วิธีที่คริสต์ศาสนจักรกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้
วิธีที่คริสต์ศาสนจักรกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้
ในที่สุด จักรวรรดิโรมันซึ่งรุ่งเรืองในสมัยที่ศาสนาคริสเตียนยุคแรกได้เริ่มต้นนั้น ก็ได้ล่มสลาย. นักประวัติศาสตร์หลายคนอ้างว่าการล่มสลายนั้นเป็นสมัยแห่งชัยชนะขั้นเด็ดขาดของศาสนาคริสเตียนเหนือลัทธินอกรีต. โดยแสดงความเห็นที่ต่างกัน อี. ดับเบิลยู. บาร์นส์ หัวหน้าบาทหลวงแองกลิคันได้เขียนว่า “ขณะที่อารยธรรมของกรีกโรมันล่มสลาย ศาสนาคริสเตียนก็ไม่ได้เป็นความเชื่อศรัทธาที่สูงส่งเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์อีกต่อไป: ศาสนาคริสเตียนกลายเป็นศาสนาที่มีประโยชน์ในฐานะเป็นเครื่องเสริมให้แข็งแกร่งทางด้านสังคมของโลกที่กำลังเสื่อมโทรม.”—หนังสือความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาคริสเตียน.
ก่อนการล่มสลายเช่นนั้น ระหว่างศตวรรษที่สอง, สาม, และสี่สากลศักราช ประวัติศาสตร์บันทึกว่า คนเหล่านั้นซึ่งอ้างว่าติดตามพระเยซูนั้นได้แยกตัวอยู่ต่างหากจากโลกโรมันในหลายประการ. แต่ประวัติศาสตร์ยังเปิดเผยถึงการขยายตัวของการออกหากในด้านคำสอน, ความประพฤติ, และองค์การเช่นกัน ดังที่พระเยซูและพวกอัครสาวกได้บอกไว้ล่วงหน้า. (มัดธาย 13:36-43; กิจการ 20:29, 30; 2 เธซะโลนิเก 2:3-12; 2 ติโมเธียว 2:16-18; 2 เปโตร 2:1-3, 10-22) ในที่สุด ได้มีการประนีประนอมกับโลกกรีก–โรมัน และบางคนซึ่งอ้างว่าเป็นคริสเตียนได้ยอมรับลักษณะนอกรีตของโลก (เช่น เทศกาลฉลองต่าง ๆ และการนมัสการพระแม่เจ้าและพระตรีเอกานุภาพ), ปรัชญาต่าง ๆ (เช่นความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณอมตะ), และองค์การเกี่ยวกับการบริหาร (ดังที่เห็นได้จากการปรากฏของชนจำพวกนักเทศน์). ศาสนาคริสเตียนในรูปแบบที่เสื่อมทรามนี้แหละที่ดึงดูดใจสามัญชนนอกรีตจำนวนมากมายและกลายเป็นพลังที่จักรพรรดิโรมันพยายามในตอนแรกที่จะกำจัด แต่ภายหลังก็ได้ยอมรับและพยายามจะใช้เพื่อจุดมุ่งหมายของพวกเขาเอง.
ถูกโลกพิชิต
เอากุสตุส เนอานเดอร์ นักประวัติศาสตร์ของคริสต์จักรได้แสดงให้เห็นอันตรายที่พัวพันอยู่ในความสัมพันธ์ใหม่เช่นนี้ระหว่าง “ศาสนาคริสเตียน” กับโลก. เขาเขียนว่า ถ้าคริสเตียนเลิกการแยกตัวจากโลก “ผลลัพธ์ก็จะเป็นการปนเปกันของคริสต์จักรกับโลก . . . ที่ซึ่งคริสต์จักรจะสูญเสียความบริสุทธิ์ และถึงแม้ดูเหมือนว่ามีชัยชนะ คริสต์จักรเองคงจะถูกพิชิต.”—หนังสือประวัติโดยทั่วไปของศาสนาคริสเตียนและคริสต์จักร, เล่ม 2, หน้า 161.
