ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จากปก

ศาสนาจะไปรอดไหม?

ศาสนาจะไปรอดไหม?

จัฟฟาร์เกิดในประเทศตุรกี เขารู้สึกไม่สบายใจที่ศาสนาของเขาสอนว่าพระเจ้าเป็นพระเจ้าที่ผูกพยาบาท ส่วนภรรยาของเขาที่ชื่อเฮดีเยก็เริ่มสงสัยเกี่ยวกับศาสนาของเธอตั้งแต่ตอนอายุแค่ 9 ขวบ เธอบอกว่า “ฉันถูกสอนให้เชื่อเรื่องโชคชะตา เด็กกำพร้าอย่างฉันก็เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ‘ฉันไปทำอะไรไว้เหรอชีวิตถึงได้เป็นแบบนี้?’ ฉันมักจะนอนร้องไห้ตลอดทั้งคืน พออายุ 15 ฉันก็เลิกสนใจศาสนาไปเลย”

คุณเป็นคนหนึ่งที่หมดศรัทธากับศาสนาแล้วไหม? ถ้าใช่ ก็ไม่ได้มีแต่คุณคนเดียวหรอกที่เป็นแบบนั้น ในหลายประเทศ มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่บอกว่า เขา ‘ไม่สนใจศาสนา’ และนี่ก็เป็นแนวโน้มซึ่งทำให้มองเห็นอนาคตที่ง่อนแง่นขององค์การศาสนา ให้เรามาดูข้อมูลจากบางประเทศในกรอบข้างล่างนี้

ทำไมผู้คนถึงพากันทิ้งศาสนา?

ผู้คนเริ่มเอือมระอากับศาสนาด้วยเหตุผลหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงเรื่องการใช้ความรุนแรงและการก่อการร้ายที่อ้างว่าทำเพื่อพระเจ้าหรือเป็นการลงโทษทางศาสนา เรื่องอื้อฉาวของพวกผู้นำศาสนา และยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่คิดไม่ถึงซึ่งทำให้หลายคนหันหลังให้ศาสนาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่นเรื่องต่อไปนี้

  • ความเจริญทางวัตถุ: รายงานจากดัชนีโลกชี้วัดศาสนาและการไม่เชื่อพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ยิ่งคุณรวยมากเท่าไร คุณก็ยิ่งห่างไกลศาสนามากเท่านั้น” นี่เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ เพราะความเจริญทางวัตถุพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อในหลาย ๆ ประเทศ จอห์น วี. ซี. ไนย์อาจารย์ที่สอนเศรษฐศาสตร์บอกว่า ผู้คนในบางแห่งมี “มาตรฐานการครองชีพที่แม้แต่กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยเมื่อ 200 ปีก่อนยังต้องอิจฉา”

    คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลเคยบอกไว้แล้วว่า ใน “สมัยสุดท้าย” ผู้คนจะรักเงินและรักความสุขสบายมากกว่ารักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ (2 ติโมเธียว 3:1-5) ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งรู้ดีว่าความร่ำรวยเป็นอันตรายต่อความรักความผูกพันที่มีต่อพระเจ้า เขาจึงพูดกับพระยะโฮวาพระเจ้าว่า “ขออย่าให้ข้าพเจ้ายากจนหรือมั่งมี” ทำไมเขาขออย่างนั้น? เพราะ “เกรงว่าเมื่อข้าพเจ้าอิ่มหนำข้าพเจ้าจะปฏิเสธพระองค์”—สุภาษิต 30:8, 9

  • ธรรมเนียมทางศาสนากับเรื่องศีลธรรม: ผู้คนมากมายโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวมองว่าองค์การศาสนาไม่มีความสำคัญอะไรและไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราในแต่ละวัน ส่วนบางคนก็หมดศรัทธาในศาสนา ทิม แมกไกวร์เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของสมาคมมนุษยนิยมในสกอตแลนด์พูดว่า “ถ้าคุณสังเกตสิ่งที่คริสตจักรต่าง ๆ ทำตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา คุณจะรู้ว่า ที่ผู้คนออกไปก็เพราะพวกเขาหมดศรัทธาในคริสตจักรที่เป็นผู้กำหนดหลักทางศีลธรรม”

    คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไร? พระเยซูคริสต์เตือนเกี่ยวกับผู้สอนเท็จว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้จากผลงานของเขา . . . ต้นไม้พันธุ์ดีย่อมเกิดผลดี ต้นไม้พันธุ์ไม่ดีย่อมเกิดผลไม่ดี” (มัดธาย 7:15-18 พระคัมภีร์ โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์ ) คำว่า “ผลไม่ดี” รวมถึงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการเห็นด้วยกับพฤติกรรมที่พระเจ้าไม่ชอบ อย่างเช่น การรักร่วมเพศ (โยฮัน 15:19; โรม 1:25-27) และยังรวมถึงการเอาพิธีกรรมที่ไร้สาระและธรรมเนียมที่เปล่าประโยชน์มาแทนคำสอนที่มีคุณค่าซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์ (มัดธาย 15:3, 9) พระเยซูบอกให้ “เลี้ยงแกะเล็ก ๆ ของเรา” (โยฮัน 21:17) ดังนั้น พระเยซูเน้นว่าการสอนผู้คนให้เรียนรู้เรื่องพระเจ้าและดูแลพวกเขาด้วยความรักเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในทุกวันนี้ผู้นำในหลายศาสนาไม่ได้ทำอย่างที่พระเยซูสอน ผู้คนมากมายจึงรู้สึกหิวโหยเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องพระเจ้า

