ความเชื่อกระตุ้นท่านให้ลงมือปฏิบัติ
ความเชื่อกระตุ้นท่านให้ลงมือปฏิบัติ
เมื่อพระยะโฮวาทรงมอบหน้าที่แก่โมเซให้นำชาติยิศราเอลพ้นสภาพทาสของชาวอียิปต์ ตอนแรกโมเซทูลขอดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ข้าพเจ้ามิใช่คนช่างพูด; ในกาลก่อนก็ดี, หรือตั้งแต่เวลาพระองค์ตรัสแก่ทาสของพระองค์แล้วก็ดี, ข้าพเจ้าเป็นคนพูดไม่คล่องแคล่ว.” (เอ็กโซโด 4:10) ใจจริงแล้ว โมเซมีความรู้สึกว่าตนไม่มีคุณวุฒิสำหรับงานมอบหมายสำคัญเช่นนั้น.
ทุกวันนี้ก็คล้ายคลึงกัน ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนบางครั้งรู้สึกว่าตนไม่มีคุณวุฒิพอจะทำหน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมายให้สำเร็จไปได้. อาทิ คริสเตียนผู้ดูแลชื่อทีโอดอร์เล่าว่า “เกี่ยวกับงานสารพัดที่พระยะโฮวาต้องการให้ผมทำ งานออกไปเผยแพร่ตามบ้านเป็นงานยากที่สุด. ตอนที่ผมเป็นหนุ่ม ผมจะเดินอย่างรวดเร็วไปที่ประตูบ้าน ทำทีกดกริ่ง แล้วเดินหนีไปเงียบ ๆ นึกหวังว่าอย่ามีใครได้ยินหรือมองเห็นผมเลย. ครั้นอายุผมมากขึ้น ผมเลิกทำแบบนั้น แต่ความคิดในเรื่องการประกาศตามบ้านทำให้ผมป่วยด้านกายภาพ. จวบจนถึงเวลานี้ ผมคลื่นเหียนวิงเวียนก่อนไปเผยแพร่ตามบ้าน แต่ผมก็ไปจนได้.”
อะไรล่ะที่ช่วยโมเซและเหล่าพยานฯสมัยปัจจุบัน เช่น ทีโอดอร์ รับมือกับความกลัวเช่นนั้นได้? พระคัมภีร์ให้คำตอบดังนี้: “โดยความเชื่อท่าน [โมเซ] ได้ละทิ้งประเทศอายฆุปโต, . . . เพราะท่านมั่นใจอยู่เหมือนหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา.”—เฮ็บราย 11:27.
อันที่จริง โดยการสำแดงความเชื่อในพระยะโฮวา โมเซสามารถเอาชนะความรู้สึกที่ว่าไม่มีคุณวุฒิพอ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามการมอบหมายได้สำเร็จในฐานะเป็นผู้พิพากษา, ผู้พยากรณ์, ผู้นำประชาชาติ, คนกลางแห่งคำสัญญาไมตรี, ผู้บัญชาการ, นักประวัติศาสตร์, และผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิล.
ทำนองเดียวกัน เมื่อเรามีความเชื่ออย่างโมเซ เราจะดำเนินเหมือนหนึ่ง “เห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา.” ความเชื่อแบบนี้บันดาลใจให้กล้าหาญ ทำให้เราสามารถแบกหน้าที่รับผิดชอบของเราฐานะเป็นคริสเตียนได้—ถึงแม้เราอาจรู้สึกว่าไม่มีคุณวุฒิพอ.