การทำลายทรัพย์สินผู้อื่น—เพราะเหตุใด?
การทำลายทรัพย์สินผู้อื่น—เพราะเหตุใด?
“ข้าไม่มีอะไรจะพูด.” ถ้อยคำเหล่านี้เขียนด้วยอักษรตัวโตบนกำแพงที่เพิ่งทาสีใหม่ในบริเวณที่อยู่อาศัยที่สวยงามแห่งหนึ่งในนครเซาเปาลู. คุณอาจคิดว่านี่เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของการทำลายทรัพย์สินผู้อื่น. และการขีดเขียนตามที่สาธารณะเป็นการทำลายทรัพย์สินรูปแบบหนึ่งเท่านั้น.
ขอให้นึกภาพผู้ทำลายทรัพย์สินผู้อื่นซึ่งไม่สำนึกถึงความรับผิดชอบได้ทำความเสียหายแก่รถยนต์คันใหม่ของคุณ. หรือไม่ก็คุณอาจสังเกตเห็นว่าผู้ทำลายทรัพย์สินได้ก่อความเสียหายหรือทำลายสาธารณสมบัติซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหลายคน. เพราะเหตุใด? ใช่ ทำไม? คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมการทำลายทรัพย์สินผู้อื่นมีอยู่ดาษดื่น? ในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ผู้ทำลายสาธารณสมบัติดูเหมือนจะมีความเพลิดเพลินในการขูดขีดหรือทำลายตู้โทรศัพท์. บริการขนส่งมวลชน เช่น รถไฟหรือรถประจำทางมักตกเป็นเป้าอยู่เนือง ๆ. ดูเหมือนว่า ผู้ทำลายทรัพย์สินผู้อื่นไม่ใส่ใจในสิ่งใด. แต่มีอะไรอยู่เบื้องหลังการทำลายทรัพย์สินผู้อื่นส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นหรือได้รับความเสียหาย?
มาร์คู *ชายหนุ่มจากนครริวเดจาเนโรข้องขัดใจหลังจากทีมของเขาพ่ายแพ้ในการแข่งขันฟุตบอล—ข้องขัดใจมากจนถึงกับขว้างก้อนหินใส่รถโดยสารที่เต็มด้วยแฟนบอลของทีมที่ชนะ. หรือขอพิจารณาเคลาส์. เมื่อทำได้ไม่ดีในการเรียน เขาเดือดดาลมากแล้วก็ขว้างก้อนหินใส่หน้าต่างจนแตก. อย่างไรก็ตาม “ความสนุก” มลายหายไปเมื่อบิดาของเขาถูกเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย. เออร์วิน หนุ่มอีกคนหนึ่งเรียนอยู่และทำงานไปด้วย. คนอื่นมองว่าเขากับเพื่อนรุ่นเดียวกันเป็นหนุ่มสาวที่ประพฤติเรียบร้อย. กระนั้น งานอดิเรกของพวกเขาคือทำลายทรัพย์สินในละแวกบ้าน. บิดามารดาของเออร์วินไม่ทราบเรื่องนั้น. วัลเตอร์เป็นเด็กกำพร้าซึ่งไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากอาศัยอยู่ตามถนนในเมืองเซาเปาลู. เพื่อนดีที่สุดของเขาเป็นแก๊งทำลายทรัพย์สินผู้อื่น และเขามีส่วนร่วมกับคนเหล่านั้นและฝึกคาราเต้ด้วย. ตัวอย่างดังกล่าวแสดงว่ามีผู้คนมากหน้าหลายตาเป็นผู้ทำลายทรัพย์สินผู้อื่น และชนวนเหตุหรืออารมณ์ที่เกี่ยวข้องด้วยในการทำลายทรัพย์สินแบบนั้นมีหลากหลาย.
