พวก “โพลิช เบรเทร็น” ทำไมพวกเขาถูกข่มเหง?
พวก “โพลิช เบรเทร็น” ทำไมพวกเขาถูกข่มเหง?
ในปี 1638 รัฐสภาโปแลนด์ได้ดำเนินการที่ยังความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ศาสนากลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักว่าพวกโพลิช เบรเทร็น. โบสถ์และแท่นพิมพ์ที่เป็นของกลุ่มนี้ถูกทำลาย. มหาวิทยาลัยแห่งเมืองราคาวถูกปิด และศาสตราจารย์ซึ่งสอนที่นั่นถูกเนรเทศ.
ยี่สิบปีต่อมา รัฐสภาได้ดำเนินการอีกขั้นหนึ่ง. มีการสั่งสมาชิกทุกคนของกลุ่มนี้ ซึ่งอาจมีจำนวน 10,000 คนหรือมากกว่านี้ให้ออกจากประเทศ. สถานการณ์มาถึงขั้นวิกฤติขนาดนั้นได้อย่างไรในประเทศที่ตอนนั้นถือกันว่าเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ยอมให้ทางศาสนามากที่สุดตลอดทั่วยุโรป? พวกโพลิช เบรเทร็นทำอะไรที่สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างรุนแรงเช่นนั้น?
เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อความแตกแยกอย่างรุนแรงเกิดขึ้นภายในคริสตจักรแคลวินของโปแลนด์. ประเด็นสำคัญในการโต้เถียงคือคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ. พวกผู้นำของขบวนการหัวใหม่ภายในคริสตจักรปฏิเสธคำสอนนั้นว่าไม่ถูกหลักพระคัมภีร์. เรื่องนี้ทำให้พวกผู้นำของคริสตจักรโกรธแค้นและเป็นเหตุให้ขบวนการหัวใหม่แยกตัวออกไป.
พวกถือนิกายแคลวินเรียกผู้ที่มีความเห็นต่างออกไปนี้ว่าพวกอาเรียน * แต่สานุศิษย์ของกลุ่มใหม่นี้ชอบที่จะเรียกตัวเองว่าคริสเตียนหรือพวกโพลิช เบรเทร็นมากกว่า. พวกเขายังเป็นที่รู้จักว่าพวกโซซิเนียน ตามไลลีอุส โซซินุสชาวอิตาลีคนหนึ่งซึ่งได้รับอิทธิพลจากเซอร์เวทุส และฟอสตุส โซซินุส หลานชายของเขาได้เดินทางไปโปแลนด์แล้วเข้ามาเป็นคนสำคัญในขบวนการนี้.
ในตอนนั้นขุนนางชาวโปแลนด์ชื่อยาน เชนเยนสคี พยายามจะให้สิ่งซึ่งเขาเรียกว่า “สถานที่สงบ, สันโดษ” แก่คริสตจักรใหม่เพื่อคริสตจักรจะเจริญขึ้น. โดยใช้สิทธิพิเศษที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากกษัตริย์โปแลนด์ เชนเยนสคีได้สร้างเมืองราคาวซึ่งภายหลังกลายเป็นศูนย์กลางของนิกายโซซิเนียนในโปแลนด์. เชนเยนสคีได้ให้ชาวเมืองราคาวมีสิทธิหลายอย่าง รวมทั้งสิทธิที่จะนมัสการได้อย่างเสรี.
ช่างฝีมือ, แพทย์, เภสัชกร, ชาวเมือง, และพวกผู้ดีมีสกุลจากนิกายต่าง ๆ ถูกดึงดูดใจให้มาที่เมืองใหม่นี้. นอกจากนั้น พวกนักเทศน์จากโปแลนด์, ลิทัวเนีย, แทรนซิลเวเนีย, ฝรั่งเศส, และกระทั่งอังกฤษได้แห่กันมาที่นั่น. อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้มาถึงใหม่เหล่านี้ทุกคนมีความเชื่อเหมือนกับพวกโซซิเนียน ดังนั้น ตลอดสามปีต่อมา ตั้งแต่ปี 1569 ถึง 1572 ราคาวได้กลายเป็นสถานที่ของการถกกันทางเทววิทยาอย่างไม่รู้จักจบ. พร้อมด้วยผลประการใด?
