ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“รัศมี” ของดวงดาว

“รัศมี” ของดวงดาว

“รัศมี” ของ​ดวง​ดาว

คุณ​เคย​รู้สึก​ทึ่ง​เมื่อ​เห็น​ดวง​ดาว​นับ​พัน ๆ ดวง​ใน​คืน​ฟ้า​ใส​ไหม? ขณะ​ที่​คุณ​มอง​แสง​ดาว​อัน​ระยิบระยับ คุณ​อาจ​สังเกต​ว่า​ดาว​แต่​ละ​ดวง​มี​ความ​สว่าง​และ​สี​แตกต่าง​กัน. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​อย่าง​ถูก​ต้อง​ว่า “รัศมี​ของ​ดาว​แต่​ละ​ดวง​ย่อม​ต่าง​กัน​ไป.”—1 โครินท์ 15:41

ทำไม​รัศมี​ของ​ดวง​ดาว​จึง​แตกต่าง​กัน? ยก​ตัว​อย่าง ทำไม​บาง​ดวง​จึง​เป็น​สี​ขาว ส่วน​บาง​ดวง​เป็น​สี​น้ำเงิน เหลือง หรือ​แดง? และ​ทำไม​ดาว​จึง​กะพริบ?

ดาว​ฤกษ์​มี​เตา​ปฏิกรณ์​นิวเคลียร์​ขนาด​ยักษ์​อยู่​ที่​แกนกลาง ซึ่ง​สร้าง​พลัง​งาน​อัน​มหาศาล. พลัง​งาน​นั้น​จะ​ขึ้น​มา​ที่​ผิว​นอก​ของ​ดาว แล้ว​แผ่​ออก​ไป​ใน​อวกาศ ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​แสง​ที่​มอง​เห็น​ได้​และ​รังสี​อินฟราเรด. คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​ที่​รู้​ว่า ดาว​ฤกษ์​ที่​ร้อน​กว่า​มี​สี​น้ำเงิน ส่วน​ดาว​ฤกษ์​ที่​เย็น​กว่า​มี​สี​แดง. ทำไม​จึง​มี​สี​ต่าง​กัน?

เรา​อาจ​นึก​ถึง​แสง​ว่า​เป็น​ลำ​ของ​อนุภาค​ที่​เรียก​ว่า​โฟตอน ซึ่ง​มี​พฤติกรรม​เหมือน​คลื่น​พลัง​งาน​ด้วย. ดาว​ที่​มี​อุณหภูมิ​สูง​กว่า​จะ​ปล่อย​โฟตอน​พลัง​งาน​สูง​กว่า ซึ่ง​มี​ความ​ยาว​คลื่น​สั้น​และ​อยู่​ใน​ย่าน​แสง​สี​น้ำเงิน​ของ​สเปกตรัม. ใน​ทาง​กลับ​กัน ดาว​ที่​มี​อุณหภูมิ​ต่ำ​กว่า​จะ​ปล่อย​โฟตอน​พลัง​งาน​ต่ำ​กว่า ซึ่ง​อยู่​ใน​ย่าน​แสง​สี​แดง​ของ​สเปกตรัม. ดวง​อาทิตย์​ของ​เรา​อยู่​ระหว่าง​กึ่งกลาง​ของ​ดาว​สอง​ประเภท​นี้ เพราะ​ดวง​อาทิตย์​เปล่ง​แสง​ส่วน​ใหญ่​ใน​ย่าน​แสง​สี​เขียว​ถึง​เหลือง. แต่​ทำไม​ดวง​อาทิตย์​จึง​ไม่​เป็น​สี​เขียว? เพราะ​มัน​เปล่ง​แสง​ที่​มอง​เห็น​ได้​ใน​ความ​ยาว​คลื่น​อื่น ๆ ด้วย. เมื่อ​รวม​กัน​แล้ว​ดวง​อาทิตย์​จึง​มี​สี​ขาว​เมื่อ​ดู​จาก​อวกาศ.

