ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำไมเซาโลข่มเหงคริสเตียน?

ทำไมเซาโลข่มเหงคริสเตียน?

ทำไม​เซาโล​ข่มเหง​คริสเตียน?

‘ข้าพเจ้า​เคย​ได้​คิด​ว่า, สม​ควร​จะ​ทำ​หลาย⁠สิ่ง⁠ซึ่ง​ขัด​ขวาง​ต่อ​พระ​นาม​ของ​พระ​เยซู​ชาว​นาซาเร็ธ​นั้น. สิ่ง​เหล่า​นั้น​ข้าพเจ้า​ได้​กระทำ​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม เมื่อ​ข้าพเจ้า​รับ​อำนาจ​จาก​ปุโรหิต​ใหญ่​แล้ว, ข้าพเจ้า​ได้​ขัง⁠สิทธชน​หลาย​คน​ไว้​ใน​คุก และ​ครั้น​เขา​ถูก​ลง​โทษ​ถึง​ตาย, ข้าพเจ้า​ก็​เห็น​ดี​ด้วย. ข้าพเจ้า​ได้​ทำ​โทษ​เขา​บ่อย ๆ ใน​ธรรมศาลา​ทุก​แห่ง, และ​บังคับ​เขา​ให้​กล่าว​คำ​หมิ่น​ประมาท และ​เพราะ​ข้าพเจ้า​โกรธ​เขา​ยิ่ง​นัก, ข้าพเจ้า​ได้​ตาม​ไป​ข่มเหง​เขา​ถึง​เมือง​ต่าง​ประเทศ.’—กิจการ 26:9-11.

เซาโล​แห่ง​เมือง​ตาระโซ มี​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ว่า​อัครสาวก​เปาโล​ได้​กล่าว​เช่น​นั้น. แน่นอน ตอน​ที่​ท่าน​พูด​อย่าง​นี้ ท่าน​เปลี่ยน​เป็น​บุคคล​ใหม่​แล้ว. ท่าน​หา​ใช่​คน​ต่อ​ต้าน​คริสเตียน​อีก​ต่อ​ไป​ไม่ บัด​นี้​ท่าน​เป็น​หนึ่ง​ใน​บรรดา​ผู้​ส่ง​เสริม​ที่​ศรัทธา​แรง​กล้า​มาก​ที่​สุด. แต่​อะไร​ล่ะ​เป็น​แรง​ผลัก​ดัน​เซาโล​ให้​ข่มเหง​คริสเตียน​ก่อน​หน้า​นี้? ทำไม​ท่าน​คิด​ว่า ‘ท่าน​สม​ควร​จะ​ทำ’ การ​ดัง​กล่าว? และ​เรา​ได้​บทเรียน​อะไร​บ้าง​จาก​เรื่อง​นี้?

การ​เอา​หิน​ขว้าง​ซะเตฟาโน

เซาโล​เข้า​มา​อยู่​ใน​บันทึก​คัมภีร์​ไบเบิล​ท่ามกลาง​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ร่วม​สังหาร​ซะเตฟาโน. “แล้ว​ขับ​ไล่ [ซะเตฟาโน] ออก​จาก​เมือง​และ​เอา​หิน​ขว้าง ฝ่าย​คน​ที่​เป็น​พยาน​ปรักปรำ​ซะเตฟาโน​ได้​ฝาก​เสื้อ​ผ้า​ของ​ตน​วาง​ไว้​ที่​เท้า​ของ​ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ชื่อ​เซาโล.” “การ​ที่​เขา​ฆ่า​ซะเตฟาโน​เสีย​นั้น​เซาโล​ก็​เห็น​ชอบ​ด้วย.” (กิจการ 7:58; 8:1) อะไร​ทำ​ให้​เกิด​การ​ประทุษร้าย​เช่น​นั้น? ชาว​ยิว​รวม​ทั้ง​บาง​คน​จาก​กิลิเกีย​ได้​โต้​เถียง​กับ​ซะเตฟาโน​แต่​ไม่​สามารถ​สู้​คำ​ที่​ท่าน​กล่าว. อนึ่ง เซาโล​ซึ่ง​เป็น​ชาว​กิลิเกีย​ด้วย ได้​ร่วม​ใน​การ​โต้​เถียง​นั้น​หรือ​ไม่ ไม่​มี​การ​กล่าว​ถึง. ใน​กรณี​ใด​ก็​ตาม คน​เหล่า​นั้น​ได้​ใช้​พยาน​เท็จ​กล่าว​โทษ​ซะเตฟาโน​ว่า​พูด​หมิ่น​ประมาท​และ​จับ​ซะเตฟาโน​พา​ไป​ยัง​ศาล​ซันเฮดริน. (กิจการ 6:9-14) ที่​ประชุม​นี้ ซึ่ง​มี​ปุโรหิต​ใหญ่​เป็น​ประธาน ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ศาล​สูง​ของ​พวก​ยิว. เนื่อง​จาก​มี​อำนาจ​สูง​สุด​ทาง​ศาสนา สมาชิก​ศาล​นี้​ได้​ปก​ป้อง​สิ่ง​ที่​เขา​ถือ​ว่า​เป็น​ความ​บริสุทธิ์​ของ​หลัก​คำ​สอน​ด้วย. ตาม​แง่​คิด​ของ​เขา ซะเตฟาโน​สม​ควร​รับ​โทษ​ถึง​ตาย. ท่าน​กล้า​ตำหนิ​พวก​เขา​ว่า​ไม่​ประพฤติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​มิ​ใช่​หรือ? (กิจการ 7:53) พวก​เขา​จะ​แสดง​ให้​ท่าน​เห็น​ว่า​เขา​ประพฤติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ด้วย​การ​เอา​หิน​ขว้าง​ท่าน​ให้​ตาย!

