การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์!
การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์!
ลองนึกภาพอาชญากรผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่เข้าไปควบคุมคอมพิวเตอร์หลายเครื่องโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว แล้วใช้เครื่องเหล่านั้น (เรียกว่า botnet หรือ robot network) ปล่อยโปรแกรมจำนวนมากเพื่อโจมตีประเทศหนึ่ง. ภายในไม่กี่นาที เว็บไซต์ทางทหาร การเงิน และการค้าของประเทศนั้นก็ล่ม. เครื่องเอทีเอ็มและเครือข่ายโทรศัพท์ใช้งานไม่ได้. เครื่องบินไม่อาจขึ้นบิน อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ถูกเจาะระบบคอมพิวเตอร์และระบบความปลอดภัย. ผู้คนจะทำอย่างไร? คุณเอง จะทำอย่างไร?
เหตุการณ์ข้างต้นอาจดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้. แต่ริชาร์ด เอ. คลาร์ก อดีตผู้ประสานงานด้านความปลอดภัย การป้องกันโครงสร้างพื้นฐาน และการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งสหรัฐ กล่าวว่าเหตุการณ์ทำนองนี้อาจเกิดขึ้นได้. ที่จริง เคยมีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์มาแล้ว. * และคุณอาจเคยเป็นเหยื่อด้วยซ้ำ.
ทำไมจึงมีคนต้องการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์? พวกเขาทำอย่างไร? และเนื่องจากมีอาชญากรรมไซเบอร์ค่อนข้างแพร่หลาย คุณจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร?
สนามรบดิจิตอล
การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์มีเหตุผลหลายอย่าง. เพื่อเป็นตัวอย่าง ผู้ก่อการร้ายหรือรัฐบาลบางรัฐบาลอาจพยายามเจาะข้อมูลในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของฝ่ายศัตรูเพื่อทำลายเครื่องมือที่เครือข่ายคอมพิวเตอร์เหล่านั้นควบคุมอยู่. ในปี 2010 วิลเลียม เจ. ลินน์ที่สาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ยอมรับว่า หลายต่อหลายครั้ง “ศัตรู” ต่างชาติได้โจมตีและเจาะเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เป็นความลับของชาติ และได้ขโมย “ไฟล์หลายพันไฟล์ . . . รวมถึงแบบของอาวุธ แผนปฏิบัติการทางทหาร และข้อมูลที่ได้จากการสอดส่อง.”—ดูกรอบ “การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์เมื่อไม่นานมานี้.”
อาชญากรทางคอมพิวเตอร์ใช้วิธีการคล้าย ๆ กันเพื่อขโมยทรัพย์สินทางปัญญาหรือข้อมูลทางการเงินของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล. มีรายงานว่าอาชญากรทำเงินได้ปีละหลายพันล้านดอลลาร์จากธุรกรรมทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการหลอกลวง.
แฮ็กเกอร์ที่เป็นอาชญากรได้เข้าไปควบคุมคอมพิวเตอร์ของผู้คนจำนวนมาก และใช้เครื่องเหล่านั้นเพื่อโจมตีระบบ. ในปี 2009 บริษัทด้านความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตแห่งหนึ่งได้เปิดโปงแก๊งอาชญากรแก๊งหนึ่งซึ่งควบคุมคอมพิวเตอร์จากระยะไกลเกือบสองล้านเครื่องทั่วโลก ซึ่งหลายเครื่องเป็นเครื่องส่วนบุคคล. ไม่นานมานี้ องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) กะประมาณว่า 1 ใน 3 ของคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตถูกคนอื่นควบคุมอยู่. คอมพิวเตอร์ของคุณถูกควบคุมโดยที่คุณไม่รู้ตัวไหม?
