อีสเตอร์หรืออนุสรณ์คุณควรฉลองอย่างไหน?
อีสเตอร์หรืออนุสรณ์คุณควรฉลองอย่างไหน?
ขณะรุ่งอรุณสาดแสงเรื่อเหนือขอบฟ้าในวันที่ 7 เมษายน หลายล้านคนจะต้อนรับวันที่เขาถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี—วันอีสเตอร์. มีอยู่ระยะหนึ่งมีการนำชื่อนั้นมาใช้กับช่วงเวลาแห่งงานเลี้ยงและการถือศีลอดอาหารเป็นเวลา 120 วันซึ่งเริ่มต้นกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่เรียกว่าเซฟตัวเจซิมาและจบลงในวันที่เรียกว่า วันตรีเอกานุภาพ. ปัจจุบัน ชื่อนั้นนำมาใช้เฉพาะกับวันระลึกถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูเท่านั้น—นั่นคือวันอาทิตย์อีสเตอร์.
อย่างไรก็ดี ตอนเย็นวันหนึ่งในต้นสัปดาห์เดียวกันนั้น อีกหลายล้านคนจะประชุมกันเพื่อฉลองอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระคริสต์ ดังที่รู้จักกันด้วยว่าอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. นั่นเป็นการฉลองที่พระเยซูเองทรงตั้งขึ้นในคืนสุดท้ายที่พระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก. ครั้นแล้วพระองค์รับสั่งแก่พวกสาวกว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.”—ลูกา 22:19.
คุณควรฉลองอย่างไหน?
ต้นตอของอีสเตอร์
ชื่ออีสเตอร์ซึ่งใช้ในหลายดินแดนนั้นไม่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล. หนังสือวันหยุดนักขัตฤกษ์และเทศกาล
ฉลองในยุคกลาง (ภาษาอังกฤษ) บอกเราว่า “วันหยุดนั้นถูกตั้งชื่อตามอีออสเตอร์เทพธิดานอกรีตแห่งรุ่งอรุณและฤดูใบไม้ผลิ.” และเทพธิดานี้คือใคร? หนังสือวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันครบรอบของชาวอเมริกัน (ภาษาอังกฤษ) ให้คำตอบว่า “ตามตำนานแล้ว อีออสเตอร์เป็นผู้ซึ่งเปิดทางเข้าสู่วัลฮอลลา (วิหารของเทพโอดิน) เพื่อต้อนรับบอลเดอร์ ที่เรียกว่าเทพเจ้าขาว เนื่องจากความบริสุทธิ์ของเขาและมีชื่อว่าพระอาทิตย์ด้วย เนื่องจากหน้าผากของเขาส่องแสงสว่างแก่มนุษยชาติ.” หนังสือนั้นยังกล่าวเสริมอีกว่า “ไม่มีข้อสงสัยว่า คริสตจักรในยุคต้น ๆ ได้รับเอาธรรมเนียมนอกรีตเก่าแก่แล้วให้ความหมายแบบคริสเตียนกับธรรมเนียมเหล่านั้น. เนื่องด้วยเทศกาลอีออสเตอร์เป็นการฉลองการฟื้นคืนชีวิตในฤดูใบไม้ผลิ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้เป็นการฉลองเกี่ยวกับการคืนพระชนม์ของพระเยซู ผู้ซึ่งพวกเขาประกาศกิตติคุณของพระองค์นั้น.”การรับเอาธรรมเนียมแบบนอกรีตเช่นนี้ทำให้เรารู้ว่าธรรมเนียมของอีสเตอร์เกิดขึ้นอย่างไรในบางดินแดน เช่น ไข่อีสเตอร์, กระต่ายอีสเตอร์, และขนมปังกลมร้อนมีรูปไม้กางเขนอยู่ข้างบน. เกี่ยวกับธรรมเนียมในการทำขนมปังกลมร้อนที่มีรูปไม้กางเขน “โดยปิ้งจนเกรียม ทำให้เป็นรอย . . . ไม้กางเขน” นั้น หนังสืออีสเตอร์และธรรมเนียมของเทศกาลนั้น (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์แบบนอกรีตมาช้านานก่อนได้มาซึ่งความสำคัญถาวรจากเหตุการณ์เกี่ยวกับวันศุกร์แรกก่อนอีสเตอร์ และบางครั้งมีการทำเครื่องหมายไม้กางเขนที่ขนมปังและขนมเค้กในยุคก่อนคริสเตียน.”
ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่เราพบการกล่าวถึงธรรมเนียมเหล่านี้ ทั้งไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ว่าสาวกสมัยแรกของพระเยซูเชื่อถือในธรรมเนียมนั้น. ที่จริง อัครสาวกเปโตรสั่งให้เรา “ปลูกฝังความปรารถนาจะได้น้ำนมอันไม่มีอะไรเจือปน ที่เป็นของพระคำ เพื่อโดยน้ำนมนั้น [เรา] จะเติบโตถึงความรอด.” (1 เปโตร 2:2, ล.ม.) ดังนั้น ทำไมคริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรจึงรับเอาสัญลักษณ์แบบนอกรีตอย่างเห็นได้ชัดมาใช้ในความเชื่อและกิจปฏิบัติของพวกเขา?
หนังสือความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับธรรมเนียมอันเป็นที่นิยม (ภาษาอังกฤษ) ตอบว่า “เป็นนโยบายที่ไม่เปลี่ยนแปลงของคริสตจักรสมัยแรกที่จะให้ความหมายแบบคริสเตียนแก่พิธีรีตองแบบนอกรีตที่ยังคงมีอยู่เนื่องจากไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้. ในกรณีของอีสเตอร์ การเปลี่ยนแปลงนับว่าง่ายเป็นพิเศษ. ความยินดีในการโผล่ขึ้นมาของดวงอาทิตย์ และในการทำให้ธรรมชาติตื่นขึ้นจากความตายแห่งฤดูหนาว กลายมาเป็นความยินดีในการโผล่ขึ้นมาของสุริยันแห่งความชอบธรรม ณ การกลับคืนพระชนม์ของพระคริสต์จากอุโมงค์ฝังศพ. การฉลองแบบนอกรีตบางอย่างซึ่งมีขึ้นราว ๆ วันที่ 1 พฤษภาคมได้ถูกเปลี่ยนให้ตรงกันกับการฉลองอีสเตอร์ด้วย.” แทนที่จะอยู่ห่างธรรมเนียมนอกรีตอันเป็นที่นิยมและพิธีกรรมเกี่ยวกับเวทมนตร์ ผู้นำศาสนากลับยอมให้กับสิ่งเหล่านั้นและให้ “ความหมายแบบคริสเตียน” แก่ธรรมเนียมเหล่านั้น.
คุณอาจสงสัยว่า ‘แต่มีผลเสียหายใด ๆ ในการทำเช่นนั้นหรือ?’ บางคนคิดว่าไม่มีผลเสีย. อัลเลน ดับเบิลยู. วัตส์ บาทหลวงเอพิสโคพัลได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาชื่ออีสเตอร์—ประวัติและความหมายของเทศกาลนี้ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “เมื่อศาสนาอย่างเช่น ศาสนาคริสเตียนเข้ามาถึงผู้คนจากภายนอก ศาสนานั้นยอมรับและ ‘อนุญาต’ ธรรมเนียมพื้นบ้านบางอย่างซึ่งมีสมุฏฐานมาจากศาสนาที่เก่าแก่กว่า คริสต์ศาสนจักรเลือกและนำการฉลองตามธรรมเนียมพื้นบ้านเข้ามาในพิธีกรรมของตน ซึ่งดูเหมือนจะบ่งชี้ถึงหลักการถาวรที่เหมือน ๆ กันที่สอนโดยคริสตจักร.” สำหรับหลายคนแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่า คริสตจักรของเขาอนุญาตการฉลองเหล่านี้และถือว่าศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะยอมรับการฉลองนั้น. แต่คำถามที่สำคัญได้ถูกมองข้ามไป. พระเจ้า ทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับธรรมเนียมเหล่านี้? พระองค์ทรงให้แนวชี้นำใด ๆ เพื่อจะปฏิบัติตามในเรื่องนั้นไหม?
