ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ข้อท้าทายพิเศษของครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง

ข้อท้าทายพิเศษของครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง

ข้อ​ท้าทาย​พิเศษ​ของ​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง

● ดร. แพทรีเชีย เปเปอร์นาว ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​กล่าว​ว่า การ​พยายาม​แก้​ปัญหา​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​หรือ​แม่​เลี้ยง​โดย​อาศัย​คำ​แนะ​นำ​สำหรับ​ครอบครัว​ที่​แต่งงาน​กัน​ครั้ง​แรก​นั้น​เป็น​เหมือน​กับ “การ​ใช้​แผนที่​ของ​บอสตัน​นำ​ทาง​ขณะ​เดิน​อยู่​ใน​นคร​นิวยอร์ก.”

จริง​ที​เดียว ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​ไม่​เพียง​มี​ข้อ​ท้าทาย​เฉพาะ​ตัว​ซึ่ง​แตกต่าง​กับ​ครอบครัว​ที่​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​แต่งงาน​กัน​ครั้ง​แรก แต่​ยัง​มี​ความ​ซับซ้อน​มาก​กว่า​ด้วย. ที่​จริง นัก​จิตวิทยา​ชื่อ​วิลเลียม เมอร์เคล กล่าว​ว่า​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​มี​ความ​สัมพันธ์​อัน “ซับซ้อน ไม่​ปกติ และ​ยุ่งยาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​มนุษย์​รู้​จัก​กัน.”

ถ้า​ยาก​ขนาด​นั้น ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ได้​อย่าง​ไร? ครอบครัว​แบบ​นี้​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​ผ้า​ที่​ถูก​เย็บ​ต่อ​กัน​หลาย ๆ ชิ้น. แม้​ว่า​ตอน​ที่​เริ่ม​เย็บ ตะเข็บ​อาจ​ยัง​หลุด​ง่าย แต่​เมื่อ​เย็บ​อย่าง​ดี​จน​เสร็จ​แล้ว ผ้า​ที่​ถูก​ต่อ​กัน​นั้น​อาจ​เหนียวแน่น​พอ ๆ กับ​ผ้า​ที่​เป็น​เนื้อ​เดียว​กัน.

ให้​เรา​พิจารณา​ข้อ​ท้าทาย​บาง​อย่าง​ของ​ครอบครัว​ซึ่ง​มี​พ่อ​เลี้ยง​หรือ​แม่​เลี้ยง และ​ดู​ขั้น​ตอน​ที่​ได้​ช่วย​หลาย​คน​ให้ “เย็บ” ความ​สัมพันธ์​ของ​เขา​เข้า​ด้วย​กัน​จน​แน่นแฟ้น. จาก​นั้น เรา​จะ​อ่าน​เรื่อง​ราว​ของ​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​สี่​ครอบครัว​ซึ่ง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​เอา​ชนะ​ข้อ​ท้าทาย​ต่าง ๆ.

ข้อ​ท้าทาย​ที่ 1: ความ​คาด​หวัง​ที่​ไม่​เป็น​จริง

“ดิฉัน​คาด​ว่า​จะ​ชนะ​ใจ​ลูก​เลี้ยง​ได้​ด้วย​การ​ให้​ความ​รัก​และ​ความ​เอา​ใจ​ใส่​มาก ๆ แต่​ว่า​แม้​จะ​ผ่าน​ไป​แปด​ปี​แล้ว ดิฉัน​ก็​ยัง​ทำ​ไม่​สำเร็จ.”—กลอเรีย *

