ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การพิมพ์สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลภายใต้การสั่งห้าม

การพิมพ์สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลภายใต้การสั่งห้าม

การ​พิมพ์​สิ่ง​พิมพ์​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาย​ใต้​การ​สั่ง​ห้าม

เล่า​โดย มัลคอล์ม จี. เวล

“จง​พิมพ์​หนังสือ​บุตร.” ผม​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ที่​น่า​ประหลาด​ใจ​นี้​จาก​ผู้​ดู​แล​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ออสเตรเลีย​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​ออก​หนังสือ​เล่ม​นี้ ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​เซนต์ หลุยส์ รัฐ​มิสซูรี สหรัฐ​อเมริกา เมื่อ​วัน​ที่ 10 สิงหาคม 1941. เหตุ​ใด​การ​สั่ง​พิมพ์​หนังสือ​เล่ม​นี้​จึง​ทำ​ให้​ประหลาด​ใจ?

งาน​ประกาศ​ของ​เรา​ถูก​สั่ง​ห้าม​ใน​เดือน​มกราคม 1941 ดัง​นั้น การ​ที่​จะ​พิมพ์​หนังสือ​ต่อ​ไป​แม้​ใน​จำนวน​จำกัด​ก็​ยัง​คง​เป็น​งาน​ยาก. นอก​จาก​นั้น หนังสือ​บุตร เป็น​หนังสือ​ที่​มี 384 หน้า​พร้อม​ด้วย​ภาพ​สี่​สี. อุปกรณ์​การ​พิมพ์​ของ​เรา​จำ​ต้อง​ปรับ​ปรุง​ให้​ดี​ขึ้น กระดาษ​ก็​ขาด​แคลน และ​พนักงาน​ก็​ไม่​ได้​รับ​การ​ฝึก​เพื่อ​ผลิต​หนังสือ​ที่​เย็บ​เล่ม.

ก่อน​ที่​จะ​อธิบาย​ถึง​วิธี​ที่​เรา​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​การ​พิมพ์​แม้​อยู่​ภาย​ใต้​การ​สั่ง​ห้าม ให้​ผม​บอก​คุณ​ถึง​วิธี​ที่​ผม​ได้​มา​รับใช้​ร่วม​กับ​สำนักงาน​สาขา​ออสเตรเลีย​ใน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​ด้าน​การ​พิมพ์.

ภูมิ​หลัง​ใน​ช่วง​เริ่ม​ต้น

คุณ​พ่อ​ของ​ผม​เป็น​เจ้าของ​กิจการ​การ​พิมพ์​ใน​บัลลาราต​เมือง​ที่​เจริญ รัฐ​วิกตอเรีย ที่​ซึ่ง​ผม​เกิด​ใน​ปี 1914. ดัง​นั้น ผม​เรียน​รู้​การ​ทำ​งาน​ด้าน​ธุรกิจ​การ​พิมพ์​ใน​โรง​พิมพ์​ของ​คุณ​พ่อ. ผม​ได้​เข้า​ร่วม​ใน​กิจกรรม​ของ​คริสต์​จักร​แห่ง​อังกฤษ​ด้วย​คือ​ผม​ร้อง​เพลง​ใน​คณะ​ร้อง​เพลง​สวด​ใน​โบสถ์​และ​สั่น​ระฆัง​ของ​โบสถ์. ผม​ถึง​กับ​คาด​หวัง​จะ​ได้​สอน​ใน​โรง​เรียน​รวีวารศึกษา แต่​ผม​ไม่​สบาย​ใจ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้.

เหตุ​ผล​ก็​คือ​ว่า​ผม​มี​ข้อ​สงสัย​ที่​สำคัญ​เกี่ยว​กับ​หลัก​คำ​สอน​บาง​อย่าง​ของ​คริสต์​จักร. หลัก​คำ​สอน​เหล่า​นี้​รวมเอา​เรื่อง​ตรีเอกานุภาพ, ไฟ​นรก, และ​จิตวิญญาณ​มนุษย์​เป็น​อมตะ, และ​ไม่​มี​ใคร​ให้​คำ​ตอบ​ที่​จุ​ใจ​แก่​ผม. และ​ผม​ยัง​สงสัย​ด้วย​ที่​บาง​ครั้ง นัก​เทศน์​ของ​เรา​พูด​อย่าง​โกรธ​แค้น​ถึง​กลุ่ม​ศาสนา​เล็ก ๆ ที่​เรียก​ตัว​เอง​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ผม​แปลก​ใจ​ว่า​ทำไม​กลุ่ม​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​สำคัญ​อะไร​เช่น​นั้น​จะ​เป็น​เหตุ​ให้​เมือง​ที่​มี​ผู้​คน​ถึง 40,000 คน​วิตก​กังวล​เช่น​นี้.

