ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ป้อมปราการเทเรซิน—ไม่อาจป้องกันความทุกข์ได้

ป้อมปราการเทเรซิน—ไม่อาจป้องกันความทุกข์ได้

ป้อม​ปราการ​เทเรซิน—ไม่​อาจ​ป้องกัน​ความ​ทุกข์​ได้

เมือง​เทเรเซียนชตัดท์ (เทเรซิน) อยู่​กึ่งกลาง​ระหว่าง​เมือง​เดรสเดิน​กับ​กรุง​ปราก​ใน​ยุโรป​กลาง. เมือง​นี้​มี​ป้อม​อัน​กว้าง​ใหญ่​ซึ่ง​มี​ปราการ​มหึมา. ป้อม​นี้​สร้าง​ขึ้น​เพื่อ​หยุด​ยั้ง​การ​โจมตี​ของ​กองทัพ​ต่าง​ชาติ​และ​ปก​ป้อง​ชาว​เมือง​ที่​อยู่​ใน​บริเวณ​โดย​รอบ.

โจเซฟ​ที่ 2 กษัตริย์​แห่ง​เยอรมนี​ผู้​ซึ่ง​เป็น​จักรพรรดิ​โรมัน​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ด้วย ได้​สั่ง​ให้​สร้าง​ป้อม​ปราการ​นี้​ขึ้น และ​ได้​มา​ดู​การ​สำรวจ​สถาน​ที่​ก่อ​สร้าง​และ​การ​วาง​หิน​ฐาน​ราก​ตอน​ปลาย​ปี 1780. มี​การ​สร้าง​ป้อม​ปราการ​นี้​เพื่อ​ให้​เกียรติ​แก่​มารดา​ของ​ท่าน คือ​จักรพรรดินี​มาเรีย​เทเรซา และ​จึง​มี​การ​ตั้ง​ชื่อ​ป้อม​แห่ง​นี้​ใน​ภาษา​เช็ก​ว่า​เทเรซิน หมาย​ถึง “เมือง​ของ​เทเรซา.” * กล่าว​กัน​ว่า​บาง​ครั้ง​มี​คน​ทำ​งาน​ก่อ​สร้าง​ถึง 14,000 คน. งาน​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เสร็จ​ภาย​ใน​เวลา​สี่​ปี.

เมื่อ​สร้าง​เสร็จ​ใน​ปี 1784 เทเรซิน​เป็น​ป้อม​ปราการ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ดินแดน​ของ​จักรวรรดิ​ฮัพสบูร์ก. มี​การ​ใช้​เทคนิค​ทาง​วิศวกรรม​ที่​ก้าว​หน้า​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​การ​สร้าง​ป้อม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ก่อน​จะ​สร้าง​ป้อม​นี้​เสร็จ ยุทธวิธี​ทาง​ทหาร​ได้​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง.

เมื่อ​กอง​กำลัง​ศัตรู​รุกราน​ประเทศ​อื่น พวก​เขา​ไม่​ล้อม​ปราสาท​อีก​ต่อ​ไป. พวก​เขา​จะ​ล้อม​หมู่​บ้าน​ที่​อยู่​รอบ ๆ และ​ปล้น​หมู่​บ้าน​เหล่า​นั้น. ผล​ก็​คือ พอ​ถึง​ปี 1888 เทเรซิน​จึง​ไม่​ได้​เป็น​ป้อม​ทาง​ทหาร​อีก​ต่อ​ไป. ปราการ​ชั้น​นอก​ที่​กว้าง​ใหญ่​ถูก​ดัด​แปลง​เป็น​สวน​สาธารณะ​ที่​สวย​งาม​ซึ่ง​มี​ทาง​เดิน​และ​ม้า​นั่ง.

ป้อม​และ​เมือง

ป้อม​เทเรซิน​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​ให้​เป็น​เมือง​ที่​มี​ปราการ​แข็งแรง. ภาย​ใน​ปราการ​อัน​มหึมา มี​ที่​พัก​ของ​ทหาร ครอบครัว​ของ​พวก​เขา และ​พลเรือน.

