ชนคริสเตียนรุ่นแรกและโลก
ชนคริสเตียนรุ่นแรกและโลก
ราว ๆ สองพันปีมาแล้ว เหตุการณ์อันน่าพิศวงได้เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง. พระเจ้าทรงส่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์จากสถานที่ประทับฝ่ายสวรรค์เพื่อดำรงชีวิตอยู่ชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ในโลกแห่งมนุษยชาติ. มนุษยชาติส่วนใหญ่ตอบรับอย่างไร? อัครสาวกโยฮันตอบว่า “พระองค์ [พระเยซู] ทรงอยู่ในโลก และโลกได้บังเกิดมาโดยพระองค์ แต่โลกหาได้รู้จักพระองค์ไม่. พระองค์ได้เสด็จมายังบ้านเมือง [ยิศราเอล] ของพระองค์ แต่ชนร่วมชาติไม่ได้ต้อนรับพระองค์.”—โยฮัน 1:10, 11, ล.ม.
โลกมิได้ยอมรับพระเยซู พระบุตรของพระเจ้าทีเดียว. ทำไมจึงไม่ยอมรับ? พระเยซูทรงอธิบายเหตุผลประการหนึ่งเมื่อพระองค์ตรัสว่า “โลก . . . ชังเรา เพราะเราเป็นพยานถึงการของโลกว่าเป็นการชั่ว.” (โยฮัน 7:7) ในที่สุด โลกเดียวกันนี้—ที่มีหัวหน้าศาสนาชาวยิวบางคน, กษัตริย์ชาวอะโดม, และนักการเมืองชาติโรมันเป็นตัวแทนนั้น—ได้สั่งประหารชีวิตพระเยซู. (ลูกา 22:66–23:25; กิจการ 3:14, 15; 4:24-28) จะว่าอย่างไรเกี่ยว กับพวกสาวกของพระเยซู? โลกพร้อมจะยอมรับพวกเขาไหม? ไม่. ก่อนการวายพระชนม์ของพระองค์ไม่นาน พระเยซูทรงเตือนพวกเขาว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายเป็นส่วนของโลก โลกก็จะรักซึ่งเป็นของโลกเอง. บัดนี้เพราะเจ้ามิได้เป็นส่วนของโลก แต่เราได้เลือกเจ้าออกจากโลก ด้วยเหตุนี้โลกจึงเกลียดชังเจ้า.”—โยฮัน 15:19, ล.ม.
ในสมัยของพวกอัครสาวก
คำตรัสของพระเยซูปรากฏว่าเป็นจริง. เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการวายพระชนม์ของพระองค์ พวกอัครสาวกของพระองค์ถูกจับกุม, ข่มขู่, และถูกเฆี่ยนตี. (กิจการ 4:1-3; 5:17, 18, 40) หลังจากนั้นไม่นาน ซะเตฟาโนผู้กระตือรือร้นได้ถูกลากไปต่อหน้าศาลซันเฮดรินของพวกยิว และต่อจากนั้นถูกหินขว้างจนถึงแก่ความตาย. (กิจการ 6:8-12; 7:54, 57, 58) ต่อมา อัครสาวกยาโกโบถูกประหารชีวิตโดยกษัตริย์เฮโรด อะฆะริปาที่ 1. (กิจการ 12:1, 2) ระหว่างการเดินทางเป็นมิชชันนารีของท่าน เปาโลถูกข่มเหงเนื่องด้วยการปลุกปั่นยุยงของพวกยิวที่กระจายอยู่ในต่างแดน.—กิจการ 13:50; 14:2, 19.
