ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อัยน์ญะลุต—จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก

อัยน์ญะลุต—จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก

อัยน์ญะลุต—จุด​เปลี่ยน​ประวัติศาสตร์​โลก

กองทัพ​ทหาร​ม้า​ที่​เหี้ยม​โหด​จาก​มองโกเลีย​บุก​โจมตี​ดินแดน​แห่ง​แล้ว​แห่ง​เล่า ทำลาย​ล้าง​ทุก​เมือง​ที่​ไม่​ยอม​ศิโรราบ. ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ 1258 กองทัพ​นี้​โจมตี​กรุง​แบกแดด​และ​เจาะ​ทะลวง​กำแพง​เมือง​ได้. พวก​เขา​ฆ่า​ฟัน​และ​ปล้น​เมือง​นั้น​ถึง​หนึ่ง​สัปดาห์. โลก​อิสลาม​สั่น​สะท้าน​เนื่อง​จาก​กลัว​พวก​มองโกล. *

ใน​เดือน​มกราคม 1260 ขณะ​ที่​พวก​มองโกล​เคลื่อน​ทัพ​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก เมือง​อะเลปโป ประเทศ​ซีเรีย ก็​ถูก​ตี​แตก​เช่น​เดียว​กับ​กรุง​แบก​แดด. ใน​เดือน​มีนาคม ดามัสกัส​ยอม​จำนน​และ​เปิด​ประตู​เมือง​ให้​พวก​มองโกล. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น พวก​มองโกล​ยึด​เมือง​นาบลุส (ใกล้​ซาก​เมือง​เชเคม​โบราณ) และ​เมือง​กาซา.

ฮูเลกู (Hülegü) แม่ทัพ​ชาว​มองโกล​เรียก​ร้อง​ให้​สุลต่าน​อัล-มุซัฟฟาร์ ซัยฟ์ อัล-ดิน กุตุซ (al-Muzaffar Sayf al-Din Qutuz) ผู้​ปกครอง​ชาว​มุสลิม​แห่ง​อียิปต์ ยอม​จำนน​ด้วย. ฮูเลกู​ขู่​ว่า​ถ้า​เขา​ไม่​ยอม อียิปต์​จะ​ประสบ​ผล​ที่​เลว​ร้าย. กอง​กำลัง​ของ​ฮูเลกู​มี​จำนวน​มาก​กว่า​กองทัพ​อียิปต์​ซึ่ง​มี​อยู่ 20,000 คน​ถึง 15 เท่า. ศาสตราจารย์​นาซีร์ อาเหม็ด นัก​ประวัติศาสตร์​อิสลาม​กล่าว​ว่า “ตอน​นั้น​โลก​มุสลิม​กำลัง​จะ​เผชิญ​ความ​พินาศ.” สุลต่าน​กุตุซ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร?

กุตุซ​และ​ราชวงศ์​มัมลุก

กุตุซ​เป็น​พวก​มัมลุก ซึ่ง​ก็​คือ​ทาส​เชื้อ​สาย​เติร์ก. พวก​มัมลุก​คือ​ทาส​ที่​เป็น​ทหาร​ของ​สุลต่าน​ราชวงศ์​อัยยูบิด​แห่ง​ไคโร ประเทศ​อียิปต์. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​ปี 1250 ทาส​เหล่า​นี้​โค่น​ล้ม​ชน​ชั้น​เจ้านาย​และ​ขึ้น​มา​เป็น​ผู้​ปกครอง​แห่ง​อียิปต์​เสีย​เอง. กุตุซ​เป็น​อดีต​ทาส​ที่​เป็น​ทหาร​ด้วย. ใน​ที่​สุด เขา​ก็​ยึด​อำนาจ​และ​ขึ้น​เป็น​สุลต่าน​ใน​ปี 1259. เขา​เป็น​นัก​รบ​ที่​ชำนาญ​ศึก​ซึ่ง​ไม่​ยอม​แพ้​ง่าย ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เขา​มี​โอกาส​น้อย​มาก​ที่​จะ​เอา​ชนะ​พวก​มองโกล. แต่​แล้ว​เหตุ​การณ์​บาง​อย่าง​กลาย​เป็น​จุด​เปลี่ยน​ของ​ประวัติศาสตร์.