บรรยากาศ​ของ​โลก​ทำ​ให้​ดวง​อาทิตย์​เปลี่ยน​สี

เรา​เห็น​ดวง​อาทิตย์​ผ่าน​ชั้น​บรรยากาศ​ของ​โลก ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​สี​ของ​ดวง​อาทิตย์​ดู​เปลี่ยน​ไป​บ้าง ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​เรา​ดู​ดวง​อาทิตย์​ใน​ช่วง​เวลา​ใด. ตัว​อย่าง​เช่น ปกติ​แล้ว​ดวง​อาทิตย์​ตอน​เที่ยง​จะ​ออก​เป็น​สี​เหลือง​เล็ก​น้อย. แต่​ตอน​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น​และ​ตก เรา​อาจ​เห็น​ดวง​อาทิตย์​เป็น​สี​ส้ม​หรือ​แดง​ขณะ​อยู่​ใกล้​ขอบ​ฟ้า. การ​ที่​เรา​มอง​เห็น​สี​ของ​ดวง​อาทิตย์​เปลี่ยน​ไป​เช่น​นี้​เป็น​เพราะ​โมเลกุล​ของ​ก๊าซ ไอ​น้ำ และ​อนุภาค​ขนาด​จิ๋ว​ชนิด​ต่าง ๆ ใน​บรรยากาศ​ของ​โลก.

องค์​ประกอบ​ของ​บรรยากาศ​โลก​ทำ​ให้​แสง​สี​น้ำเงิน​และ​สี​ม่วง​ของ​ดวง​อาทิตย์​กระจาย​ออก. ท้องฟ้า​ใน​วัน​ฟ้า​โปร่ง​จึง​ดู​เป็น​สี​ฟ้า​สดใส. เนื่อง​จาก​สี​น้ำเงิน​และ​ม่วง​ถูก​ตัด​ออก​จาก​แสง​ของ​ดวง​อาทิตย์ แสง​ที่​เหลือ​อยู่​ตอน​เที่ยง​วัน​ส่วน​ใหญ่​จึง​เป็น​สี​เหลือง. แต่​เมื่อ​ดวง​อาทิตย์​อยู่​ใกล้​ขอบ​ฟ้า แสง​จาก​ดวง​อาทิตย์​ต้อง​เดิน​ทาง​ผ่าน​บรรยากาศ​ใน​มุม​ที่​เฉียง​มาก​กว่า​จะ​มา​ถึง​เรา. ผล​ก็​คือ แสง​อาทิตย์​ต้อง​ผ่าน​บรรยากาศ​ที่​หนา​กว่า ซึ่ง​ตอน​นี้​จะ​กระจาย​แสง​สี​น้ำเงิน​มาก​ขึ้น​ไป​อีก รวม​ทั้ง​แสง​สี​เขียว​ด้วย. ฉะนั้น ดวง​อาทิตย์​ที่​กำลัง​ตก​จึง​อาจ​ดู​เป็น​สี​แดง​เข้ม.

ฟ้า​หลาก​สี​ยาม​ค่ำ​คืน

ความ​สามารถ​ใน​การ​รับ​แสง​ของ​ดวง​ตา​มี​ผล​อย่าง​มาก​ต่อ​สิ่ง​ที่​เรา​มอง​เห็น​บน​ท้องฟ้า​ยาม​ค่ำ​คืน. ดวง​ตา​ของ​เรา​มี​ตัว​รับ​แสง​สอง​ชนิด คือ​เซลล์​รูป​กรวย​และ​เซลล์​รูป​แท่ง. เซลล์​รูป​กรวย​สามารถ​แยกแยะ​สี​ได้ แต่​ถ้า​แสง​สลัว​มาก เซลล์​รูป​กรวย​จะ​ไม่​ทำ​งาน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เซลล์​รูป​แท่ง​เป็น​ตัว​รับ​แสง​ที่​ไว​มาก แม้​จะ​ไม่​สามารถ​รับ​รู้​สี​ได้. ที่​จริง ถ้า​มี​ประสิทธิภาพ​สูง​สุด เซลล์​รูป​แท่ง​อาจ​ตรวจ​จับ​ได้​แม้​แต่​โฟตอน​เพียง​ตัว​เดียว! แต่​เซลล์​รูป​แท่ง​ไว​ต่อ​แสง​ที่​มี​ความ​ยาว​คลื่น​สั้น​กว่า​ซึ่ง​อยู่​ใน​ย่าน​แสง​สี​น้ำเงิน​ของ​สเปกตรัม. ผล​ก็​คือ ถ้า​เรา​ดู​ดาว​ที่​แสง​จาง​มาก​ด้วย​ตา​เปล่า เรา​คง​จะ​เห็น​ดาว​สี​น้ำเงิน​แต่​ไม่​เห็น​ดาว​สี​แดง​แม้​ว่า​มัน​จะ​มี​ความ​สว่าง​พอ ๆ กัน. แต่​น่า​ดีใจ​ที่​เรา​มี​อุปกรณ์​ช่วย​ใน​การ​ดู​ดาว.