ถัด​จาก​ป้อม​ใหญ่ มี​การ​สร้าง​ป้อม​ที่​เล็ก​กว่า​อีก​ป้อม​หนึ่ง​เพื่อ​เป็น​เรือน​จำ​ทหาร. ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19 ปรปักษ์​ทาง​การ​เมือง​ของ​จักรวรรดิ​ฮัพสบูร์ก​ถูก​คุม​ขัง​ไว้​ที่​นี่. ประมาณ​หนึ่ง​ร้อย​ปี​ต่อ​มา ผู้​ถูก​คุม​ขัง​รวม​ไป​ถึง​เหล่า​ชาย​หนุ่ม​ที่​พัวพัน​กับ​การ​ลอบ​สังหาร​อาร์ชดุ๊ก​ฟรานซิส เฟอร์ดินันด์​ใน​กรุง​ซาราเยโว. พวก​เขา​รอด​พ้น​จาก​โทษ​ประหาร​ชีวิต​เพราะ​อายุ​ไม่​ถึง 20 ปี. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น พวก​เขา​ส่วน​ใหญ่​เสีย​ชีวิต​ใน​เรือน​จำ. พวก​เขา​ถูก​ทรมาน และ​บาง​คน​เสีย​สติ​ไป. กาฟริโล ปรินซิพ ผู้​ลง​มือ​สังหาร​อาร์ชดุ๊ก​ก็​เสีย​ชีวิต​ใน​เรือน​จำ​แห่ง​นี้​ด้วย​ขณะ​ที่​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 ยัง​ดำเนิน​อยู่.

ป้อม​เล็ก​มี​ชื่อเสียง​ว่า​เป็น​เรือน​จำ​ที่​โหด​ร้าย​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​จักรวรรดิ​ออสเตรีย-ฮังการี. บ่อย​ครั้ง ผู้​ถูก​คุม​ขัง​จะ​ถูก​ล่าม​โซ่​ไว้​อย่าง​แน่น​หนา​ใน​อุโมงค์​ใต้​ดิน​ที่​ทั้ง​เย็น​และ​ชื้น. ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ป้อม​เล็ก​นี้​ถูก​ใช้​เพื่อ​จุด​ประสงค์​ที่​โหด​ร้าย​กว่า​นั้น​อีก.

“เมือง​ตากอากาศ​เทเรซิน”—ที่​แท้​แล้ว​คือ​อะไร?

หลัง​จาก​พวก​นาซี​รุกราน​และ​ยึด​ครอง​ดินแดน​ที่​ปัจจุบัน​คือ​สาธารณรัฐ​เช็ก พวก​เขา​เริ่ม​นำ​พวก​ยิว​มา​ไว้​ที่​ป้อม​ใหญ่​ตั้ง​แต่​ปี 1941. พวก​นาซี​เปลี่ยน​เมือง​เทเรเซียนชตัดท์​ให้​เป็น​เมือง​คน​ยิว​ซึ่ง​คน​ทั่ว​ไป​เข้า​ไม่​ได้. พวก​เขา​อ้าง​ว่า​จำเป็น​ต้อง​แยก​คน​ยิว​ออก​ไป​อยู่​ต่าง​หาก​เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​ชาว​ยิว​กับ​คน​ชาติ​อื่น. แม้​ว่า​มี​การ​ประกาศ​ให้​สาธารณชน​เชื่อ​ว่า​เทเรเซียนชตัดท์​เป็น​เมือง​ตากอากาศ​สำหรับ​ให้​ชาว​ยิว​ได้​รับ​การ​ดู​แล​ทาง​สุขภาพ แต่​พวก​นาซี​วาง​แผน​ลับ​ที่​จะ​กวาด​ล้าง​ชาว​ยิว​ให้​หมด​สิ้น.

ใน​ยุโรป​ตะวัน​ออก พวก​นาซี​ได้​ก่อ​ตั้ง​ค่าย​มรณะ​ไว้​หลาย​แห่ง​ซึ่ง​พวก​เขา​ค่อย ๆ ขน​ส่ง​พวก​ยิว​จาก​เทเรเซียนชตัดท์​และ​สถาน​ที่​อื่น​คล้าย ๆ กัน​ไป​ที่​นั่น​เพื่อ​สังหาร. * แม้​ว่า​โลก​ภาย​นอก​จะ​รู้​กัน​ทั่ว​ว่า​มี​ค่าย​เหล่า​นั้น​อยู่​ตั้ง​แต่​กลาง​ทศวรรษ 1930 แต่​โฆษณา​ชวน​เชื่อ​ของ​พวก​นาซี​พยายาม​บอก​ว่า​สถาน​ที่​เหล่า​นั้น​เป็น​เพียง​ทัณฑสถาน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​ข่าว​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ เกี่ยว​กับ​สภาพ​ภาย​ใน​ค่าย​เหล่า​นั้น. ผล​ก็​คือ เจ้าหน้าที่​ของ​นาซี​ถูก​กดดัน​ให้​แก้​ข้อ​กล่าวหา. พวก​นาซี​จึง​วาง​แผน​จะ​ตอบ​ข้อ​กล่าวหา​ให้​สาธารณชน​ใน​ประเทศ​อื่น ๆ ได้​รับ​รู้. พวก​เขา​ทำ​อย่าง​ไร?

