ภาษาอาหรับกลายมาเป็นภาษาของปัญญาชนโดยวิธีใด?
ภาษาอาหรับกลายมาเป็นภาษาของปัญญาชนโดยวิธีใด?
ภาษาอาหรับเป็นภาษาหลักของปัญญาชนอยู่หลายศตวรรษ. เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่แปดสากลศักราช นักวิชาการที่ใช้ภาษาอาหรับในเมืองต่าง ๆ แถบตะวันออกกลางได้แปลและแก้ไขบทความทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาซึ่งมีการเขียนมาตั้งแต่สมัยของปโตเลมีและอาริสโตเติล. โดยวิธีนี้ นักวิชาการที่ใช้ภาษาอาหรับจึงได้เก็บรักษาและต่อยอดผลงานของนักคิดในสมัยโบราณ.
แหล่งหลอมรวมแนวคิด
ในศตวรรษที่เจ็ดและแปดแห่งสากลศักราช เกิดมีมหาอำนาจใหม่ในตะวันออกกลาง คือราชวงศ์อุมัยยะห์และราชวงศ์อับบาซียะห์. เนื่องจากประชาชนของพวกเขาในคาบสมุทรอาหรับ เอเชียไมเนอร์ อียิปต์ ปาเลสไตน์ เปอร์เซีย และอิรัก ได้รับอิทธิพลจากทั้งกรีซและอินเดีย เหล่าผู้ปกครองที่เพิ่งขึ้นมาสู่อำนาจจึงมีแหล่งความรู้มากมาย. ราชวงศ์อับบาซียะห์สร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ คือกรุงแบกแดด และกรุงนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งหลอมรวมแนวคิดต่าง ๆ. ที่นี่ ชาวอาหรับติดต่อคบหากับชาวอาร์เมเนีย เบอร์เบอร์ จีน คอปต์ กรีก อินเดีย ยิว เปอร์เซีย เติร์ก และซอกเดียน จากดินแดนฝั่งข้างโน้นของแม่น้ำออกซุส ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่าแม่น้ำอามูดาร์ยาในเอเชียกลาง. พวกเขาร่วมกันศึกษาและถกเกี่ยวกับวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นการหลอมรวมความรู้อันหลากหลายของตนที่ได้รับตกทอดมา.
ราชวงศ์อับบาซียะห์ที่ปกครองแบกแดดสนับสนุนและส่งเสริมเหล่านักคิดที่มีพรสวรรค์ให้ช่วยพัฒนาวิทยาการต่าง ๆ ของจักรวรรดิ ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากที่ใด. มีการจัดระบบเพื่อรวบรวมและแปลตำราหลายพันเล่มเป็นภาษาอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นวิชาเล่นแร่แปรธาตุ เลขคณิต เรขาคณิต เวชศาสตร์ ดนตรี ปรัชญา และฟิสิกส์.
กาหลิบอัล-มันซูร์ ซึ่งปกครองตั้งแต่ ส.ศ. 754 ถึง ส.ศ. 775 ได้ส่งคณะทูตไปยังราชสำนักไบแซนไทน์เพื่อขอตำราคณิตศาสตร์ของชาวกรีก. กาหลิบอัล-มามูน (ส.ศ. 813 ถึง ส.ศ. 833) ได้พยายามแสวงหาวิชาความรู้ของชาวกรีกเช่นกัน โดยริเริ่มให้มีการแปลตำราจากภาษากรีกเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งการแปลนี้ดำเนินเรื่อยมานานกว่าสองศตวรรษ. ด้วยเหตุนั้น เมื่อถึงปลายศตวรรษที่สิบ ตำราทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์เกือบทั้งหมดของชาวกรีกจึงได้รับการแปลเป็นภาษาอาหรับ. แต่เหล่านักวิชาการแห่งโลกอาหรับไม่เพียงแค่แปลเท่านั้น. พวกเขาเขียนตำราเองด้วย.
