เพ่งดูโลก
“อัตราส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวกับ ‘porn’ (สื่อลามก) ในกูเกิลเพิ่มขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา.”—ดิ อิโคโนมิสต์ บริเตน
“เมื่อหญิงสาว [ชาวรัสเซีย] แต่งงาน . . . โอกาสที่เธอจะถูกสามีทุบตี หรือที่จะต่อสู้กันจนบาดเจ็บนั้น มีประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์.”—หนังสือพิมพ์โมสคอฟสกี โนวอสตี รัสเซีย
“หนึ่งในเจ็ดของนักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ที่อยู่ในสหราชอาณาจักรได้เห็นเพื่อนร่วมงานจงใจดัดแปลงหรือสร้างข้อมูลเท็จระหว่างการทำวิจัยหรือเพื่อพิมพ์เผยแพร่ผลงานของตน.”—วารสารทางการแพทย์แห่งบริเตน บริเตน
“ตั้งแต่ปี 1971 จำนวนผู้รอดชีวิตจากมะเร็งในสหรัฐเพิ่มขึ้นสี่เท่าคือประมาณ 12 ล้านคน . . . จำนวนผู้รอดชีวิตที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะการตรวจพบแต่เนิ่น ๆ การรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและการดูแลติดตามผลที่ดีขึ้น.”—จดหมายข่าวเวลล์เนสของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา
ก่อนการฉลองคริสต์มาสปี 2011 เพียงเล็กน้อย มีการยกพวกตีกันระหว่างบาทหลวงกับนักบวชประมาณ 100 คนของกลุ่มที่ขัดแย้งกันของโบสถ์แห่งสถานสมภพ ในเบทเลเฮม. ตำรวจยศพันโทคนหนึ่งกล่าวว่า “ปัญหาไม่ได้ใหญ่โตอะไร . . . เกิดขึ้นทุกปี. ไม่มีใครถูกจับเพราะทุกคนที่มีเรื่องกันเป็นคนของพระเจ้า.”—สำนักข่าวรอยเตอร์ สหรัฐอเมริกา
กำแพงใหญ่สีเขียวพาดผ่านแอฟริกา
โครงการร่วมของประเทศในแอฟริกา ซึ่งก่อตั้งโดยสหภาพแอฟริกาในปี 2007 มีเป้าหมายที่จะยับยั้งการขยายตัวของทะเลทรายโดยใช้กำแพงสีเขียว. จากเซเนกัลทางตะวันตกจนถึงจิบูตีทางตะวันออก 11 ประเทศกำลังปลูกต้นกล้าของพืชชนิดที่เหมาะสมหลายล้านต้นเพื่อสร้างแนวป่ายาว 7,600 กิโลเมตรและกว้าง 15 กิโลเมตร. อาลีอู กีซา ศาสตราจารย์ด้านนิเวศน์วิทยาเกี่ยวกับพืชแห่งมหาวิทยาลัยเชค อันตา ดิออป ในดาการ์ ประเทศเซเนกัลกล่าวว่า “เราต้องปลูกต้นไม้พันธุ์ที่จะไม่นิยมตัดไปขาย.” หวังกันว่าบริเวณที่ปลูกป่าขึ้นใหม่จะเป็นป่าสงวนและเป็นแหล่งทรัพยากรสำหรับชุมชนที่อยู่บริเวณนั้น.
ทำไมเราหาว?
นักวิทยาศาสตร์ไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไมทุกคนจึงหาว ส่วนใหญ่หลายครั้งต่อวัน. แม้แต่ทารกในครรภ์ก็หาว. เม่น นกกระจอกเทศ งู และปลาก็หาวด้วย. มีทฤษฎีมากมาย ซึ่งบ่อยครั้งก็ขัดแย้งกัน แต่ไม่มีทฤษฎีใดเลยที่ให้คำอธิบายเรื่องนี้อย่างน่าพอใจแก่นักวิจัยทุกคน. นักวิทยาศาสตร์หลายคนเสนอคำอธิบายว่าการหาวเอาอากาศเข้าไป ซึ่งเฉลี่ยแล้วใช้เวลาหกวินาทีนั้น ก็เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับสมอง. แต่กระนั้น วารสารไซเยนซ์ นิวส์ กล่าวว่า “จนถึงตอนนี้นักวิจัยก็ยังไม่พบหลักฐานสนับสนุนคำอธิบายนี้.” การศึกษาวิจัยใหม่ ๆ ในหนูดูเหมือนจะให้คำอธิบายว่า “การหาวอาจเป็นการปรับลดอุณหภูมิของสมองที่ร้อนเกินไป.” แต่ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่าทำไมเราหาว.