ไททานิก “เรือที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์”
ไททานิก “เรือที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์”
10 เมษายน 1912: เรือไททานิก ออกจากเมืองเซาแธมป์ตัน อังกฤษ โดยมุ่งหน้าไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐ.
11 เมษายน: หลังจากรับผู้โดยสารที่ เมืองแชร์บูร์ก ฝรั่งเศส และเมืองควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันชื่อเมืองโคฟ) ไอร์แลนด์ เรือไททานิก มุ่งหน้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก.
14 เมษายน: ประมาณ 23:40 น. เรือไททานิก ชนกับภูเขาน้ำแข็ง.
15 เมษายน: 2:20 น. เรือไททานิก จม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,500 คน.
เรือไททานิก เป็นเรือแบบไหน? อะไรเป็นสาเหตุให้เรือนี้จม? การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การขนส่งและพื้นบ้านอัลสเตอร์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงเบลฟัสต์ ไอร์แลนด์เหนือ จะช่วยเราหาคำตอบ.
เรือไททานิก—พิเศษอย่างไร?
ไมเคิล แมกคอน อดีตผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์การขนส่งและพื้นบ้านกล่าวว่า เรือไททานิก เป็น “เรือที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์.” แต่เรือแบบนี้ใช่ว่าจะมีอยู่ลำเดียว. ไททานิก เป็นเรือลำที่สองของเรือขนาดใหญ่สามลำซึ่งถูกต่อขึ้นในอู่ฮาร์แลนด์ แอนด์ วอลฟฟ์ กรุงเบลฟัสต์. * ไททานิก เป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดลำหนึ่งในสมัยนั้น ยาว 269 เมตร และกว้าง 28 เมตร.
บริษัทเดินเรือไวต์สตาร์เป็นผู้ว่าจ้างให้ต่อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เหล่านี้เพื่อจะได้เป็นบริษัทขนส่งอันดับหนึ่งในเส้นทางเดินเรือแอตแลนติกเหนือที่มีมูลค่ามหาศาล. บริษัทไวต์สตาร์ไม่สามารถสู้กับบริษัทเดินเรือคูนาร์ดซึ่งเป็นคู่แข่งได้ในเรื่องความเร็ว. บริษัทไวต์สตาร์จึงเน้นการสร้างเรือที่ใหญ่กว่าและหรูหรากว่าเพื่อดึงดูดเศรษฐีและผู้มีชื่อเสียง.
แต่เรือไททานิก มีไว้เพื่ออีกวัตถุประสงค์หนึ่งด้วย. วิลเลียม แบลร์ซึ่งเป็นหัวหน้าของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไอร์แลนด์เหนือกล่าวว่า “ระหว่างปี 1900 ถึง 1914 มีผู้อพยพเข้ามาที่สหรัฐปีละเกือบ 900,000 คน.” บริษัทเดินเรือข้ามแอตแลนติกมีรายได้มากที่สุดจากการขนส่งผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้จากยุโรปไปยังสหรัฐ และไททานิก ก็จะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ด้วย.
โศกนาฏกรรม
อี. เจ. สมิท กัปตันเรือไททานิก รู้ว่ามีอันตรายจากภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ. เขาเคยเดินทางไปกับเรือโอลิมปิก ในเส้นทางนี้บ่อย ๆ. เรือลำอื่น ๆ ส่งสัญญาณเตือนว่ามีภูเขาน้ำแข็ง แต่คำเตือนบางส่วนถูกมองข้ามหรือดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับ.
ทันใดนั้น ผู้สังเกตการณ์ของเรือไททานิก ก็ร้องเตือนว่ามีภูเขาน้ำแข็งอยู่ข้างหน้า—แต่สายเกินไปแล้ว! เจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรบังคับไม่ให้หัวเรือพุ่งเข้าชนตรง ๆ ได้ แต่ขอบภูเขาน้ำแข็งครูดกับท้องเรือไททานิก. นั่นทำให้ลำเรือเสียหาย และน้ำทะเลรั่วเข้ามาในห้องด้านหน้าเรือหลายห้อง. ไม่นานกัปตันสมิทก็รู้ว่าเรือของเขากำลังจะจม. เขาส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือเอสโอเอสและสั่งให้หย่อนเรือชูชีพ.
ไททานิก มีเรือชูชีพ 16 ลำ และเรือที่ถอดประกอบได้อีกสี่ลำ. เรือชูชีพเหล่านี้สามารถบรรทุกคนได้ประมาณ 1,170 คน. แต่มีผู้โดยสารและลูกเรืออยู่ 2,200 คน! ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ เรือชูชีพหลายลำออกไปก่อนจะมีคนขึ้นเต็มลำ. และแทบไม่มีเรือลำไหนพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตที่กระโดดลงไปในทะเล. สุดท้ายแล้วมีผู้รอดชีวิตเพียง 705 คนเท่านั้น!
หลังเกิดเหตุ
หลังโศกนาฏกรรมไททานิก หน่วยงานที่ควบคุมการเดินเรือได้ออกกฎซึ่งเพิ่มความปลอดภัยในทะเล. กฎข้อหนึ่งระบุว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไปจะต้องมีเรือชูชีพเพียงพอสำหรับทุกคนในเรือ.
เป็นเวลาหลายปี ผู้คนเชื่อกันว่าไททานิก จมอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีรอยฉีกยาวและใหญ่ที่ท้องเรือเมื่อชนกับภูเขาน้ำแข็ง. อย่างไรก็ตาม ในปี 1985 หลังการค้นพบเรือไททานิก ที่ก้นทะเล ผู้สืบสวนได้ลงความเห็นอีกอย่างหนึ่งว่า น้ำที่เย็นจัดทำให้เหล็กของเรือเปราะและแตก. ไม่ถึงสามชั่วโมงหลังการชน เรือได้หักเป็นสองส่วนและจมลง. เหตุการณ์นี้จึงได้รับการบันทึกว่าเป็นหายนะภัยที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการเดินเรือ. *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 เรือที่ถูกต่อขึ้นก่อนไททานิก ชื่อโอลิมปิก. ส่วนเรือที่ถูกต่อขึ้นทีหลังชื่อบริแทนนิก.
^ วรรค 17 อ่านเรื่องราวของผู้รอดชีวิตจากเรือไททานิก ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 ตุลาคม 1981 หน้า 3-8.
[แผนที่หน้า 14]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
เซาแธมป์ตัน
↓
แชร์บูร์ก
↓
ควีนส์ทาวน์ (เมืองโคฟ)
↓
ตำแหน่งที่ไททานิก ชนกับภูเขาน้ำแข็ง
นิวยอร์ก
มหาสมุทรแอตแลนติก
[ภาพหน้า 12, 13]
“ไททานิก” ขณะกำลังสร้าง
[ภาพหน้า 13]
ใบพัดของ “ไททานิก”
[ภาพหน้า 13]
คนงานกำลังออกจากอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์ แอนด์ วอลฟฟ์ ในกรุงเบลฟัสต์ ไอร์แลนด์เหนือ
[ภาพหน้า 14]
อี. เจ. สมิท กัปตันเรือ “ไททานิก” (ขวา) กับเฮอร์เบิร์ต แมกเอลรอย หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลเอกสารและผู้โดยสารบนเรือ
[ที่มาของภาพ]
© Courtesy CSU Archive/age fotostock
[ที่มาของภาพหน้า 12]
Pages 12 and 13: Leaving Southampton under construction and shipyard: © National Museums Northern Ireland; propellers: © The Bridgeman Art Library
[ที่มาของภาพหน้า 15]
© SZ Photo/Knorr & Hirth/Bridgeman Art Library