มี​ข่าว​มา​ถึง​ฮูเลกู​ว่า​มองเค (Möngke) ข่าน​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​แห่ง​มองโกล​ได้​สิ้น​ชีวิต​ที่​มองโกเลีย​อัน​ไกล​โพ้น. ฮูเลกู​คาด​ว่า​จะ​มี​การ​ต่อ​สู้​แย่ง​ชิง​อำนาจ​ที่​แผ่นดิน​เกิด เขา​จึง​ถอน​กำลัง​ส่วน​ใหญ่​ของ​เขา​กลับ. เขา​เหลือ​ทหาร​ไว้​ประมาณ 10,000 ถึง 20,000 นาย ซึ่ง​เขา​คิด​ว่า​เพียง​พอ​ที่​จะ​พิชิต​อียิปต์​ได้. ตอน​นี้​กุตุซ​เห็น​ว่า​สถานการณ์​เริ่ม​เป็น​ใจ​ให้​เขา​แล้ว. เขา​คิด​ว่า​นี่​เป็น​โอกาส​ที่​จะ​เอา​ชนะ​ผู้​รุกราน.

แต่​มี​ศัตรู​ของ​พวก​มุสลิม​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​อยู่​ระหว่าง​อียิปต์​และ​พวก​มองโกล นั่น​คือ​พวก​นัก​รบ​ครูเสด​ของ​คริสต์​ศาสนจักร​ซึ่ง​มา​ที่​ปาเลสไตน์​เพื่อ​ยึด “ดินแดน​ศักดิ์สิทธิ์.” กุตุซ​ขอ​ยก​ทัพ​ผ่าน​พวก​เขา​และ​ขอ​สิทธิ์​ใน​การ​ซื้อ​เสบียง​เพื่อ​จะ​ไป​ต่อ​สู้​กับ​พวก​มองโกล​ใน​สงคราม​ที่​ปาเลสไตน์. พวก​นัก​รบ​ครูเสด​ยอม. ที่​จริง​แล้ว กุตุซ​เป็น​ความ​หวัง​เดียว​ของ​พวก​เขา​ที่​จะ​ขจัด​พวก​มองโกล​ออก​ไป​จาก​ดินแดน​แถบ​นี้. เพราะ​ทั้ง​พวก​นัก​รบ​ครูเสด​และ​พวก​มุสลิม​ต่าง​ก็​กังวล​เรื่อง​พวก​มองโกล​เหมือน​กัน.

ผล​ก็​คือ กำลัง​จะ​เกิด​การ​สู้​รบ​ที่​มี​ผล​ชี้ขาด​ระหว่าง​พวก​มัมลุก​และ​พวก​มองโกล.

อัยน์ญะลุต​ใน​ปาเลสไตน์

กองทัพ​ของ​พวก​มัมลุก​และ​มองโกล​พบ​กัน​ใน​เดือน​กันยายน 1260 ที่​อัยน์ญะลุต บน​ที่​ราบ​แห่ง​เอสดราเอโลน. เชื่อ​กัน​ว่า​อัยน์ญะลุต​คง​อยู่​ใกล้​เมือง​เมกิดโด​โบราณ. *