วัน​อาทิตย์​หนึ่ง ผม​กำลัง​ยืน​อยู่​นอก​โบสถ์​หลัง​จาก​ได้​ฟัง​เทศน์​ตอน​เย็น​แล้ว เมื่อ​เด็ก​ผู้​หญิง​กลุ่ม​หนึ่ง​จาก​โบสถ์​เมโทดิสต์​ที่​อยู่​ใกล้​เคียง​เดิน​ผ่าน. ผม​เริ่ม​ผูก​มิตร​กับ​คน​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​นั้น. เธอ​ชื่อ​ลูซี และ​ใน​ที่​สุด​เธอ​เชิญ​ผม​ไป​ที่​บ้าน​เพื่อ​พบ​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ของ​เธอ. ลอง​นึก​ภาพ​ความ​ประหลาด​ใจ​ของ​ผม​ดู​ซิ เมื่อ​ผม​ทราบ​ว่า​คุณ​แม่​ของ​เธอ วีรา โคลเกน เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เรา​ได้​พิจารณา​พระ​คัมภีร์​อย่าง​มี​ชีวิต​ชีวา​หลาย​ครั้ง และ​สิ่ง​ที่​เธอ​พูด​ดู​มี​เหตุ​ผล​จริง ๆ.

ไม่​นาน ผม​กับ​ลูซี​ได้​แต่งงาน​กัน และ​พอ​ถึง​ปี 1939 เรา​อยู่​ที่​เมลเบอร์น เมือง​หลวง​ของ​รัฐ​วิกตอเรีย. แม้​ว่า​ลูซี​ได้​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​ผม​ก็​ยัง​ไม่​ได้​ตัดสิน​ใจ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ปะทุ​ขึ้น​ใน​เดือน​กันยายน​ของ​ปี​นั้น ผม​เริ่ม​คิด​อย่าง​จริงจัง​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ผม​ได้​เรียน​รู้​จาก​พระ​คัมภีร์. การ​สั่ง​ห้าม​งาน​ของ​พวก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​เดือน​มกราคม 1941 ได้​ช่วย​ผม​ทำ​การ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​แท้​จริง. ผม​ได้​อุทิศ​ชีวิต​ของ​ผม​แด่​พระเจ้า​ยะโฮวา​และ​รับ​บัพติสมา​ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น.

การ​เปลี่ยน​แปลง​อัน​น่า​ทึ่ง​ใน​ชีวิต​ของ​เรา

ใน​เวลา​นั้น เรา​เช่า​ห้อง​ชุด​ที่​สะดวก​สบาย​ใน​เมลเบอร์น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ย้าย​เข้า​ไป​อยู่​ใน​บ้าน​หลัง​หนึ่ง​กับ​พยาน​ฯ​อื่น​อีก​หลาย​คน. เรา​ได้​ขาย​เครื่อง​เรือน​ของ​เรา​ทั้ง​หมด​ยก​เว้น​ชุด​เครื่อง​เรือน​ใน​ห้อง​นอน​และ​ย้าย​เข้า​ไป​ใน​บ้าน​ที่​เรียก​กัน​ว่า​บ้าน​พัก​ไพโอเนียร์. ผม​ยัง​คง​ทำ​งาน​เป็น​ช่าง​พิมพ์​ต่อ​ไป​และ​จึง​สามารถ​จุน​เจือ​ค่า​ใช้​จ่าย​ใน​การ​ดำเนิน​งาน​ของ​บ้าน​พัก​ได้. สามี​คน​อื่น ๆ ก็​ได้​ทำ​เช่น​เดียว​กัน. ผล​ก็​คือ ภรรยา​ของ​เรา​สามารถ​เข้า​ส่วน​ใน​งาน​ประกาศ​เต็ม​เวลา และ​พวก​เรา​ผู้​ชาย​สมทบ​กับ​พวก​เขา​ใน​งาน​เผยแพร่​และ​ร่วม​การ​ประชุม​ต่าง ๆ ของ​คริสเตียน​ใน​ตอน​เย็น​และ​วัน​สุด​สัปดาห์.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ภรรยา​กับ​ผม​ได้​รับ​จดหมาย​จาก​สำนักงาน​สาขา​ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​เชิญ​เรา​ให้​มา​ที่​ซิดนีย์. เรา​ขาย​ชุด​เครื่อง​เรือน​ใน​ห้อง​นอน​และ​ใช้​หนี้​เล็ก​น้อย​ที่​เรา​มี​อยู่​ไป แต่​เพื่อ​จะ​ได้​เงิน​มา​สำหรับ​ค่า​ตั๋ว​รถไฟ​ของ​เรา​ไป​ซิดนีย์ เรา​ต้อง​ขาย​แหวน​หมั้น​ของ​ลูซี!