กล้อง​สอง​ตา​และ​กล้อง​โทรทรรศน์​ทำ​ให้​เรา​ดู​วัตถุ​ที่​แสง​จาง​มาก ๆ ใน​ท้องฟ้า​ยาม​ค่ำ​คืน​ได้ เช่น ดาว​ฤกษ์ กาแล็กซี ดาว​หาง และ​เนบิวลา. ถึง​กระนั้น การ​มอง​เห็น​ของ​เรา​ถูก​จำกัด​เนื่อง​จาก​บรรยากาศ​โลก. มี​การ​แก้​ปัญหา​นี้​โดย​ใช้​กล้อง​โทรทรรศน์​อวกาศ​ฮับเบิล​หรือ​กล้อง​เอช​เอส​ที ซึ่ง​โคจร​อยู่​รอบ​โลก. กล้อง​ฮับเบิล​เป็น​สิ่ง​ที่​น่า​ทึ่ง​ทาง​เทคโนโลยี และ​สามารถ​มอง​เห็น​วัตถุ​ซึ่ง​มี​ความ​สว่าง​เพียง​หนึ่ง​ใน​หนึ่ง​หมื่น​ล้าน​ส่วน​ของ​ดาว​ฤกษ์​ที่​จาง​ที่​สุด​เท่า​ที่​ตา​เปล่า​มอง​เห็น​ได้! ผล​ก็​คือ กล้อง​ฮับเบิล​สามารถ​ถ่าย​ภาพ​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ของ​วัตถุ​ใน​อวกาศ​ชั้น​นอก กาแล็กซี รวม​ทั้ง​กลุ่ม​แก๊ส​และ​ฝุ่น​ซึ่ง​เรียก​ว่า​เนบิวลา.

ถึง​กระนั้น กล้อง​โทรทรรศน์​บน​โลก​ใน​ปัจจุบัน​มี​สมรรถภาพ​เทียบเท่า​หรือ​ดี​กว่า​กล้อง​ฮับเบิล​ใน​บาง​ด้าน​ด้วย​ซ้ำ. ตัว​อย่าง​เช่น โดย​ใช้​เทคนิค​ที่​ล้ำ​หน้า​ใน​การ​แก้ไข​ผล​กระทบ​ของ​บรรยากาศ กล้อง​โทรทรรศน์​รุ่น​ใหม่​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​นัก​ดาราศาสตร์​มอง​เห็น​ภาพ​ที่​ละเอียด​กว่า​ภาพ​ของ​กล้อง​ฮับเบิล. ตัว​อย่าง​หนึ่ง​คือ​หอ​ดู​ดาว ดับเบิลยู. เอ็ม. เค็ก บน​เกาะ​ฮาวาย ซึ่ง​มี​กล้อง​โทรทรรศน์​เค็ก 1 อัน​เป็น​หนึ่ง​ใน​กล้อง​โทรทรรศน์​เชิง​แสง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก. ด้วย​กล้อง​ตัว​นี้ นัก​ดาราศาสตร์​ปีเตอร์ ทัตฮิลล์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ค้น​พบ​กลุ่ม​ฝุ่น​ซึ่ง​ถูก​พ่น​ออก​มา​จาก​ระบบ​ดาว​คู่​ใน​กลุ่ม​ดาว​คน​ยิง​ธนู. กลุ่ม​ดาว​นี้​อยู่​ใน​ทิศ​ทาง​ของ​ใจ​กลาง​กาแล็กซี​ทาง​ช้าง​เผือก​เมื่อ​มอง​จาก​โลก.