ราชิด อัล-ดิน นัก​ประวัติศาสตร์​กล่าว​ว่า ที่​เมกิดโด พวก​มัมลุก​ล่อ​พวก​มองโกล​ออก​มา​ใน​ที่​ที่​มี​กองทัพ​ซุ่ม​อยู่. กุตุซ​ซุ่ม​กอง​ทหาร​ม้า​ส่วน​ใหญ่​ของ​เขา​ไว้​ที่​เนิน​เขา​รอบ​ที่​ราบ แล้ว​สั่ง​ให้​กอง​กำลัง​เล็ก ๆ ออก​ไป​ล่อ​ให้​พวก​มองโกล​เข้า​โจมตี. พวก​มองโกล​หลง​เชื่อ​ว่า​กองทัพ​มัมลุก​ทั้ง​หมด​มี​อยู่​แค่​นั้น พวก​เขา​จึง​เข้า​โจมตี. แล้ว​กุตุซ​ก็​ลง​มือ​ปฏิบัติการ. เขา​สั่ง​ให้​กอง​กำลัง​ที่​เหลือ​ขี่​ม้า​ออก​มา​จาก​ที่​ซ่อน​และ​โจมตี​พวก​มองโกล​ทั้ง​สอง​ข้าง. ผู้​รุกราน​จึง​พ่าย​แพ้.

นี่​เป็น​ความ​พ่าย​แพ้​ครั้ง​แรก​ของ​พวก​มองโกล​ตั้ง​แต่​พวก​เขา​เริ่ม​บุก​จาก​มองโกเลีย​มา​ทาง​ตะวัน​ตก​เมื่อ 43 ปี​ก่อน​หน้า​นั้น. แม้​ว่า​กองทัพ​ที่​สู้​รบ​กัน​ค่อนข้าง​เล็ก แต่​อัยน์ญะลุต​ก็​ถือ​เป็น​การ​รบ​ครั้ง​สำคัญ​ที่​สุด​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ประวัติศาสตร์. การ​รบ​ครั้ง​นี้​ช่วย​พวก​มุสลิม​ไม่​ให้​ถูก​กวาด​ล้าง พิสูจน์​ว่า​พวก​มองโกล​ก็​พ่าย​แพ้​ได้ และ​ทำ​ให้​กองทัพ​มัมลุก​ยึด​ดินแดน​ที่​สูญ​เสีย​ไป​กลับ​คืน​มา.

ผล​กระทบ​ของ​อัยน์ญะลุต

พวก​มองโกล​กลับ​มา​ซีเรีย​และ​ปาเลสไตน์​หลาย​ครั้ง แต่​ไม่​อาจ​คุกคาม​อียิปต์​ได้​อีก​เลย. ลูก​หลาน​ของ​ฮูเลกู​ลง​หลัก​ปัก​ฐาน​ที่​เปอร์เซีย เปลี่ยน​มา​เข้า​ศาสนา​อิสลาม และ​ภาย​หลัง​ได้​กลาย​มา​เป็น​ผู้​อุปถัมภ์​วัฒนธรรม​อิสลาม. เขต​แดน​ของ​พวก​เขา​ได้​มา​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า อิลคาเนต แปล​ว่า “เขต​ปกครอง​อันดับ​รอง​ของ​ข่าน.”

กุตุซ​ยินดี​กับ​ชัย​ชนะ​ได้​ไม่​นาน เขา​ก็​ถูก​พวก​คู่​แข่ง​สังหาร. คู่​แข่ง​คน​หนึ่ง​คือ​บัยบัรส์​ที่ 1 สุลต่าน​คน​แรก​แห่ง​อาณาจักร​อียิปต์​และ​ซีเรีย. หลาย​คน​ถือ​ว่า​เขา​เป็น​ผู้​สถาปนา​รัฐ​มัมลุก​ที่​แท้​จริง. ประเทศ​ใหม่​ของ​เขา​มี​การ​บริหาร​อย่าง​ดี มี​ความ​มั่งคั่ง และ​ดำรง​อยู่​ได้​นาน​ถึง​สอง​ร้อย​ห้า​สิบ​ปี​จน​ถึง​ปี 1517.

