ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เพ่งดูโลก

เพ่งดูโลก

เพ่ง​ดู​โลก

ใน​สาธารณรัฐ​จอร์เจีย​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​ยุโรป “จำนวน​ของ​คน​ที่​หย่าร้าง​เพิ่ม​ขึ้น​เกือบ​สอง​เท่า​ภาย​ใน​ช่วง​สิบ​ปี​ที่​ผ่าน​มา.” คน​ที่​หย่าร้าง​กัน​ส่วน​ใหญ่​มี​อายุ​ต่ำ​กว่า 20 ปี.—หนังสือ​พิมพ์​ไฟแนนเชียล จอร์เจีย

ใน​ไอร์แลนด์ 17 เปอร์เซ็นต์​ของ​วัยรุ่น​อายุ​ระหว่าง 11 ถึง 16 ปี “เคย​บอก​ชื่อ​และ​นามสกุล​ของ​พวก​เขา​กับ​คน​ที่​เขา​ไม่​รู้​จัก​ใน​อินเทอร์เน็ต.” สิบ​เปอร์เซ็นต์​ของ​วัยรุ่น​เคย​ให้ “ที่​อยู่​อีเมล เบอร์​โทรศัพท์​มือ​ถือ หรือ​รูป​ถ่าย​ของ​ตน.”—สมาคม​ป้องกัน​การ​ทำ​ทารุณกรรม​เด็ก​แห่ง​ไอร์แลนด์

ทั่ว​โลก มี​ไฟ​ป่า​ที่​เกิด​ขึ้น​เอง​ตาม​ธรรมชาติ​เพียง 4 เปอร์เซ็นต์​เท่า​นั้น. ส่วน​ที่​เหลือ มนุษย์​เป็น​ผู้​ทำ​ให้​เกิด​ไฟ​ป่า​ทั้ง​ที่​เจตนา​หรือ​ไม่​เจตนา​ก็​ตาม.—เพรสเซพอร์ทัล เยอรมนี

“เกือบ​หนึ่ง​ใน 10 ของ​ชาว​อเมริกัน [อายุ 12 ปี​ขึ้น​ไป] บอก​ว่า​เขา​ใช้​ยา​เสพ​ติด​เป็น​ประจำ รวม​ถึง​กัญชา โคเคน เฮโรอีน ยา​ที่​ออก​ฤทธิ์​หลอน​ประสาท สาร​สูด​ดม หรือ​ใช้​ยา​เพื่อ​ความ​เพลิดเพลิน​ซึ่ง​ปกติ​แล้ว​ต้อง​มี​ใบ​สั่ง​แพทย์.”—หนังสือ​พิมพ์​ยูเอสเอ ทูเดย์ สหรัฐ​อเมริกา

การ​รู้​จัก​ควบคุม​ตัว​เอง​เป็น​เคล็ดลับ​ของ​ความ​มั่นคง​ทาง​อารมณ์

วารสาร​ไทม์ กล่าว​ว่า “งาน​วิจัย​แสดง​ว่า​การ​ขาด​การ​รู้​จัก​ควบคุม​ตัว​เอง​ใน​ช่วง​วัยรุ่น​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​สุขภาพ ปัญหา​ด้าน​การ​เงิน และ​มี​ประวัติ​ด้าน​อาชญากรรม​ก่อน​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่.” จาก​การ​ศึกษา​ผู้​คน​กว่า 1,000 คน​ตั้ง​แต่​เกิด​จน​อายุ 32 ปี​พบ​ว่า “เด็ก​ที่​ฉุนเฉียว โมโห​ง่าย และ​มี​ปัญหา​มาก​ที่​สุด​กับ​การ​อด​ทน​รอ​เพื่อ​จะ​ได้​สิ่ง​ที่​ต้องการ” เมื่อ​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว เด็ก​เหล่า​นี้​มี​โอกาส​ที่​จะ​มี​ปัญหา​สุขภาพ มี​ราย​ได้​ต่ำ เป็น​พ่อ​แม่​เลี้ยง​เดี่ยว หรือ​เคย​ก่อ​อาชญากรรม​มาก​กว่า​คน​อื่น​สาม​เท่า. วารสาร​นี้​กล่าว​เสริม​ว่า “การ​รู้​จัก​ควบคุม​ตัว​เอง​เป็น​เรื่อง​ที่​เรียน​รู้​ได้ โรง​เรียน​และ​ครอบครัว​มี​ส่วน​ใน​การ​สอน​เด็ก ๆ ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย​ให้​มี​การ​ควบคุม​ตัว​เอง​ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​เติบโต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​สุขภาพ​ดี​และ​มี​ความ​มั่นคง​ทาง​อารมณ์.”

ให้​บทเรียน​คน​ขับ​รถ​แย่ ๆ

เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​ใน​อินเดีย​พยายาม​หา​วิธี​ใหม่ ๆ เพื่อ​จัด​การ​กับ​คน​ที่​มัก​ทำ​ผิด​กฎ​จราจร​โดย​ให้​คน​เหล่า​นั้น​ไป​เป็น​ตำรวจ​จราจร​กับ​พวก​เขา. วัตถุ​ประสงค์​ของ​การ​ทำ​เช่น​นี้​ก็​เพื่อ​ช่วย​ผู้​ที่​ขับ​รถ​ให้​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​ตำรวจ​เมื่อ​มี​ผู้​ฝ่าฝืน​กฎ​จราจร. ปัจจุบัน ตำรวจ​ใน​เมือง​กูร์กอน​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​อินเดีย​ไม่​เพียง​แค่​เรียก​ผู้​ทำ​ผิด​ให้​จอด​และ​เสีย​ค่า​ปรับ แต่​ให้​คน​ขับ​เหล่า​นั้น​ร่วม​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​เพื่อ​ให้​สัญญาณ​จราจร​เป็น​เวลา​ครึ่ง​ชั่วโมง​หรือ​มาก​กว่า​นั้น. คน​ขับ​บาง​คน​ยอม​รับ​ว่า​บทเรียน​นี้​เปลี่ยน​ทัศนะ​ของ​เขา. พาที อาโรรา รอง​ผู้​บังคับ​การ​ตำรวจ​ท้องถิ่น​บอก​ว่า “ทุก​วัน​เรา​เขียน [ใบ​สั่ง] หนึ่ง​พัน​ใบ​ให้​กับ​ผู้​ที่​ฝ่าฝืน​กฎ​จราจร​ใน​กูร์กอน. แล้ว​เรา​ยัง​มี ‘ตำรวจ’ เพิ่ม​อีก​วัน​ละ 1,000 นาย​ด้วย.”