แอบเข้ามาโดยไม่รู้ตัว
ขอนึกภาพเหตุการณ์ต่อไปนี้. อาชญากรคนหนึ่งใส่โปรแกรมอันตรายไว้ในอินเทอร์เน็ต. เมื่อโปรแกรมหาคอมพิวเตอร์ของคุณเจอ มันจะแอบเจาะระบบป้องกันเข้ามา. เมื่อพบช่อง มันก็ฝังตัวในเครื่องของคุณและค้นหาข้อมูลที่มันใช้ได้ในเครื่อง. * แล้วโปรแกรมอันตรายนี้อาจเปลี่ยนแปลงหรือลบไฟล์คอมพิวเตอร์ ส่งตัวมันเองทางอีเมลไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ หรือส่งรหัสผ่าน ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลที่เป็นความลับอื่น ๆ กลับไปยังคนที่ส่งมันมา.
อาชญากรคอมพิวเตอร์อาจหลอกคุณให้ติดตั้งซอฟท์แวร์อันตรายเหล่านี้เองด้วยซ้ำ! โดยวิธีใด? คุณอาจทำอย่างนั้นเมื่อเปิดไฟล์ที่แนบมากับอีเมลซึ่งดูเหมือนไม่เป็นอันตราย คลิกลิงก์ในเว็บเพจ ดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมฟรี เสียบอุปกรณ์ความจำที่มีโปรแกรมเหล่านั้นอยู่เข้ากับเครื่องของคุณ หรือเพียงแค่ดูเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม. การทำสิ่งเหล่านี้แต่ละอย่างอาจเป็นการติดตั้งซอฟท์แวร์อันตรายในเครื่องของคุณ และทำให้คนอื่นควบคุมเครื่องของคุณได้.
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคอมพิวเตอร์ของคุณติดโปรแกรมเหล่านี้แล้ว? การตรวจสอบอาจยากมาก. คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตอาจดูเหมือนช้ามาก โปรแกรมของคุณอาจไม่ทำงาน อาจมีกรอบข้อความปรากฏขึ้นซึ่งบอกให้คุณติดตั้งโปรแกรมบางอย่าง หรือคอมพิวเตอร์ของคุณอาจมีอาการแปลก ๆ. ถ้าคุณเห็นอาการเหล่านี้ จงให้ช่างที่ไว้ใจได้ตรวจเครื่องของคุณ.
‘มองดูทางเดินของคุณด้วยความระวัง’
ขณะที่มีการพึ่งเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กันเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและเป็นรายบุคคล การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีมากขึ้น. ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงพยายามเพิ่มการป้องกันด้านคอมพิวเตอร์อย่างเร่งด่วน และบางประเทศได้ทำการทดสอบขนานใหญ่ว่าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของตนจะต้านการโจมตีได้หรือไม่. ถึงกระนั้น สตีเวน แชบินสกี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์แห่งสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางของสหรัฐยอมรับว่า “ถ้ามีเวลา แรงจูงใจ และเงินทุนมากพอ ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ใดที่ศัตรูซึ่งตั้งใจจริงจะเจาะไม่ได้.”
คุณจะทำอะไรได้เพื่อป้องกันตัวเองเมื่อใช้อินเทอร์เน็ต? แม้ว่าไม่มีวิธีที่จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คุณก็สามารถใช้มาตรการบางอย่างเพื่อทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณปลอดภัยมากขึ้น. (ดูกรอบ “ป้องกันตัวเอง!”) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.” (สุภาษิต 14:15) นี่เป็นคำแนะนำที่สุขุมจริง ๆ เมื่อคุณใช้อินเทอร์เน็ต!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์คือการจงใจเปลี่ยนแปลงข้อมูล โจมตี หรือทำลายระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และอาจรวมถึงข้อมูลหรือโปรแกรมที่เก็บหรือส่งทางระบบคอมพิวเตอร์เหล่านั้น.—สภาวิจัยแห่งชาติสหรัฐ
^ วรรค 10 ในปี 2011 แฮ็กเกอร์อาจใช้จุดอ่อนของคอมพิวเตอร์ซึ่งเท่าที่รู้กัน มีมากกว่า 45,000 จุด. โดยใช้จุดอ่อนเหล่านี้ พวกเขามักจะพยายามติดตั้งซอฟท์แวร์ที่เป็นอันตราย (malware) ในคอมพิวเตอร์ของคนอื่นโดยที่เจ้าของไม่รู้.