ใน​ช่วง​ประมาณ 250 ปี​นั้น พวก​มัมลุก​ขับ​ไล่​นัก​รบ​ครูเสด​ออก​ไป​จาก​ดินแดน​ศักดิ์สิทธิ์ สนับสนุน​การ​ค้า​ขาย​และ​อุตสาหกรรม ส่ง​เสริม​งาน​ศิลป์ สร้าง​โรง​พยาบาล มัสยิด และ​โรง​เรียน. ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​พวก​เขา อียิปต์​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​โลก​มุสลิม​ที่​ไม่​มี​ใคร​เทียบ​ได้.

การ​สู้​รบ​ที่​อัยน์ญะลุต​ส่ง​ผล​ต่อ​อารยธรรม​ตะวัน​ตก​ด้วย ไม่​เพียง​ใน​ตะวัน​ออก​กลาง​เท่า​นั้น. วารสาร​ซาอุดี แอแรมโค เวิลด์ กล่าว​ว่า “ถ้า​พวก​มองโกล​ยึด​อียิปต์​ได้​สำเร็จ เมื่อ​ฮูเลกู​กลับ​มา​พวก​เขา​อาจ​บุก​ผ่าน​แอฟริกา​เหนือ​ไป​ยัง​ช่องแคบ​ยิบรอลตาร์.” เนื่อง​จาก​ตอน​นั้น​พวก​มองโกล​ไป​ถึง​โปแลนด์​แล้ว พวก​เขา​ก็​จะ​กดดัน​ยุโรป​จาก​ทั้ง​สอง​ทาง.

วารสาร​นั้น​ถาม​ว่า “ภาย​ใต้​สภาพการณ์​เช่น​นั้น ยุค​ฟื้นฟู​ศิลปวิทยา​ใน​ยุโรป​จะ​เกิด​ขึ้น​ได้​หรือ? โลก​ทุก​วัน​นี้​คง​จะ​ต่าง​ไป​มาก​ที​เดียว.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​ชาว​มองโกล​และ​เรื่อง​ราว​การ​พิชิต​ของ​พวก​เขา ดู​ตื่นเถิด! ฉบับ​เดือนพฤษภาคม 2008.

^ วรรค 11 เนื่อง​จาก​การ​สู้​รบ​ที่​มี​ผล​ชี้ขาด​หลาย​ครั้ง​เกิด​ขึ้น​ใน​บริเวณ​นี้ คำ​ว่า “เมกิดโด” จึง​ทำ​ให้​นึก​ถึง​การ​สู้​รบ​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ว่า​อาร์มาเก็ดดอน ซึ่ง​ใน​ภาษา​ฮีบรู​คือ​ฮาร์มาเกโดน. คัมภีร์​ไบเบิล​เชื่อม​โยง​อาร์มาเก็ดดอน​กับ “สงคราม​ใน​วัน​ใหญ่​ของ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​ฤทธิ์​ใหญ่​ยิ่ง.”—วิวรณ์ 16:14, 16

[แผนที่​หน้า 12]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

ดามัสกัส

ซีเรีย

ภูเขา​ทา​โบร์

ที่​ราบ​เอสดราเอโลน

อัยน์ญะลุต (ใกล้​เมกิดโด)

นาบลุส (เชเคม)

เยรูซาเลม

กาซา

อียิปต์

[ภาพ​หน้า 12]

เมือง​เมกิดโด​โบราณ

[ภาพ​หน้า 13]

กองทัพ​ของ​พวก​มัมลุก​และ​มองโกล​พบ​กัน​ใน​เดือน​กันยายน 1260 ที่​อัยน์ญะลุต บน​ที่​ราบ​แห่ง​เอ​สด​รา​เอโลน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.

[ภาพ​หน้า 14]

ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​เมือง​เชเคม​โบราณ และ​ด้าน​หลัง​คือ​ส่วน​หนึ่ง​ของ​เมือง​นาบลุส​ใน​ปัจจุบัน