การ​เห็น​ชอบ​ของ​เซาโล​เกี่ยว​ด้วย​ความ​คิด​เห็น​เช่น​นั้น​เป็น​ผล​มา​จาก​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน. ท่าน​เป็น​ฟาริซาย. นิกาย​ที่​ทรง​อิทธิพล​นี้​เรียก​ร้อง​การ​ประพฤติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​และ​ประเพณี​อย่าง​เข้มงวด. พวก​เขา​ถือ​ว่า​ศาสนา​คริสเตียน​เป็น​ฝ่าย​ตรง​กัน​ข้าม​กับ​หลักการ​เหล่า​นั้น เพราะ​สอน​ทาง​สู่​ความ​รอด​แนว​ใหม่​ผ่าน​พระ​เยซู. ชาว​ยิว​สมัย​ศตวรรษ​แรก​คาด​หวัง​พระ​มาซีฮา​เป็น​กษัตริย์​ที่​รุ่ง​โรจน์​ด้วย​สง่า​ราศี ผู้​ซึ่ง​จะ​ปลด​ปล่อย​พวก​เขา​ให้​พ้น​แอก​อัน​น่า​เกลียด​ชัง​แห่ง​การ​ครอบครอง​ของ​ชาว​โรมัน. การ​บอก​ว่า​บุคคล​ซึ่ง​ถูก​ศาล​ซันเฮดริน​ใหญ่​ปรับ​โทษ​ด้วย​ข้อ​หา​หมิ่น​ประมาท​และ​ภาย​หลัง​ถูก​ตรึง​บน​หลัก​ทรมาน​เยี่ยง​อาชญากร​ผู้​ถูก​แช่ง​สาป​ว่า​เป็น​มาซีฮา​นั้น​จึง​เป็น​เรื่อง​แปลก​มาก, ยอม​รับ​ไม่​ได้​โดย​สิ้นเชิง, และ​เป็น​เรื่อง​น่า​รังเกียจ​ตาม​ความ​คิด​ของ​พวก​เขา.

พระ​บัญญัติ​ระบุ​ว่า​ผู้​ใด​ที่​ต้อง​ถูก​แขวน​ไว้​บน​หลัก “ก็​เป็น​ที่​แช่ง​ของ​พระเจ้า.” (พระ​บัญญัติ 21:22, 23; ฆะลาเตีย 3:13) เฟรเดอริก เอฟ. บรูซ​ให้​ความ​เห็น​ว่า จาก​แง่​คิด​ของ​เซาโล “ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​เหมาะ​ที่​จะ​ใช้​กับ​พระ​เยซู​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด. พระองค์​ได้​วาย​พระ​ชนม์​ภาย​ใต้​การ​แช่ง​สาป​ของ​พระเจ้า และ​ดัง​นั้น​จึง​ไม่​อาจ​นึก​ภาพ​ได้​ว่า​เป็น​พระ​มาซีฮา ผู้​ซึ่ง​ใคร ๆ ก็​ถือ​ว่า​เป็น​ผู้​ที่​ได้​รับ​พระ​พร​มาก​มาย​หา​ที่​เปรียบ​ไม่​ได้​ของ​พระเจ้า. ดัง​นั้น ที่​จะ​อ้าง​พระ​เยซู​เป็น​มาซีฮา​จึง​ถือ​ว่า​เป็น​การ​หมิ่น​ประมาท คน​เหล่า​นั้น​ที่​กล่าว​อ้าง​อย่าง​ไร้​สาระ​เช่น​นั้น​สม​ควร​ถูก​ประณาม​ว่า​เป็น​ผู้​สบประมาท​พระเจ้า.” ดัง​ที่​เซาโล​เอง​ได้​ตระหนัก​ภาย​หลัง​ว่า​แนว​คิด ‘เรื่อง​พระ​คริสต์​ผู้​ถูก​ตรึง​เป็น​สิ่ง​ที่​ให้​พวก​ยิว​สะดุด.’—1 โกรินโธ 1:23.

