วิธีช่วยผู้ที่เป็นโรควิตกกังวล
วิธีช่วยผู้ที่เป็นโรควิตกกังวล
“หลายครั้งดิฉันใจสั่น เหงื่อแตก และหอบ. ดิฉันรู้สึกกลัว กังวล และสับสนมาก.”—อีซาเบลลา วัยสี่สิบกว่าปีซึ่งเป็นโรคแพนิก
ความวิตกกังวลได้รับการพรรณนาว่า “ร้อนใจหรือมีใจพะวงอยู่.” ตัวอย่างเช่น คุณเคยรู้สึกหวาดหวั่นไหมเมื่อประจัญหน้ากับสุนัขที่ดุร้าย? เป็นอย่างไรถ้าสุนัขเดินจากไป? ความหวาดหวั่นและความวิตกกังวลก็หายไปด้วยไม่ใช่หรือ? แต่อาการเช่นไรจึงจะกล่าวได้ว่าเป็นโรควิตกกังวล?
เมื่อความวิตกกังวลเรื้อรัง หรือเมื่อยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่ทั้ง ๆ ที่สาเหตุผ่านไปแล้ว ความวิตกกังวลอาจกลายเป็นโรคได้. ตามรายงานของสถาบันสุขภาพจิตแห่งสหรัฐ “ในแต่ละปีมีชาวอเมริกันอายุ 18 ปีขึ้นไปราว ๆ 40 ล้านคนเป็นโรควิตกกังวล.” ขอพิจารณาตัวอย่างของอีซาเบลลาที่กล่าวไว้ข้างต้น. ความวิตกกังวลซึ่งไม่บรรเทาลงเลยเหมือนที่เธอประสบ อาจมีผลเสียร้ายแรงต่อผู้ที่รู้สึกเช่นนั้น.
ไม่เพียงเท่านั้น สมาชิกในครอบครัวอาจได้รับผลกระทบด้วย. แต่มีข่าวดี. เอกสารของสถาบันสุขภาพจิตแห่งสหรัฐกล่าวว่า “ปัจจุบันมีการบำบัดที่ได้ผลสำหรับโรควิตกกังวล และมีการค้นคว้าวิธีรักษาใหม่ ๆ ซึ่งอาจช่วยผู้เป็นโรควิตกกังวลส่วนใหญ่ให้ดำเนินชีวิตอย่างที่ประสบความสำเร็จได้.”
ครอบครัวและเพื่อนอาจช่วยผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลได้ด้วย. โดยวิธีใด?
วิธีช่วย
เกื้อหนุน: โมนิกาซึ่งเป็นโรควิตกกังวลทั่วไปและมีอาการเครียดหลังเหตุสะเทือนขวัญอธิบายความลำบากใจที่เธอประสบว่า “คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจปัญหาทางอารมณ์ของดิฉัน.”
ผลก็คือ ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมักกลัวว่าจะถูกเข้าใจผิดจนพยายามปิดซ่อนปัญหาไม่ให้คนอื่นรู้. นี่อาจนำไปสู่ความรู้สึกผิดซึ่งจะทำให้สภาพทางอารมณ์ของเขาแย่ลง. ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ครอบครัวและเพื่อนจะให้การเกื้อหนุน.
หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้: ข้อแนะนี้อาจมีประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับคนที่ต้องติดต่อใกล้ชิดกับผู้เป็นโรควิตกกังวล. นี่อาจรวมถึงสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท.
ชูใจกันเรื่อยไป: เปาโลซึ่งเป็นมิชชันนารีในศตวรรษแรกกระตุ้นเตือนมิตรสหายในเมืองเทสซาโลนิเกของชาวกรีกให้ “ชูใจกันและส่งเสริมกันเรื่อยไป.” (1 เทสซาโลนิเก 5:11) เราชูใจกันได้ทั้งโดยคำพูดและน้ำเสียง. เราต้องแสดงว่าเราใส่ใจเพื่อนของเราอย่างแท้จริง และเราต้องหลีกเลี่ยงคำพูดที่อาจทำให้เจ็บช้ำหรือแสดงความสงสัยในเจตนาของผู้ทุกข์ใจ.
ขอพิจารณาเพื่อนจอมปลอมสามคนของชายชื่อโยบ ซึ่งมีหนังสือเล่มหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลถูกตั้งชื่อตามชื่อของท่าน. คุณคงจำได้ว่าชายเหล่านี้กล่าวหาผิด ๆ ว่าโยบปกปิดบาปของท่านและที่ท่านประสบความทุกข์ก็เพราะพยายามปกปิดความผิดนั้น.
ดังนั้น จงไวต่อความรู้สึกของผู้ที่วิตกกังวล. ตั้งใจฟังเขา. พยายามมองด้วยทัศนะของเขาแทนที่จะมองด้วยทัศนะของคุณเอง. อย่ารีบลงความเห็นก่อนจะฟังเขา. เพื่อนจอมปลอมของโยบทำอย่างนั้น และสุดท้ายพวกเขาถูกเรียกว่า “ผู้เล้าโลมอันร้ายกาจ.” พวกเขาทำให้ท่านรู้สึกแย่ลงไปอีก!—โยบ 16:2
อย่าลืมให้โอกาสเขาพรรณนาความรู้สึกอย่างเต็มที่. นั่นอาจช่วยคุณให้เข้าใจความรู้สึกของเขาได้ดีขึ้น. และให้คิดถึงผลตอบแทน! คุณอาจช่วยผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลให้มีชีวิตที่มีความหมายมากขึ้นได้.