คริสเตียนรุ่นแรกตอบรับการต่อต้านดังกล่าวนั้นอย่างไร? ในสมัยต้น ๆ เมื่อผู้มีอำนาจทางศาสนาห้ามอัครสาวกมิให้ประกาศในนามของพระเยซู พวกอัครสาวกได้แถลงว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.” (กิจการ 4:19, 20; 5:29, ล.ม.) ข้อนี้ยังเป็นเจตคติของพวกเขาอยู่เรื่อยไปเมื่อไรก็ตามที่เกิดการต่อต้านขึ้น. ถึงอย่างไรก็ตาม อัครสาวกเปาโลได้แนะนำคริสเตียนในกรุงโรมให้ “ยอมอยู่ใต้อำนาจ [ทางด้านการปกครอง] ที่สูงกว่า.” ท่านยังได้แนะนำพวกเขาด้วยว่า “เหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวกับท่านทั้งหลาย, หากท่านจัดได้ จงกระทำตนให้เป็นที่สงบสุขแก่คนทั้งปวง.” (โรม 12:18; 13:1, ล.ม.) เนื่องจากเหตุนี้ คริสเตียนรุ่นแรกต้องบรรลุถึงความสมดุลที่ยากลำบาก. พวกเขาเชื่อฟังพระเจ้าฐานะผู้ครอบครองอันดับแรกของเขา. ขณะเดียวกัน พวกเขายอมอยู่ใต้ผู้มีอำนาจของประเทศชาติและพยายามจะดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขกับคนทั้งปวง.
ชนคริสเตียนในโลกโรมัน
ย้อนหลังไปในโลกแห่งจักรวรรดิโรมันศตวรรษแรก คริสเตียนได้รับประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัยจาก พักซ์ โรมานา หรือสันติภาพของโรม ที่ธำรงรักษาไว้โดยกองทหารโรมัน. การปกครองที่มั่นคงด้วยกฎหมายและระเบียบ, ถนนหนทางที่ดี, และการเดินทางทางทะเลที่ค่อนข้างจะปลอดภัย ได้ทำให้มีสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการแผ่ขยายศาสนาคริสเตียน. ชนคริสเตียนรุ่นแรกดูเหมือนจะสำนึกถึงการที่เขาเป็นหนี้สังคม และเอาใจใส่ฟังคำสั่งของพระเยซูที่ว่า “ของ ๆ กายะซา จงถวายแก่กายะซา.” (มาระโก 12:17) เมื่อเขียนจดหมายถึงแอนโทนินุส ปิอุส จักรพรรดิโรมัน (ปีสากลศักราช 138-161) จัสติน มาเทอร์ได้อ้างว่าพวกคริสเตียนชำระภาษีของเขา “ด้วยความเต็มใจยิ่งกว่าคนทั้งปวง.” (หนังสือการขอขมาครั้งแรก, [ภาษาอังกฤษ] บท 17) ในปีสากลศักราช 197 เทอร์ทูลเลียนได้แจ้งแก่ผู้ครอบครองชาติโรมันว่าผู้เก็บภาษีของพวกเขา “เป็นหนี้บุญคุณชนคริสเตียน” เนื่องด้วยพวกเขาเสียภาษีตามสติรู้สึกผิดชอบ. (หนังสือการขอขมา, บท 42) นี้เป็นวิธีหนึ่งที่พวกเขาดำเนินตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่าพวกเขาควรยอมอยู่ใต้ผู้มีอำนาจที่สูงกว่า.
ยิ่งกว่านั้น เท่าที่หลักการคริสเตียนของพวกเขาอนุญาตให้ ชนคริสเตียนรุ่นแรกพยายามจะดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขกับเพื่อนบ้าน. แต่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย. โลกรอบ ๆ ตัวเขาดำเนินชีวิตอย่างผิดศีลธรรมเป็นส่วนใหญ่และจมปลักอยู่ในการบูชารูปเคารพของกรีก-โรมัน ซึ่งไม่นานการนมัสการจักรพรรดิได้ถูกเพิ่มเข้าไปด้วย. ศาสนาแบบนอกรีตของโรมโดยเนื้อแท้แล้วเป็นศาสนาประจำรัฐ ดังนั้น การปฏิเสธใด ๆ ต่อการปฏิบัติศาสนานั้นอาจถูกถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐได้. ผลต่อคริสเตียนเป็นอย่างไร?