นี้เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้น. ในตอนต้นของศตวรรษที่สี่ จักรพรรดิโรมันคอนสแตนตินพยายามใช้ศาสนา “คริสเตียน” ในยุคของเขาเพื่อเสริมสร้างจักรภพที่กำลังแตกแยกให้แข็งแกร่ง. เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ เขายอมให้ชนที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนมีเสรีภาพทางศาสนาและโอนสิทธิพิเศษบางอย่างของนักบวชนอกรีตนั้นมาให้ชนจำพวกนักเทศน์ของพวกเขา. สารานุกรมใหม่บริแทนนิกา แถลงว่า “คอนสแตนตินได้นำคริสต์จักรออกมาจากการถอนตัวจากโลกเพื่อยอมรับหน้าที่รับผิดชอบทางสังคม และช่วยโน้มน้าวสังคมนอกรีตมาเข้าคริสต์จักร.”
ศาสนาประจำรัฐ
หลังจากคอนสแตนติน จักรพรรดิจูเลียน (ปีสากลศักราช 361-363) ได้ใช้ความพยายามที่จะต่อต้านศาสนาคริสเตียนและฟื้นฟูลัทธินอกรีตขึ้นมาใหม่. แต่เขาล้มเหลว และราว 20 ปีต่อมา จักรพรรดิทีโอโดซิอุสที่ 1 ได้สั่งห้ามลัทธินอกรีตและตั้ง “ศาสนาคริสเตียน” ที่ถือพระตรีเอกานุภาพขึ้นเป็นศาสนาประจำรัฐแห่งจักรวรรดิโรมัน. อังรี มาร์รู นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้เขียนไว้ด้วยความถูกต้องอย่างสละสลวยว่า “ระหว่างตอนปลายรัชสมัยของทีโอโดซิอุส ศาสนาคริสเตียน หรือถ้าจะพูดเจาะจงมากกว่า นิกายโรมันคาทอลิกดั้งเดิมได้กลายเป็นศาสนาทางการของโลกโรมันทั้งสิ้น.” นิกายโรมันคาทอลิกดั้งเดิมได้เข้ามาแทนศาสนาคริสเตียนแท้ และได้กลายเป็น “ส่วนของโลก.” ศาสนาประจำรัฐเช่นนี้ต่างกันลิบลับจากศาสนาของเหล่าสาวกรุ่นแรกของพระเยซู ผู้ซึ่งพระองค์ตรัสถึงว่า “เจ้ามิได้เป็นส่วนของโลก.”—โยฮัน 15:19, ล.ม.
หลุยส์ รูชเย นักประวัติศาสตร์และนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้เขียนว่า “ขณะที่แพร่ออกไป ศาสนาคริสเตียนได้ประสบการเปลี่ยนรูปที่แปลกจนถึงขั้นที่จำไม่ได้ . . . คริสต์จักรสมัยแรกของคนยากจนซึ่งดำเนินชีวิตตามพระกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า ได้กลายเป็นคริสต์จักรที่มีชัยชนะอย่างต้านทานไม่ได้ซึ่งยอมอ่อนข้อให้กับผู้มีอำนาจฝ่ายโลกทั้งหลายที่ดำรงอยู่เมื่อคริสต์จักรไม่สามารถปกครองคนเหล่านั้นได้.”
ในต้นศตวรรษที่ห้าสากลศักราช ออกัสติน “นักบุญ” โรมันคาทอลิกได้เขียนบทประพันธ์ชิ้นสำคัญชื่อ นครของพระเจ้า. ในบทประพันธ์นั้นเขาได้พรรณนาถึงสองนคร “นครของพระเจ้าและนครของโลก.” บทประพันธ์นี้เน้นการแยกต่างหากระหว่างชาวคาทอลิกกับโลกไหม? ไม่เลยจริง ๆ. ศาสตราจารย์ลาตูเรตต์แถลงว่า “ออกัสตินยอมรับอย่างตรงไปตรงมา [ว่า] สองนครนั้น ทางภาคพื้นโลกและทางภาคสวรรค์นั้นผสมปนเปกัน.” ออกัสตินสอนว่า “ราชอาณาจักรของพระเจ้าได้เริ่มต้นแล้วในโลกนี้พร้อมกับการสถาปนาคริสต์จักร [คาทอลิก].” (สารานุกรมใหม่บริแทนนิกา, แมโครพีเดีย, เล่ม 4, หน้า 506) ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจุดประสงค์แรกเดิมของออกัสตินอาจเป็นเช่นไรก็ตาม ทฤษฎีของเขามีผลกระทบในการทำให้คริสต์จักรคาทอลิกเข้าไปพัวพันอย่างถลำลึกมากขึ้นกับการเมืองของโลกนี้.
