ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมืองกระดาษที่น่าทึ่ง

เมืองกระดาษที่น่าทึ่ง

เมือง​กระดาษ​ที่​น่า​ทึ่ง

‘เมือง​ที่​สร้าง​จาก​กระดาษ​หรือ?’ คุณ​อาจ​สงสัย. ใช่​แล้ว แต่​ไม่​ใช่​เมือง​จริง ๆ เป็น​แค่​เมือง​จำลอง. เมือง​นั้น​คือ​กรุง​ปราก นคร​หลวง​ของ​สาธารณรัฐ​เช็ก และ​แบบ​จำลอง​นี้​ถูก​เก็บ​รักษา​ไว้​ที่​พิพิธภัณฑสถาน​กรุง​ปราก. ผู้​สร้าง​แบบ​จำลอง​นี้​คือ​อันโตนีน ลังไวล์ ซึ่ง​ใช้​เวลา​สร้าง​ถึง 11 ปี ตั้ง​แต่​ปี 1826 ถึง 1837 ซึ่ง​เป็น​ปี​ที่​เขา​เสีย​ชีวิต. อะไร​กระตุ้น​ลังไวล์​ให้​ทำ​งาน​ที่​ยาก​ยิ่ง​นี้?

ลังไวล์​เกิด​เมื่อ​ปี 1791 ที่​เมือง​ปอสโตโลปรตี (Postoloprty) ใน​ประเทศ​ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​สาธารณรัฐ​เช็ก. หลัง​จาก​ศึกษา​กลวิธี​พิมพ์​หิน​ที่​สถาบัน​ศิลปะ​ใน​กรุง​เวียนนา ประเทศ​ออสเตรีย เขา​เปิด​ร้าน​พิมพ์​หิน​แห่ง​แรก​ของ​ปราก. แต่​เขา​ไม่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ทาง​ธุรกิจ เขา​จึง​ต้อง​ปิด​กิจการ. ใน​ปี 1826 ขณะ​เข้า​ชม​งาน​นิทรรศการ​ใน​กรุง​ปราก เขา​เห็น​แบบ​จำลอง​ปูน​ปลาสเตอร์​ของ​นคร​ปารีส ประเทศ​ฝรั่งเศส. ลังไวล์​ได้​รับ​แรง​บันดาล​ใจ​จาก​แบบ​จำลอง​นั้น และ​ตัดสิน​ใจ​สร้าง​แบบ​จำลอง​กรุง​ปราก โดย​ใช้​กระดาษ​แข็ง​และ​ไม้​บาง​ส่วน.

แต่​ก่อน​อื่น ลังไวล์​ใช้​เวลา​หลาย​ปี​ใน​การ​บันทึก​ราย​ละเอียด​ของ​กรุง​ปราก​อย่าง​ถี่ถ้วน. เขา​เดิน​สำรวจ​ถนน​ทุก​สาย ร่าง​ภาพ​และ​จด​บันทึก​ตำแหน่ง​ที่​ตั้ง​ที่​แน่นอน​ของ​อาคาร​ต่าง ๆ ม้า​นั่ง​ใน​สวน​สาธารณะ เพิง รูป​ปั้น และ​ต้น​ไม้. เขา​จด​แม้​กระทั่ง​ถัง​ไม้​ซึ่ง​วาง​อยู่​บน​พื้น กระจก​หน้าต่าง​ที่​แตก บันได​ที่​พาด​อยู่​กับ​ผนัง และ​กอง​ไม้! แล้ว​เขา​ก็​เริ่ม​สร้าง​แบบ​จำลอง โดย​ทำ​ใน​อัตรา​ส่วน 1:480. เขา​หา​ราย​ได้​เสริม​โดย​ทำ​แบบ​จำลอง​บ้าน​ของ​ชน​ชั้น​สูง.

ใน​ปี 1837 ลังไวล์​ป่วย​เป็น​วัณโรค​และ​เสีย​ชีวิต​ใน​เดือน​มิถุนายน​ปี​เดียว​กัน. เขา​ละ​ภรรยา​และ​ลูก​สาว​ห้า​คน​ไว้. สาม​ปี​ต่อ​มา แบบ​จำลอง​ของ​เขา​ได้​ไป​อยู่​ที่​พิพิธภัณฑสถาน​รัก​ชาติ ซึ่ง​ปัจจุบัน​เรียก​ว่า​พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​ชาติ. แต่​โดย​วิธี​ใด? ใน​ปี 1840 ภรรยา​ม่าย​ของ​ลังไวล์​เสนอ​ขาย​แบบ​จำลอง​ให้​แก่​จักรพรรดิ​เฟอร์ดินันด์​ที่ 1. พระองค์​ได้​ซื้อ​ไป​บริจาค​ให้​พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​หนึ่ง ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​ชาติ​ของ​สาธารณรัฐ​เช็ก. มี​การ​ขน​ส่ง​แบบ​จำลอง​ใน​ลัง​ไม้​เก้า​ลัง. ต่อ​มา โฆษก​ของ​พิพิธภัณฑสถาน​กรุง​ปราก​ซึ่ง​เป็น​ที่​เก็บ​รักษา​แบบ​จำลอง​นี้​ใน​ปัจจุบัน​ได้​กล่าว​ว่า “แบบ​จำลอง​ของ​ลังไวล์​ถูก​จัด​แสดง​เป็น​ครั้ง​คราว​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19. ใน​ปี 1891 แบบ​จำลอง​นี้​ถูก​จัด​แสดง​ใน​งาน​ฉลอง​ของ​แคว้น. เพื่อ​เฉลิม​ฉลอง​โอกาส​นั้น มี​การ​ใช้​เงิน​จำนวน​มาก​ใน​การ​ซ่อมแซม​แบบ​จำลอง​นี้ . . . ตั้ง​แต่​ปี 1905 แบบ​จำลอง​นี้​ถูก​จัด​แสดง​อย่าง​ถาวร​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​ชาติ.”