เนื่อง​จาก​ข้อ​จำกัด​ต่าง ๆ ใน​ช่วง​สงคราม​และ​คำ​สั่ง​ห้าม​ที่​ประกาศ​ใช้​ใน​ตอน​นั้น จึง​ไม่​สามารถ​นำ​พระ​คัมภีร์​หรือ​สิ่ง​พิมพ์​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​เข้า​มา​จาก​ต่าง​ประเทศ. ด้วย​เหตุ​นี้ สำนักงาน​สาขา​ออสเตรเลีย​จึง​ได้​ตัดสิน​ใจ​เริ่ม​ทำ​การ​พิมพ์​แบบ​ใต้​ดิน​เพื่อ​ให้​ทัน​กับ​การ​หลั่งไหล​ของ​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​อย่าง​ไม่​ขาด​สาย และ​ผม​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ดู​แล​งาน. ผม​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​ให้​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​จอร์จ กิบบ์ ชาย​ชาว​สก็อต ซึ่ง​รับใช้​ใน​โรง​พิมพ์​สาขา​ออสเตรเลีย​เป็น​เวลา​ประมาณ 60 ปี. * เป็น​เวลา​นั้น​ที่​ผม​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ว่า “จง​พิมพ์​หนังสือ​บุตร.”

ได้​อุปกรณ์​การ​พิมพ์​คืน​มา

พวก​เรา​มี​ประสบการณ์​ที่​น่า​ตื่นเต้น​มาก​มาย บาง​ครั้ง​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​ตื่น​ตกใจ​ใน​ปี​ที่​เกิด​สงครามซึ่ง​มี​เหตุ​การณ์​มาก​มาย. ตัว​อย่าง​เช่น ที่​จะ​เริ่ม​ดำเนิน​งาน​ด้าน​การ​พิมพ์ เรา​ต้อง​มี​อุปกรณ์. อุปกรณ์​ที่​เคย​ใช้​พิมพ์​ได้​อย่าง​จำกัด​ใน​ปี​ก่อน​สงคราม​ถูก​รัฐบาล​ยึด​ไป และ​ตอน​นี้​โรง​พิมพ์​เล็ก ๆ ของ​สมาคม​ถูก​ปิด​และ​มี​ยาม​เฝ้า​ไว้. เรา​จะ​เอา​อุปกรณ์​นั้น​ออก​ไป​ยัง​ที่​ที่​เหมาะ​สม​สำหรับ​การ​พิมพ์​แบบ​ใต้​ดิน​ได้​อย่าง​ไร?

ยาม​ติด​อาวุธ​ได้​ผลัด​กัน​เฝ้า​ทรัพย์​สิน​ของ​สมาคม​ตลอด 24 ชั่วโมง. อย่าง​ไร​ก็​ดี กำแพง​ด้าน​หลัง​ติด​กับ​ราง​สับ​หลีก​รถไฟ​ที่​ไม่​ค่อย​ได้​ใช้. ดัง​นั้น ตอน​กลางคืน โดย​การ​ใช้​วิธี​การ​ที่​ทำ​ให้​ระลึก​ถึง​ยะเอศเคล 12:5-7 พี่​น้อง​เบเธล​ที่​กล้า​หาญ​บาง​คน​ได้​ผ่าน​ทะลุ​กำแพง​เข้า​ไป​โดย​ดึง​เอา​ก้อน​อิฐ​บาง​ก้อน​ออก. เมื่อ​อยู่​ข้าง​ใน พวก​เขา​เอา​ก้อน​อิฐ​ใส่​กลับ​เข้า​ไป​ที่​เดิม​อีก​เพื่อ​เลี่ยง​การ​สังเกต​เห็น. โดย​ทำ​การ​จู่​โจม​ใน​เวลา​กลางคืน​เช่น​นี้​อยู่​ประมาณ​สอง​สัปดาห์ พวก​เขา​ได้​ถอด​เครื่อง​พิมพ์​ขนาด​เล็ก, เครื่อง​เรียง​พิมพ์, และ​เครื่องจักร​อื่น ๆ อีก​สอง​สาม​อย่าง อย่าง​ระมัดระวัง. ครั้น​แล้ว พวก​เขา​ได้​ส่ง​ชิ้น​ส่วน​ต่าง ๆ ออก​ไป​อย่าง​เงียบ ๆ ขณะ​ที่​ยาม​ยัง​เฝ้า​อยู่!