ปฏิกิริยา​ของ​เซาโล​ต่อ​คำ​สอน​ดัง​กล่าว​คือ​โต้​ต้าน​คำ​สอน​นั้น​ด้วย​ความ​มุ่ง​มั่น​ตั้งใจ​อย่าง​เต็ม​ที่​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้. เพื่อ​ขจัด​คำ​สอน​เรื่อง​นี้​ต้อง​ใช้​วิธี​โหด​ร้าย​ป่า​เถื่อน. ท่าน​แน่​ใจ​ว่า​นี่​คือ​สิ่ง​ที่​พระเจ้า​ทรง​ประสงค์. เมื่อ​พรรณนา​ถึง​น้ำใจ​ของ​ท่าน​ที่​ได้​บ่ม​เพาะ​ขึ้น​มา เซาโล​บอก​ว่า “ถ้า​ว่า​ด้วย​การ​ร้อน​รน [ข้าพเจ้า] ก็​ได้​ข่มเหง​คริสตจักร ถ้า​ว่า​ด้วย​การ​ชอบธรรม​ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​พระ​บัญญัติ, ข้าพเจ้า​ก็​ไม่​มี​ที่​ติ​ได้.” “ข้าพเจ้า​ได้​ข่มเหง​คริสตจักร​ของ​พระเจ้า​มาก​เหลือ​เกิน, และ​ได้​ทำ​ร้าย​พวก​นั้น. และ​ใน​ลัทธิ​พวก​ยูดาย​ข้าพเจ้า​ได้​ก้าว​หน้า​เกิน​กว่า​เพื่อน​ที่​มี​อายุ​รุ่น​ราว​คราว​เดียว​กัน​และ​เป็น​ชาติ​เดียว​กัน, โดย​เหตุ​ที่​ข้าพเจ้า​ได้​มี​ใจ​ร้อน​รน​มาก​ยิ่ง​กว่า​เขา​ใน​เรื่อง​ราว​ของ​บรรพบุรุษ​ของ​ข้าพเจ้า.”—ฟิลิปปอย 3:6; ฆะลาเตีย 1:13, 14.

ตัว​ตั้ง​ตัว​ตี​ใน​การ​ข่มเหง

หลัง​การ​ตาย​ของ​ซะเตฟาโน เซาโล​แสดง​ตัว​ว่า​ท่าน​ไม่​ได้​เป็น​แต่​เพียง​ผู้​ร่วม​มือ​ข่มเหง​อีก​แล้ว​แต่​เป็น​ตัวการ​ที​เดียว. ใน​ฐานะ​เช่น​นั้น ท่าน​คง​ต้อง​กลาย​เป็น​คน​มี​ชื่อ​ลือ​กระฉ่อน​อย่าง​แน่นอน เพราะ​แม้​ภาย​หลัง​การ​เปลี่ยน​ความ​เชื่อ​แล้ว​ก็​ตาม เมื่อ​ท่าน​พยายาม​จะ​คบหา​สมาคม​กับ​เหล่า​สาวก “เขา​ทั้ง​หลาย [“ทุก​คน,” ล.ม.] กลัว​เพราะ​ไม่​เชื่อ​ว่า​เซาโล​เป็น​ศิษย์.” ครั้น​เป็น​ที่​ชัด​แจ้ง​ว่า​ท่าน​ได้​เป็น​คริสเตียน​แล้ว​จริง ๆ การ​เปลี่ยน​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน​จึง​กลาย​เป็น​เหตุ​ให้​มี​ความ​ชื่นชม​ยินดี​และ​การ​โมทนา​ขอบพระคุณ​ท่ามกลาง​เหล่า​สาวก ผู้​ซึ่ง​ได้​ยิน​ว่า​ไม่​ใช่​แค่​คน​หนึ่ง ที่​เคย​ต่อ​ต้าน​แล้ว​ได้​เปลี่ยน​ใจ แต่​มาก​กว่า​นั้น “ผู้​ที่ แต่​ก่อน​ได้​ข่มเหง​เรา, เดี๋ยว​นี้​ก็​ประกาศ​ความ​เชื่อ​นั้น​ซึ่ง​แต่​ก่อน​เขา​ได้​ทำลาย​เสีย.”—กิจการ 9:26; ฆะลาเตีย 1:23, 24.