ใน​ตอน​เริ่ม​ต้น พ่อ​เลี้ยง​หรือ​แม่​เลี้ยง​อาจ​ตั้ง​ความ​หวัง​ไว้​สูง​มาก​กับ​ชีวิต​ครอบครัว​ใหม่. พวก​เขา​หวัง​ว่า​จะ​หลีก​เลี่ยง​หรือ​แก้ไข​ความ​ผิด​พลาด​ใน​การ​สมรส​ครั้ง​ก่อน และ​หวัง​จะ​ได้​ความ​รัก​และ​ความ​มั่น​ใจ​ที่​พวก​เขา​ยัง​ไม่​เคย​ได้​รับ. ความ​คาด​หวัง​บาง​อย่าง​อาจ​เป็น​เพียง​ความ​เพ้อ​ฝัน. และ​เมื่อ​ความ​คาด​หวัง​ต่าง ๆ ไม่​เป็น​จริง พวก​เขา​ก็​เกิด​ความ​เครียด. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ความ​หวัง​ใจ​ที่​ถูก​เลื่อน​ให้​เนิ่น​ไป​นั้น​ทำ​ให้​อ่อน​ระอา​ใจ.” (สุภาษิต 13:12) จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ถ้า​คุณ​รู้สึก​เศร้า​ใจ​เพราะ​สิ่ง​ที่​คุณ​คาด​หมาย​ไม่​เป็น​จริง?

สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้

อย่า​เก็บ​กด​ความ​รู้สึก​ของ​คุณ​และ​รอ​ให้​ความ​ผิด​หวัง​หาย​ไป​เอง. แต่​ให้​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​ว่า​คุณ​ไม่​สบาย​ใจ​เพราะ​ผิด​หวัง​ใน​เรื่อง​อะไร. จาก​นั้น วิเคราะห์​ว่า​ทำไม​คุณ​ยัง​คง​คาด​หวัง​สิ่ง​นั้น​อยู่. สุด​ท้าย พยายาม​ตั้ง​ความ​หวัง​ที่​ตรง​กับ​สภาพ​จริง​สำหรับ​ตอน​นี้. ต่อ​ไป​นี้​เป็น​บาง​ตัว​อย่าง:

1. ฉัน​จะ​รัก​ลูก​เลี้ยง และ​ลูก​เลี้ยง​จะ​รัก​ฉัน​ตั้ง​แต่​แรก.

ทำไม? ฉัน​ใฝ่ฝัน​จะ​มี​ครอบครัว​ที่​ใกล้​ชิด​และ​อบอุ่น​มา​นาน​แล้ว.

สิ่ง​ที่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง: เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป เรา​อาจ​รัก​กัน​มาก​ขึ้น. สิ่ง​สำคัญ​ตอน​นี้​คือ​เรา​ควร​รู้สึก​ปลอด​ภัย​และ​ได้​รับ​ความ​นับถือ​ใน​บ้าน.

2. ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ใหม่​จะ​ปรับ​ตัว​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว.

ทำไม? เรา​พร้อม​จะ​เริ่ม​ต้น​ชีวิต​ใหม่.

สิ่ง​ที่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง: ตาม​ปกติ สมาชิก​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​ต้อง​ใช้​เวลา​สี่​ถึง​เจ็ด​ปี​กว่า​จะ​ปรับ​ตัว​เข้า​หา​กัน​ได้. สภาพการณ์​ของ​เรา​ถือ​เป็น​เรื่อง​ปกติ.

3. เรา​จะ​ไม่​ทะเลาะ​กัน​เรื่อง​เงิน.

ทำไม? ถ้า​เรา​รัก​กัน เรา​จะ​ไม่​ทะเลาะ​กัน​ด้วย​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ.

สิ่ง​ที่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง: ประเด็น​เรื่อง​เงิน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​สมรส​ครั้ง​ก่อน​ของ​เรา​มี​ความ​ซับซ้อน​มาก. เรา​อาจ​ยัง​ไม่​พร้อม​จะ​นำ​ทรัพย์​สิน​มา​รวม​กัน​ทั้ง​หมด.