สารานุกรมเดอะ เวิลด์ บุ๊ก (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “การทำลายทรัพย์สินผู้อื่นอาจเป็นการกระทำเพื่อแก้แค้นหรือเป็นวิธีแสดงความเห็นทางการเมือง. บางครั้งทั้งคนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ทำสิ่งไม่ดีเพียงเพื่อ ‘ความสนุก’ เท่า
นั้น.” อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเป็นแค่ความสนุกของหนุ่มสาวเท่านั้น การทำลายทรัพย์สินดังกล่าวอาจก่อความเสียหายร้ายแรง กระทั่งทำให้ถึงตายด้วยซ้ำ. เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งต้องการ “สนุกสนานกันบ้าง” และเมื่อเห็นชายคนหนึ่งหลับอยู่ พวกเขาจึงเอาของเหลวที่ติดไฟง่ายราดบนตัวคนนั้นแล้วจุดไฟเผา. เหยื่อซึ่งเป็นชาวอินเดียแดงผู้นี้เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล. ตามรายงานแจ้งว่า “เด็กหนุ่มเหล่านั้นอ้างว่า พวกเขาไม่คิดว่าจะมีใครสนใจไยดีเนื่องจากขอทานหลายคนถูกเผาข้างถนน และไม่มีการดำเนินการใด ๆ.” ไม่ว่าการทำลายทรัพย์สินผู้อื่นดูเหมือนจะมีผู้ตกเป็นเหยื่อหรือไม่ก็ตาม ความเสียหายด้านการเงินหรือด้านอารมณ์นั้นประมาณค่าไม่ได้. ดังนั้น อะไรอาจควบคุมหรือยุติการทำลายทรัพย์สินแบบนั้นได้?ใครสามารถหยุดยั้งการทำลายทรัพย์สินผู้อื่นได้?
ตำรวจและโรงเรียนสามารถยับยั้งการทำลายทรัพย์สินผู้อื่นได้ไหม? ปัญหาหนึ่งคือเจ้าหน้าที่อาจสาละวนอยู่กับอาชญากรรมที่ร้ายแรงกว่า เช่น การซื้อขายยาเสพย์ติดหรือคดีฆาตกรรม แทนที่จะใส่ใจกับการกระทำผิดซึ่ง “ไม่มีผู้ตกเป็นเหยื่อ.” ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งกล่าวไว้ เมื่อหนุ่มสาวถลำเข้าสู่ความยุ่งยาก บ่อยครั้งบิดามารดามัก “โทษเด็ก ๆ ที่เขาคบหาด้วย, หรือไม่ก็โทษโรงเรียน, หรือโทษตำรวจที่จับตัวเขา.” การศึกษาและการบังคับใช้กฎหมายอาจลดการทำลายทรัพย์สินผู้อื่นลงได้ กระนั้น จะว่าอย่างไรถ้าเจตคติของบิดามารดาไม่เปลี่ยนแปลง? เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่คุมความประพฤติของเยาวชนบอกว่า “สาเหตุคือความเบื่อหน่ายและโอกาส. [เด็กอยู่] นอกบ้านจนดึก และพวกเขาไม่มีอะไรจะทำ. และพวกเขาคงจะไม่ได้รับการดูแลควบคุม—มิฉะนั้น เขาคงไม่อยู่นอกบ้าน.”
ถึงแม้การทำลายทรัพย์สินผู้อื่นเป็นปัญหาร้ายแรงในหลายที่หลายแห่งก็ตาม ขอพิจารณาว่าสภาพการณ์อาจเปลี่ยนไปอย่างไร. หนุ่ม ๆ ที่ทำลายทรัพย์สินผู้อื่นซึ่งกล่าวถึงในตอนต้นได้เปลี่ยนแปลง ตอนนี้พวกเขาหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่อต้านสังคมอย่างสิ้นเชิง. อะไรทำให้อดีตผู้เยาว์ที่เสเพลเหล่านี้เปลี่ยนรูปแบบชีวิตของตน? นอกจากนี้ คุณจะแปลกใจไหมถ้าการทำลายทรัพย์สินผู้อื่น ไม่เพียงแต่ลดลงเท่านั้น แต่ถูกขจัดไปด้วย? เราเชิญคุณให้อ่านบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ชื่อสมมุติ.