1. เลือกซื้ออย่างฉลาด
1. เลือกซื้ออย่างฉลาด
นอกจากคุณจะปลูกผักกินเอง คุณคงต้องไปซื้ออาหารจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เกต. คุณจะเลือกซื้ออาหารอย่างไรให้ปลอดภัย?
● วางแผนว่าจะซื้ออะไรก่อนหลัง.
คณะกรรมการข้อมูลความปลอดภัยด้านอาหารของออสเตรเลียแนะนำว่า “ก่อนอื่น ซื้ออาหารที่ไม่เน่าเสีย. ซื้อ [ของที่ต้องเก็บใน] ตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งหลังจากซื้อของอื่น ๆ เสร็จแล้ว.” นอกจากนั้น ถ้าคุณจะซื้ออาหารที่ทำสำเร็จแล้ว ให้ซื้อเมื่อกำลังจะกลับบ้าน.
● พยายามซื้ออาหารสด.
พยายามซื้ออาหารสดถ้าเป็นไปได้. * รูท แม่ลูกสองที่ไนจีเรียพูดว่า “ดิฉันมักจะไปจ่ายตลาดตอนเช้าตรู่ เพราะตอนเช้า ๆ อาหารจะสดกว่า.” เอลิซาเบทซึ่งอยู่ที่เม็กซิโกไปซื้ออาหารที่ตลาดสดเช่นกัน. เธอบอกว่า “ที่ตลาด ดิฉันสามารถหาซื้อผักและผลไม้สด ๆ และเลือกเองได้ด้วย. ดิฉันซื้อเนื้อสัตว์ที่ชำแหละในวันนั้น. ถ้าจำเป็น ดิฉันจะเก็บส่วนที่ยังไม่ใช้ในช่องแช่แข็ง.”
● ตรวจสอบสภาพอาหาร.
ถามตัวเองว่า ‘ผิวด้านนอกของผักผลไม้ยังสมบูรณ์อยู่ไหม? เนื้อสัตว์มีกลิ่นผิดปกติไหม?’ ถ้ามีการบรรจุหีบห่อ ให้ตรวจสภาพของหีบห่อ. หากมีรอยฉีกขาด แบคทีเรียที่เป็นพิษอาจเข้าไปในอาหารได้.
ชุ้งไฟ้ ซึ่งปกติซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เกตในฮ่องกงพูดว่า “เราจำเป็นต้องดูวันหมดอายุซึ่งพิมพ์ไว้บนหีบห่อด้วย.” เพราะอะไร? ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าแม้อาหารที่ “หมดอายุ” แล้วจะมีลักษณะ กลิ่น และรสชาติดีอยู่ แต่ก็ยังทำให้คุณป่วยได้.
● นำกลับบ้านอย่างปลอดภัย.
ถ้าคุณใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าเมื่อไปซื้อของ ให้ซักหรือล้างบ่อย ๆ ด้วยน้ำอุ่นผสมผงซักฟอก. แยกเนื้อสัตว์ใส่อีกถุงหนึ่ง เพื่อไม่ให้เปื้อนของอย่างอื่น.
เอนริโกและโลเรดานา ซึ่งเป็นคู่สมรสในอิตาลี ซื้ออาหารใกล้บ้าน. สองคนนี้บอกว่า “พอเราซื้ออาหารใกล้บ้าน เราก็ไม่ต้องใช้เวลามากเพื่อจะนำอาหารกลับบ้านซึ่งอาจทำให้ของเสียได้.” ถ้าต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาทีกว่าจะกลับถึงบ้าน ให้ใส่อาหารที่ต้องแช่เย็นหรือแช่แข็งไว้ในถุงเก็บความเย็น หรือใช้วิธีอื่น ๆ รักษาความเย็นไว้.
ในบทความถัดไป เชิญอ่านวิธีทำให้อาหารปลอดภัยหลังจากมาถึงบ้านแล้ว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 ดูบทความ “ข้อที่ 1—เลือกกินอย่างฉลาด” ในตื่นเถิด! ฉบับมีนาคม 2011.
[กรอบหน้า 4]
ฝึกลูกของคุณ: “ดิฉันสอนลูกให้รู้จักดูวันหมดอายุก่อนจะซื้ออาหารที่บรรจุหีบห่อ เช่น ขนมขบเคี้ยว.”—รูท ไนจีเรีย