ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในยุคกลาง
วิธีการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่อาจมีประวัติยาวนานกว่าที่คุณคิด. ที่จริง วิธีการรักษาที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ในบางดินแดนมีการรักษาเช่นนี้มานานหลายร้อยปีแล้ว. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอพิจารณาประวัติวงการแพทย์ในช่วงยุคกลาง ณ ดินแดนตะวันออกกลาง.
ในปีสากลศักราช 805 กาหลิบฮารูน อัล-ราษจิด ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลในกรุงแบกแดดเมืองหลวงของท่าน. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 จนถึงสิ้นสุดศตวรรษที่ 13 ผู้มีอำนาจปกครองคนอื่น ๆ ได้สร้างและเปิดใช้งานโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วจักรวรรดิอิสลาม ตั้งแต่สเปนไปจนถึงอินเดีย.
โรงพยาบาลเหล่านี้พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยทุกคนทั้งคนรวยและคนจนในทุกศาสนา. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงแค่ให้การรักษาเท่านั้น แต่ยังได้ศึกษาค้นคว้าและฝึกหัดแพทย์ใหม่ ๆ ด้วย. มีแผนกเฉพาะทางต่าง ๆ เช่น แผนกอายุรศาสตร์ จักษุวิทยา ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ ศัลยศาสตร์ โรคติดต่อ และจิตเวชศาสตร์. แพทย์จะออกตรวจผู้ป่วยพร้อมกับนักศึกษาแพทย์ทุกเช้า แล้วสั่งจ่ายอาหารและยาให้กับผู้ป่วย โดยมีเภสัชกรประจำโรงพยาบาลคอยจ่ายยา. มีเจ้าหน้าที่ดูแลงานต่าง ๆ เช่น จัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วย ดูแลด้านการเงิน และเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วย รวมถึงงานธุรการอื่น ๆ ซึ่งคล้ายกับโรงพยาบาลในปัจจุบัน.
นักประวัติศาสตร์คิดว่าโรงพยาบาลเหล่านี้เป็น “หนึ่งในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสังคมอิสลามในยุคกลาง.” โฮเวิร์ด อาร์ เทอร์เนอร์ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าทั่วจักรวรรดิอิสลาม “มีการพัฒนาระบบของโรงพยาบาลเหล่านี้อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งมีผลต่อวิทยาศาสตร์สุขภาพและการดูแลสุขภาพมาจนถึงทุกวันนี้.”
ราซีซ ซึ่งเกิดในช่วงกลางศตวรรษที่เก้า ในเมืองเรย์โบราณ ปัจจุบันอยู่ในย่านชานเมืองของเตหะราน. เขาได้รับการขนานนามว่า “แพทย์ผู้ให้การรักษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งโลกอิสลามในยุคกลาง.” เพื่อช่วยแพทย์คนอื่น ๆ นักวิทยาศาสตร์ช่างคิดผู้นี้ได้บันทึกวิธีการทดลอง ภาวะของผู้ป่วย เครื่องมือแพทย์ และผลการรักษาของเขาไว้. เขาได้แนะนำแพทย์ทั้งหมดให้พยายามที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้ทันกับการพัฒนาล่าสุดที่มีอยู่ในแผนกของตน.
ราซีซประสบความสำเร็จในหลายด้าน. ตัวอย่างเช่น งานเขียนเกี่ยวกับการแพทย์ของเขาในหนังสือ อัล–ฮาวี (ตำราแพทย์ทั่วไป) ซึ่งมีทั้งหมด 23 เล่มได้รับการยกย่องให้เป็นตำราทางการแพทย์ที่ดีเยี่ยม. กล่าวกันว่า ความรู้ในสาขาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา และศัลยศาสตร์เส้นประสาทตาล้วนมีที่มาจากหนังสือเล่มนี้. การอธิบายลักษณะโรคไข้ทรพิษและโรคหัดเป็นงานเขียนทางการแพทย์ที่ถูกต้องและเก่าแก่ที่สุดจากงานเขียนของเขาทั้งหมด 56 ชิ้น. ราซีซยังค้นพบด้วยว่าการเป็นไข้เป็นหนึ่งในกลไกของร่างกายเพื่อต่อสู้กับโรค.
ยิ่งกว่านั้น เขาได้ดูแลโรงพยาบาลในเมืองเรย์และกรุงแบกแดดเพื่อรักษาผู้ป่วยทางจิต ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับการขนานนามว่าบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์และจิตบำบัด. นอกจากงานเขียนทางการแพทย์ ราซีซยังเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเคมี ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปรัชญา และศาสนศาสตร์.
