็บ​เงิน​ก่อน​จะ​ยอม​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​ของ​ตน และ​พร้อม​รับ​เงิน​ใต้​โต๊ะ​เพื่อ​จะ​ให้​บริการ​เป็น​พิเศษ.

● “เป็น​เรื่อง​ยาก​เสมอ​ที่​จะ​รู้​ว่า​นั่น​เป็น​การ​ให้​ทิป​หรือ​สินบน.”—วิลเลียม โคลอมเบีย

สภาพ​แวด​ล้อม. คน​ที่​อยู่​ใน​สภาพ​อัตคัด​ขัดสน​หรือ​อยู่​ใน​ประเทศ​ที่​บ้าน​เมือง​ไม่​มี​ขื่อ​ไม่​มี​แป​จะ​ถูก​กดดัน​หนัก​ที่​สุด. ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​เช่น​นั้น ถ้า​ใคร​ไม่​ยอม​โกง​หรือ​ขโมย คน​อื่น​อาจ​มอง​ว่า​เขา​ไม่​ยอม​หา​เลี้ยง​ครอบครัว.

● “การ​โกง​ถือ​เป็น​เรื่อง​ปกติ จำเป็น และ​ยอม​รับ​กัน​ตราบ​ใด​ที่​คุณ​ไม่​ถูก​จับ​ได้.”—โทมาซี คองโก​กินชาซา

ความ​ซื่อ​สัตย์​หาย​ไป​ได้​อย่าง​ไร?

แรง​กดดัน​ให้​กระทำ​การ​ทุจริต​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​รุนแรง. การ​สำรวจ​ความ​คิด​เห็น​ของ​บรรดา​ผู้​จัด​การ​ใน​ออสเตรเลีย​แสดง​ว่า 9 ใน 10 คิด​ว่า​การ​ทุจริต​คอร์รัปชัน “เป็น​สิ่ง​ผิด​แต่​เลี่ยง​ไม่​ได้.” ผู้​ที่​ถูก​สำรวจ​กล่าว​ว่า​พวก​เขา​พร้อม​จะ​มอง​ข้าม​ความ​สำนึก​ทาง​ศีลธรรม​ของ​ตน​เพื่อ​จะ​ได้​เซ็น​สัญญา​หรือ​สร้าง​ผล​กำไร​ให้​แก่​บริษัท.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คน​ที่​ทุจริต​มัก​จะ​คิด​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​คน​ซื่อ​สัตย์. คน​เหล่า​นี้​คิด​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? วารสาร​วิจัย​การ​ตลาด (ภาษา​อังกฤษ) รายงาน​ว่า “ผู้​คน​ทำ​การ​ทุจริต​มาก​พอ​ที่​จะ​ได้​ผล​ประโยชน์ แต่​ก็​ซื่อ​สัตย์​มาก​พอ​ที่​จะ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​คน​ดี​มี​ศีลธรรม.” เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​ตัว​เอง​สบาย​ใจ ผู้​คน​ใช้​หลาย​วิธี​ใน​การ​แก้​ตัว มอง​เรื่อง​นั้น​เป็น​เรื่อง​เล็ก หรือ​หา​เหตุ​ผล​ว่า​การ​กระทำ​ที่​ทุจริต​เป็น​สิ่ง​ถูก​ต้อง.

ตัว​อย่าง​เช่น การ​กระทำ​ทุจริต​คด​โกง​อาจ​ถูก​เรียก​ด้วย​คำ​ที่​ไม่​น่า​เกลียด​เท่า​ไร​นัก. การ​โกหก​หรือ​การ​ฉ้อ​โกง​กลาย​เป็น “เล่ห์​เหลี่ยม” หรือ “กลเม็ด.” สินบน​อาจ​ถูก​เรียก​ว่า “ค่า​น้ำ​ชา” หรือ “ค่า​อำนวย​ความ​สะดวก.”

ส่วน​บาง​คน​แก้​ตัว​ให้​กับ​พฤติกรรม​ไม่​ซื่อ​ตรง​โดย​พยายาม​ตี​ความ​หมาย​ของ​ความ​ซื่อ​สัตย์​อย่าง​ไม่​เคร่งครัด. ทอม​ซึ่ง​ทำ​งาน​ใน​แวดวง​การ​เงิน​กล่าว​ว่า “สำหรับ​ผู้​คน​ทั่ว​ไป ถ้า​พวก​เขา​รอด​ตัว​ไป​ได้​โดย​ไม่​ถูก​กฎหมาย​เล่น​งาน​ก็​ยัง​คง​ถือ​ว่า​พวก​เขา​ซื่อ​สัตย์.” เดวิด อดีต​ผู้​บริหาร​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ถ้า​การ​ทุจริต​นั้น​ถูก​เปิดโปง​ผู้​คน​จะ​พา​กัน​ตำหนิ แต่​ถ้า​คุณ​ไม่​ถูก​จับ​ได้​ก็​จะ​ถือ​ว่า​การ​กระทำ​นั้น​เป็น​ที่​ยอม​รับ. คน​ที่​ไม่​ถูก​จับ​ได้​จะ​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​คน​ฉลาด.”

หลาย​คน​ถึง​กับ​อ้าง​ว่า​จำเป็น​ต้อง​โกง​เพื่อ​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ. นัก​ธุรกิจ​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​งาน​มา​หลาย​ปี​กล่าว​ว่า “ทัศนะ​ที่​ชอบ​แข่งขัน​มัก​จะ​กระตุ้น​ผู้​คน​ให้​พูด​ว่า ‘คุณ​ต้อง​ทำ​ทุก​อย่าง​เพื่อ​ให้​ได้​งาน​มา.’ ” แต่​นั่น​เป็น​ความ​จริง​ไหม? หรือ​ว่า​ที่​แท้​แล้ว​คน​ซึ่ง​พยายาม​อ้าง​เหตุ​ผล​สนับสนุน​ความ​ไม่​ซื่อ​สัตย์​กำลัง “หลอก​ตัว​เอง​ด้วย​การ​หา​เหตุ​ผล​ผิด ๆ”? (ยาโกโบ 1:22) ขอ​พิจารณา​ผล​ประโยชน์​ของ​ความ​ซื่อ​สัตย์​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

[คำ​โปรย​หน้า 5]

“สำหรับ​ผู้​คน​ทั่ว​ไป ถ้า​พวก​เขา​รอด​ตัว​ไป​ได้​โดย​ไม่​ถูก​กฎหมาย​เล่น​งาน​ก็​ยัง​คง​ถือ​ว่า​พวก​เขา​ซื่อสัตย์”

[ภาพ​หน้า 5]

หลาย​คน​อ้าง​ว่า​จำเป็น​ต้อง​โกง​เพื่อ​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