การมีทัศนะของพระเจ้า
ครีสทีนา โฮล ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเธอชื่ออีสเตอร์และธรรมเนียมของเทศกาลนั้น (ภาษาอังกฤษ) ว่า “วันอีสเตอร์ งานเลี้ยงฉลองการคืนพระชนม์แห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดในบรรดาเทศกาลทั้งสิ้นของคริสตจักรคริสเตียน” นักประพันธ์คนอื่น ๆ เห็นพ้องด้วย. โรเบิร์ต เจ. ไมเอิร์สอรรถาธิบายไว้ในหนังสือการฉลอง (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ไม่มีวันหรือเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ใดในศักราชของคริสเตียนที่จะเทียบความสำคัญ
ได้กับวันอาทิตย์อีสเตอร์” อย่างไรก็ดี นั่นทำให้เกิดคำถามบางอย่างขึ้นมา. หากการฉลองอีสเตอร์เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ แล้ว ทำไมจึงไม่มีคำสั่งแน่ชัดในคัมภีร์ไบเบิลให้ทำเช่นนั้น? มีบันทึกใด ๆ ไหมเรื่องการที่สาวกของพระเยซูสมัยแรกฉลองวันอาทิตย์อีสเตอร์?ใช่ว่าคัมภีร์ไบเบิลละเว้นแนวชี้นำในเรื่องสิ่งที่ควรฉลองหรือไม่ควรฉลอง. พระเจ้าทรงระบุเรื่องนี้ชัดทีเดียวกับชาติยิศราเอลโบราณ และดังกล่าวในตอนต้น มีการให้คำสั่งที่ชัดแจ้งแก่คริสเตียนที่จะฉลองอนุสรณ์การวายพระชนม์ของพระคริสต์ต่อไป. (1 โกรินโธ 11:23-26; โกโลซาย 2:16, 17) สารานุกรมบริแทนนิกา ฉบับพิมพ์ต้น ๆ แจ้งให้เราทราบว่า “ไม่มีข้อบ่งชี้เรื่องการฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในพระคริสตธรรมใหม่ หรือในบทประพันธ์ของผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวก. ความศักดิ์สิทธิ์ของเทศกาลพิเศษนั้นเป็นแนวคิดที่ไม่อยู่ในจิตใจของคริสเตียนสมัยแรก. . . . ทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและอัครสาวกของพระองค์ต่างก็ไม่ได้สั่งการให้ถือรักษาเทศกาลนี้หรือเทศกาลอื่นใด.”
บางคนรู้สึกว่าความยินดีจากเทศกาลนั้นและความสุขที่เทศกาลนั้นนำมาให้เป็นการชอบด้วยเหตุผลที่เพียงพอแล้วสำหรับการฉลองนั้น. อย่างไรก็ดี เราสามารถเรียนได้จากโอกาสที่ชนยิศราเอลรับเอากิจปฏิบัติทางศาสนาของชาวอียิปต์มาใช้แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า “เทศกาลเลี้ยงถวายพระยะโฮวา.” พวกเขา “นั่งลงกินและดื่ม, แล้วก็ลุกขึ้นมีการรื่นเริง” ด้วยเช่นกัน. แต่การกระทำของพวกเขาทำให้พระเจ้ายะโฮวาพิโรธยิ่งนัก และพระองค์ทรงลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรง.—เอ็กโซโด 32:1-10, 25-28, 35.
พระคำของพระเจ้าชัดเจนทีเดียว. ไม่อาจมีหุ้นส่วนระหว่าง “ความสว่าง” ของความเชื่อแท้กับ “ความมืด” แห่งโลกของซาตานได้ ไม่อาจมีการ “ประสานกัน” ระหว่างพระคริสต์กับการนมัสการแบบนอกรีตได้. เราได้รับแจ้งว่า “พระยะโฮวาตรัสว่า ‘เหตุฉะนั้น จงออกมาจากท่ามกลางพวกเขา และแยกตัวอยู่ต่างหาก และเลิกแตะต้องสิ่งที่เป็นมลทิน’; ‘และเราจะรับเจ้าทั้งหลายไว้.’”—2 โกรินโธ 6:14-18, ล.ม.
เนื่องจากเฉพาะการฉลองอนุสรณ์—ไม่ใช่อีสเตอร์—มีบัญชาไว้ในคัมภีร์ไบเบิลสำหรับคริสเตียน จึงควรฉลองพิธีนั้น. ดังนั้น เราจะฉลองอนุสรณ์อย่างเหมาะสมได้โดยวิธีใด?
[รูปภาพหน้า 5]
“เทศกาลเลี้ยงถวายพระยะโฮวา” ของชนยิศราเอลทำให้พระเจ้าพิโรธยิ่งนัก
[ที่มาของภาพหน้า 2]
Cover: M. Thonig/H. Armstrong Roberts