จักรวรรดิที่แตกแยก
ในปีสากลศักราช 395 เมื่อทีโอโดซิอุสที่ 1 สิ้นพระชนม์ จักรวรรดิโรมันได้ถูกแบ่งแยกเป็นสองอาณาจักรอย่างเป็นทางการ. จักรวรรดิตะวันออก หรือไบแซนไทน์ มีเมืองหลวงอยู่ที่คอนสแตนติโนเปิล (ไบแซนติอุมสมัยก่อน, อิสตันบุลปัจจุบัน) และจักรวรรดิตะวันตก โดยมีเมืองหลวง (ภายหลังปีสากลศักราช 402) ที่ราเวนนา, อิตาลี. ผลก็คือ คริสต์ศาสนจักรได้ถูกแบ่งแยกทั้งด้านการเมืองและด้านศาสนาด้วย. เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคริสต์จักรกับรัฐนั้น คริสต์จักรในจักรวรรดิตะวันออกได้ติดตามทฤษฎีของยูเซบิอุสแห่งซีซาเรีย
(คนร่วมสมัยกับคอนสแตนตินมหาราช). โดยการเพิกเฉยต่อหลักการคริสเตียนในเรื่องการแยกตัวจากโลก ยูเซบิอุสได้ให้เหตุผลว่าหากจักรพรรดิและจักรวรรดิเปลี่ยนเป็นคริสเตียนแล้ว คริสต์จักรและรัฐก็จะกลายเป็นสังคมคริสเตียนหนึ่งเดียว โดยมีจักรพรรดิปฏิบัติการฐานะเป็นตัวแทนของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก. ส่วนใหญ่แล้ว ความสัมพันธ์เช่นนี้ระหว่างคริสต์จักรกับรัฐได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษโดยคริสต์จักรออร์โทด็อกซ์ตะวันออก. ทิโมที แวร์ หัวหน้าบาทหลวงออร์โทด็อกซ์ได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ไว้ในหนังสือ คริสต์จักรออร์โทด็อกซ์: “ลัทธิชาตินิยมเป็นสมุฏฐานแห่งความหายนะของศาสนจักรออร์โทด็อกซ์ในสิบศตวรรษหลังนี้.”ในตะวันตกจักรพรรดิโรมันองค์สุดท้ายถูกขับออกจากราชสมบัติในปีสากลศักราช 476 โดยชนเผ่าเยอรมันที่บุกรุก. นั้นหมายถึงจุดจบของจักรวรรดิโรมันตะวันตก.สารานุกรมใหม่บริแทนนิกา กล่าวถึงความว่างเปล่าทางการเมืองซึ่งเป็นผลติดตามมานั้นว่า “อำนาจใหม่ได้ถูกตั้งขึ้น: คริสต์จักรโรมัน คริสต์จักรที่ประกอบด้วยบิชอปแห่งโรม. คริสต์จักรนี้เข้าใจว่าตนเป็นผู้สืบตำแหน่งของจักรวรรดิโรมันที่สูญสิ้นไป.” สารานุกรมเล่มนี้กล่าวต่อไปว่า “สันตะปาปาโรมัน . . . ได้ขยายการอ้างสิทธิ์ทางฝ่ายโลกในการปกครองคริสต์จักรออกไปเหนือขอบเขตของคริสต์จักรกับรัฐ และก่อให้เกิดทฤษฎีที่เรียกว่าดาบสองเล่ม โดยบอกว่าพระคริสต์ประทานไม่เพียงแต่อำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือคริสต์จักรให้สันตะปาปาเท่านั้น แต่อำนาจทางโลกเหนืออาณาจักรฝ่ายโลกให้ด้วย.”