สำนักที่แตกแยก
ขบวนการโซซิเนียนเองได้แตกแยก โดยที่คนเหล่านั้นซึ่งรับเอาทัศนะแบบหัวรุนแรงมากกว่าอยู่ฝ่ายหนึ่ง และคนเหล่านั้นที่มีแนวคิดกลาง ๆ มากกว่าอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง. แต่ทั้ง ๆ ที่มีความขัดแย้งกัน ความเชื่อที่พวกเขาถือร่วมกันนับว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ. พวกเขาปฏิเสธตรีเอกานุภาพ; พวกเขาไม่ยอมทำการบัพติสมาให้ทารก; โดยทั่วไปพวกเขาไม่ถืออาวุธ * พวกเขายังปฏิเสธเรื่องนรกซึ่งเป็นสถานที่ทรมาน. โดยความเชื่อทั้งหมดนี้ พวกเขาไม่ติดตามประเพณีต่าง ๆ ทางศาสนาอันเป็นที่นิยม.
และมักจะไม่รับตำแหน่งหน้าที่ราชการ.นักบวชทั้งนิกายแคลวินและคาทอลิกดำเนินการต่อต้านกลุ่มนี้อย่างดุเดือด แต่พวกนักเทศน์โซซิเนียนฉวยโอกาสจากสภาพการณ์ที่มีการยอมให้ทางศาสนาที่ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์โปแลนด์ เช่น ซิกมูนท์ที่ 2 เอากุสตุสและสตีเฟน บาโธรี เพื่อสอนแนวคิดของพวกเขา.
ผลงานสำคัญของบุดนี
คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลของผู้ถือนิกายแคลวินซึ่งมีการใช้อย่างกว้างขวางในตอนนั้นไม่ได้สนองความต้องการของผู้อ่านหลายคน. ฉบับแปลนี้ได้รับการแปลไม่ใช่จากภาษาเดิม แต่จากฉบับลาตินวัลเกต และฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสที่มีอยู่ในตอนนั้น. ผู้รอบรู้คนหนึ่งกล่าวว่า “ความซื่อสัตย์และความถูกต้องของความคิดได้สูญเสียไปเพื่อแลกกับสำนวนที่ไพเราะ.” มีการนำข้อผิดพลาดหลายอย่างเข้ามา. เพราะฉะนั้น ผู้คงแก่เรียนที่รู้จักกันดีชื่อ ชิมอน บุดนี ได้รับการเชิญให้แก้ไขฉบับแปลนี้. เขาตัดสินใจว่าการทำฉบับแปลใหม่ทั้งหมดเลยคงจะง่ายกว่าการแก้ไขฉบับเก่า. บุดนีเริ่มทำงานในโครงการนี้ประมาณปี 1567.
ขณะที่แปล บุดนีวิเคราะห์ทุกคำและคำเดียวกันในรูปแบบที่ต่างออกไปนั้นอย่างถี่ถ้วนในวิธีที่ไม่มีใครในโปแลนด์เคยทำมาก่อน. เมื่อยากที่จะแปลความหมายของข้อความภาษาฮีบรูเป็นภาษาโปแลนด์ เขาก็จะแสดงการแปลตามตัวอักษรไว้ในหมายเหตุริมหน้า. เมื่อจำเป็น เขาสร้างคำใหม่ขึ้นและพยายามใช้ภาษาโปแลนด์ที่ง่ายและที่ใช้ในชีวิตประจำวันในสมัยนั้น. เป้าหมายของเขาคือเพื่อเสนอคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลที่ซื่อสัตย์และถูกต้องแก่ผู้อ่าน.
คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลของบุดนีทั้งเล่มได้รับการพิมพ์ในปี 1572. อย่างไรก็ตาม ผู้พิมพ์ผลงานนี้ได้เปลี่ยนแปลงพระคัมภีร์ฉบับแปลภาษากรีกของเขา. โดยไม่ให้อะไรมาขัดขวาง บุดนีเริ่มทำฉบับแปลที่แก้ไขใหม่ ซึ่งแล้วเสร็จในสองปีต่อมา. พระคัมภีร์ภาคภาษากรีกฉบับแปลที่ยอดเยี่ยมของบุดนีนับว่าเหนือกว่าฉบับแปลภาษาโปแลนด์ก่อนหน้านั้น. นอกจากนี้ ในหลายตอนเขาใส่พระนามของพระเจ้า ยะโฮวา ไว้ในที่เดิม.