ดึงดูด​นัก​ประวัติศาสตร์

ผู้​คน​ชื่น​ชอบ​แบบ​จำลอง​เมือง​กระดาษ​ของ​ลังไวล์​อย่าง​มาก. มัน​กว้าง 3.24 เมตร ยาว 5.76 เมตร และ​ถูก​เก็บ​รักษา​ใน​ตู้​กระจก​ซึ่ง​มี​ไฟ​ดวง​เล็ก ๆ ส่อง​อยู่​ใน​ตู้. “เมือง” นั้น​ดู​สม​จริง​มาก​จน​คุณ​ต้อง​เตือน​ตัว​เอง​เรื่อย ๆ ว่า​คุณ​กำลัง​ดู​แบบ​จำลอง​อยู่! ที่​จริง ลังไวล์​สร้าง​อาคาร​จำลอง​ขนาด​จิ๋ว​มาก​กว่า​สอง​พัน​หลัง​โดย​มี​ราย​ละเอียด​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ทุก​หลัง.

ตัว​อย่าง​เช่น ลังไวล์​เขียน​เลข​ที่​บ้าน​ไว้​ใน​อาคาร​ต่าง ๆ. เขา​ทำ​โคม​ไฟ​ถนน ท่อ​ระบาย​น้ำ และ​ก้อน​หิน​ปู​ถนน. และ​เขา​ทำ​แบบ​จำลอง​โบสถ์​ซึ่ง​เหมือน​กับ​ของ​จริง​มาก​พร้อม​ทั้ง​หน้าต่าง​กระจก​สี และ​มี​แม้​กระทั่ง​หน้าต่าง​ที่​แตก​หรือ​หลุด​หาย​ไป. ถ้า​ผนัง​ของ​บ้าน​หลัง​ใด​ที่​ปูน​ซึ่ง​ฉาบ​ไว้​หลุด​ล่อน​ออก​มา แบบ​จำลอง​ของ​เขา​จะ​เผย​ให้​เห็น​ก้อน​อิฐ​ที่​อยู่​ข้าง​ใน. เขา​ทำ​แม่น้ำ​วัลตาวา​อีก​ด้วย ซึ่ง​เป็น​แม่น้ำ​ที่​ไหล​ผ่าน​กรุง​ปราก.

ทุก​วัน​นี้ แบบ​จำลอง​เมือง​กระดาษ​ของ​ลังไวล์​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​สิ่ง​ที่​น่า​สนใจ​ใน​พิพิธภัณฑสถาน แต่​ยัง​ดึงดูด​ผู้​ที่​รัก​งาน​ศิลปะ​และ​นัก​ประวัติศาสตร์ ซึ่ง​ต้องการ​ดู​ความ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​กรุง​ปราก​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​ไป. แน่นอน บาง​ส่วน​ของ​เมือง​ดู​เปลี่ยน​ไป​มาก​เพราะ​มี​การ​สร้าง​อาคาร​ใหม่​หรือ​ปรับ​ปรุง​อาคาร​เก่า โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ย่าน​คน​ยิว​และ​ย่าน​เมือง​เก่า​ของ​ปราก. เมื่อ​มี​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่ ตอน​นี้​มี​การ​บันทึก​แบบ​จำลอง​ของ​ลังไวล์​ใน​รูป​แบบ​ดิจิตอล ซึ่ง​ทำ​ให้​นัก​ท่อง​เที่ยว​สามารถ​ชม​กรุง​ปราก​สมัย​ปี 1837 ด้วย​คอมพิวเตอร์​ได้.

ใน​เดือน​เมษายน 1837 ลังไวล์​ที่​กำลัง​ป่วย​ขอ​ให้​นำ​แบบ​จำลอง​ของ​เขา​ไป​แสดง​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​รัก​ชาติ แต่​ทาง​พิพิธภัณฑสถาน​ไม่​สนใจ. เขา​คง​ผิด​หวัง​มาก​ที​เดียว! แต่​ลอง​นึก​ภาพ​ดู​สิ ถ้า​ตอน​นี้​เขา​สามารถ​มา​เยี่ยม​ชม​พิพิธภัณฑสถาน​หรือ​ได้ “เดิน​ดู” กรุง​ปราก​สมัย​ของ​เขา​ผ่าน​ทาง​หน้า​จอ​คอมพิวเตอร์ เขา​คง​รู้สึก​ว่า​งาน​อัน​แสน​เหนื่อย​ยาก​ของ​เขา​นั้น​ไม่​ไร้​ค่า​เลย.

[ภาพ​หน้า 10]

อันโตนีน ลังไวล์

[ภาพ​หน้า 10]

แบบ​จำลอง​กรุง​ปราก​ของ​ลังไวล์

[ภาพ​หน้า 10, 11]

ภาพ​ระยะ​ใกล้​ของ​แบบ​จำลอง​เมือง​กระดาษ​ของ​ลังไวล์

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 10]

Page 10 Langweil: S laskavým svolením Národního muzea v Praze; pages 10 and 11 model photos: S laskavým svolením Muzea hlavního mesta Prahy