บาติก—ผ้าที่งดงามของอินโดนีเซีย
บาติก—ผ้าที่งดงามของอินโดนีเซีย
ผ้าบาติกมีมานานแล้ว แต่ก็ไม่ล้าสมัย. เหล่าผู้สูงศักดิ์สวมใส่ผ้านี้ในงานรับรองอันหรูหรา ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าในตลาด. ผ้านี้งดงาม มีสีสัน และมีหลากหลายประเภท. ผ้าบาติกคืออะไร? มีการทำผ้าบาติกอย่างไร? ผ้านี้เริ่มมีขึ้นที่ไหน? และปัจจุบันมีการใช้ผ้านี้ทำอะไรบ้าง?
ผ้าบาติกมีประวัติอันยาวนาน. ลวดลายบนผ้าบาติกเกิดขึ้นโดยการใช้เทคนิคพิเศษในการเคลือบผ้าให้ไม่ติดสี และกลายมาเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย. ผ้าที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันเป็นที่นิยมทั่วโลก.
สีกับเทียน
ช่างจะทำผ้าบาติกโดยเอาน้ำเทียนใส่ในเครื่องมือเล็ก ๆ ที่ทำด้วยทองแดงแล้ววาดลวดลายอันประณีตบรรจงลงบนผืนผ้า. เมื่อเทียนแข็งตัว เขาจะย้อมสีผ้า. ส่วนที่มีเทียนเคลือบอยู่จะยังคงเป็นสีเดิม. บ่อยครั้งมีการทำขั้นตอนนี้หลายครั้งเพื่อย้อมสีอื่น ๆ และทำให้เกิดลวดลายอันสวยงาม.
ตอนกลางศตวรรษที่ 19 ช่างฝีมือผ้าบาติกใช้แม่พิมพ์ทองแดงพิมพ์เทียนลงบนผ้า. วิธีการนี้รวดเร็วกว่าการวาดด้วยมือ และสามารถทำผ้าที่มีลายเหมือนกันได้. ระหว่างศตวรรษที่ 20 เริ่มมีโรงงานที่ผลิตผ้าด้วยการพิมพ์แบบซิลค์สกรีน. ผ้าบาติกที่เป็นงานหัตถกรรมยังคงหาซื้อได้อยู่. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผ้าที่ขายกันส่วนใหญ่เป็นผ้าบาติกที่พิมพ์ลายจากโรงงาน.
ส่วนใหญ่มีการใช้ผ้าฝ้ายและผ้าไหมในการทำผ้าบาติก. สีย้อมได้มาจากใบไม้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ และเครื่องเทศในท้องถิ่น แต่ก็มีการใช้สีสังเคราะห์ด้วย. ก่อนจะเริ่มใช้เทียนในการสร้างลวดลาย มีการใช้ใบไม้บดกับน้ำ ไขสัตว์ และแม้แต่โคลน. ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มีการใช้ขี้ผึ้งสังเคราะห์. แต่ก็ยังมีการใช้ขี้ผึ้งผสมพาราฟินกันอยู่.
ประวัติอันยาวนาน—อนาคตที่สดใส
ไม่มีใครรู้ว่าผ้าบาติกผืนแรกทำขึ้นที่ไหนและเมื่อไร. ในประเทศจีน มีการค้นพบชิ้นส่วนผ้าบาติกที่เก่าแก่ในสมัยศตวรรษที่หกแห่งสากลศักราช. ยังไม่ชัดเจนว่าวิธีการทำผ้าบาติกถูกนำเข้ามาในอินโดนีเซียเมื่อไร แต่พอถึงศตวรรษที่ 17 มีหลักฐานแสดงว่ามีการค้าขายผ้าบาติกระหว่างอินโดนีเซียกับดินแดนอื่น.
ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ผ้าบาติกเริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้นและกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของอินโดนีเซีย. ในปี 2009 เพื่อเป็นการยอมรับประวัติอันยาวนานของผ้าบาติกในอินโดนีเซียและผลกระทบที่มีต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น ยูเนสโกได้ประกาศให้ผ้าบาติกเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ.”
อาภรณ์ผ้าบาติก
คนท้องถิ่นมีวิธีในการสวมใส่ พับ และทำผ้าบาติกซึ่งได้รับอิทธิพลจากความเชื่อหรือการถือโชคลาง. หลายจังหวัดในอินโดนีเซียมีสีและลายผ้าบาติกเฉพาะของตนเอง. ตัวอย่างเช่น ผ้าบาติกจากชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวาจะมีสีสันฉูดฉาด ส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้ นก และสัตว์อื่น ๆ. แต่ผ้าบาติกจากภาคกลางของเกาะชวามักจะมีสีสันน้อยกว่า
และลายเป็นรูปทรงเรขาคณิต. มีการบันทึกลายผ้าบาติกไว้ประมาณ 3,000 ลาย.เครื่องแต่งกายพื้นเมืองที่เป็นผ้าบาติกชิ้นหนึ่งคือเซอเล็นดัง หรือผ้าพาดไหล่ของผู้หญิง แต่ถ้าแดดร้อนก็ใช้ผ้านี้คลุมศีรษะได้ด้วย. พวกผู้หญิงมักจะใช้ผ้านี้ผูกตัวลูกน้อยแนบกับเอวเพื่อพาลูกไปที่ต่าง ๆ หรือใช้หิ้วของที่ซื้อในตลาด.
ผู้ชายใช้ผ้าโพกศีรษะที่เรียกว่าอีเกต เกปาลา ซึ่งเป็นผ้าบาติกสี่เหลี่ยมจัตุรัส. บ่อยครั้งผ้าโพกศีรษะนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายที่เป็นทางการสำหรับงานพิธีต่าง ๆ.
เครื่องแต่งกายที่นิยมใช้กันซึ่งทำจากผ้าบาติกอีกชิ้นหนึ่งคือผ้านุ่งที่เรียกกันว่าโสร่ง. บางครั้ง มีการเย็บต่อกันเป็นผ้าถุง. ทั้งผู้ชายและผู้หญิงนุ่งโสร่ง.
มีการนำผ้าบาติกไปตัดเย็บเสื้อผ้าแทบทุกชนิด ตั้งแต่กางเกงลำลองไปจนถึงชุดออกงานที่หรูหรา. มีการนำผ้านี้ไปประดับผนัง ทำเป็นผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูที่นอน และอื่น ๆ อีกด้วย. นักท่องเที่ยวที่เดินชมสินค้าในตลาดของอินโดนีเซียอาจพบกระเป๋า รองเท้าแตะ โคมไฟ และแม้กระทั่งกระเป๋าใส่แลปทอป. ผ้านี้ใช้ประโยชน์ได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด เป็นผ้าที่งดงามของอินโดนีเซียอย่างแท้จริง!
[ภาพหน้า 23]
ช่างจะเอาน้ำเทียนใส่เครื่องมือเล็ก ๆ ที่ทำด้วยทองแดงแล้ววาดลวดลายอันประณีตบรรจงลงบนผืนผ้าด้วยมือ
[ภาพหน้า 23]
นำผ้าที่มีลวดลายเคลือบเทียนแล้วมาจุ่มลงไปในน้ำสีหลายครั้ง
[ภาพหน้า 23]
เสื้อผ้าจากผ้าบาติก
1. เซอเล็นดัง
2. อีเกต เกปาลา
3. โสร่ง