อี. จี. ฮาร์ดี ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
ได้เขียนว่า “เทอร์ทูลเลียนแจกแจงหลายสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับคริสเตียนที่ได้รับการชี้นำจากสติรู้สึกผิดชอบ ว่าเป็นการพัวพันกับการบูชารูปเคารพ: เป็นต้นว่า คำสาบานตามปกติในข้อสัญญาต่าง ๆ, ไฟประดับที่ประตูในเทศกาลฉลองต่าง ๆ, พิธีรีตองทางศาสนานอกรีตทุกรูปแบบ, การละเล่นต่าง ๆ และการแสดงละคร, อาชีพการสอนวรรณคดีนอกรีตอันเลื่องลือ, การเป็นทหาร, ตำแหน่งทางราชการ.”—หนังสือศาสนาคริสเตียนและรัฐบาลโรมัน (ภาษาอังกฤษ).ถูกแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกโรมันโดยปราศจากการทรยศต่อความเชื่อแบบคริสเตียน. เอ. อะมาง นักประพันธ์คาทอลิกชาวฝรั่งเศสเขียนว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่เผชิญกับพระเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง. จุดยืนของคริสเตียนนำปัญหามาให้เขาทุกวัน เขาดำรงชีวิตอยู่ภายนอกกระแสนิยมของสังคม . . . เขาเผชิญปัญหาซ้ำอีกในบ้าน, ตามถนน, ที่ตลาด . . . ในถนน ไม่ว่าเป็นพลเมืองชาติโรมันหรือไม่ก็ตาม คริสเตียนควรเปิดหมวกของตนเมื่อผ่านวิหารหรือรูปปั้น. เขาจะละเว้นจากการกระทำเช่นนั้นโดยไม่ก่อให้เกิดความสงสัยได้อย่างไร กระนั้น เขาจะทำตามโดยไม่กระทำการที่แสดงความจงรักภักดีได้โดยวิธีใด? หากเขาอยู่ในวงธุรกิจและจำเป็นต้องยืมเงิน เขาต้องสาบานต่อผู้ให้ยืมเงินในนามของพระเจ้าต่าง ๆ . . . . หากเขายอมรับตำแหน่งทางราชการ เขาถูกคาดหมายให้ถวายเครื่องบูชา. หากถูกเกณฑ์ทหาร เขาจะหลีกเลี่ยงการกล่าวปฏิญาณและเข้าส่วนในพิธีของการเป็นทหารได้อย่างไร?”—ชีวิตประจำวันในท่ามกลางชนคริสเตียนรุ่นแรก, สากลศักราช 95-197, ภาษาฝรั่งเศส.
พลเมืองดี ทว่าถูกใส่ร้ายป้ายสี
ราว ๆ ปีสากลศักราช 60 หรือ 61 เมื่อเปาโลอยู่ในกรุงโรมคอยการพิจารณาคดีโดยจักรพรรดิเนโรอยู่นั้น ชาวยิวคนสำคัญ ๆ ได้กล่าวเกี่ยวกับชนคริสเตียนรุ่นแรกว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายทราบว่าพวกที่ถือลัทธินี้ก็ถูกติเตียนทุกแห่ง.” (กิจการ 28:22) บันทึกทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าคริสเตียนถูกติเตียน—แต่ถูกติเตียนอย่างไม่เป็นธรรม. ในหนังสือความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาคริสเตียน อี. ดับเบิลยู. บาร์นส์ บรรยายว่า “ในเอกสารที่เชื่อถือได้ตอนต้น ๆ นั้น ขบวนการคริสเตียนได้รับการพรรณนาว่าโดยเนื้อแท้แล้วมีศีลธรรมและรักษากฎหมาย. สมาชิกของขบวนการนั้นปรารถนาจะเป็นพลเมืองดีและประชากรผู้จงรักภักดี. พวกเขาหลีกเลี่ยงข้อบกพร่องและความเสื่อมทรามของลัทธินอกรีต. ในชีวิตส่วนตัวพวกเขาพยายามจะเป็นเพื่อนบ้านที่รักสันติและเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้. พวกเขาถูกสอนให้เป็นคนเอาจริงเอาจังและรู้จักประมาณตน, ขยันขันแข็งและดำเนินชีวิตอย่างสะอาด. ในท่ามกลางความทุจริตเสื่อมทรามและการไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่ดาษดื่นนั้นพวกเขาซื่อสัตย์และพูดความจริง หากเขายึดมั่นกับหลักการของพวกเขา. มาตรฐานทางเพศของพวกเขานั้นสูง: ความสัมพันธ์ด้านการสมรสได้รับความนับถือและชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องบริสุทธิ์. คนเราอาจคิดว่า พร้อมด้วยคุณธรรมดังกล่าวพวกเขาไม่น่าเป็นพลเมืองที่ก่อความยุ่งยาก. กระนั้น พวกเขาก็ถูกเหยียดหยาม, ใส่ร้ายป้ายสีและถูกเกลียดชังมาเป็นเวลานาน.”