ต่อ​มา เรา​ได้​รับ​อุปกรณ์​เพิ่ม​เติม​จาก​แหล่ง​อื่น ๆ และ​ใน​ไม่​ช้า​เรา​ก็​ดำเนิน​งาน​ด้าน​การ​พิมพ์​แบบ​ใต้​ดิน​อย่าง​แข็งขัน​ใน​หลาย​แห่ง​ทั่ว​เมือง​ซิดนีย์. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​สามารถ​พิมพ์​และ​เย็บ​เล่ม​ไม่​เพียง​แต่​หนังสือ​บุตร แต่​ยัง​มี​หนังสือ​ปก​แข็ง​โลก​ใหม่, “ความ​จริง​จะ​ทำ​ให้​ท่าน​เป็น​อิสระ,” และ​ราชอาณาจักร​มา​ใกล้​แล้ว​ด้วย รวม​ทั้ง​หนังสือ​ประจำ​ปี​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สำหรับ​ปี 1942, 1943, 1944, และ 1945. ยิ่ง​กว่า​นั้น ระหว่าง​การ​สั่ง​ห้าม​ใน​ปี​เหล่า​นั้น​ที่​มี​สงคราม พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​ออสเตรเลีย​ไม่​เคย​ขาด​วารสาร​หอสังเกตการณ์ แม้​แต่​ฉบับ​เดียว. สิ่ง​นี้​ได้​รับรอง​เรา​เป็น​ส่วน​ตัว​ที​เดียว​ว่า​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​เคย​สั้น.—ยะซายา 59:1.

การ​รับมือ​กับ​การ​มา​เยือน​ที่​ไม่​ได้​คาด​หมาย

ระหว่าง​ช่วง​สงคราม​ที่​มี​การ​ตรวจ​อย่าง​เคร่งครัด โรง​พิมพ์​ต่าง ๆ ทาง​การ​ค้า​ได้​รับ​การ​เยือน​อย่าง​ไม่​คาด​หมาย​โดย​พวก​เจ้าหน้าที่​ตรวจ​สิ่ง​พิมพ์. ดัง​นั้น โรง​พิมพ์​แห่ง​หนึ่ง​ของ​เรา​ที่​ทำ​อย่าง​ลับ ๆ จึง​ได้​ติด​ตั้ง​สัญญาณ​เตือน​ภัย เป็น​ปุ่ม​อยู่​บน​พื้น​ซึ่ง​พนักงาน​ต้อนรับ​จะ​กด​ได้​สะดวก. เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ถ้า​มี​คน​ที่​เธอ​ไม่​รู้​จัก​หรือ​ผู้​ที่​ถูก​สงสัย​ว่า​เป็น​ผู้​ตรวจ​ขึ้น​บันได​มา​เธอ​จะ​กด​ปุ่ม​นั้น.

เมื่อ​กด​ปุ่ม​แล้ว พวก​พี่​น้อง​จะ​หนี​ออก​ทาง​หน้าต่าง​ทุก​ด้าน! ส่วน​พวก​คน​งาน​ที่​ได้​จด​ทะเบียน​เป็น​ลูกจ้าง​ยัง​คง​อยู่​เพื่อ​ปิด​คลุม​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ที่​พิมพ์​เป็น​แผ่น​หรือ​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​อื่น ๆ ที่​กำลัง​พิมพ์​อยู่​อย่าง​รวด​เร็ว. ที่​จะ​ทำ​เช่น​นี้​ได้ พวก​เขา​จะ​ใช้​กระดาษ​พิมพ์​ที่​มี​ขนาด​เดียว​กับ​หนังสือ​อย่าง​อื่น​ที่​ได้​เตรียม​ไว้​สำหรับ​ลูก​ค้า​คน​อื่น ๆ ที่​มา​จ้าง​พิมพ์.