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
ประเภทของโรควิตกกังวล
นับว่าสำคัญที่จะมีความรู้เกี่ยวกับโรควิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเป็นโรคนี้. ขอพิจารณาโรควิตกกังวลห้าประเภทต่อไปนี้.
โรคแพนิก (Panic Disorders) ขอให้นึกถึงอีซาเบลลาในคำนำของบทความนี้. ไม่เฉพาะในช่วงที่มีอาการเท่านั้นที่เธอจะทำอะไรไม่ถูก. เธอบอกว่า “ในช่วงที่ไม่มีอาการ ดิฉันกลัวว่ามันจะเกิดขึ้นอีก.” ผลก็คือ ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมักจะพยายามเลี่ยงสถานที่ที่เขาเคยมีอาการกำเริบ. บางคนจำกัดตัวเองจนอยู่แต่ในบ้าน หรือสามารถจะเผชิญสถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่นเฉพาะเมื่อมีคนที่เขาไว้ใจอยู่ด้วยเท่านั้น. อีซาเบลลาอธิบายว่า “แค่การอยู่คนเดียวก็อาจทำให้มีอาการแล้ว. แม่ทำให้ดิฉันสบายใจ; ดิฉันคงทนไม่ได้ถ้าไม่มีแม่อยู่ด้วย.”
โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) คนที่หมกมุ่นเรื่องเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกอาจรู้สึกว่าเขาต้องล้างมือซ้ำแล้วซ้ำอีก. เรนันกล่าวถึงอาการย้ำคิดย้ำทำอีกแบบหนึ่งที่คล้ายกันว่า “จิตใจของผมปั่นป่วนตลอดเวลา. ผมไม่อาจจะเลิกคิดถึงความผิดพลาดในอดีตได้ อีกทั้งวิเคราะห์และมองเรื่องนั้นจากทุกแง่มุมซ้ำแล้วซ้ำอีก.” ผลก็คือเขามักจะสารภาพความผิดในอดีตอย่างไม่จบสิ้น. เรนันต้องการคำรับรองให้เขามั่นใจอยู่เนือง ๆ. แต่ยาก็ช่วยควบคุมอาการย้ำคิดย้ำทำของเขาได้. *
ความเครียดหลังเหตุสะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorders) เมื่อไม่นานมานี้ มีการใช้คำนี้เพื่อเรียกกลุ่มอาการทางจิตหลายชนิดซึ่งเกิดกับผู้ที่เคยประสบเหตุสะเทือนขวัญ รวมทั้งการได้รับบาดเจ็บหรือเกือบจะได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย. ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจตกใจง่าย มีอารมณ์ฉุนเฉียว กลายเป็นคนไร้อารมณ์ความรู้สึก เลิกสนใจสิ่งที่พวกเขาเคยชอบ และรู้สึกยากที่จะรักผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เคยสนิทด้วย. บางคนกลายเป็นคนก้าวร้าว หรือรุนแรงด้วยซ้ำ และมักจะเลี่ยงสถานการณ์ซึ่งทำให้พวกเขานึกถึงเหตุสะเทือนขวัญในตอนแรก.
โรคกลัวสังคม (Social Phobia, Social Anxiety Disorder) มีการใช้คำนี้เรียกผู้ที่วิตกกังวลเกินเหตุเมื่อต้องประสบเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ในสังคม. ผู้ที่เป็นโรคนี้บางคนหวาดกลัวอย่างมากว่าคนอื่นกำลังเฝ้าดูและวิพากษ์วิจารณ์เขา. พวกเขาอาจกังวลหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก่อนจะต้องพบปะผู้คนอย่างเป็นทางการ. พวกเขาอาจกลัวมากจนส่งผลเสียต่องาน การเรียน หรือกิจกรรมธรรมดาสามัญอื่น ๆ และทำให้ยากที่พวกเขาจะมีเพื่อน.
โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) โมนิกาซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้เป็นโรคนี้. เธอใช้ชีวิตแต่ละวันโดยที่รู้สึก “กังวลเกินเหตุ” แม้จะแทบไม่มีสาเหตุใด ๆ เลย. ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะคาดหมายว่าจะเกิดความหายนะและเป็นห่วงมากเกินไปกับเรื่องสุขภาพ เงิน ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาในที่ทำงาน. แค่คิดว่าจะต้องเผชิญเรื่องราวในวันนั้นก็อาจทำให้วิตกกังวลแล้ว. *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 19 ตื่นเถิด! ไม่สนับสนุนวิธีรักษาทางการแพทย์แบบหนึ่งแบบใดโดยเฉพาะ.
^ วรรค 22 ข้อมูลข้างต้นอาศัยเอกสารของสถาบันสุขภาพจิตแห่งสหรัฐ กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษยชน.
[ภาพหน้า 26]
‘จงชูใจกันเรื่อยไป’