จากปก
สื่อไว้ใจได้แค่ไหน?
หลายคนไม่เชื่อถือข่าวที่ได้อ่านหรือฟังจากสื่อต่าง ๆ. ในปี 2012 สำนักวิจัยแกลลัปโพลในสหรัฐได้สำรวจความเห็นของประชาชนว่า “มีความเชื่อมั่นมากแค่ไหน” ในเรื่องความถูกต้อง ความเป็นกลาง และความครบถ้วนของรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์. ผู้ตอบคำถาม 6 ใน 10 คนบอกว่า “ไม่เชื่อเท่าไร” หรือ “ไม่เชื่อเลย.” คำตอบเช่นนี้มีเหตุผลไหม?
นักข่าวและสำนักข่าวต่าง ๆ บอกว่าพวกเขามุ่งมั่นที่จะเสนอข่าวอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน. แต่หลายคนก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจ. เพราะอะไร? ให้เรามาพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้:
-
เจ้าพ่อสื่อ บริษัทใหญ่บางแห่งเป็นเจ้าของสื่อที่ทรงอิทธิพล. เจ้าของสื่อเหล่านี้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าพวกเขาจะเสนอข่าวอะไร จะนำเสนออย่างไร และจะประโคมให้เป็นข่าวใหญ่แค่ไหน. เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาผลกำไร การตัดสินใจของเจ้าของสื่อจึงอาจขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางธุรกิจ. ข่าวที่ไม่สร้างผลกำไรให้บริษัทอาจไม่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอ.
-
รัฐบาล ข่าวส่วนใหญ่ที่เราได้อ่านหรือได้ยินมักเกี่ยวข้องกับนักการเมืองและการทำงานของรัฐบาล. รัฐบาลต้องการโน้มน้าวประชาชนให้สนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง. และเนื่องจากสื่อเองก็ต้องการข่าวจากทางรัฐบาล บางครั้งทั้งสองฝ่ายจึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน.
-
การโฆษณา ในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ สื่อหลายชนิดต้องพยายามหาเงินเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และรายได้แทบทั้งหมดก็มาจากการขายโฆษณา. ในสหรัฐ นิตยสารต่าง ๆ มีรายได้จากการโฆษณา 50 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่หนังสือพิมพ์มีรายได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโทรทัศน์และวิทยุมีรายได้จากการโฆษณา 100 เปอร์เซ็นต์. ปกติแล้ว ไม่มีบริษัทไหนอยากซื้อโฆษณาของรายการที่ทำให้สินค้าหรือภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหาย. ถ้าพวกเขาไม่ชอบวิธีการเสนอข่าวของสื่อใดสื่อหนึ่ง พวกเขาก็จะหันไปใช้สื่ออื่น ๆ แทน. ดังนั้น พวกบรรณาธิการจึงอาจพยายามปิดข่าวที่ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้สนับสนุนรายการออกมาในแง่ลบ.
-
ความไม่ซื่อสัตย์ ไม่ใช่นักข่าวทุกคนจะรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา. บางคนก็สร้างเรื่องขึ้นเอง. ตัวอย่างเช่น ไม่กี่ปีมานี้นักข่าวคนหนึ่งในญี่ปุ่นต้องการทำข่าวสารคดีว่าปะการังรอบเกาะโอกินาวากำลังถูกทำลายโดยฝีมือของนักดำน้ำ. แต่เมื่อไม่มีหลักฐานใด ๆ เขาก็ทำลายปะการังเสียเองแล้วถ่ายรูปเก็บไว้. ภาพถ่ายก็เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่สื่อมักใช้เพื่อหลอกประชาชนให้หลงเชื่อ. เทคนิคการแต่งภาพในสมัยนี้สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้และบางครั้งก็แนบเนียนจนแทบไม่มีทางจับได้.
-
การปั่นข่าว แม้ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเรื่องแน่นอนที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ แต่นักข่าวอาจเสนอเรื่องราวได้หลายวิธีตามที่เขาต้องการ. นักข่าวอาจเลือกว่าจะนำเสนอหรือปกปิดข้อเท็จจริงอะไร. ตัวอย่างเช่น ทีมฟุตบอลทีมหนึ่งอาจแพ้ทีมคู่แข่งไปสองประตู. นี่คือข้อเท็จจริง. แต่สาเหตุที่ทำให้ทีมแพ้การแข่งขันเป็นเรื่องที่นักข่าวจะเขียนออกมาอย่างไรก็ได้.
-
การตัดรายละเอียด ในการเรียบเรียงข้อเท็จจริงเพื่อทำให้ข่าวดูน่าสนใจ นักข่าวมักตัดรายละเอียดที่อาจทำให้ผู้อ่านสับสนหรือกลายเป็นประเด็นที่ค้างคาใจ. เมื่อเป็นเช่นนี้ความจริงบางส่วนจึงต้องถูกแต่งเติมและบางส่วนก็ถูกตัดออกไป. บางครั้งผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์และนักข่าวก็ต้องรายงานข่าวที่มีเนื้อหาเยอะในเวลาเพียงหนึ่งหรือสองนาที รายละเอียดสำคัญบางอย่างจึงอาจถูกตัดทิ้ง.