คริสต์จักรโปรเตสแตนต์ประจำชาติ
ตลอดยุคกลาง ทั้งศาสนาออร์โทด็อกซ์และโรมันคาทอลิกได้เข้าไปพัวพันอย่างหนักหน่วงในเรื่องการเมือง,
กลอุบายฝ่ายโลก, และสงครามต่าง ๆ. การปฏิรูปของโปรเตสแตนต์ในศตวรรษที่ 16 เป็นเครื่องหมายแสดงการกลับมาของศาสนาคริสเตียนแท้ ที่แยกตัวจากโลกไหม?เปล่าเลย. เราอ่านใน สารานุกรมใหม่บริแทนนิกา ว่า “นักปฏิรูปโปรเตสแตนต์แห่งนิกายลูเทอรัน, แคลวิน, และแองกลิกัน . . . ยังคงยึดอยู่กับทัศนะของออกัสตินอย่างเหนียวแน่น เพราะพวกเขาชอบเทววิทยาของเขามาก. . . . แต่ละนิกายของศาสนาโปรเตสแตนต์หลักที่สืบทอดมาสามนิกายของยุโรปในศตวรรษที่ 16 . . . ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจทางโลกในแซกโซนี [เยอรมนีกลาง], สวิสเซอร์แลนด์, และอังกฤษ และยังคงอยู่ในฐานะเดียวกับรัฐเหมือนที่คริสต์จักรสมัยกลางได้ยึดถือ.”
แทนที่จะนำศาสนาคริสเตียนแท้กลับมา การปฏิรูปนั้นก่อให้เกิดคริสต์จักรระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นจำนวนมากมายที่ได้ประจบประแจงรัฐทางการเมืองและสนับสนุนรัฐต่าง ๆ อย่างแข็งขันในสงคราม. ที่จริง ทั้งคริสต์จักรคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ได้ปลุกปั่นให้เกิดสงครามศาสนา. ในหนังสือการพิจารณาศาสนาโดยนักประวัติศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) อาร์โนลด์ ทอยน์บีเขียนเกี่ยวกับสงครามเช่นนั้นว่า “สงครามเหล่านั้นแสดงให้เห็นชาวคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, และไอร์แลนด์, และนิกายคู่แข่งของโปรเตสแตนต์ในอังกฤษและสกอตแลนด์, ในปฏิบัติการแบบทารุณในการพยายามเพื่อปราบปรามกันและกันโดยใช้อาวุธ.” การต่อสู้กันสมัยปัจจุบันที่ทำให้ไอร์แลนด์และอดีตยูโกสลาเวียที่แตกแยกนั้นแสดงให้เห็นว่าคริสต์จักรโรมันคาทอลิก, ออร์โทด็อกซ์, และโปรเตสแตนต์ยังคงพัวพันอย่างถลำลึกในเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลกนี้.
ทั้งหมดนี้หมายความว่าศาสนาคริสเตียนแท้ ที่แยกตัวจากโลกไม่มีอยู่ต่อไปอีกบนแผ่นดินโลกไหม? บทความต่อไปจะตอบคำถามนี้.
