แสงแดดและอากาศบริสุทธิ์เป็น “ยาฆ่าเชื้อ” จากธรรมชาติไหม?
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเป็นครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 พวกหมอต่างก็หวังว่ายาตัวใหม่นี้จะรักษาโรคบางชนิดให้หายขาดได้ ตอนแรกยาฆ่าเชื้อดูเหมือนจะใช้ได้ผลดี แต่หลังจากใช้ยานี้กันอย่างแพร่หลายแล้วกลับทำให้แบคทีเรียดื้อยา
เพื่อหาวิธีใหม่ในการรักษาอาการติดเชื้อ นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงกลับไปดูวิธีควบคุมโรคแบบที่เคยทำกันในอดีต และวิธีหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพก็คือใช้แสงแดดและอากาศบริสุทธิ์
บทเรียนจากอดีต
ในประเทศอังกฤษมีหลายคนที่สนับสนุนว่าแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์สามารถรักษาโรคได้ หมอที่ชื่อจอห์น เล็ตซัม (คริสต์ศักราช 1744-1815) บอกเด็กที่เป็นวัณโรคให้ออกไปรับลมทะเลและแสงแดด ในปี 1840 ศัลยแพทย์ที่ชื่อจอร์จ โบดิงตัน ให้ข้อสังเกตว่าคนที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ชาวสวน ชาวนา คนเลี้ยงแกะ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นวัณโรค แต่คนที่ทำงานในร่มมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (ค.ศ. 1820-1910) มีชื่อเสียงเนื่องมาจากวิธีการดูแลทหารอังกฤษที่บาดเจ็บในระหว่างสงครามไครเมีย เธอถามว่า “คุณเคยไปห้องนอนของใคร . . . ในตอนกลางคืนหรือตอนเช้าก่อนที่จะเปิดหน้าต่าง แล้วมีกลิ่นเหม็นอับไหม?” เธอแนะนำว่าอากาศในห้องคนไข้ควรจะให้ความสดชื่นเหมือนกับอากาศข้างนอกแต่ก็ต้องไม่ทำให้คนไข้หนาว เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “จากประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย นอกจากอากาศบริสุทธิ์ซึ่งสำคัญที่สุดแล้ว แสงก็สำคัญไม่แพ้กัน . . . และไม่ใช่แสงอะไรก็ได้แต่
ต้องเป็นแสงแดดจริง ๆ” หลายคนในเวลานั้นก็เชื่อว่าการเอาผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้ามาตากแดดจะทำให้มีสุขภาพดีถึงแม้วิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปมากจากสมัยของฟลอเรนซ์ แต่การศึกษาสมัยใหม่ก็ให้ข้อสรุปคล้ายกัน เช่น งานวิจัยของประเทศจีนในปี 2011 พบว่าหอพักที่แออัดและไม่มีอากาศถ่ายเทในวิทยาลัย “ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น”
องค์การอนามัยโลก (WHO) เข้าใจว่าการมีอากาศถ่ายเทตามธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการที่มีลมจากข้างนอกพัดเข้ามาในตึกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยควบคุมการติดเชื้อ ที่จริงคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกที่พิมพ์ในปี 2009 สนับสนุนให้สถานพยาบาลหาวิธีการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ *
คุณอาจบอกว่า ‘ฟังดูดีนะแต่เรื่องนี้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ไหม? แสงแดดและอากาศจะป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร?’
สารจากธรรมชาติที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค
การศึกษาของกระทรวงกลาโหมของอังกฤษได้ให้คำตอบบางอย่าง นักวิทยาศาสตร์ที่นั่นพยายามทดลองดูว่าถ้าอาวุธชีวภาพระเบิดขึ้นที่ลอนดอน อากาศจะเป็นพิษไปนานแค่ไหน เพื่อจะรู้ว่าเชื้อโรคที่ลอยอยู่ในอากาศมีชีวิตได้นานเท่าไร นักวิจัยจึงนำเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ไปไว้บนใยแมงมุมและเอาไปวางไว้ในที่โล่ง เนื่องจากรู้กันว่าแสงแดดสามารถฆ่าเชื้อนี้ได้จึงทำการทดลองนี้ในตอนกลางคืน เชื้อนี้ตายไหม?
สองชั่วโมงต่อมา แบคทีเรียตายเกือบทั้งหมด แต่เมื่อเอาแบคทีเรียใส่ไว้ในกล่องที่มิดชิดแล้วนำไปวางไว้ที่เดียวกัน อุณหภูมิและความชื้นเท่ากัน เมื่อเวลาผ่านไปสองชั่วโมงแบคทีเรียส่วนใหญ่กลับไม่ตาย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? เห็นได้ชัดว่าการอยู่ในที่โล่งแจ้งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้จริง ๆ ถึงแม้ว่าสิ่งที่ฆ่าเชื้อโรคนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่นักวิจัยชี้ว่าส่วนประกอบที่อยู่ในอากาศ “ทำหน้าที่เป็นสารจากธรรมชาติที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค”
แสงแดดยังมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อด้วย หนังสือ Journal of Hospital Infection อธิบายว่า “จุลินทรีย์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในอากาศไม่สามารถทนต่อแสงแดดได้”
เมื่อรู้เรื่องนี้แล้วคุณน่าจะทำอะไร? คุณอาจออกไปข้างนอกบ้างเพื่อรับแสงแดดและสูดอากาศบริสุทธิ์สักพักหนึ่ง การทำแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณ
^ วรรค 8 อาจมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้หลายคนไม่อยากเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ เช่น อากาศข้างนอกไม่ดี มีเสียงรบกวน ผิดกฎเรื่องการป้องกันไฟไหม้ และไม่ปลอดภัย