คำแนะนำสำหรับครอบครัว | การเลี้ยงลูก
เมื่อลูกวัยรุ่นทำร้ายตัวเอง
ปัญหา
คุณพบว่าลูกสาวของคุณจงใจทำร้ายตัวเอง. คุณนึกสงสัยว่า ‘ทำไมลูกทำแบบนี้?’ ‘ลูกสาวของฉันพยายามฆ่าตัวตายหรือ?’
ส่วนใหญ่แล้วคำตอบคือ ไม่. แต่ถ้าลูกวัยรุ่นของคุณชอบทำร้ายตัวเอง * เขาก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ. คุณจะช่วยลูกได้อย่างไร? ก่อนอื่น ให้เรามาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ลูกมีพฤติกรรมที่น่าตกใจเช่นนี้. *
สาเหตุของปัญหา
ทำตามแฟชั่นไหม? ต้องยอมรับว่าหนุ่มสาวบางคนเริ่มทำร้ายตัวเองเพราะเห็นคนอื่นทำกัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนทำร้ายตัวเองเพราะต้องการเลียนแบบคนอื่น. แล้วต่างกันตรงไหนล่ะ? คนที่ชอบทำร้ายตัวเองมักจะแอบทำและรู้สึกอับอายมากกับพฤติกรรมของตน. เซเลีย *เด็กสาววัย 20 ปีบอกว่า “ฉันไม่อยากให้ใครรู้ว่าฉันทำอะไร. ฉันซ่อนรอยแผลเป็นไว้อย่างมิดชิด.”
เพื่อเรียกร้องความสนใจไหม? บางคนอาจใช้วิธีนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจ. แต่คนที่ทำร้ายตัวเองซึ่งกล่าวถึงในบทความนี้มักจะปกปิดไม่ให้คนอื่นรู้และไม่อยากอวดรอยกรีดหรือรอยฟกช้ำดำเขียวให้คนอื่นเห็น. อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยทำร้ายตัวเองบอกว่า เธออยาก ให้ใครสักคนเห็นรอยแผลของเธอเพื่อจะได้รู้ปัญหาและช่วยเหลือเธอได้เร็วกว่านี้.
แล้วทำไมผู้คนจึงทำร้ายตัวเอง? การทำร้ายตัวเองเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่แท้จริงก็คือ เด็กหนุ่มสาวมักจะรู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์มากจนไม่อาจระบายออกมาเป็นคำพูด. สตีเฟน เลเวนครอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อรอยแผลจากใบมีด (ภาษาอังกฤษ) ว่า คนที่ทำร้ายตัวเองคือ “คนที่พบว่าความเจ็บปวดทางกายสามารถเยียวยาความเจ็บปวดทางใจได้.”
คนที่ทำร้ายตัวเองมักจะรู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์มากจนไม่อาจระบายออกมาเป็นคำพูด
คุณควรโทษตัวเองไหม? แทนที่จะจมปลักกับความรู้สึกผิดหรือคิดว่าลูกทำร้ายตัวเองเพราะคุณทำหน้าที่พ่อแม่ได้ไม่ดีพอ ขอให้คุณคิดว่าจะทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดี ได้อย่างไรเพื่อช่วยลูกให้เลิก พฤติกรรมนี้.
สิ่งที่คุณทำได้
ชวนลูกพูดคุยและถามเขาว่ามีปัญหาหรือมีเรื่องทุกข์ใจอะไร. คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยได้.
ปลอบโยน. ถ้าลูกบอกคุณว่าเขาทำร้ายตัวเอง อย่าแสดงท่าทางตกอกตกใจหรือตื่นกลัว แต่พยายามพูดกับเขาอย่างใจเย็นและด้วยท่าทีที่อ่อนโยน.—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: 1 เทสซาโลนิเก 5:14
อย่าถามแบบคาดคั้น. คุณอาจพูดว่า “แม่รู้ว่าบางครั้งหนูรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง. บอกแม่ได้ไหมว่าอะไรทำให้หนูรู้สึกแย่ที่สุด?” หรือ “แม่จะช่วยอะไรได้บ้างเมื่อหนูรู้สึกท้อแท้หรือวิตกกังวล?” หรือ “หนูอยากให้แม่ทำอะไรเพื่อเราจะเข้าใจกันมากกว่านี้?” จงตั้งใจฟังลูกพูดโดยไม่ขัดจังหวะ.—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: ยาโกโบ 1:19
ช่วยลูกให้มองเห็นคุณค่าของตัวเอง. เนื่องจากคนที่ทำร้ายตัวเองมักจะมองเห็นแต่จุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของตัวเอง ดังนั้น คุณอาจช่วยลูกให้มองเห็นคุณลักษณะที่ดีของเขา. คุณอาจถึงกับแนะให้ลูกเขียนข้อดีของตัวเองอย่างน้อยสามข้อ. หญิงสาวชื่อบรีอานาเล่าว่า “การเขียนจุดดีของตัวเองช่วยฉันให้มองเห็นว่าฉันก็มีอะไรดี ๆ เหมือนกัน.” *
สนับสนุนลูกให้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “[จง] ฝากความวิตกกังวลทั้งสิ้นไว้กับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงใฝ่พระทัยท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 5:7) ลอรีนา วัย 17 ปีบอกว่า “ฉันพยายามระบายความรู้สึกกับพระยะโฮวาพระเจ้าโดยเฉพาะตอนที่อยากทำร้ายตัวเอง. การอธิษฐานช่วยฉันให้พยายามมากขึ้นที่จะหยุดตัวเอง.”—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: 1 เทสซาโลนิเก 5:17
^ วรรค 5 การทำร้ายตัวเอง คือ พฤติกรรมที่ชอบทำให้ตัวเองบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายโดยไม่สามารถยับยั้งตัวเองได้ ไม่ว่าโดยการกรีดร่างกายด้วยของมีคม ทุบตี หรือใช้วิธีอื่น ๆ.
^ วรรค 5 แม้ว่าบทความนี้พูดถึงประสบการณ์ของเด็กผู้หญิง แต่คำแนะนำทั้งหมดใช้ได้กับเด็กวัยรุ่นทั้งชายและหญิง.
^ วรรค 7 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 15 บ่อยครั้ง การทำร้ายตัวเองเป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคซึมเศร้าหรือความผิดปกติอื่น ๆ. ในกรณีเช่นนี้ อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์. ตื่นเถิด! ไม่ได้สนับสนุนวิธีการรักษาแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ. แต่คริสเตียนควรตรวจดูให้แน่ใจว่าการรักษาที่เขาเลือกไม่ขัดกับหลักการของคัมภีร์ไบเบิล.