อะวิเซนนา เป็นผู้บุกเบิกของวงการแพทย์อีกคนหนึ่ง เขามาจากบูคารา ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน. เขาเป็นหนึ่งในแพทย์ นักปรัชญา นักดาราศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในศตวรรษที่ 11. อะวิเซนนาเขียนสารานุกรมหลักการแพทย์ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาความรู้ทางการแพทย์ทั้งหมด.
อะวิเซนนาได้เขียนในหนังสือของเขาว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อซึ่งสามารถแพร่ไปกับน้ำและดิน อารมณ์สามารถส่งผลต่อสุขภาพ และเส้นประสาทส่งผ่านความรู้สึกและทำให้กล้ามเนื้อหดตัวได้. หนังสือเล่มนี้ยังอธิบายยา 760 ชนิด ซึ่งบอกส่วนผสม สรรพคุณและวิธีใช้ รวมถึงวิธีทดลองยาใหม่ ๆ. มีการแปลหนังสือนี้เป็นภาษาละตินและถูกใช้ในวิทยาลัยแพทย์หลายแห่งในยุโรปเป็นเวลาหลายร้อยปี.
อัลบีอูเคซิส เป็นอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ของวงการแพทย์. นักคิดค้นที่มีแนวคิดใหม่ ๆ แห่งศตวรรษที่สิบจากแคว้นอันดาลูเซียในสเปน. เขาได้เขียนชุดหนังสือ 30 เล่ม รวมถึงหนังสือหนา 300 หน้าเกี่ยวกับการผ่าตัด. ในหนังสือเกี่ยวกับการผ่าตัด เขาอธิบายวิธีการผ่าตัดต่าง ๆ เช่น การใช้เอ็นเย็บแผลภายใน การผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะโดยสอดเครื่องมือเข้าไปในท่อปัสสาวะ การตัดต่อมไทรอยด์ และการผ่าตัดต้อกระจก.
อัลบีอูเคซิสใช้วิธีการที่ “คล้ายกับวิธีการรักษาในสมัยปัจจุบัน” ที่ช่วยให้คลอดง่ายขึ้นเมื่อมีปัญหาในการคลอดและรักษาข้อไหล่หลุด. เขาเป็นผู้ริเริ่มนำสำลีมาใช้ปิดแผลและใช้เฝือกในการจัดกระดูก. เขายังเขียนเทคนิคที่ใช้เพื่อใส่ฟันที่หลุดแล้วกลับเข้าไปที่เดิม ใส่ฟันปลอม จัดฟัน และขูดหินปูน.
หนังสือเกี่ยวกับการผ่าตัดของอัลบีอูเคซิสเป็นหนังสือเล่มแรกที่มีภาพเครื่องมือผ่าตัด. หนังสือเล่มนี้มีภาพวาดที่ชัดเจนของเครื่องมือการผ่าตัด 200 ชิ้นและบอกวิธีการใช้เครื่องมือเหล่านั้น. เครื่องมือผ่าตัดบางชิ้นในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกับเครื่องมือผ่าตัดของอัลบีอูเคซิสในอดีต.
ความรู้แพร่ไปถึงดินแดนตะวันตก
ในศตวรรษที่ 11 และ 12 ผู้เชี่ยวชาญได้เริ่มแปลงานเขียนทางการแพทย์จากภาษาอาหรับเป็นภาษาละติน โดยเฉพาะที่เมืองโตเลโด ในสเปน และมอลเต คัสซิโนและซาแลร์โน ในอิตาลี. หลังจากนั้น แพทย์หลายคนได้ศึกษางานแปลทางการแพทย์เหล่านี้ในมหาวิทยาลัยทั่วยุโรปที่ใช้ภาษาละติน. เอซาน มาซูดนักเขียนด้านวิทยาศาสตร์บอกว่า ความรู้ทางการแพทย์ของตะวันออกกลางได้ “กลายมาเป็นที่รู้จักในยุโรปหลายศตวรรษต่อมา บางทีอาจเป็นที่รู้จักมากกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่น ๆ ของอิสลามด้วยซ้ำ.”
แน่นอน การค้นพบและการคิดค้นของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในยุคกลาง เช่น ราซีซ อะวิเซนนา อัลบีอูเคซิสและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์คนอื่น ๆ ในเวลาต่อมา เป็นพื้นฐานของสิ่งที่เราเรียกว่าการแพทย์สมัยใหม่.