ใน​ปี 1944 และ 1945 ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ตัว​แทน​ของ​สภา​กาชาด​สากล​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ไป​ตรวจ​ดู​สภาพ​ภาย​ใน​ป้อม​แห่ง​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพื่อ​จะ​สร้าง​ภาพ​ว่า​ป้อม​นี้​เป็น​เพียง​เมือง​ตากอากาศ พวก​นาซี​จึง​ตกแต่ง​เมือง​นี้​ให้​สวย​งาม.

มี​การ​ติด​ป้าย​ชื่อ​ถนน​ที่​ฟัง​ดู​ดี​แทน​ที่​หมาย​เลข​บล็อก. มี​การ​สร้าง​ธนาคาร โรง​เรียน​อนุบาล และ​ร้าน​ค้า​หลอก ๆ. มี​กระทั่ง​ร้าน​กาแฟ​อยู่​ตรง​กลาง​เมือง. พวก​เขา​ซ่อมแซม​ด้าน​หน้า​ของ​บ้าน​เรือน ปลูก​ต้น​ไม้​ใน​สวน​สาธารณะ​กลาง​เมือง และ​สร้าง​โรง​มหรสพ​เพื่อ​บรรเลง​เพลง​ดุริยางค์.

หลัง​จาก​นั้น มี​การ​เชิญ​ตัว​แทน​สภา​กาชาด​ให้​เยี่ยม​ชม​เมือง. พวก​เขา​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​พูด​คุย​กับ​ชาว​ยิว​บาง​คน​ที่​อ้าง​ว่า​เป็น​ตัว​แทน​ของ “หน่วย​ปกครอง​ตน​เอง.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ที่​แท้​แล้ว​คน​เหล่า​นี้​เป็น​คน​ยิว​ที่​ถูก​เลือก​มา​อย่าง​ดี​ซึ่ง​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​ตาม​ที่​พวก​นาซี​บอก​ให้​พูด​ทุก​ประการ. ใน​การ​ตรวจ​เยี่ยม​สอง​ครั้ง พวก​นาซี​สามารถ​หลอก​ตัว​แทน​ของ​สภา​กาชาด​ได้​สำเร็จ. ใน​รายงาน​ของ​ตัว​แทน​เหล่า​นี้ พวก​เขา​พรรณนา​เมือง​เทเรเซียนชตัดท์​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​เป็น​เมือง​ที่​คล้าย​กับ​เมือง​อื่น ๆ ของ​ชาว​ยิว​ซึ่ง​ผู้​อาศัย​ที่​นี่​ได้​รับ​การ​ดู​แล​อย่าง​ดี. เมื่อ​ตัว​แทน​สภา​กาชาด​จาก​ไป​แล้ว ชาว​ยิว​ที่​อยู่​ใน​กำแพง​เมือง​ก็​ยัง​คงทน​ทุกข์ อดอยาก และ​เสีย​ชีวิต​ต่อ​ไป. มี​ไม่​กี่​คน​อยู่​รอด​จน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 สิ้น​สุด​ลง.

ป้อม​เล็ก

พวก​นาซี​ใช้​ป้อม​เล็ก​เป็น​เรือน​จำ​ด้วย. สภาพ​ใน​ป้อม​เล็ก​เลว​ร้าย​พอ ๆ กับ​ใน​ค่าย​กัก​กัน. สำหรับ​หลาย​หมื่น​คน​ที่​เคย​ถูก​คุม​ตัว​ที่​นี่ ป้อม​เล็ก​เป็น​เพียง​จุด​พัก​ก่อน​จะ​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ตาม​ค่าย​กัก​กัน​ขนาด​ใหญ่​ใน​เขต​แดน​จักรวรรดิ​ไรช์​เยอรมัน.