-
การแข่งขัน ไม่กี่สิบปีมานี้ มีสถานีโทรทัศน์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายหลายช่อง จึงแทบไม่มีใครติดตามรายการโทรทัศน์เพียงช่องเดียวอีกต่อไป. เพื่อดึงผู้ชมไม่ให้หนีไปดูช่องอื่น สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ จึงต้องคิดหาวิธีนำเสนอข่าวแบบแหวกแนวหรือสนุกสนานน่าติดตาม. หนังสือสื่อลำเอียง (ภาษาอังกฤษ) พูดถึงแนวโน้มเช่นนี้ว่า “ข่าว [โทรทัศน์] ในทุกวันนี้มีภาพเต็มไปหมดและภาพต่าง ๆ ที่เลือกมาก็จงใจทำให้ผู้ชมตกตะลึงหรือตื่นเต้น เนื้อหาก็ถูกตัดให้สั้นลงเพราะผู้ชมสมัยนี้มีความสนใจ [สั้นลงเรื่อย ๆ].”
-
ความผิดพลาด เพราะนักข่าวก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง พวกเขาจึงอาจเสนอข่าวผิดพลาดได้โดยไม่ตั้งใจ. การสะกดคำผิดหรือใช้เครื่องหมายวรรคตอนและไวยากรณ์ไม่ถูกต้องอาจทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปได้. พวกเขาอาจไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด. ความผิดพลาดเรื่องตัวเลขเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อนักข่าวต้องรีบส่งต้นฉบับให้ทันเวลา เขาอาจพิมพ์ตัวเลขผิดจาก 100,000 เป็น 10,000.
-
การสันนิษฐานผิด ๆ การรายงานข่าวอย่างถูกต้องไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่บางคนคิด. สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความจริงในวันนี้อาจได้รับการพิสูจน์ว่าไม่จริงในวันพรุ่งนี้. ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งผู้คนเคยเชื่อกันว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล. แต่ตอนนี้เรารู้ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์.
รู้ทันสื่อ
นับว่าฉลาดที่จะไม่เชื่อข้อมูลทุกอย่างในรายงานข่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเชื่ออะไรไม่ได้เลย. เคล็ดลับคือ ขณะที่เปิดใจรับฟังข่าว เราต้องระวังเสมอ.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “หูมีสำหรับฟังคำไว้ใคร่ครวญ, ดุจปากมีไว้สำหรับชิมให้รู้รสอาหารมิใช่หรือ?” (โยบ 12:11) ต่อไปนี้เป็นข้อแนะบางอย่างที่จะช่วยเราให้ใคร่ครวญหรือวิเคราะห์ข่าวที่เราได้ยินและได้อ่าน:
-
แหล่งข่าว: ข่าวนั้นมาจากบุคคลหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือและเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงไหม? รายการวิทยุโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์นั้นเป็นที่รู้จักว่าเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาหรือชอบสร้างข่าวให้ดูน่าตื่นเต้นเร้าใจ? แหล่งข่าวนั้นได้เงินสนับสนุนจากที่ไหน?
-
แหล่งข้อมูล: มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ไหมว่าผู้ที่เป็นแหล่งข่าวได้ค้นคว้าข้อมูลมาดีแล้ว? ข้อมูลทั้งหมดมาจากแหล่งเดียวเท่านั้นไหม? แหล่งข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ไม่ลำเอียง และเป็นความจริงไหม? แหล่งข้อมูลที่อ้างถึงมีความเป็นกลางไหม หรือถูกหยิบยกมาเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของใครคนหนึ่งเท่านั้น?
-
จุดประสงค์: ถามตัวเองว่า ‘ข่าวนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นสาระหรือเพื่อความบันเทิง? ข่าวนี้ต้องการขายสินค้าหรือสนับสนุนอะไรบางอย่างไหม?’
-
อารมณ์ของข่าว: ถ้าอารมณ์ของข่าวออกมาในแนวโกรธแค้น ตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง นั่นอาจบ่งชี้ว่าผู้เขียนกำลังโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและไม่ได้นำเสนอข่าวโดยอาศัยเหตุผล.
-
ความสอดคล้อง: รายละเอียดของข่าวสอดคล้องกับบทความหรือรายงานเรื่องเดียวกันในสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ไหม? ถ้าขัดแย้ง ก็ต้องระวัง!
-
อายุของข่าว: ข้อมูลในข่าวนั้นใหม่หรือเก่า? ข้อมูลที่ถูกต้องเมื่อ 20 ปีที่แล้วอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงในเวลานี้. แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ข้อมูลที่เสนอในข่าวอาจยังไม่ครบถ้วนและยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน.
ดังนั้น คุณจะไว้ใจสื่อได้แค่ไหน? กษัตริย์โซโลมอนผู้ชาญฉลาดให้คำแนะนำไว้ดังนี้: “คนโง่เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ; แต่คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.”—สุภาษิต 14:15