การพัฒนาความรู้ในโลกอาหรับ
นักแปลภาษาอาหรับหลายคนทำงานได้ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วอย่างน่าทึ่ง. ด้วยเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์บางคนจึงเชื่อว่านักแปลเหล่านั้นต้องคุ้นเคยกับเรื่องที่พวกเขาแปลอยู่แล้ว. ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการบางคนได้ใช้ตำราแปลเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการค้นคว้าวิจัยของพวกเขาเอง.
ตัวอย่างเช่น แพทย์และผู้แปลชื่อฮูนาอีน อิบัน อิสฮาก (ส.ศ. 808 ถึง ส.ศ. 873) ซึ่งเป็นคริสเตียนชาวซีเรีย ได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจอย่างมากในเรื่องการมองเห็น. ผลงานของเขาซึ่งมีภาพประกอบที่ถูกต้องของดวงตา ได้กลายมาเป็นหนังสืออ้างอิงมาตรฐานในวิชาจักษุวิทยาทั้งในโลกอาหรับและยุโรป. นักปรัชญาและแพทย์ชื่ออิบัน ซีนา ซึ่งโลกตะวันตกรู้จักกันในนามอะวิเซนนา (ส.ศ. 980 ถึง ส.ศ. 1037) ได้เขียนตำราหลายสิบเล่มครอบคลุมหลายหัวเรื่อง ตั้งแต่จริยศาสตร์และตรรกศาสตร์ไปจนถึงเวชศาสตร์และอภิปรัชญา. ผลงานชิ้นเอกของเขาชื่อหลักการแพทย์ ได้รวมเอาความรู้ที่มีอยู่ในสมัยนั้น ทั้งแนวคิดของกาเลนและอาริสโตเติล ซึ่งเป็นนักคิดผู้มีชื่อเสียงชาวกรีก. หนังสือเล่มนี้เป็นตำรามาตรฐานทางการแพทย์นานถึง 400 ปี.
นักค้นคว้าชาวอาหรับชอบวิธีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์. พวกเขาจึงคำนวณเส้นรอบวงของโลกอีก และแก้ไขข้อมูลทางภูมิศาสตร์ในผลงานของปโตเลมี. พอล ลุนด์ นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า “พวกเขากล้าที่จะตั้งข้อสงสัยในผลงานของอาริสโตเติลด้วยซ้ำ.”
ความก้าวหน้าทางวิชาการปรากฏให้เห็นในการประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ ลำรางส่งน้ำ และล้อทดน้ำ ซึ่งบางอย่างยังคงหลงเหลือจนถึงสมัยนี้. ตำราใหม่ ๆ ด้านเกษตรกรรม พฤกษศาสตร์ และพืชกรรมศาสตร์ช่วยให้เกษตรกรเลือกปลูกพืชผลที่เหมาะกับท้องที่นั้น ๆ จึงทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น.
ส.ศ. 805 กาหลิบฮารูน อัล-ราษจิด ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกในจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ของเขา. ไม่นาน เมืองใหญ่ ๆ ทุกเมืองในอาณาเขตของเขาก็มีโรงพยาบาล.
ศูนย์กลางใหม่ด้านการเรียนรู้
หลายเมืองในโลกอาหรับมีห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้เฉพาะทาง. ในกรุงแบกแดด กาหลิบอัล-มามูน ได้ก่อตั้งสถาบันการแปลและค้นคว้าที่เรียกว่า บัยต อัล-หิกมะฮ์ ซึ่งหมายถึง “บ้านแห่งปัญญา.” เจ้าหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้มีบางคนเป็นนักวิชาการที่ได้รับเงินเดือน. เชื่อกันว่าห้องสมุดหลักในไคโรมีหนังสือมากกว่าหนึ่งล้านเล่ม. ขณะเดียวกัน กอร์โดบา เมืองหลวงของราชวงศ์อุมัยยะห์ในสเปน มีห้องสมุดถึง 70 แห่ง ซึ่งนักวิชาการและนักศึกษาจากทั่วโลกอาหรับได้พากันไปค้นคว้าที่นั่น. กอร์โดบาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ชั้นนำนานกว่าสองศตวรรษ.
