โรคเกาต์—สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
โรคเกาต์—สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
เกาต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบมากที่สุดและอาจทำให้คนที่เป็นโรคนี้เจ็บปวดอย่างรุนแรง. หนังสือที่ชื่อโรคข้ออักเสบ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “โรคเกาต์เป็นความผิดปกติของกระบวนการสร้างและสลายกรดยูริก.” นอกจากนั้น “โรคเกาต์เป็นความผิดปกติที่มีสาเหตุซึ่งสามารถระบุได้แน่นอน กล่าวคือ โรคนี้เกิดจากการที่มีผลึกกรดยูริกในน้ำไขข้อ . . . โดยเฉพาะในหัวแม่เท้า.”
กรดยูริกเป็นของเสียที่ไหลเวียนอยู่ในเลือด และเป็นผลที่เกิดจากการสลายตัวของสารที่เรียกว่าพิวรีน. เมื่อมีการสะสมของกรดยูริก ซึ่งมักเกิดจากการขจัดกรดนี้ออกไปทางปัสสาวะไม่มากพอ ผลึกที่แหลมคมเหมือนเข็มอาจก่อตัวขึ้นในข้อบริเวณฐานหัวแม่เท้า แต่ก็อาจก่อตัวขึ้นในข้อต่ออื่น ๆ ได้ด้วย. ข้อต่ออาจเริ่มอักเสบและบวมแดง เมื่อจับจะรู้สึกร้อน และเจ็บปวดอย่างรุนแรง. * อัลเฟรดซึ่งเป็นโรคนี้กล่าวว่า “แค่แตะเบา ๆ ก็เจ็บจี๊ดจนทนไม่ไหวเลยทีเดียว.”
เอกสารชุดหนึ่งซึ่งจัดพิมพ์โดยสมาคมโรคข้ออักเสบแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า “หากไม่ได้รับการรักษา โรคเกาต์มักสำแดงอาการอยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์. อาการของโรคอาจไม่กำเริบขึ้นมาอีกเป็นเวลาหลายเดือนหรือแม้แต่หลายปี. หากไม่ได้ดูแลจัดการโรคนี้ให้ดี อาการของเกาต์จะกำเริบถี่ขึ้น อาการของโรค [อาจเริ่ม] รุนแรงยิ่งขึ้น และข้อต่ออาจได้รับความเสียหายอย่างถาวร. บางครั้งโรคเกาต์อาจลุกลามจนกลายเป็นโรคเรื้อรัง.”
โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่รักษาได้ง่ายที่สุด. การรักษามักทำกันโดยใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่กลุ่มสเตอรอยด์ หรือในกรณีที่กลับมาเป็นซ้ำหรือมีอาการรุนแรงมากอาจรักษาโดยใช้ยาอัลโลพิวรินอลซึ่งช่วยยับยั้งการก่อตัวของกรดยูริก. เราสามารถป้องกันโรคเกาต์ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้ไหม? ได้ ถ้าผู้ป่วยรู้ปัจจัยเสี่ยง.
ปัจจัยเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำ
ปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นคืออายุ เพศ และพันธุกรรม. ตามข้อมูลจากนักวิชาการบางคน มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคเกาต์อยู่ในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคนี้. อัลเฟรด ซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้ กล่าวว่า “ทั้งพ่อและปู่ของผมเป็นโรคเกาต์.” นอกจากนั้น ส่วนใหญ่แล้วโรคเกาต์เกิดกับผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 50 ปี. ที่จริง ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าผู้หญิงสามถึงสี่เท่า. สำหรับผู้หญิง มีน้อยรายที่เป็นโรคนี้ก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน.
โรคอ้วนและอาหาร: สารานุกรมโภชนาการของมนุษย์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ดูเหมือนว่าการจัดการกับโรคเกาต์ด้วยโภชนาการไม่ได้เน้นที่การจำกัดอาหารที่มีพิวรีนสูงอีกต่อไป แต่เปลี่ยนมาเน้นที่การจัดการกับความผิดปกติของกระบวนการสร้างและสลายของร่างกายที่มักเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเกาต์ กล่าวคือ โรคอ้วน กลุ่มอาการต้านอินซูลิน และความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด เช่น คอเลสเตอรอล.”
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนยังแนะนำให้ลดปริมาณการบริโภคอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น ยีสต์ ปลาบางชนิด และเนื้อแดงทั้งหลาย. *
การดื่ม: การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจยับยั้งการขจัดกรดยูริกได้ ซึ่งทำให้เกิดการสะสมกรดนี้.
