จากปก: เราซื้อมากไปไหม?
ทำไมเราจึงซื้อ?
จากการสำรวจความเห็นผู้ซื้อทั่วโลกเมื่อปี 2012 ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบคำถามยอมรับว่าพวกเขาซื้อสินค้าที่ตนเองไม่ได้ต้องการจริง ๆ. สองในสามคนเป็นห่วงว่าผู้บริโภคทุกวันนี้ซื้อของมากเกินไป. ความวิตกกังวลเช่นนั้นอาจดูมีเหตุผล. ผู้ซื้อจำนวนมากกลายเป็นคนที่มีหนี้สินท่วมตัว. นักวิจัยบอกว่าการซื้อของมาก ๆ แทนที่จะทำให้เรามีความอิ่มใจพอใจกลับทำให้เราเครียดมากขึ้นและไม่มีความสุข! แล้วทำไมเราจึงซื้อมากเหลือเกิน?
ในฐานะผู้บริโภค เรากลายเป็นเหยื่อของนักการตลาดที่พยายามใช้กลยุทธ์สารพัดรูปแบบ. พวกเขามีเป้าหมายอะไร? ก็เพื่อทำให้สิ่งที่เราอยากได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้. นักการตลาดรู้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึก. ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามออกแบบโฆษณาและแหล่งชอปปิงให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด.
หนังสือ Why People Buy Things They Don’t Need กล่าวว่า “เมื่อวางแผนซื้อของชิ้นใหม่ ผู้ซื้อมักจะนึกภาพตัวเองกำลังหาซื้อของชิ้นนั้นอย่างมีความสุข และจินตนาการไปไกลถึงตอนที่ได้เป็นเจ้าของด้วยซ้ำ.” ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าสาเหตุที่ผู้ซื้อเกิดความรู้สึกตื่นเต้นมากขณะที่เลือกซื้อสินค้าเนื่องจากในตอนนั้นร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลินออกมา. จิม พูเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดอธิบายว่า “ถ้าผู้ขายจับความรู้สึกของผู้ซื้อได้ เขาก็สามารถฉวยประโยชน์จากความตื่นเต้นของผู้ซื้อที่ไม่ทันระวังตัว.”
คุณจะป้องกันตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อนักการตลาดหัวใสได้อย่างไร? คุณต้องตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไปก่อน แล้วเปรียบเทียบคำโฆษณาแต่ละอย่างตามความเป็นจริง.
คำโฆษณา: “เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า”
ใคร ๆ ก็อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น. นักโฆษณาพยายามกรอกหูเราว่า ถ้าเราซื้อของที่เหมาะกับเรา ทุกความต้องการของเราย่อมเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพที่ดีขึ้น ความมั่นคงปลอดภัย ความสบายใจ หรือความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคนที่เรารัก.
ความเป็นจริง:
ยิ่งเรามีข้าวของมากขึ้น คุณภาพชีวิตของเราก็จะยิ่งลดลง. เราต้องใช้เวลาและเงินทองมากขึ้นเพื่อดูแลข้าวของเหล่านั้น. ความเครียดก็เพิ่มขึ้นเพราะหนี้สินพอกพูน และเวลาที่ให้กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงก็น้อยลง.
ยิ่งเรามีข้าวของมากขึ้น คุณภาพชีวิตของเราก็จะยิ่งลดลง
หลักคิด: “แม้ว่าคนเรามีอย่างบริบูรณ์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี.”—ลูกา 12:15
คำโฆษณา: “เอกสิทธิ์เหนือระดับ”
มีน้อยคนที่จะยอมรับว่าพวกเขาซื้อของบางอย่างเพราะต้องการสร้างภาพให้คนอื่นประทับใจ. อย่างไรก็ตาม จิม พูเลอร์กล่าวว่า “เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่คนเราซื้อของก็เพราะต้องการแข่งกับเพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน และญาติ ๆ.” สื่อโฆษณาจึงมักจะแสดงภาพคนที่ประสบความสำเร็จหรือมีฐานะร่ำรวยกำลังใช้สินค้านั้น. โฆษณาต้องการสื่อให้ผู้บริโภครู้ว่า “คุณก็มีชีวิตแบบนี้ได้!”
ความเป็นจริง:
ถ้าเราประเมินค่าตัวเองด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่น เราก็ตกเข้าสู่วังวนของความไม่รู้จักพอ. เมื่อได้สิ่งที่ต้องการมาแล้ว คนเราก็จะอยากได้สิ่งอื่นที่ดีกว่าหรือใหม่กว่าไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น.
หลักคิด: “คนรักเงิน, ไม่อิ่มด้วยเงิน.”—ท่านผู้ประกาศ 5:10
คำโฆษณา: “บ่งบอกความเป็นตัวคุณ”
หนังสือ Shiny Objects กล่าวว่า “วิธีง่าย ๆ ที่จะบอกให้คนอื่นรู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน (หรืออยากเป็นแบบไหน) ก็โดยทางสิ่งของที่เราใช้หรือพกพา.” นักการตลาดรู้ข้อเท็จจริงนี้และพยายามเชื่อมโยงยี่ห้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมเข้ากับรูปแบบชีวิตและค่านิยมแบบใดแบบหนึ่ง.
คุณมองดูตัวเองอย่างไร และคุณอยากให้คนอื่นมองคุณอย่างไร? มองว่าคุณเป็นคนดูดีมีสไตล์ไหม? มีบุคลิกแบบนักกีฬาไหม? ไม่ว่าคุณอยากสร้างภาพให้ตัวเองเป็นแบบไหน เพียงแค่ซื้อสินค้ายี่ห้อนั้น คุณก็จะได้เป็นอย่างที่อยากเป็น.
ความเป็นจริง:
ไม่มีสินค้าชนิดใดที่ซื้อแล้วจะสามารถเปลี่ยนตัวตนที่แท้จริงของเราหรือทำให้เรามีคุณสมบัติที่น่ายกย่องได้ เช่น เป็นคนซื่อสัตย์และภักดี.
หลักคิด: “อย่าให้การประดับตัวของท่านทั้งหลายเป็นการประดับภายนอกด้วย . . . เครื่องประดับที่ทำด้วยทอง หรือสวมเสื้อคลุม แต่ให้ประดับด้วยตัวตนที่อยู่ในใจ.”—1 เปโตร 3:3, 4