ระหว่าง​การ​มา​ตรวจ​คราว​หนึ่ง ผู้​ตรวจ​สอบ​สอง​คน​นั่ง​บน​หนังสือ​การ์ตูน​ซึ่ง​ยัง​เป็น​แผ่น​ขนาด​ใหญ่ แต่​ข้าง​ล่าง​เป็น​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ที่​ยัง​ไม่​พับ​เป็น​เล่ม​ซึ่ง​ได้​พิมพ์​เมื่อ​คืน​ก่อน. โรง​พิมพ์​อีก​แห่ง​หนึ่ง​ใน​เมือง​นั้น เรา​ทำ​ธุรกิจ​การ​พิมพ์​สำหรับ​ลูก​ค้า​ทั่ว​ไป​ใน​ตอน​กลางวัน​และ​พิมพ์​หอสังเกตการณ์ ตอน​กลางคืน​และ​วัน​สุด​สัปดาห์.

ความ​ต้องการ​กระดาษ​ได้​รับ​การ​สนอง

การ​ที่​จะ​ได้​กระดาษ​มา​สำหรับ​ใช้​ใน​การ​พิมพ์​เป็น​ปัญหา​ใหญ่​ที​เดียว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โรง​พิมพ์​ขนาด​ใหญ่​บาง​แห่ง​ที่​ไม่​ต้องการ​ปริมาณ​กระดาษ​เต็ม​โควตา​เนื่อง​จาก​ธุรกิจ​ซบเซา​ลง​ช่วง​สงคราม เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ขาย​ส่วน​ที่​เกิน​ความ​ต้องการ​นั้น—แน่นอน ใน​ราคา​ที่​สูง​เสมอ. แต่​ใน​โอกาส​หนึ่ง เรา​ได้​รับ​กระดาษ​จาก​แหล่ง​อื่น.

เรือ​สินค้า​ลำ​หนึ่ง​มา​ที่​ออสเตรเลีย​มี​สินค้า​เป็น​กระดาษ​สี​น้ำตาล​จำนวน​มาก แต่​เรือ​ได้​ประสบ​ความ​เสียหาย​ใน​ทะเล​และ​น้ำ​ไหล​ซึม​เข้า​ไป​ใน​กระดาษ​จำนวน​มาก. สินค้า​ทั้ง​หมด​ถูก​ขาย​เลหลัง และ​ที่​ยัง​ความ​ประหลาด​ใจ​แก่​พวก​เรา​ก็​คือ​มี​แต่​พวก​เรา​ที่​เป็น​ผู้​ประมูล จึง​ทำ​ให้​เรา​สามารถ​ซื้อ​กระดาษ​ได้​ใน​ราคา​ต่ำ​สุด. เรา​เอา​กระดาษ​ตาก​แดด ด้วย​วิธี​นี้ กระดาษ​ส่วน​ใหญ่​จึง​ยัง​ใช้​ได้ และ​แล้ว​เรา​ได้​ตัด​กระดาษ​เป็น​แผ่น ๆ ให้​เหมาะ​กับ​งาน​พิมพ์​ของ​เรา.

เรา​จะ​ใช้​กระดาษ​สี​น้ำตาล​นี้​อย่าง​ไร? เรา​คาด​ว่า​ผู้​อ่าน​หนังสือ​การ์ตูน​คง​จะ​ยัง​ชอบ​หนังสือ​การ์ตูน​ที่​พิมพ์​บน​กระดาษ​สี​อยู่​และ​ก็​ถูก​ต้อง​ตาม​นั้น. ดัง​นั้น เรา​จึง​ใช้​กระดาษ​ขาว​ที่​แบ่ง​ไว้​พิมพ์​หนังสือ​การ์ตูน​มา​พิมพ์​หอสังเกตการณ์ และ​สิ่ง​พิมพ์​อื่น ๆ ของ​สมาคม.