เมือง​ดาเมเซ็ก​ห่าง​จาก​กรุง​ยะรูซาเลม​ประมาณ 220 กิโลเมตร หาก​เดิน​ด้วย​เท้า​ก็​ใช้​เวลา​เจ็ด​หรือ​แปด​วัน. กระนั้น “ยัง​ขู่​คำราม​กล่าว​ว่า​จะ​ฆ่า​ศิษย์​ของ​พระ​เยซู​เสีย” เซาโล​จึง​ได้​ไป​หา​มหา​ปุโรหิต ขอ​หนังสือ​ไป​ยัง​ธรรมศาลา​ใน​เมือง​ดาเมเซ็ก. ทำไม? เพื่อ​ว่า​เซาโล​จะ​ได้​จับ​มัด​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ท่าน​พบ​ว่า​ถือ “ทาง​นั้น” พา​มา​ยัง​กรุง​ยะรูซาเลม. พร้อม​กับ​อำนาจ​ที่​ได้​รับ​จาก​พวก​ปุโรหิต​ใหญ่ ท่าน “ประทุษร้าย​คริสตจักร, คือ​เข้า​ไป​ฉุด​ลาก​ชาย​หญิง​จาก​ทุก ๆ เรือน​ไป​จำ​ไว้​ใน​คุก.” คน​อื่น​นอก​นั้น เขา​ให้ “เฆี่ยน​ตี​ใน​ธรรมศาลา” และ​ท่าน​ก็ “เห็น​ดี​ด้วย” กับ​การ​ประหาร​เขา.—กิจการ 8:3; 9:1, 2, 14; 22:5, 19; 26:10.

เมื่อ​คำนึง​ถึง​การ​ศึกษา​เล่า​เรียน​ที่​เซาโล​ได้​รับ​จาก​ฆามาลิเอล​และ​การ​ปฏิบัติ​งาน​ใช้​อำนาจ​หน้า​ที่​ของ​ท่าน​นั้น ผู้​คง​แก่​เรียน​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​ท่าน​ก้าว​จาก​การ​เป็น​เพียง​นัก​ศึกษา​สาขา​วิชา​กฎหมาย​ขึ้น​มา​จน​ถึง​ขั้น​มี​อำนาจ​หน้า​ที่​ระดับ​หนึ่ง​ใน​ลัทธิ​ยูดาย. ยก​ตัว​อย่าง นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​สันนิษฐาน​ว่า​เซาโล​อาจ​เป็น​ครู​สอน​ใน​ธรรมศาลา​ที่​ยะรูซาเลม. อย่าง​ไร​ก็​ดี การ​ที่​เซาโล​พูด​ว่า ‘เห็น​ดี​ด้วย’ หมายความ​ว่า​อย่าง​ไร​นั้น—ไม่​ว่า​ท่าน​พูด​ใน​ฐานะ​สมาชิก​ศาล​หรือ​เป็น​คน​ออก​เสียง​สนับสนุน​การ​สำเร็จ​โทษ​คริสเตียน—เรา​ไม่​อาจ​รู้​แน่นอน. *