ในเปอร์เซีย ความรู้ที่สืบทอดมาด้านคณิตศาสตร์ของชาวกรีกถูกหลอมรวมเข้ากับของอินเดีย. ก่อนหน้านั้น นักคณิตศาสตร์ของอินเดียได้คิดระบบที่ใช้เลขศูนย์และสัญกรณ์ตำแหน่ง. ในระบบการเขียนเลขแบบนี้ ตัวเลขแต่ละตัวจะมีค่าต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเลขศูนย์. ตัวอย่างเช่น เลขหนึ่งอาจหมายถึงหนึ่ง สิบ หนึ่งร้อย ฯ ลฯ. ลุนด์เขียนว่า ระบบนี้ “ไม่เพียงทำให้การคำนวณทุกประเภทง่ายขึ้น แต่ยังทำให้เกิดวิชาพีชคณิตขึ้นด้วย.” นักวิชาการชาวอาหรับยังได้ทำความก้าวหน้าอย่างมากด้านเรขาคณิต ตรีโกณมิติ และการเดินเรือ.
ยุคทองทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโลกอาหรับสวนทางกับส่วนอื่น ๆ ของโลกซึ่งไม่ใส่ใจกับการศึกษาหาความรู้. มีความพยายามคล้าย ๆ กันในยุโรปยุคกลางที่จะเก็บรักษาผลงานของนักวิชาการยุคโบราณ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทำกันในอารามต่าง ๆ. แต่สิ่งที่ทำกันช่วงนั้นเทียบไม่ได้เลยกับโลกอาหรับ. อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสภาพการณ์เริ่มเปลี่ยน เมื่อการแปลผลงานทางวิชาการในโลกอาหรับถูกนำเข้าสู่โลกตะวันตก. เมื่อเวลาผ่านไป มีการนำวิชาความรู้เข้ามามากขึ้นจนนำไปสู่การฟื้นฟูด้านวิทยาศาสตร์ในยุโรป.
จริงทีเดียว ประวัติศาสตร์แสดงว่าไม่มีประเทศใดหรือชนชาติใดกล่าวอ้างได้ว่าพัฒนาวิทยาการต่าง ๆ จนก้าวหน้าถึงปัจจุบันแต่เพียงผู้เดียว. วัฒนธรรมที่มีความรู้ก้าวหน้าในทุกวันนี้เป็นหนี้บุญคุณวัฒนธรรมในอดีตซึ่งส่งเสริมให้มีการค้นคว้า ตั้งคำถามสิ่งที่เคยยึดถือกันมา และสนับสนุนให้คิดค้นสิ่งต่าง ๆ.
[แผนที่หน้า 26]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
▪เขตอิทธิพลของราชวงศ์อุมัยยะห์
□ดินแดนที่อยู่ใต้อิทธิพลของราชวงศ์อับบาซียะห์
สเปน
กอร์โดบา
จักรวรรดิไบแซนไทน์
โรม
คอนสแตนติโนเปิล
แม่น้ำออกซูส
เปอร์เซีย
แบกแดด
เยรูซาเลม
ไคโร
คาบสมุทรอาหรับ
[ภาพหน้า 27]
ภาพดวงตาที่เขียนโดยฮูนาอีน อิบัน อิสฮาก
[ภาพหน้า 27]
หน้าหนึ่งในหนังสือ “หลักการแพทย์” ของอะวิเซนนา
[ภาพหน้า 28]
นักวิชาการชาวอาหรับในห้องสมุดแห่งหนึ่งที่บัสรา ส.ศ. 1237
[ที่มาของภาพ]
© Scala/White Images/Art Resource NY
[ที่มาของภาพหน้า 27]
Eye diagram: © SSPL/Science Museum/Art Resource NY; Canon of Medicine: © The Art Gallery Collection/Alamy