เคล็ดลับของการเป็นพ่อแม่ที่ดี
คุณยังจำวินาทีที่คุณได้อุ้มลูกน้อยที่เพิ่งเกิดมาเป็นครั้งแรกได้ไหม?
ไม่นานก่อนหน้านั้น คุณอาจรู้สึกถึงภาระหน้าที่ ที่มากมายเกินกว่าที่คุณเองจะทำได้ เนื่องจากรู้ว่าลูกของคุณจำเป็นต้องได้รับการอบรมอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี. คุณรู้ทันทีว่าตัวเองมีหน้าที่รับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่.
การทำหน้าที่พ่อแม่เป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้. เพราะเหตุใด? เนื่องจากสังคมในทุกวันนี้ยุ่งยากกว่าตอนที่คุณเป็นเด็ก. เด็ก ๆ ต้องเผชิญกับข้อท้าทายทางศีลธรรมบางอย่างซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา เช่น การใช้อินเทอร์เน็ต.
คุณจะช่วยลูกให้รับมือกับข้อท้าทายทางศีลธรรมในโลกทุกวันนี้ได้อย่างไร? ต่อไปนี้เป็นข้อแนะสามประการ.
1 อธิบายค่านิยมของคุณให้ชัดเจน.
ขณะที่ลูก ๆ เติบโตขึ้น พวกเขาจะได้รับข้อมูลที่ผิด ๆ ทางด้านศีลธรรมอย่างล้นหลาม ทั้งจากเพื่อนรุ่นเดียวกันและจากสื่อต่าง ๆ. อิทธิพลที่ไม่ดีเช่นนี้จะเพิ่มมากขึ้นในตอนที่ลูกเข้าสู่วัยรุ่น. อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเผยให้เห็นว่าเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิต วัยรุ่นหลายคนมักจะเห็นว่าคำแนะนำของพ่อแม่สำคัญกว่าคำแนะนำของเพื่อนรุ่นเดียวกัน.
สิ่งที่คุณทำได้. พ่อแม่ในสมัยอิสราเอลโบราณได้รับการกระตุ้นให้พูดคุยกับลูกของตนเสมอเพื่อจะปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในตัวลูก ๆ. (พระบัญญัติ 6:6, 7) คุณควรทำเช่นเดียวกัน. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณดำเนินชีวิตตามมาตรฐานด้านศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิล อธิบายเหตุผลให้ลูกรู้ว่าทำไม คุณจึงรู้สึกว่าการทำตามมาตรฐานดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในชีวิต.
2 ช่วยลูกให้ยอมรับผลที่จะตามมา.
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ใครหว่านอะไรก็จะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้น.” (กาลาเทีย 6:7) หลักการเรื่องผลจากการกระทำเป็นเรื่องที่เห็นได้ในแทบทุกแง่มุมของชีวิต. เมื่อนึกถึงตอนที่คุณเป็นเด็ก บทเรียนส่วนมากที่คุณจดจำได้ดีคือผลจากการกระทำของคุณเอง.
สิ่งที่คุณทำได้. ใช้ตัวอย่างชีวิตจริง เพื่อสอนลูกของคุณให้เห็นว่าคนที่เลือกทำสิ่งที่ผิดได้รับผลเสียหายและคนที่ทำสิ่งที่ถูกต้องได้รับผลดีอย่างไร. (ลูกา 17:31, 32; ฮีบรู 13:7) นอกจากนั้น อย่าปกป้องลูกจากผลของการกระทำที่ผิดพลาดของเขา. ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า ถ้าลูกชายของคุณทำของเล่นของเพื่อนพังเนื่องจากเขาเล่นไม่ระวัง. คุณอาจบอกลูกว่าเขาต้องให้ของเล่นของเขาชิ้นหนึ่งแก่เพื่อน. ลูกจะไม่ลืมเลยว่าเขาจะต้องระมัดระวังไม่ทำของ ๆ คนอื่นเสียหาย.
3 ช่วยลูกให้พัฒนาลักษณะนิสัยที่ดี.
สุภาษิตหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เด็ก ๆ ก็แสดงตัวโดยการประพฤติของเขาว่าสิ่งที่เขากระทำจะบริสุทธิ์และถูกต้องหรือไม่.” (สุภาษิต 20:11, พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ฉบับแปลใหม่) ขณะที่เด็กโตขึ้น เด็กจะค่อย ๆ เผยให้เห็นว่าเขามีนิสัยอย่างไร. น่าเสียดาย ที่เด็กบางคนขึ้นชื่อว่ามีนิสัยที่ไม่ดี. (บทเพลงสรรเสริญ 58:3) ส่วนเด็กคนอื่นได้รับคำชมเชยว่าเป็นเด็กดี. ตัวอย่างเช่น เมื่ออัครสาวกเปาโลเขียนจดหมายถึงประชาคมหนึ่งท่านกล่าวชมเชยเด็กหนุ่มติโมเธียวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีใครที่มีน้ำใจเหมือนเขาซึ่งจะเอาใจใส่เรื่องของพวกท่านอย่างแท้จริง.”—ฟิลิปปอย 2:20
สิ่งที่คุณทำได้. แทนที่จะพูดถึงแต่ผลเสียจากการกระทำของลูก ให้ช่วยลูกคิดถึงลักษณะนิสัยที่ลูกอยากมี. เมื่อเยาวชนเผชิญกับปัญหาหนึ่ง เขาสามารถเรียนรู้ที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องโดยถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้:
-
ฉันอยากเป็นคนแบบไหน?—โกโลซาย 3:10
-
เมื่อเกิดปัญหา ฉันอยากจะเป็นคนแบบไหน?—สุภาษิต 10:1
คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างชีวิตจริงของชายหญิงหลายคนที่การกระทำของเขาเผยว่าเขาเป็นคนดีหรือคนชั่ว. (1 โครินท์ 10:11; ยาโกโบ 5:10, 11) สอนลูกโดยใช้ตัวอย่างเหล่านี้เพื่อช่วยลูกของคุณให้พัฒนาลักษณะนิสัยที่ดี.
สิ่งพิมพ์ของพยานพระยะโฮวาจะช่วยให้คุณเห็นวิธีนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ในครอบครัวและวิธีช่วยลูกให้ทำเช่นนั้นด้วย.