เนื่อง​จาก​ตอน​เริ่ม​ต้น​คริสเตียน​ทุก​คน​เป็น​คน​ยิว หรือ​เป็น​คน​ที่​ได้​เปลี่ยน​มา​เชื่อ​ศาสนา​ยิว ดู​เหมือน​เซาโล​เข้าใจ​ว่า​ศาสนา​คริสเตียน​เป็น​ขบวนการ​ผู้​ออก​หาก​ภาย​ใน​ลัทธิ​ยูดาย และ​ท่าน​ถือ​เป็น​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ​ลัทธิ​ยูดาย​อัน​เป็น​ศาสนา​ทาง​การ​ที่​จะ​แก้ไข​สานุศิษย์. อาร์แลนด์ เจ. ฮัลต์เกรน​ผู้​คง​แก่​เรียน​พูด​ว่า “ไม่​น่า​จะ​เป็น​ไป​ได้​ที่​เปาโล​ผู้​ข่มเหง​จะ​ต่อ​ต้าน​ศาสนา​คริสเตียน​เพราะ​ท่าน​มอง​ว่า​ศาสนา​นี้​อยู่​นอก​ลัทธิ​ยูดาย เป็น​คู่​แข่ง. ท่าน​และ​คน​อื่น ๆ มอง​ว่า​ขบวนการ​คริสเตียน​อยู่​ใต้​อำนาจ​ศาสนา​ยิว.” เจตนา​ของ​ท่าน​ใน​ตอน​นั้น​เป็น​ไป​เพื่อ​บังคับ​คน​ยิว​ที่​ดื้อ​รั้น​โดย​ใช้​ทุก ๆ วิถี​ทาง​ซึ่ง​พอ​จะ​นำ​มา​ใช้​ได้​ให้​เลิก​เชื่อ​ใน​ทาง​นั้น​แล้ว​กลับ​มา​ถือ​ศาสนา​ดั้งเดิม. (กิจการ 26:11) การ​จำ​คุก​เป็น​วิธี​หนึ่ง​ที่​ท่าน​นำ​ไป​ใช้. อีก​วิธี​หนึ่ง​คือ​การ​เฆี่ยน​ใน​ธรรมศาลา อัน​เป็น​วิธี​การ​ทั่ว ๆ ไป​สำหรับ​การ​ตี​สอน​ซึ่ง​อาจ​นำ​มา​ใช้​เป็น​การ​ลง​โทษ​หาก​ว่า​มี​การ​ขัด​ขืน​อำนาจ​อาจารย์​ผู้​สอน​กฎหมาย​ยิว​ใน​ศาล​ท้องถิ่น​ใด ๆ ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​ผู้​พิพากษา​สาม​ท่าน.

แน่​ละ การ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ปรากฏ​แก่​เซาโล​บน​เส้น​ทาง​ไป​เมือง​ดาเมเซ็ก​ระงับ​การ​กระทำ​เช่น​นั้น​ทุก​อย่าง. จาก​การ​เป็น​ศัตรู​ที่​ดุ​ร้าย​ของ​ศาสนา​คริสเตียน เซาโล​เปลี่ยน​ทันที​ทันใด​กลาย​มา​เป็น​ผู้​สนับสนุน​ศาสนา​คริสเตียน​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า และ​ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น​ชาว​ยิว​ใน​เมือง​ดาเมเซ็ก​ก็​หา​โอกาส​จะ​ฆ่า​ท่าน เสีย. (กิจการ 9:1-23) น่า​แปลก ใน​ฐานะ​คริสเตียน เซาโล​ต้อง​มา​ทน​ทุกข์​กับ​หลาย​สิ่ง​ที่​ท่าน​เอง​เคย​ทำ​แก่​คน​อื่น​ใน​ฐานะ​ผู้​ข่มเหง จน​หลาย​ปี​ต่อ​มา​ท่าน​สามารถ​กล่าว​ได้​ว่า “พวก​ยูดาย​ได้​เฆี่ยน​ข้าพเจ้า​ห้า​ครั้ง ๆ ละ​สาม​สิบ​เก้า​ที.”—2 โกรินโธ 11:24.

ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​อาจ​ถูก​ใช้​ไป​ใน​ทาง​ผิด

“เมื่อ​ก่อน​นั้น​ข้าพเจ้า​เป็น​คน​หลู่​เกียรติยศ​พระเจ้า, และ​เป็น​คน​ข่มเหง, และ​เป็น​คน​ทำ​การ​หมิ่น​ประมาท​พระองค์” เซาโล​ได้​เขียน​ความ​ตอน​นี้​หลัง​การ​เปลี่ยน​ศาสนา เมื่อ​ท่าน​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​โดย​ชื่อ​ว่า​เปาโล. “แต่​ข้าพเจ้า​ได้​รับ​พระ​กรุณา, เพราะ​ว่า​ที่​ข้าพเจ้า​ได้​กระทำ​อย่าง​นั้น​ก็​กระทำ​ไป​โดย​ความ​เขลา​เพราะ​ความ​ไม่​เชื่อ. (1 ติโมเธียว 1:13) ดัง​นั้น การ​เป็น​คน​จริง​ใจ​และ​แข็งขัน​ใน​ศาสนา​ของ​ตน​จึง​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​จะ​รับรอง​ความ​พอ​พระทัย​ของ​พระเจ้า. เซาโล​มี​ใจ​แรง​กล้า​และ​ลง​มือ​ปฏิบัติ​ตาม​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ แต่​นั่น​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ท่าน​ถูก​ต้อง ความ​กระตือรือร้น​อย่าง​แรง​กล้า​ถูก​ใช้​ไป​ใน​ทาง​ผิด. (เทียบ​กับ โรม 10:2, 3.) ควร​ที่​เรา​พึง​ใคร่ครวญ​ตรง​จุด​นี้.