ข้อ​ท้าทาย​ที่ 2: การ​เข้าใจ​กัน

“เรา​ปรับ​ตัว​ได้​เร็ว—ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ใหม่​ของ​เรา​เข้า​กัน​ได้​ดี​ทันที.”—โยชิโตะ

“ต้อง​ใช้​เวลา​ประมาณ​สิบ​ปี​กว่า​ที่​ผม​จะ​ยอม​ร่วม​มือ​อย่าง​เต็ม​ที่​กับ​ครอบครัว​ของ​เรา.”—ทะสึกิ ลูก​เลี้ยง​ของ​โยชิโตะ

เช่น​เดียว​กับ​โยชิโตะ​และ​ทะสึกิ สมาชิก​ของ​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​อาจ​ไม่​เข้าใจ​กัน​จริง ๆ. ทำไม​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​เข้าใจ​คน​ใน​ครอบครัว? เมื่อ​มี​ปัญหา​เกิด​ขึ้น คุณ​อาจ​ต้องการ​แก้​ปัญหา​นั้น​อย่าง​รวด​เร็ว. แต่​เพื่อ​จะ​แก้​ปัญหา​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ คุณ​ต้อง​เข้าใจ​ครอบครัว​ของ​คุณ​ก่อน.

เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​จะ​พิจารณา​วิธี​ที่​คุณ​พูด เนื่อง​จาก​คำ​พูด​อาจ​บั่น​ทอน​หรือ​เสริม​สร้าง​ก็​ได้. ดัง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก: “ความ​ตาย​และ​ชีวิต​อยู่​ใน​อำนาจ​ลิ้น.” (สุภาษิต 18:21) คุณ​จะ​ใช้​ลิ้น​เพื่อ​ช่วย​ให้​เข้าใจ​กัน​มาก​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?

สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้

• ใส่​ใจความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น​และ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​เขา​แทน​ที่​จะ​วิพากษ์วิจารณ์. ตัว​อย่าง​เช่น:

ถ้า​ลูก​ชาย​ของ​คุณ​พูด​ว่า “ผม​คิด​ถึง​พ่อ” ให้​พยายาม​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​เขา. แทน​ที่​จะ​พูด​ว่า “แต่​พ่อ​เลี้ยง​เขา​ก็​รัก​ลูก​และ​ดี​กว่า​พ่อ​แท้ ๆ ของ​ลูก​ซะ​อีก” ให้​ลอง​พูด​อย่าง​นี้: “ลูก​คง​คิด​ถึง​พ่อ​มาก​สิ​นะ. บอก​แม่​ได้​ไหม​ว่า​ลูก​คิด​ถึง​เรื่อง​อะไร​เกี่ยว​กับ​พ่อ​มาก​ที่​สุด?”

แทน​ที่​จะ​ต่อ​ว่า​คู่​สมรส​ใหม่​ของ​คุณ​โดย​พูด​ว่า “ลูก​ชาย​ของ​คุณ​คง​ไม่​เสีย​มารยาท​ขนาด​นี้​ถ้า​คุณ​รู้​จัก​อบรม​สั่ง​สอน​เขา​บ้าง.” ให้​บอก​ความ​รู้สึก​ของ​คุณ​โดย​พูด​ทำนอง​นี้: “ขอ​คุณ​ช่วย​เตือน​ลูก​ให้​ทักทาย​ฉัน​เวลา​กลับ​ถึง​บ้าน​ได้​ไหม​คะ? ฉัน​จะ​สบาย​ใจ​ขึ้น​ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น.”

• ใช้​เวลา​กิน​อาหาร ทำ​กิจกรรม​ยาม​ว่าง​และ​นมัสการ​ด้วย​กัน​เพื่อ​เรียน​รู้​จัก​กัน​และ​กัน.

• หารือ​กัน​ใน​ครอบครัว​เป็น​ประจำ​โดย​ที่​ให้​ทุก​คน​มี​ส่วน​ร่วม​ด้วย. ให้​แต่​ละ​คน​พูด​โดย​ที่​คน​อื่น​ไม่​ขัด​จังหวะ เริ่ม​ด้วย​การ​พูด​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ดี​ของ​ครอบครัว​ใหม่​และ​ตาม​ด้วย​เรื่อง​ที่​เขา​เป็น​ห่วง. ให้​ทุก​คน​เสนอ​วิธี​แก้ไข และ​แสดง​ความ​นับถือ​แม้​ว่า​คุณ​ไม่​เห็น​ด้วย.