  • ศาสนากับเงิน: จากข้อมูลของสำนักวิจัยพิวแสดงว่า มีคนจำนวนมากที่รู้สึกว่าศาสนาเน้นเรื่องเงินมากเกินไป นอกจากนี้ คนที่มีตำแหน่งสูงทางศาสนาบางคนยังใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ซึ่งต่างจากสมาชิกในศาสนาที่เป็นแกะของพวกเขา ตัวอย่างเช่น เมืองหนึ่งในเยอรมนี หลายคนที่ไปโบสถ์เป็นประจำต้องอยู่อย่างรัดเข็มขัดเพื่อจะมีเงินพอใช้จ่ายในแต่ละเดือน ส่วนบิชอปถูกกล่าวหาว่าใช้ชีวิตอย่างกับเศรษฐี ชีวิตที่สุขสบายเกินไปของพวกหัวหน้าศาสนาทำให้ชาวคาทอลิกหลายคนที่เป็นคนท้องถิ่นรู้สึกรับไม่ได้ รายงานจากนิตยสารเกโอ บอกว่า ประเทศไนจีเรีย “มีประชาชนถึง 100 ล้านคนที่มีเงินเลี้ยงปากท้องวันละไม่ถึง 40 บาท ชีวิตที่หรูหราฟุ้งเฟ้อของนักเทศน์บางคนจึงเริ่มทำให้เกิดปัญหา”

    คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไร? ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลที่ชื่อเปาโลเขียนว่า “เราไม่ใช่พ่อค้าเร่ที่หากินกับคำพูดของพระเจ้า” (2 โครินท์ 2:17, พระคัมภีร์ภาคคำสัญญาใหม่ ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) แม้ว่าเปาโลเป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่มีบทบาทมากคนหนึ่งในประชาคมคริสเตียนยุคแรก แต่เขาก็มักจะทำงานหาเลี้ยงชีพเพื่อจะไม่เป็นภาระคนอื่น (กิจการ 20:34) การที่เปาโลคิดแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเขาเชื่อฟังคำสั่งของพระเยซูที่บอกว่า “พวกเจ้าได้รับเปล่า ๆ จงให้เปล่า ๆ”—มัดธาย 10:7, 8

พยานพระยะโฮวาก็ทำตามหลักการเหล่านี้ พวกเขาไม่คิดค่าหนังสือหรือค่าสอนคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาไม่เก็บสิบชักหนึ่ง หรือเรี่ยไรเงินเมื่อเข้าร่วมประชุมคริสเตียน แต่เงินที่จำเป็นสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้มาจากการบริจาคด้วยความเต็มใจ—มัดธาย 6:2, 3

เรื่องการทิ้งศาสนามีบอกไว้ล่วงหน้า!

เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนคงแทบไม่มีใครนึกภาพออกว่าองค์การศาสนาจะมีสภาพน่าหดหู่อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ แต่พระเจ้ารู้ล่วงหน้าว่าอนาคตของศาสนาจะเป็นอย่างไร แล้วพระองค์ก็บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าเปรียบศาสนาทั้งหมดที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์เหมือนกับผู้หญิงโสเภณีที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ผู้หญิงคนนี้มีชื่อว่า “บาบิโลนใหญ่”—วิวรณ์ 17:1, 5

นี่เป็นการเปรียบเทียบที่เหมาะจริง ๆ เพราะขณะที่ศาสนาเท็จอ้างว่าซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้า แต่ก็ไปเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจปกครองของโลกเพราะหวังจะได้อำนาจและความร่ำรวย หนังสือวิวรณ์ 18:9 (ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) บอกว่า “กษัตริย์ทั้งหลายบนโลก . . . ได้ทำบาปทางเพศกับเธอ” และ “บาบิโลน” นี้ก็เป็นคำเปรียบเทียบที่เหมาะด้วย เพราะคำสอนเท็จหลายอย่างและสิ่งที่ทำกันในศาสนา อย่างเช่น คำสอนเรื่องวิญญาณอมตะ เรื่องพระเจ้า 3 องค์รวมเป็นองค์เดียว และเรื่องศาสตร์ลี้ลับก็ล้วนมีต้นตอมาจากเมืองบาบิโลนโบราณที่จมอยู่กับศาสนาเท็จและการเชื่อโชคลาง *ยะซายา 47:1, 8-11