[กรอบ/รูปภาพหน้า 10, 11]
วิธีที่ “ศาสนาคริสเตียน” กลายเป็นศาสนาประจำรัฐ
ศาสนาคริสเตียนไม่เคยมุ่งหมายจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้เลย. (มัดธาย 24:3, 9; โยฮัน 17:16) กระนั้น หนังสือประวัติศาสตร์บอกเราว่าในศตวรรษที่สี่สากลศักราช “ศาสนาคริสเตียน” ได้กลายเป็นศาสนาประจำรัฐอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิโรมัน. เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ตั้งแต่เนโร (ปีสากลศักราช 54-68) ไปจนถึงศตวรรษที่สามทีเดียว จักรพรรดิโรมันทุกองค์ต่างก็ข่มเหงพวกคริสเตียนอย่างแข็งขัน หรือไม่ก็อนุญาตให้มีการข่มเหงพวกเขา. แกลลิเอนุส (ปีสากลศักราช 253-268) เป็นจักรพรรดิโรมันองค์แรกที่ประกาศแถลงการณ์เรื่องการยอมให้สำหรับพวกเขา. แม้กระทั่งในสมัยนั้น ศาสนาคริสเตียนเป็นศาสนาที่ถูกสั่งห้ามตลอดทั่วจักรวรรดิ. หลังจากแกลลิเอนุส การข่มเหงยังดำเนินต่อไป และภายใต้ดิโอเคลเทียน (ปีสากลศักราช 284-305) และผู้สืบตำแหน่งของเขา การข่มเหงนั้นเพิ่มความรุนแรงขึ้นด้วยซ้ำ.
จุดหัวเลี้ยวหัวต่อมาถึงในตอนต้นศตวรรษที่สี่ ว่ากันว่าโดยการที่จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 เปลี่ยนใจมาถือศาสนาคริสเตียน. เทโอ—นูเวล อังซีคลอเพดี คาทอลิก (เทโอ—สารานุกรมคาทอลิกใหม่) บทประพันธ์ภาษาฝรั่งเศสแถลงเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนใจ” นี้ว่า “คอนสแตนตินอ้างว่าเป็นจักรพรรดิคริสเตียน. ตามความเป็นจริงแล้ว ท่านเพิ่งรับบัพติสมาก่อนที่จะสิ้นพระชนม์.” ถึงอย่างไรก็ตาม ในปีสากลศักราช 313 คอนสแตนตินกับลิซินิอุส จักรพรรดิร่วมกับเขาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เสรีภาพทางด้านศาสนาแก่ชนคริสเตียนและชนนอกรีตเหมือนกัน. สารานุกรมนิวคาทอลิก แถลงว่า “การที่คอนสแตนตินขยายเสรีภาพในการนมัสการไปยังชนคริสเตียน ซึ่งแสดงว่าศาสนาคริสเตียนเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการฐานะ เรลิกเอโอ ลิคิทา [ศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย] นอกเหนือจากลัทธินอกรีตนั้น เป็นพฤติกรรมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่.”
อย่างไรก็ดี สารานุกรมใหม่บริแทนนิกา แถลงว่า “ท่าน [คอนสแตนติน] มิได้ทำให้ศาสนาคริสเตียนเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ.” ชานเรมี พาลังค์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส สมาชิกแห่งสถาบันฝรั่งเศส เขียนว่า “อย่างไรก็ดี รัฐโรมัน . . . ยังคงแบบนอกรีตอย่างเป็นทางการไว้อยู่. และคอนสแตนติน เมื่อยึดมั่นกับศาสนาของพระคริสต์ก็มิได้ยกเลิกสภาพการณ์เช่นนั้น.” ในบทประพันธ์เรื่องมรดกแห่งโรม ศาสตราจารย์เออร์เนสท์ บาร์เกอร์ แถลงว่า “[ชัยชนะของคอนสแตนติน] มิได้ลงเอยทันทีด้วยการสถาปนาศาสนาคริสเตียนเป็นศาสนาประจำรัฐ. คอนสแตนตินพอใจที่จะยอมรับศาสนาคริสเตียนเป็นหนึ่งในการนมัสการโดยทั่วไปของจักรวรรดิ. เจ็ดสิบปีต่อมายังมีการปฏิบัติตามพิธีแบบนอกรีตเก่าแก่อย่างเป็นทางการในกรุงโรม.”