พยาน​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​น้อย 20 คน​จาก​ปราก พิลเซน และ​ส่วน​อื่น ๆ ของ​ประเทศ​ถูก​คุม​ตัว​ใน​ป้อม​เล็ก. พวก​เขา​ทำ​ผิด​อะไร? พวก​เขา​รักษา​ความ​เป็น​กลาง​ทาง​การ​เมือง​และ​ไม่​ยอม​สนับสนุน​นาซี. ทั้ง ๆ ที่​ถูก​ห้าม​งาน​ประกาศ แต่​พยาน​ฯ ก็​ยัง​คง​แบ่ง​ปัน​ข่าว​ดี​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​แก่​คน​อื่น. พวก​เขา​ถูก​ข่มเหง​เพราะ​ความ​เชื่อ​ของ​ตน และ​บาง​คน​ถูก​ประหาร​ชีวิต​หรือ​ถูก​ทรมาน​จน​ตาย.

สิ่ง​ที่​เรา​เรียน​รู้

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “อย่า​วางใจ​ใน​พวก​เจ้านาย, หรือ​ใน​เผ่า​พันธุ์​มนุษย์​ที่​ช่วย​ให้​รอด​ไม่​ได้. เมื่อ​ลม​หายใจ​เขา​ขาด, เขา​ก็​กลับ​คืน​เป็น​ดิน​อีก; และ​ใน​วัน​นั้น​ที​เดียว​ความ​คิด​ของ​เขา​ก็​ศูนย์​หาย​ไป.” (บทเพลง​สรรเสริญ 146:3, 4) ป้อม​เทเรซิน​แสดง​ถึง​ความ​จริง​เรื่อง​นี้​ได้​เป็น​อย่าง​ดี.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 จักรพรรดินี​องค์​นี้​ยัง​เป็น​มารดา​ของ​พระ​นาง​มารีอังตัวเนต​ด้วย ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​ได้​เป็น​ราชินี​แห่ง​ฝรั่งเศส.

^ วรรค 12 สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 สิงหาคม 1995 หน้า 3-15 และ 8 เมษายน 1989 หน้า 3-20.

[กรอบ​หน้า 20]

พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ป้อม​เล็ก

ตอน​แรก พยาน​พระ​ยะโฮวา​ส่วน​ใหญ่​ที่​ถูก​คุม​ขัง​ใน​เทเรเซียนชตัดท์​จะ​ถูก​สอบสวน​ที่​สำนักงาน​เกสตาโป​ที่​กรุง​ปราก. หลัง​จาก​มา​อยู่​ใน​เทเรเซียนชตัดท์​แล้ว บ่อย​ครั้ง​พวก​เขา​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ยัง​ค่าย​กัก​กัน​ใน​เยอรมนี. พวก​เขา​อด​ทน​กับ​สภาพ​อัน​เลว​ร้าย​ใน​เรือน​จำ​และ​ความ​โดด​เดี่ยว​ได้​อย่าง​ไร?

หญิง​พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ถูก​คุม​ขัง​ที่​เทเรเซียนชตัดท์​เล่า​ว่า “เนื่อง​จาก​ดิฉัน​ไม่​อยาก​ลืม​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล ดิฉัน​จึง​ท่อง​คำ​สอน​เหล่า​นั้น​ซ้ำ ๆ. ใน​เรือน​จำ​ทุก​แห่ง​ที่​ดิฉัน​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป ดิฉัน​จะ​ตาม​หา​พยาน​ฯ คน​อื่น ๆ และ​ถ้า​รู้​ว่า​มี​พยาน​ฯ ดิฉัน​จะ​พยายาม​ติด​ต่อ​พวก​เขา. ใน​เวลา​เดียว​กัน ดิฉัน​พยายาม​ประกาศ​กับ​คน​อื่น​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้.”

วิธี​ของ​เธอ​ได้​ผล. เธอ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระเจ้า​ตลอด​ช่วง​เวลา​ที่​ถูก​คุม​ตัว รวม​ทั้ง​อีก​หลาย​ปี​หลัง​จาก​นั้น​ด้วย.

[ภาพ​หน้า 18]

แสตมป์​รูป​เมือง​เทเรซิน​อัน​สวย​งาม​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2

[ภาพ​หน้า 19]

ผู้​ถูก​คุม​ขัง​ที่​เพิ่ง​เดิน​ทาง​มา​ถึง​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ยัง​โรง​นอน. ป้าย​ใน​ภาษา​เยอรมัน​อ่าน​ว่า “อาร์ไบท์ มัคท์ ไฟร” (งาน​ทำ​ให้​เป็น​อิสระ)

[ภาพ​หน้า 19]

เตียง​ไม้​กระดาน​ที่​โรง​นอน​ของ​ผู้​หญิง​ใน​ป้อม​นี้

[ภาพ​หน้า 20]

ทาง​เข้า​หลัก​ของ​ป้อม​เล็ก

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 19]

Both photos: With courtesy of the Memorial Terezín