ข้อ​ท้าทาย​ที่ 3: การ​นำ “คน​นอก” เข้า​มา​ใน​ครอบครัว

“ภรรยา​ของ​ผม​กับ​ลูก ๆ ของ​เธอ​แอบ​ไป​คุย​กัน​แล้ว​ก็​มา​รุม​ผม. ผม​เป็น​คน​นอก เป็น​ผู้​บุกรุก.”—วอลท์

การ​กลัว​ว่า​คุณ​จะ​กลาย​เป็น​คน​นอก​ใน​ครอบครัว​ของ​ตัว​เอง​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ของ​ปัญหา​ที่​ดู​เหมือน​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​กัน​เลย. ตัว​อย่าง​เช่น:

• ลูก​ซึ่ง​เข้า​กัน​ได้​ดี​กับ​ว่า​ที่​พ่อ​เลี้ยง​หรือ​แม่​เลี้ยง​ก่อน​การ​แต่งงาน​มัก​จะ​มี​ปัญหา​หลัง​จาก​นั้น.

• พ่อ​เลี้ยง​รู้สึก​อิจฉา​ลูก​เลี้ยง​วัย​หก​ขวบ.

• เกิด​การ​โต้​เถียง​อย่าง​รุนแรง​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ใน​บ้าน.

ปัญหา​นี้​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​พ่อ​แม่​แท้ ๆ ด้วย เนื่อง​จาก​พวก​เขา​อาจ​รู้สึก​กดดัน​ถ้า​ครอบครัว​ดู​เหมือน​กำลัง​แตก​แยก​กัน​ราว​กับ​ตะเข็บ​ที่​กำลัง​ปริ. ตาม​ที่​คาร์เมน​กล่าว​ไว้ “การ​ช่วย​สามี​ใหม่​กับ​ลูก​ทั้ง​สอง​คน​ของ​ดิฉัน​ให้​เข้าใจ​กัน​เป็น​เรื่อง​ยาก​มาก.”

หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ช่วย​แก้​ปัญหา​นี้​ได้. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “สารพัด​สิ่ง​ที่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้องการ​ให้​คน​อื่น​ทำ​ต่อ​เจ้า จง​ทำ​อย่าง​นั้น​ต่อ​เขา.” (มัดธาย 7:12) ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​จะ​ทำ​ให้​ทุก​คน​รู้สึก​ว่า​ตน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว​ได้​อย่าง​ไร?

สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้

• ให้​ความ​สำคัญ​กับ​สาย​สมรส​ของ​คุณ​เป็น​อันดับ​แรก. (เยเนซิศ 2:24) ใช้​เวลา​กับ​คู่​สมรส​ใหม่​ของ​คุณ และ​บอก​ให้​ลูก ๆ เข้าใจ​ชัดเจน​ว่า​เขา​หรือ​เธอ​มี​ฐานะ​อะไร​ใน​ครอบครัว. ตัว​อย่าง​เช่น พ่อ​อาจ​พูด​กับ​ลูก ๆ ทำนอง​นี้​แม้​แต่​ก่อน​ที่​เขา​จะ​แต่งงาน​ใหม่: “พ่อ​รัก​แอนนา และ​พ่อ​จะ​แต่งงาน​กับ​เธอ. พ่อ​รู้​ว่า​ลูก ๆ จะ​สุภาพ​กับ​เธอ.”

• จัด​เวลา​อยู่​กับ​ลูก​ของ​คุณ​แต่​ละ​คน​ตาม​ลำพัง. การ​จัด​เวลา​ไว้​เฉพาะ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ลูก​เป็น​บุคคล​สำคัญ​สำหรับ​คุณ​และ​ทำ​ให้​ลูก​มั่น​ใจ​ว่า​คุณ​รัก​เขา.