[คำโปรยหน้า 26]
แฮ็กเกอร์ที่เป็นอาชญากรได้เข้าไปควบคุมคอมพิวเตอร์จำนวนมากโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว
[คำโปรยหน้า 27]
โออีซีดีกะประมาณว่า 1 ใน 3 ของ คอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตถูก คนอื่นควบคุมจากระยะไกล
[กรอบหน้า 27]
การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์เมื่อไม่นานมานี้
ปี 2003: หนอนคอมพิวเตอร์สแลมเมอร์ (Slammer) แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทางอินเทอร์เน็ต โดยส่งผลต่อคอมพิวเตอร์ประมาณ 75,000 เครื่องภายในสิบนาที. * ความเร็วอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างมาก เว็บไซต์ล่ม เครื่องเอทีเอ็มใช้การไม่ได้ เครื่องบินไม่อาจขึ้นบิน และระบบคอมพิวเตอร์และความปลอดภัยที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งหนึ่งถูกเจาะระบบ.
ปี 2007: มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์หลายครั้งที่เอสโตเนีย ซึ่งทั้งรัฐบาล สื่อมวลชน และธนาคารล้วนได้รับผลกระทบ. การโจมตีส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ถูกควบคุมจากระยะไกล (botnet) มากกว่าหนึ่งล้านเครื่องใน 75 ประเทศซึ่งได้ส่งคำขอข้อมูลหลอก ๆ ไปยังเป้าหมายการโจมตี จนทำให้ระบบหยุดทำงาน.
ปี 2010: หนอนคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนมากชื่อสตักซ์เน็ต (Stuxnet) โจมตีระบบควบคุมที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในอิหร่าน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 25 หนอนคอมพิวเตอร์เป็นโปรแกรมอันตรายซึ่งทำซ้ำตัวเองผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น. เช่นเดียวกับโปรแกรมอันตรายชนิดอื่น ๆ หนอนคอมพิวเตอร์มักจะมีชื่อเฉพาะ เช่น สแลมเมอร์.
[กรอบหน้า 28]
ป้องกันตัวเอง!
1. ติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส โปรแกรมป้องกันสปายแวร์ และไฟร์วอลล์ในคอมพิวเตอร์ของคุณ. อัพเดทซอฟท์แวร์เหล่านั้นและระบบปฏิบัติการให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งอัพเดทเกี่ยวกับความปลอดภัย.
2. คิดก่อนจะคลิกลิงก์หรือเปิดไฟล์ที่แนบมาในอีเมลหรือข้อความทันใจแม้ว่าจะเป็นของเพื่อนก็ตาม. ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษถ้าอีเมลถูกส่งมาโดยที่ไม่ได้ขอและให้คุณกรอกข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสผ่าน.
3. อย่าก๊อบปี้หรือเปิดใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่รู้แหล่งที่มา.
4. รหัสผ่านอย่างน้อยควรมีแปดตัวและให้มีบางตัวเป็นตัวเลขและสัญลักษณ์ และเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ ๆ. ใช้รหัสผ่านที่ต่างกันสำหรับบัญชีผู้ใช้แต่ละบัญชี.
5. ทำธุรกรรมออนไลน์กับบริษัทที่มีชื่อเสียงซึ่งใช้เว็บไซต์ที่ปลอดภัยเท่านั้น. *
6. อย่าให้ข้อมูลที่เป็นความลับของคุณเองหรือบัญชีของคุณเมื่อใช้การเชื่อมโยงไร้สาย (Wi-Fi) ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ในที่สาธารณะ.
7. ปิดคอมพิวเตอร์เมื่อคุณไม่ใช้แล้ว.
8. สำรองข้อมูลของคุณเป็นประจำ และเก็บสำเนาไว้ในที่ที่ปลอดภัย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 36 เมื่อเปิดเว็บเพจที่ปลอดภัยในโปรแกรมค้นดูเว็บ จะมีสัญลักษณ์แม่กุญแจ และมี “https://” ในบรรทัดที่อยู่. ตัว “s” หมายถึงปลอดภัย.
[ภาพหน้า 28]
พยายามทำสิ่งที่ทำได้เพื่อป้องกันความปลอดภัยเมื่อใช้อินเทอร์เน็ต