เช่นเดียวกับโลกสมัยโบราณไม่เข้าใจพระเยซู โลกนั้นก็ไม่เข้าใจคริสเตียนและจึงเกลียดชังพวกเขาเช่นกัน. เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธการนมัสการจักรพรรดิและพระเจ้านอกรีต พวกเขาจึงถูกกล่าวหาในเรื่องว่าเป็นอเทวนิยม. ถ้าเกิดภัยพิบัติขึ้น พวกเขาก็ถูกตำหนิว่าทำให้พระเจ้าต่าง ๆ พิโรธ. เพราะพวกเขาไม่เข้าไปดูการเล่นที่ผิดศีลธรรมหรือการแสดงการต่อสู้ที่ทำให้เลือดตกยางออก ก็ถือว่าพวกเขาเป็นคนต่อต้านสังคม เป็น ‘ผู้เกลียดชังเผ่าพันธุ์มนุษย์’ ด้วยซ้ำ. เหล่าศัตรูของพวกเขาอ้างว่าครอบครัวแตกแยกเนื่องจาก “นิกาย” คริสเตียน และเพราะฉะนั้น นิกายนั้นจึงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสังคม. เทอร์ทูลเลียนกล่าวถึงสามีนอกรีตซึ่งยอมให้ภรรยาของเขาเล่นชู้ยิ่งเสียกว่าที่จะเข้ามาเป็นคริสเตียน.
ชนคริสเตียนถูกติเตียนเพราะพวกเขาคัดค้านการทำแท้ง ซึ่งมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น. กระนั้น เหล่าศัตรูได้กล่าวหาพวกเขาในเรื่องการฆ่าเด็ก ๆ. มีการแถลงโดยไม่มีข้อพิสูจน์ว่า ณ การประชุมของพวกเขา เขาดื่มเลือดของเด็ก ๆ ที่ถูกบูชายัญ. ขณะเดียวกัน พวกศัตรูพยายามบังคับพวกเขาให้รับประทาน
ไส้กรอกเลือด โดยรู้อยู่ว่าการทำเช่นนี้ขัดกับสติรู้สึกผิดชอบของพวกเขา. ด้วยเหตุนี้ ผู้ต่อต้านเหล่านี้จึงหักล้างข้อกล่าวหาของตนเอง.—เทอร์ทูลเลียน, หนังสือการขอขมา, บท 9.ถูกเหยียดหยามฐานเป็นนิกายใหม่
นักประวัติศาสตร์เคนอัท สกอตต์ ลาตูเรตต์ ได้เขียนไว้ว่า “ยังคงมีข้อกล่าวหาอีกหลายประการที่ทำให้ศาสนาคริสเตียนได้รับการเยาะเย้ยเนื่องจากการเริ่มต้นไม่นานของศาสนานั้นและเมื่อเทียบศาสนานั้นกับความเก่าแก่ของศาสนาที่เป็นคู่แข่ง [ลัทธิยูดายและศาสนานอกรีตของกรีก-โรมัน].” (หนังสือประวัติเกี่ยวกับการแผ่ขยายของศาสนาคริสเตียน, เล่ม 1, หน้า 131, ภาษาอังกฤษ) ในต้นศตวรรษที่สองสากลศักราช นักประวัติศาสตร์โรมันซูโทนิอุสเรียกศาสนาคริสเตียนว่า “ความเชื่อโชคลางแบบใหม่และเป็นอันตราย.” เทอร์ทูลเลียนยืนยันว่าชื่อคริสเตียนนั่นทีเดียวแหละที่ถูกเกลียดชัง และชนคริสเตียนเป็นนิกายที่พึงรังเกียจ. เมื่อกล่าวถึงท่าทีซึ่งข้าราชการในจักรภพโรมันมองดูคริสเตียนในศตวรรษที่สองนั้น โรเบิร์ต เอ็ม. แกรนต์ เขียนว่า “ความเห็นพื้นฐานคือว่าศาสนาคริสเตียนเป็นเพียงศาสนาที่ไม่จำเป็น อาจจะเป็นอันตรายก็ได้.”—หนังสือศาสนาคริสเตียนสมัยแรกและสังคม (ภาษาอังกฤษ).