• ใช้​เวลา​อยู่​กับ​ลูก​เลี้ยง​แต่​ละ​คน​ตาม​ลำพัง​เพื่อ​สร้าง​ความ​สัมพันธ์​กับ​เขา​โดย​ไม่​ต้อง​มี​พ่อ​หรือ​แม่​แท้ ๆ ของ​เขา​คอย​เป็น​ตัว​กลาง.

• ให้​ลูก ๆ มา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว​โดย​ไม่​เรียก​ร้อง​ให้​เขา​ปฏิเสธ​ครอบครัว​เดิม. โดย​ทั่ว​ไป​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ไม่​บังคับ​ลูก​เลี้ยง​ให้​เรียก​คุณ​ว่า “แม่” หรือ “พ่อ” ซึ่ง​เป็น​คำ​ที่​แสดง​ความ​รัก. ใน​ช่วง​แรก เด็ก​ที่​โต​กว่า​อาจ​ไม่​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ใช้​คำ​ว่า “ครอบครัว” หรือ “เรา” เมื่อ​พูด​ถึง​ครอบครัว​ใหม่.

• มอบหมาย​งาน​บ้าน จัด​ที่​นั่ง​บน​โต๊ะ​อาหาร และ​พื้น​ที่​ส่วน​ตัว​ใน​บ้าน​ให้​ลูก​แต่​ละ​คน. รวม​ถึง​ลูก​ที่​มา​อยู่​กับ​คุณ​เป็น​ครั้ง​คราว.

• คิด​ถึง​การ​ย้าย​บ้าน​หรือ​การ​จัด​บ้าน​ใหม่ เพื่อ​สมาชิก​ใหม่​จะ​ไม่​รู้สึก​เหมือน​ตัว​เอง​เป็น​ผู้​บุกรุก.

ข้อ​ท้าทาย​ที่ 4: การ​อบรม​สั่ง​สอน​ลูก

“เมื่อ​ผม​พยายาม​อบรม​ลูก​ของ​คาร์เมน แทน​ที่​เธอ​จะ​สนับสนุน​ผม เธอ​กลับ​ไป​ปลอบ​พวก​เขา.”—พาโบล

“ดิฉัน​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​ใจ​อย่าง​มาก​เมื่อ​พาโบล​ทำ​รุนแรง​กับ​ลูก​ของ​ดิฉัน.”—คาร์เมน

ทำไม​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก​จึง​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง? ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​หรือ​แม่​เพียง​ฝ่าย​เดียว​อาจ​หย่อน​ยาน​ใน​เรื่อง​การ​อบรม​สั่ง​สอน​ลูก. เมื่อ​สามี​หรือ​ภรรยา​ใหม่​เข้า​มา​ใน​ครอบครัว เด็ก​อาจ​ยัง​ไม่​มี​ความ​ผูก​พัน​ทาง​อารมณ์​กับ​พ่อ​เลี้ยง​หรือ​แม่​เลี้ยง. ผล​เป็น​อย่าง​ไร? พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​อาจ​คิด​ว่า​พ่อ​แม่​แท้ ๆ ตาม​ใจ​ลูก​เกิน​ไป ส่วน​พ่อ​แม่​แท้ ๆ ก็​อาจ​คิด​ว่า​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​เข้มงวด​เกิน​ไป.

คัมภีร์​ไบเบิล​แนะ​นำ​ให้​อบรม​สั่ง​สอน​ลูก​อย่าง​สมดุล โดย​บอก​ว่า “อย่า​ยั่ว​บุตร​ให้​ขุ่นเคือง แต่​จง​เลี้ยง​ดู​เขา​ด้วย​การ​ตี​สอน​จาก​พระ​ยะโฮวา [พระเจ้า] และ​ปลูกฝัง​แนว​คิด​ของ​พระองค์​ให้​เขา.” (เอเฟโซส์ 6:4) จุด​สำคัญ​ใน​ข้อ​นี้​คือ​การ​ฝึก​สอน​วิธี​คิด​ของ​ลูก​แทน​ที่​จะ​ควบคุม​พฤติกรรม​ของ​เขา​เท่า​นั้น. ใน​ขณะ​เดียว​กัน มี​การ​สนับสนุน​ให้​พ่อ​แม่​กรุณา​และ​แสดง​ความ​รัก​เพื่อ​การ​ตี​สอน​จะ​ไม่​ทำ​ให้​ลูก​ขุ่นเคือง.

สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้

• กำหนด​กฎ​ใน​บ้าน โดย​เริ่ม​จาก​กฎ​ที่​มี​อยู่​แล้ว. ขอ​ให้​คิด​ถึง​ข้อ​ดี​ของ​การ​มี​กฎ​ใน​บ้าน​เมื่อ​เกิด​เหตุ​การณ์​ตัว​อย่าง​ต่อ​ไป​นี้:

แม่​เลี้ยง: เจนนิเฟอร์ เรา​มี​กฎ​ว่า​ห้าม​ส่ง​ข้อ​ความ​ทาง​โทรศัพท์​ก่อน​จะ​ทำ​การ​บ้าน​เสร็จ​นะ.

เจนนิเฟอร์: คุณ​ไม่​ใช่​แม่​ของ​หนู.

แม่​เลี้ยง: ก็​จริง​นะ​เจนนิเฟอร์ แต่​ตอน​นี้​ฉัน​เป็น​ผู้​ใหญ่​ใน​บ้าน และ​บ้าน​เรา​มี​กฎ​ไว้​ว่า​ห้าม​ส่ง​ข้อ​ความ​ก่อน​จะ​ทำ​การ​บ้าน​เสร็จ.

• อย่า​ตั้ง​กฎ​มาก​เกิน​ไป​หรือ​เปลี่ยน​กิจวัตร​ใน​บ้าน​เร็ว​เกิน​ไป. บาง​ครั้ง เมื่อ​พ่อ​เลี้ยง​หรือ​แม่​เลี้ยง​เพียง​แค่​ขอ​ให้​ลูก​เลี้ยง​ช่วย​ทำ​อะไร​ง่าย ๆ บาง​อย่าง เด็ก​อาจ​รู้สึก​เป็น​เรื่อง​ยาก​มาก​เนื่อง​จาก​เขา​คิด​ว่า​ชีวิต​ของ​เขา​เปลี่ยน​แปลง​ไป​มาก​อยู่​แล้ว. แน่นอน อาจ​จำเป็น​ต้อง​ตั้ง​กฎ​ใหม่ ๆ บ้าง เช่น กฎ​เรื่อง​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ใน​บ้าน​และ​เรื่อง​การ​แต่ง​กาย โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ถ้า​มี​เด็ก​โต​ใน​ครอบครัว.

• พูด​คุย​เรื่อง​ความ​ขัด​แย้ง​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​ตาม​ลำพัง อย่า​พูด​ต่อ​หน้า​เด็ก ๆ. เน้น​เรื่อง​พฤติกรรม​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ของ​เด็ก แทน​ที่​จะ​เน้น​ว่า​มี​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​ผิด​วิธี​มา​อย่าง​ไร​ก่อน​หน้า​นี้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 บาง​ชื่อ​ใน​บทความ​ชุด​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

[ภาพ​หน้า 3]

การ​จะ​ทำ​ให้​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​รักใคร่​ปรองดอง​กัน​อาจ​ดู​เหมือน​ความ​ฝัน​ที่​เป็น​ไป​ไม่​ได้

[ภาพ​หน้า 4]

ตั้งใจ​ฟัง​เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​แต่​ละ​คน​และ​เรื่อง​ที่​เขา​เป็น​ห่วง

[ภาพ​หน้า 6]

ถ้า​มี​ความ​ขัด​แย้ง​กัน พ่อ​แม่​ควร​พูด​คุย​กัน​ตาม​ลำพัง