เมืองบาบิโลนที่แข็งแกร่งล่มสลาย เมื่อน้ำในคูเมืองที่ปกป้องเมืองนี้ซึ่งไหลมาจากแม่น้ำยูเฟรทิสถูกทำให้ “แห้ง” กองทัพของชาวมีเดียและชาวเปอร์เซียจึงบุกเข้าเมืองได้อย่างสบาย (ยิระมะยา 50:1, 2, 38) ที่จริง พวกเขายึดบาบิโลนได้ในคืนเดียว!—ดานิเอล 5:7, 28, 30

บาบิโลนใหญ่ก็ ‘นั่งบนน้ำมากหลาย’ เหมือนกัน คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า น้ำเหล่านี้หมายถึง “มวลชนประชาชาติ” นับล้านที่สนับสนุนศาสนาเท็จ (วิวรณ์ 17:1, 15, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 ) พระคัมภีร์บอกล่วงหน้าว่า น้ำในภาพเปรียบเทียบนี้จะต้องแห้งไป และนี่จะเป็นสัญญาณบอกว่าอีกไม่นานบาบิโลนในสมัยปัจจุบันก็จะถูกทำลายแบบไม่ทันตั้งตัวเช่นกัน (วิวรณ์ 16:12; 18:8) แต่ด้วยฝีมือใครล่ะ? พวกพันธมิตรทางการเมืองซึ่งเคยลุ่มหลงเธอจะพากันเกลียดชังเธอ พวกเขาจะรุมกัดกินเนื้อเธอโดยปล้นเอาทุกอย่างไปจากเธอ—วิวรณ์ 17:16, 17 *

น้ำในคูรอบเมืองบาบิโลนที่ลดลงเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าผู้คนจะพากันออกจากบาบิโลนใหญ่

“ออกมาจากเมืองนี้”!

เนื่องจากอีกไม่นานบาบิโลนใหญ่จะถูกทำลาย พระเจ้าที่รักเราจึงเตือนว่า “ประชาชนของเรา จงออกมาจากเมืองนี้ ถ้าพวกเจ้าไม่อยากมีส่วนร่วมในการบาปของเมืองนี้ และถ้าพวกเจ้าไม่อยากได้รับภัยพิบัติของเมืองนี้” (วิวรณ์ 18:4) สังเกตว่าในข้อนี้ใช้คำ “ถ้า” ถึง 2 ครั้ง นี่ทำให้เราเห็นว่า พระเจ้าตั้งใจส่งคำเตือนนี้ไปถึงคนที่รู้สึกรับไม่ได้กับคำสอนผิด ๆ และคนที่ต้องการทำให้พระเจ้าพอใจเหมือนกับจัฟฟาร์และเฮดีเยที่พูดถึงในตอนต้น

ก่อนเรียนคัมภีร์ไบเบิล จัฟฟาร์มองว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่ใคร ๆ ก็กลัวจึงต้องกราบไหว้บูชา แต่เขาบอกว่า “มันรู้สึกโล่งไปเลยที่ได้เรียนรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่มีแต่ความรัก และพระองค์อยากเห็นเราเชื่อฟัง เพราะรักไม่ใช่เพราะกลัวพระองค์” (1 โยฮัน 4:8; 5:3) เฮดีเยก็รู้สึกสุขใจจริง ๆ เมื่อได้รู้ว่าพระเจ้าไม่ได้ทำให้เธอเกิดมาเป็นลูกกำพร้า แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เคราะห์กรรมที่เธอเคยทำไว้ เธอสบายใจขึ้นเมื่อได้อ่านข้อคัมภีร์ต่าง ๆ อย่างเช่น ยาโกโบ 1:13 ซึ่งบอกว่าพระเจ้าไม่ได้ลองใจใครด้วยความชั่ว เธอกับจัฟฟาร์รับเอาความจริงในคัมภีร์ไบเบิล และหนีออกจาก “บาบิโลน”—โยฮัน 17:17

คนที่เชื่อฟังพระเจ้าซึ่งหนีออกจากบาบิโลนใหญ่เพื่อ “นมัสการพระบิดาด้วยพระวิญญาณและความจริง” จะไม่ได้รับอันตรายใด ๆ ในตอนที่เมืองนี้ถูกทำลาย (โยฮัน 4:23) พวกเขาตั้งตารอวันที่จะได้เห็นโลกที่ “เต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร”—ยะซายา 11:9

การนมัสการเท็จและสิ่งน่ารังเกียจที่ศาสนาเท็จทำจะต้องถึงจุดจบแน่นอน เพราะพระเจ้า “ไม่เคยโกหก” (ทิทุส 1:2, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) ส่วนการนมัสการแท้ก็จะเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นและคงอยู่ตลอดไป!

^ วรรค 16 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบาบิโลนใหญ่และเรื่องที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงสภาพของคนตาย ลักษณะของพระเจ้า และศาสตร์ลี้ลับ โปรดดูหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? และมีให้ดาวน์โหลดได้ที่ www.pr418.com/th

^ วรรค 18 ดูบทความ “ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล—อวสานของโลก” ในตื่นเถิด! ฉบับนี้