บทบาท​สำคัญ​ของ​สตรี

ระหว่าง​ปี​มี​เกิด​สงคราม สตรี​คริสเตียน​หลาย​คน​ใน​ออสเตรเลีย​เรียน​รู้​วิธี​การ​เย็บ​เล่ม. บ่าย​วัน​หนึ่ง​ใน​ฤดู​ร้อน​ที่​อากาศ​ร้อน​จัด บาง​คน​ใน​พวก​เขา​กำลัง​ทำ​งาน​อยู่​ตาม​ลำพัง​ใน​โรง​รถ​เล็ก ๆ ที่​เรา​ได้​เช่า​ใน​ซอย​หนึ่ง​ชาน​เมือง​ซิดนีย์. เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย พวก​เขา​ปิด​หน้าต่าง​และ​ประตู​ทุก​บาน. หม้อ​ต้ม​กาว​ส่ง​ควัน​ร้อน, กลิ่น​เหม็น และ​อากาศ​ร้อน​จน​แทบ​จะ​ทน​ไม่​ไหว. ดัง​นั้น พวก​เธอ​จึง​ถอด​เสื้อ​ผ้า​ออก​เหลือ​แต่​ชุด​ชั้น​ใน.

ทันใด​นั้น ก็​มี​เสียง​เคาะ​ประตู. พี่​น้อง​หญิง​คริสเตียน​ร้อง​ถาม​ออก​ไป​ว่า​ใคร​มา และ​เจ้าหน้าที่​กรม​แรงงาน​ได้​ตอบ. เขา​มา​จาก​กรม​ที่​มี​อำนาจ​ใน​ช่วง​สงคราม​ที่​จะ​สั่ง​ให้​ใคร ๆ ไป​ยัง​พื้น​ที่​ใด ๆ ก็​ได้​ที่​ต้องการ​แรงงาน. พวก​พี่​น้อง​หญิง​ได้​ตอบ​เสียง​ดัง​ว่า​พวก​เธอ​ไม่​อาจ​ให้​เขา​เข้า​มา​ได้​เพราะ​ตอน​นี้​พวก​เธอ​กำลัง​ทำ​งาน​อยู่​ใน​ชุด​ชั้น​ใน​เนื่อง​จาก​อากาศ​ร้อน.

เจ้าหน้าที่​คน​นั้น​เงียบ​ไป​สัก​ครู่​หนึ่ง แล้ว​ก็​พูด​ขึ้น​ว่า​เขา​มี​นัด​อีก​แห่ง​หนึ่ง​ใน​บริเวณ​นั้น. เขา​บอก​ว่า​จะ​กลับ​มา​ตรวจ​อีก​ใน​วัน​ถัด​ไป. พวก​สตรี​คริสเตียน​เหล่า​นั้น​ได้​โทรศัพท์​ถึง​เรา​ทันที และ​ใน​คืน​นั้น​เรา​ได้​ส่ง​รถ​บรรทุก​ไป​ขน​ของ​ทุก​อย่าง​ที่​เกี่ยว​กับ​การ​เย็บ​เล่ม ย้าย​ของ​พวก​นี้​ไป​ที่​อื่น.

ของ​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​งาน​พิมพ์​แบบ​ใต้​ดิน​ของ​เรา​ไม่​มี​ประสบการณ์​มา​ก่อน​ใน​ธุรกิจ​การ​พิมพ์ ดัง​นั้น สิ่ง​ที่​ได้​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​ไป​นั้น​จึง​ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ใน​ใจ​ของ​ผม​ที่​ว่า​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​จัด​หา​ความ​ช่วยเหลือ​และ​การ​ชี้​นำ​ที่​จำเป็น. นับ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​ผม​และ​ลูซี ภรรยา​ของ​ผม​ซึ่ง​ทำ​งาน​ใน​แผนก​เย็บ​เล่ม ที่​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​งาน​ทั้ง​หมด.