ถูกกล่าวหาในเรื่องการทำให้เปลี่ยนศาสนาแบบก้าวร้าว
ในหนังสือ ลาส์ เพรมเย สยาคล์ เดอ เลกลีซ (ศตวรรษต้น ๆ ของคริสต์จักร, ภาษาฝรั่งเศส) ศาสตราจารย์ ชาง เบอร์นาร์ดี แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ได้เขียนไว้ว่า “[คริสเตียน] ต้องออกไปและพูดทุกหนทุกแห่งกับทุก ๆ คน. บนทางหลวงและในเมืองต่าง ๆ, ตามจัตุรัสสาธารณะและในบ้านเรือน. มีการต้อนรับหรือไม่ต้อนรับ. พูดกับคนจน, และกับคนรวยที่ถูกกีดขวางเนื่องจากทรัพย์สมบัติของเขา. พูดกับผู้ต่ำต้อยและผู้สำเร็จราชการมณฑลต่าง ๆ ของโรม . . . พวกเขาต้องเดินทางบนถนน, ทางเรือ, และไปจนถึงสุดปลายแห่งแผ่นดินโลก.”
พวกเขาได้ทำเช่นนี้ไหม? จากหลักฐานแล้วพวกเขาได้ทำ. ศาสตราจารย์เลโอง โอโม กล่าวว่า คริสเตียนรุ่นแรกมีมติมหาชนคัดค้านเนื่องจากการที่พวกเขา “ทำให้คนเปลี่ยนศาสนาอย่างกระตือรือร้น.” ศาสตราจารย์ลาตูเรตต์แถลงว่าขณะที่พวกยิวหมดความกระตือรือร้นในการทำให้คนเปลี่ยนศาสนา “ส่วนพวกคริสเตียนเป็นมิชชันนารีที่ก้าวร้าวและเพราะฉะนั้นจึงก่อให้เกิดความแค้นเคือง.”
ในศตวรรษที่สองสากลศักราช เซลซัส นักปราชญ์ชาวโรมันได้ติเตียนวิธีการประกาศของคริสเตียน. เขาแถลงว่าศาสนาคริสเตียนเหมาะกับคนไม่มีการศึกษา และศาสนานั้นสามารถ ‘ทำให้เฉพาะแต่คนโง่, พวกทาส, ผู้หญิง, และเด็กเล็ก ๆ เท่านั้นเชื่อมั่น’ ได้. เขากล่าวหาคริสเตียนในเรื่องการอบรมสั่งสอน “คนที่หลอกง่าย” โดยให้พวกเขา “เชื่อโดยปราศจากความคิดที่มีเหตุผล.” เขาอ้างว่าพวกเขาบอกเหล่าสาวกใหม่ว่า “อย่าถามคำถาม เชื่อก็แล้วกัน.” ถึงกระนั้น ตามที่ออริเกนกล่าวไว้ เซลซัสเองได้ยอมรับว่า “ไม่เพียงแต่คนไม่มีการศึกษาและชนชั้นต่ำเท่านั้นซึ่งได้รับการชักนำจากคำสอนของพระเยซูให้ยอมรับศาสนาของพระองค์.”
ไม่มีการรวมศาสนาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
คริสเตียนรุ่นแรกถูกติเตียนต่อไปอีกเพราะพวกเขาอ้างว่ามีความจริงของพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. พวกเขาไม่ยอมรับการรวมความเชื่อ. ลาตูเรตต์เขียนว่า “ต่างจากศาสนาส่วนใหญ่ในสมัยนั้น พวกเขา [ชนคริสเตียน] เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอื่น ๆ . . . . ตรงกันข้ามกับการยอมให้โดยไม่มีขอบเขตจำกัดอย่างสิ้นเชิงซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของศาสนาอื่น ๆ แล้ว พวกเขาแถลงว่าพวกเขามีความจริงอันปฏิเสธไม่ได้.”