ยิ่ง​นัก​ดาราศาสตร์​มอง​ไกล​ออก​ไป​ใน​อวกาศ​มาก​เท่า​ไร พวก​เขา​ก็​ยิ่ง​ค้น​พบ​ดวง​ดาว​และ​กาแล็กซี​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น. มี​ดาว​ทั้ง​หมด​เท่า​ไร​กัน​แน่? เรา​คง​ได้​แต่​เดา. แต่​พระ​ยะโฮวา พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา​ไม่​ต้อง​เดา. บทเพลง​สรรเสริญ 147:4 กล่าว​ว่า “พระองค์​ทรง​นับ​ดวง​ดาว; และ​ทรง​ตั้ง​ชื่อ​ให้​ดวง​ดาว​ทั้ง​ปวง.”

ผู้​พยากรณ์​ยะซายาห์​กล่าว​ใน​ทำนอง​เดียว​กัน. ยิ่ง​กว่า​นั้น ท่าน​ยัง​กล่าว​ด้วย​ความ​ถูก​ต้อง​ทาง​วิทยาศาสตร์​ที่​น่า​ทึ่ง​ว่า​เอกภพ​เกิด​จาก​พลัง​งาน​ที่​ไม่​มี​ขีด​จำกัด​ของ​พระเจ้า. ยะซายาห์​เขียน​ว่า “จง​เงย​หน้า​มอง​ขึ้น​ไป​ดู​ท้องฟ้า, และ​พิจารณา​ดู​ว่า​ใคร​ได้​สร้าง​สิ่ง​เหล่า​นี้? พระองค์​ผู้​ทรง​นำ​ดาว​ออก​มา​เป็น​หมวด​หมู่, และ​ทรง​เรียก​มัน​ออก​มา​ตาม​ชื่อ; ด้วย​อานุภาพ​อัน​ใหญ่​ยิ่ง, และ​ฤทธิ์​เดช​อัน​แรง​กล้า​ของ​พระองค์​ไม่​มี​สัก​ดวง​เดียว​ที่​ขาด​ไป.”—ยะซายา 40:26

ยะซายาห์​ซึ่ง​มี​ชีวิต​อยู่​ประมาณ 2,700 ปี​ที่​แล้ว​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เอกภพ​เกิด​จาก​พลัง​งาน​อัน​ไม่​มี​ขีด​จำกัด​ของ​พระเจ้า? ท่าน​คง​ไม่​ได้​คิด​เอา​เอง​แน่ ๆ! แต่​ท่าน​ได้​เขียน​ตาม​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดล​ใจ​ท่าน​ให้​เขียน. (2 ติโมเธียว 3:16) ด้วย​เหตุ​นี้ ท่าน​และ​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​อื่น ๆ ทำ​สิ่ง​ที่​ไม่​มี​ตำรา​วิทยาศาสตร์​เล่ม​ใด​หรือ​กล้อง​โทรทรรศน์​กล้อง​ใด​จะ​ทำ​ได้. พวก​เขา​บอก​ให้​ทราบ​ว่า​ใคร​เป็น​ผู้​ทำ​ให้​ดวง​ดาว​มี​รัศมี​ที่​งดงาม​เช่น​นั้น.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 16]

ทำไม​ดาว​ฤกษ์​จึง​กะพริบ?