งาน​ของ​เรา​ได้​รับ​การ​บริหาร​อย่าง​ไร​ใน​ช่วง​เวลา​ที่​ยาก​ลำบาก​เช่น​นั้น? ผู้​ดู​แล​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​รับใช้​ชั่ว​คราว​ใน​ตำแหน่ง​นี้​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ที่​เข้มงวด​จาก​รัฐบาล​ให้​เขา​ไป​อยู่​ใน​เมือง​ที่​ออก​จาก​ซิดนีย์​ไป​ประมาณ 100 กิโลเมตร. คำ​สั่ง​นั้น​ห้าม​เขา​ออก​ไป​ใน​รัศมี 8 กิโลเมตร​จาก​ใจ​กลาง​เมือง. น้ำมัน​เบนซิน​ถูก​ปัน​ส่วน​ให้​รถยนต์​คัน​ละ​สี่​ลิตร​ต่อ​เดือน. แต่​พวก​พี่​น้อง​ได้​ประดิษฐ์​สิ่ง​หนึ่ง​อย่าง​ชาญ​ฉลาด​ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ว่า​เป็น​เตา​ผลิต​แก๊ส—เป็น​ภาชนะ​โลหะ​รูป​ทรง​กระบอก​หนัก​ประมาณ​ครึ่ง​ตัน ติด​ไว้​ที่​ด้าน​หลัง​ของ​รถยนต์. ถ่าน​ถูก​เผา​ไหม้​ใน​นี้ ก่อ​ให้​เกิด​คาร์บอนมอนอกไซด์​ซึ่ง​ใช้​เป็น​เชื้อเพลิง. สอง​สาม​คืน​ใน​แต่​ละ​สัปดาห์ ผม​และ​พี่​น้อง​คน​อื่น​ที่​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ได้​เดิน​ทาง​โดย​วิธี​นี้​ไป​พบ​ผู้​ดู​แล​ใน​ลำ​ห้วย​ที่​แห้ง​ขอด​ใกล้​กับ​เมือง​ที่​เขา​ถูก​ส่ง​ไป​อยู่. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​สามารถ​พิจารณา​กัน​ถึง​หลาย​เรื่อง​ก่อน​ที่​จะ​เติม​เชื้อเพลิง​เข้า​ไป​ใน​เตา​ผลิต​แก๊ส​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​และ​ขับ​กลับ​ซิดนีย์​ใน​ตอน​เช้า​ตรู่.

ใน​ที่​สุด เรื่อง​การ​สั่ง​ห้าม​งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​ขึ้น​ถึง​ศาล​สูง​สุด​ของ​ออสเตรเลีย. ผู้​พิพากษา​แถลง​ว่า​การ​สั่ง​ห้าม​เป็น​ไป “โดย​พลการ, เป็น​ไป​ตาม​อารมณ์, กดขี่​บังคับ” และ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​พ้น​จาก​ความ​ผิด​ฐาน​ก่อ​ความ​ไม่​สงบ​อย่าง​สิ้นเชิง. ศาล​สูง​สุด​ทั้ง​หมด​สนับสนุน​การ​ตัดสิน​นี้ ดัง​นั้น พวก​เรา​จึง​สามารถ​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ ฝ่าย​ราชอาณาจักร​ที่​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย​อย่าง​เปิด​เผย​ต่อ ๆ ไป.

การ​มอบหมาย​ต่อ​ไป​และ​พระ​พร

หลัง​จาก​สงคราม​หลาย​คน​ที่​เคย​ทำ​งาน​ด้าน​การ​พิมพ์​แบบ​ใต้​ดิน​ของ​เรา​ได้​เข้า​สู่​งาน​รับใช้​ประเภท​ไพโอเนียร์. บาง​คน​ใน​พวก​เขา​ต่อ​มา​ได้​เข้า​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด​ใน​นิวยอร์ก. ลูซี​กับ​ผม​ก็​มี​เป้าหมาย​นั้น​ใน​ใจ​เช่น​กัน แต่​แล้ว​เรา​กลับ​กลาย​มา​เป็น​บิดา​มารดา​ของ​ทารก​น้อย​ลูก​สาว​ของ​เรา และ​ผม​ได้​ตัดสิน​ใจ​กลับ​ไป​ดำเนิน​กิจการ​ด้าน​การ​พิมพ์. เรา​อธิษฐาน​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​เรา​ให้​เอา​ผล​ประโยชน์​ราชอาณาจักร​อยู่​ใน​อันดับ​แรก​เสมอ และ​พระองค์​ก็​ทรง​ช่วย. ผม​ได้​มี​ส่วน​ใน​งาน​มอบหมาย​เป็น​งาน​รับใช้​อีก​ประเภท​หนึ่ง​ใน​แนว​ทาง​ต่อ​ไป​นี้.

ลอยด์ แบร์รี ซึ่ง​ปัจจุบัน​รับใช้​ใน​ฐานะ​สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา ได้​โทรศัพท์​ถึง​ผม. ใน​เวลา​นั้น เขา​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ใน​เมือง​ซิดนีย์. เขา​ถาม​ว่า​ผม​จำ​วัน​ที่​ของ​การ​ประชุม​หมวด​ครั้ง​ถัด​ไป​ของ​เรา​ได้​หรือ​ไม่. เมื่อ​ผม​ตอบ​ว่า​ผม​จำ​ได้ เขา​พูด​ว่า “เรา​ต้องการ​คุณ​ดู​แล​แผนก​อาหาร.”