ในปีสากลศักราช 202 จักรพรรดิเซปตีมอีอัส เซเวรัสได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาห้ามคริสเตียนทำให้คน
เปลี่ยนศาสนา. อย่างไรก็ดี นี้มิได้ยับยั้งพวกเขาไว้จากการให้คำพยานในเรื่องความเชื่อของพวกเขา. ลาตูเรตต์พรรณนาถึงผลว่า “ในการปฏิเสธที่จะประนีประนอมกับลัทธินอกรีตที่แพร่หลายและกับธรรมเนียมทางสังคมและกิจปฏิบัติทางศีลธรรมของยุคนั้น [ศาสนาคริสเตียนสมัยแรก] ได้พัฒนาการเป็นปึกแผ่นและการจัดระเบียบซึ่งทำให้ศาสนานั้นทวนกระแสของสังคม. การออกจากศาสนาเดิมอย่างเด็ดขาดเพื่อสมทบกับศาสนานั้นทำให้เหล่าสานุศิษย์มีความเชื่อมั่นซึ่งก่อผลเป็นแหล่งแห่งพลังต้านการข่มเหงและเป็นแหล่งแห่งความกระตือรือร้นในการได้คนเปลี่ยนศาสนา.”เพราะฉะนั้น บันทึกทางประวัติศาสตร์จึงชัดเจน. ส่วนใหญ่แล้ว คริสเตียนรุ่นแรก ขณะที่พยายามจะเป็นพลเมืองดีและดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขกับคนทั้งปวงนั้น ไม่ยอมที่จะเป็น “ส่วนของโลก.” (โยฮัน 15:19, ล.ม.) พวกเขานับถือผู้มีอำนาจ. แต่เมื่อซีซาร์ห้ามพวกเขาประกาศ พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากประกาศต่อ ๆ ไป. พวกเขาพยายามจะดำเนินชีวิตอยู่อย่างสงบสุขกับคนทั้งปวงแต่ไม่ยอมอะลุ้มอล่วยในเรื่องมาตรฐานด้านศีลธรรมและการบูชารูปเคารพแบบนอกรีต. เพราะเหตุทั้งหมดนี้ พวกเขาถูกเหยียดหยาม, ใส่ร้ายป้ายสี, เกลียดชัง, และถูกข่มเหง, ดังที่พระคริสต์ทรงบอกล่วงหน้าไว้ว่าพวกเขาจะประสบ.—โยฮัน 16:33.
การที่พวกเขาแยกตัวจากโลกนั้นยังคงดำเนินอยู่ต่อไปไหม? หรือว่าพร้อมกับเวลาที่ผ่านไป คนเหล่านั้นซึ่งอ้างว่าปฏิบัติศาสนาคริสเตียนได้เปลี่ยนเจตคติของเขาในเรื่องนี้ไหม?
[จุดเด่นหน้า 4]
“จุดยืนของคริสเตียนนำปัญหามาให้เขาทุกวัน เขาดำรงชีวิตอยู่ภายนอกกระแสนิยมของสังคม”
[จุดเด่นหน้า 6]
“ศาสนาคริสเตียนได้รับการเยาะเย้ยเนื่องจากการเริ่มต้นไม่นานของศาสนานั้นและเมื่อเทียบกับ . . . ความเก่าแก่ของศาสนาที่เป็นคู่แข่ง”
[รูปภาพหน้า 3]
เนื่องจากคริสเตียนปฏิเสธที่จะนมัสการจักรพรรดิโรมันและพระเจ้านอกรีตทั้งหลาย พวกเขาจึงถูกกล่าวหาในเรื่องอเทวนิยม
[ที่มาของภาพ]
Museo della Civiltà Romana, Roma
[รูปภาพหน้า 7]
คริสเตียนในศตวรรษแรกเป็นที่รู้จักฐานะผู้ประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรที่กระตือรือร้น