อาการเจ็บป่วยบางอย่าง: ตามข้อมูลของคลินิกมาโยในสหรัฐ อาการเจ็บป่วยบางอย่างอาจกระตุ้นเกาต์ให้กำเริบ ตัวอย่างเช่น “ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาและโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง.” โรคเกาต์ยังเชื่อมโยงกับ “การบาดเจ็บหรือความเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันหรือรุนแรง และการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เพราะต้องนอนอยู่กับเตียง” รวมทั้งโรคไตด้วย. ดูเหมือนว่าอาการของโรคเกาต์มักเกิดขึ้นที่นิ้วหัวแม่เท้าเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไม่ค่อยดีและมีอุณหภูมิต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสองประการที่ทำให้มีการสะสมกรดยูริกมากขึ้น.
ยา: มียาบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเกาต์ เช่น ไทอาไซด์ไดยูเรติกส์ (ยาที่ช่วยขับน้ำออกจากร่างกาย ซึ่งมักใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง), แอสไพรินในขนาดยาต่ำ ๆ, ยาต้านการปฏิเสธของร่างกายที่ให้แก่ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ, และยาเคมีบำบัด.
ปัจจัยห้าประการเพื่อลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำ
เนื่องจากการเกิดเกาต์มักเชื่อมโยงกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรูปแบบการใช้ชีวิต ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจช่วยผู้ป่วยให้ลดความเสี่ยงที่โรคนี้จะกำเริบ. *
1. เนื่องจากเกาต์เป็นความผิดปกติของกระบวนการสร้างและสลายของร่างกาย คนที่เป็นโรคนี้ควรพยายามควบคุมน้ำหนักให้ดีด้วยการจำกัดปริมาณแคลอรีที่รับเข้าสู่ร่างกาย. นอกจากนั้น น้ำหนักที่มากเกินไปยังเพิ่มแรงกดแก่ข้อต่อต่าง ๆ ที่รับน้ำหนักด้วย.
2. ระวังอย่าลดอาหารและลดน้ำหนักเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นชั่วคราว.
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานโปรตีนจากสัตว์มากเกินไป. นักวิชาการบางคนแนะนำให้จำกัดการรับประทานเนื้อที่ไม่มีมัน รวมทั้งเนื้อสัตว์ปีกและปลา ไม่เกินวันละ 170 กรัม.
4. ถ้าคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จงดื่มแต่พอประมาณ. ถ้ามีอาการเกาต์กำเริบขึ้น ควรงดดื่ม.
5. ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือน้ำมาก ๆ. น้ำหรือเครื่องดื่มเหล่านี้ช่วยทำให้กรดยูริกเจือจางและขับกรดนี้ออกจากร่างกาย. *
มาตรการป้องกันดังกล่าวทำให้เรานึกถึงคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่เตือนเราให้ “รู้จักประมาณตน” และ “ไม่ดื่มเหล้าองุ่นมาก.” (1 ติโมเธียว 3:2, 8, 11) แน่นอน พระผู้สร้างผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 อาจมีอาการคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นเมื่อผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตก่อตัวขึ้นในบริเวณข้อต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในกระดูกอ่อนเรียบเนียนที่หุ้มปลายกระดูก. อย่างไรก็ตาม อาการนี้ซึ่งเรียกว่า “โรคเกาต์เทียม” เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งและอาจต้องรักษาด้วยวิธีที่ต่างออกไป.
^ วรรค 9 ตามที่ลงในบทความหนึ่งของวารสารออสเตรเลียน ดอกเตอร์ ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าการบริโภคอาหารบางอย่างจำพวกเห็ดและผักต่าง ๆ ที่มีพิวรีนสูง เช่น ผักโขม กะหล่ำปลี และพืชในตระกูลถั่วทั้งหลาย “เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้มีความเสี่ยงสูงยิ่งขึ้นที่จะเป็นโรคเกาต์แบบเฉียบพลัน.”
^ วรรค 14 บทความนี้ไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้คำแนะนำทางการแพทย์. ผู้ป่วยแต่ละคนอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่เหมาะกับตัวเขาเอง. นอกจากนั้น ผู้ป่วยไม่ควรเลิกกินยาที่แพทย์สั่งหรือเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในเรื่องอาหารการกินโดยไม่ปรึกษาแพทย์เสียก่อน.
^ วรรค 19 ข้อมูลนี้อาศัยคำแนะนำที่ได้จากมูลนิธิมาโยเพื่อการศึกษาและค้นคว้าด้านการแพทย์.
[แผนภาพ/ภาพหน้า 24]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
ข้อที่อักเสบ
เยื่อหุ้มข้อ
[รูปภาพ]
ผลึกกรดยูริกที่สะสม