ดังนั้น ถึงตอนนี้ “ศาสนาคริสเตียน” เป็นศาสนาถูกต้องตามกฎหมายในจักรวรรดิโรมัน. เมื่อไรที่ศาสนานั้นกลายเป็นศาสนาประจำรัฐอย่างเป็นทางการ ในความหมายครบถ้วนที่สุดของถ้อยคำ? เราอ่านในสารานุกรมนิวคาทอลิก ว่า “นโยบาย [ของคอนสแตนติน] ดำเนินต่อไปโดยผู้สืบตำแหน่งของเขาโดยยกเว้นจูเลียน [ปีสากลศักราช 361-363] ซึ่งการข่มเหงศาสนาคริสเตียนของเขาพลันยุติลงเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของเขา. ในที่สุด ในช่วงยี่สิบห้าปีสุดท้ายของศตวรรษที่สี่ ทีโอโดซิอุสมหาราช [ปีสากลศักราช 379-395] ได้ตั้งศาสนาคริสเตียนเป็นศาสนาทางการของจักรวรรดิและได้ปราบปรามการนมัสการแบบนอกรีตของสาธารณชน.”
ในการยืนยันเรื่องนี้และเผยให้เห็นว่าศาสนาประจำรัฐใหม่นี้เป็นอย่างไรจริง ๆ เอฟ. เจ. โฟกส์ แจ็กสัน ผู้เชี่ยวชาญทางคัมภีร์ไบเบิลและนักประวัติศาสตร์ ได้เขียนว่า “ภายใต้คอนสแตนติน ศาสนาคริสเตียนกับจักรวรรดิโรมันเป็นพันธมิตรกัน. ภายใต้ทีโอโดซิอุสพวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน . . . . ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อคาทอลิกได้รับการสงวนไว้สำหรับคนเหล่านั้นซึ่งบูชาเลื่อมใสพระบิดา, พระบุตรและพระจิตด้วยความเคารพที่เสมอภาคกัน. นโยบายทางด้านศาสนาทั้งสิ้นของจักรพรรดิองค์นี้มุ่งไปยังจุดหมายนี้ และเป็นผลให้ศาสนาคาทอลิกกลายเป็นศาสนาเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวโรมัน.”
ชานเรมี พาลังค์ ได้เขียนว่า “ทีโอโดซิอุส ขณะคัดค้านลัทธินอกรีต ก็ยังให้เห็นการสนับสนุนคริสต์จักรดั้งเดิม [คาทอลิก] พระราชกฤษฎีกาของท่านในปีสากลศักราช 380 นั้นสั่งให้ประชากรทั้งสิ้นของเขายอมรับความเชื่อของสันตะปาปาแดมอาซัส และหัวหน้าบาทหลวง [ผู้เชื่อพระตรีเอกานุภาพ] แห่งอะเล็กซานเดรียและเพิกถอนเสรีภาพแห่งการนมัสการไปจากบุคคลที่ไม่เห็นด้วย. สภาประชุมใหญ่แห่งคอนสแตนติโนเปิล (381) ได้ประณามการออกหากทั้งมวลอีกครั้งหนึ่ง และจักรพรรดิทำให้แน่ชัดว่าไม่มีหัวหน้าบาทหลวงคนใดจะสนับสนุนการออกหากนั้น. ศาสนาคริสเตียนที่เชื่อพระตรีเอกานุภาพแห่งสภาไนซีนได้กลายเป็นศาสนาประจำรัฐอย่างแท้จริง . . . คริสต์จักรได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐ และได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะจากรัฐ.”
ด้วยเหตุนี้ หาใช่ศาสนาคริสเตียนแท้ ๆ ในสมัยของอัครสาวกไม่ที่กลายเป็นศาสนาประจำรัฐของจักรวรรดิโรมัน. ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่เชื่อพระตรีเอกานุภาพในศตวรรษที่สี่ ซึ่งตั้งขึ้นโดยการบีบบังคับจากจักรพรรดิทีโอโดซิอุสที่ 1 และปฏิบัติโดยคริสต์จักรโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นอยู่ในอดีตดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้อย่างแท้จริง.
[ที่มาของภาพ]
จักรพรรดิทีโอโดซิอุสที่ 1 Real Academia de la Historia, Madrid (Foto Oronoz)
[ที่มาของภาพหน้า 8]
Scala/Art Resource, N.Y.