ดาว​ฤกษ์​กะพริบ​หรือ​ส่อง​แสง​ระยิบระยับ​เพราะ​ความ​ปั่นป่วน​ใน​บรรยากาศ​โลก. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ขอ​นึก​ภาพ​ไฟ​ดวง​เล็ก ๆ ที่​ก้น​สระ​ว่าย​น้ำ. จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ถ้า​น้ำ​กระเพื่อม? ใช่​แล้ว แสง​ไฟ​นั้น​จะ​ขยับ​เล็ก​น้อย​เหมือน​ดาว​ฤกษ์. ส่วน​ไฟ​ดวง​ใหญ่ ๆ จะ​ได้​รับ​การ​รบกวน​น้อย​กว่า. ดาว​เคราะห์​เป็น​เหมือน​ไฟ​ดวง​ใหญ่​เหล่า​นั้น ไม่​ใช่​เพราะ​ดาว​เคราะห์​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า แต่​เพราะ​มัน​อยู่​ใกล้​โลก​มาก​กว่า​และ​จึง​ดู​เหมือน​ดวง​ใหญ่​กว่า.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 17]

สี​จริง​หรือ​เปล่า?

คุณ​คง​เคย​เห็น​ภาพ​กาแล็กซี เนบิวลา และ​ดาว​ฤกษ์​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​และ​มี​สี​สัน​สวย​งาม​ซึ่ง​ถ่าย​โดย​กล้อง​โทรทรรศน์​อวกาศ​ฮับเบิล (เอชเอสที) มา​แล้ว. แต่​สี​ที่​เห็น​เป็น​สี​จริง​ไหม? ข้อ​เท็จ​จริง​คือ สี​เหล่า​นั้น​เกิด​จาก​การ​ประกอบ​กัน​ที​หลัง ซึ่ง​เป็น​ทั้ง​งาน​ศิลปะ​และ​วิทยาศาสตร์. ภาพ​ที่​ได้​รับ​จาก​กล้อง​ฮับเบิล​เป็น​ภาพ​ขาว​ดำ แต่​ผ่าน​ฟิลเตอร์​สี. นัก​ดาราศาสตร์​และ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ภาพ​จะ​ใช้​เทคโนโลยี​และ​ซอฟต์แวร์​สมัย​ใหม่​สร้าง​ภาพ​ขั้น​สุด​ท้าย โดย​บาง​ครั้ง​จะ​ทำ​ให้​ใกล้​เคียง​มาก​ที่​สุด​กับ​สี​ที่​พวก​เขา​คาด​ว่า​เป็น​สี​ของ​เทห์​วัตถุ​ใน​ธรรมชาติ. * แต่​บาง​ครั้ง นัก​ดาราศาสตร์​จงใจ​สร้าง​ภาพ​สี​ที่​ไม่​เป็น​ธรรมชาติ​เพื่อ​จะ​เห็น​องค์​ประกอบ​ต่าง ๆ อย่าง​ชัดเจน​เพื่อ​การ​วิเคราะห์​ทาง​วิทยาศาสตร์.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 21 เมื่อ​เรา​ใช้​กล้อง​โทรทรรศน์​ดู​วัตถุ​จาง ๆ ใน​ท้องฟ้า​ตอน​กลางคืน เซลล์​รูป​กรวย​ของ​เรา​จะ​ส่ง​ต่อ​หน้า​ที่​การ​ทำ​งาน​ให้​แก่​เซลล์​รูป​แท่ง ซึ่ง​ไม่​สามารถ​มอง​เห็น​สี​ได้.

[ภาพ]

ภาพ​ขาว​ดำ

แดง

เขียว

น้ำเงิน

ภาพ​ที่​ได้​หลัง​จาก​รวม​ทั้ง​สาม​สี

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

J. Hester and P. Scowen (AZ State Univ.) NASA

[ภาพ​หน้า 16]

ดาว​ฤกษ์​วี 838 ยูนิคอร์น

[ภาพ​หน้า 16]

กาแล็กซี​ที่​เกิด​ปฏิกิริยา​ต่อ​กัน Arp 273

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

NASA ESA and the Hubble Heritage (STScI/AURA) -ESA/Hubble Collaboration

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

V838: NASA ESA and H. Bond (STScI); Arp 273: NASA ESA and the Hubble Heritage Team (STScI/AURA)