เวลา​นี้​หลาย​คน​เชื่อ​มั่น​ว่า​การ​เป็น​คน​ประพฤติ​ดี​นั้น​แหละ​เป็น​สิ่ง​ทั้ง​หมด​ที่​พระเจ้า​ทรง​เรียก​ร้อง​จาก​พวก​เขา. แต่​เป็น​เช่น​นั้น​ไหม? คง​จะ​ดี​ถ้า​แต่​ละ​คน​ตั้งใจ​ฟัง​คำ​กระตุ้น​เตือน​ของ​เปาโล​ที่​ว่า “จง​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ใน​ทุก​สิ่ง; สิ่ง​ที่​ดี​นั้น​จง​ยึด​ไว้​ให้​มั่น.” (1 เธซะโลนิเก 5:21, ล.ม.) นั่น​หมาย​ถึง​การ​จัด​เวลา​เพื่อ​ให้​ได้​มา​ซึ่ง​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​ด้วย​พระ​คำ​แห่ง​ความ​จริง​ของ​พระเจ้า ครั้น​แล้ว​ดำเนิน​ชีวิต​ให้​สอดคล้อง​เต็ม​ที่​กับ​ความ​รู้​นั้น. ถ้า​จาก​การ​ตรวจ​สอบ​คัมภีร์​ไบเบิล เรา​ตระหนัก​ว่า​เรา​จะ​ต้อง​ทำ​การ​เปลี่ยน​แปลง​บาง​อย่าง ครั้น​แล้ว เรา​จึง​ควร​ดัด​แปลง​แก้ไข​โดย​ไม่​ชักช้า​ใน​ทุก​วิถี​ทาง. บาง​ที​พวก​เรา​น้อย​คน​เคย​เป็น​คน​หมิ่น​ประมาท, เป็น​คน​กดขี่​ข่มเหง, หรือ​เป็น​คน​หยิ่ง​ผยอง​มาก​เหมือน​เซาโล​แต่​ก่อน. อย่าง​ไร​ก็​ดี การ​ที่​เรา​ลง​มือ​กระทำ​ตาม​ความ​เชื่อ​และ​ความ​รู้​ถ่องแท้​เท่า​นั้น​เรา​จะ​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระเจ้า​เช่น​เปาโล.—โยฮัน 17:3, 17.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 12 ตาม​ที่​เอมีล ชือเรอร์​เขียน​ลง​ใน​หนังสือ​ประวัติศาสตร์​ประชาชน​ชาว​ยิว​ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู​คริสต์ (ปี 175 ก.ส.ศ.–ส.ศ. 135 ภาษา​เยอรมัน) ถึง​แม้​ใน​มิชนาห์​ไม่​มี​การ​บันทึก​วิธี​ดำเนิน​การ​ของ​ศาล​ซันเฮดริน​ใหญ่ หรือ​ซันเฮดริน​ที่​ประกอบ​ด้วย​สมาชิก​เจ็ด​สิบ​เอ็ด​คน แต่​วิธี​ดำเนิน​การ​แห่ง​ศาล​ซันเฮดริน​เล็ก​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​สมาชิก 23 คน​มี​กำหนด​ไว้​อย่าง​ละเอียด. นัก​ศึกษา​วิชา​กฎหมาย​อาจ​เข้า​ร่วม​การ​พิจารณา​คดี​อุก​ฉกรรจ์​โดย​ศาล​ซันเฮดริน​เล็ก ซึ่ง​ที่​นั่น​พวก​เขา​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​แก้​ต่าง​แก่​จำเลย​เท่า​นั้น และ​ไม่​ให้​คัดค้าน​จำเลย. ใน​กรณี​ไม่​พัวพัน​กับ​การ​ทำ​ผิด​ที่​ต้อง​โทษ​ถึง​ประหาร​ชีวิต พวก​เขา​สามารถ​แก้​ต่าง​ให้​และ​พูด​คัดค้าน​ผู้​ทำ​ผิด​ได้​ด้วย.