ผม​ประหลาด​ใจ​อยู่​สัก​ครู่​หนึ่ง​แล้ว​พูด​ค่อนข้าง​จะ​อ่อนใจ​ว่า “แต่​ผม​ไม่​เคย​ทำ​งาน​แบบ​นั้น​มา​ก่อน​เลย​ใน​ชีวิต​ของ​ผม.”

เขา​ตอบ​ค่อนข้าง​จะ​ที​เล่น​ที​จริง​ว่า “ดี​ละ บราเดอร์ ตอน​นี้​เป็น​เวลา​ที่​เหมาะ​แล้ว​ที่​คุณ​จะ​เรียน​รู้!” ผม​ได้​เรียน​รู้ และ​ผม​ยัง​คง​มี​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​ดู​แล​การ​บริการ​อาหาร แม้​กระทั่ง​ใน​การ​ประชุม​ใหญ่ เป็น​เวลา​กว่า 40 ปี.

ตลอด​เวลา​หลาย​ปี บริษัท​การ​พิมพ์​ของ​เรา​ได้​ขยาย​ตัว​ขึ้น และ​การ​ขยาย​ตัว​เช่น​นี้​จึง​จำเป็น​ต้อง​เดิน​ทาง​ไป​ต่าง​ประเทศ​เพื่อ​ทำ​ธุรกิจ​หลาย​ครั้ง. ผม​มัก​จะ​จัด​ตาราง​เวลา​เหล่า​นี้​ให้​ตรง​กับ​การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ที่​จัด​ขึ้น​ใน​กรุง​นิวยอร์ก​และ​ที่​อื่น ๆ ใน​สหรัฐ. ทั้ง​นี้​ทำ​ให้​ผม​มี​โอกาส​ใช้​เวลา​อยู่​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ได้​เอา​ใจ​ใส่​แผนก​ต่าง ๆ ของ​การ​ประชุม​ใหญ่​หลาย​แห่ง โดย​เฉพาะ​การ​บริการ​อาหาร. ด้วย​เหตุ​นี้ เมื่อ​กลับ​ไป​ออสเตรเลีย ผม​มี​ความ​สามารถ​ดี​ขึ้น​ที่​จะ​รับใช้​ตาม​ความ​จำเป็น ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ของ​พวก​เรา.

ด้วย​วัย​ที่​สูง​อายุ​ของ​เรา ผม​และ​ลูซี​บาง​ครั้ง​สงสัย​ว่า​เรา​อาจ​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​มาก​กว่า​นี้​หรือ​ไม่​หาก​เรา​ได้​เกิด​มา​ช้า​กว่า​นี้​เล็ก​น้อย. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ที่​ได้​เกิด​มา​ใน​ปี 1916 และ 1914 ตาม​ลำดับ​นั้น เรา​ถือ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​อัน​วิเศษ​ยิ่ง​ที่​ได้​เห็น​คำ​พยากรณ์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​สำเร็จ​เป็น​จริง​ต่อ​หน้า​ต่อ​ตา​เรา. และ​เรา​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​สำหรับ​พระ​พร​ที่​เรา​มี​ใน​การ​ศึกษา​กับ​หลาย​คน​และ​ช่วย​เขา​ให้​เรียน​ความ​จริง​และ​เห็น​พวก​เขา​กำลัง​รับใช้​พระองค์​อยู่​ใน​ขณะ​นี้​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ที่​รับ​บัพติสมา​แล้ว. คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​คือ​ว่า​เรา​จะ​รับใช้​พระองค์​ต่อ ๆ ไป​ชั่ว​นิรันดร ยอม​รับ​พระองค์​ตลอด​กาล​ฐานะ​ผู้​ครอบครอง​องค์​บรม​มหิศร​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​แห่ง​เอกภพ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 14 โปรด​ดู​เดอะ​ว็อชเทาเวอร์ ฉบับ​วัน​ที่ 15 กันยายน 1978 หน้า 24-27.

[รูปภาพ​หน้า 29]

โรง​พิมพ์​ที่​เบเธล​สเตรทฟิลด์, 1929–1973

จอร์จ กิบบ์​ยืน​ข้าง​เครื่อง​พิมพ์​ที่​เอา​ออก​มา​จาก​โรง​พิมพ์​โดย​ผ่าน​กำแพง​ด้าน​หลัง