ระหว่างช่วงท้ายของศตวรรษที่ 16 และสามทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 17 ราคาว เมืองที่เด่นที่สุดของขบวนการนี้ ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและทางปัญญา. พวกผู้นำและนักเขียนของพวกโพลิช เบรเทร็นได้พิมพ์แผ่นพับและผลงานบทประพันธ์ของพวกเขาที่นั่น.
พวกเขาส่งเสริมการศึกษา
งานจัดพิมพ์ของพวกโพลิช เบรเทร็นเริ่มได้รับแรงผลักดันราว ๆ ปี 1600 เมื่อมีการตั้งแท่นพิมพ์ขึ้นในเมืองราคาว. แท่นพิมพ์นั้นสามารถผลิตทั้งบทความสั้น ๆ และหนังสือขนาดใหญ่ในหลายภาษา. ในฐานะเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ ในไม่ช้าราคาวก็เป็นคู่แข่งของศูนย์การพิมพ์ที่ดีที่สุดในยุโรป. เชื่อกันว่าหนังสือจำนวนมากราว ๆ 200 ฉบับพิมพ์บนแท่นพิมพ์นั้นระหว่าง 40 ปีถัดไป. โรงงานผลิตกระดาษที่อยู่ใกล้ ๆ ซึ่งพวกโพลิช เบรเทร็นเป็นเจ้าของนั้นได้จัดส่งกระดาษคุณภาพเยี่ยมให้สำหรับพิมพ์หนังสือเหล่านี้.
ในไม่ช้าพวกโพลิช เบรเทร็นเห็นความจำเป็นที่จะให้การศึกษาแก่เพื่อนร่วมความเชื่อ และคนอื่น ๆ ด้วย. เพื่อจุดมุ่งหมายนี้ ได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งเมืองราคาวขึ้นในปี 1602. บุตรชายของพวกโพลิช เบรเทร็น และเด็กผู้ชายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ได้เข้าเรียนที่นั่นด้วย. ถึงแม้มหาวิทยาลัยนี้เป็นสถานศึกษาทางเทววิทยาก็ตาม ศาสนาใช่ว่าเป็นเรื่องเดียวเท่านั้นที่สอนกัน. ภาษาต่างประเทศ, จริยศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ประวัติศาสตร์, กฎหมาย, ตรรกศาสตร์, วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, คณิตศาสตร์, แพทยศาสตร์, และยิมนาสติกเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย. มหาวิทยาลัยมีห้องสมุดใหญ่ซึ่งขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากแท่นพิมพ์ของเมืองนี้.
ขณะที่ศตวรรษที่ 17 คืบหน้าไป ดูเหมือนว่าพวกโพลิช เบรเทร็นจะรุ่งเรืองต่อไป. แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่.
คริสตจักรและรัฐตอบโต้
ซบิกเนียฟ ออโกนอฟสคีแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ของโปแลนด์อธิบายว่า “ในตอนจบทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ 17 สภาพการณ์ของพวกอาเรียนในโปแลนด์เริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว.” เป็นเช่นนี้เนื่องจากการเคลื่อนไหวแบบห้าวหาญมากขึ้นเรื่อย ๆ ของนักเทศน์นักบวชคาทอลิก. พวกเขาใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ รวมทั้งการใส่ร้ายและการหมิ่นประมาท เพื่อทำให้พวกโพลิช เบรเทร็นเสื่อมเสียชื่อเสียง. การโจมตีทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่
เปลี่ยนแปลงในโปแลนด์. กษัตริย์โปแลนด์องค์ใหม่ ซิกมูนท์ที่ 3 วาซา เป็นศัตรูของพวกโพลิช เบรเทร็น. ผู้สืบตำแหน่งของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกษัตริย์ยานที่ 2 คาซีมเยช วาซา ได้สนับสนุนความพยายามของคริสตจักรคาทอลิกที่จะขัดขวางพวกโพลิช เบรเทร็นเช่นเดียวกัน.สถานการณ์มาถึงขั้นวิกฤติด้วยการกระทำที่เข้าใจกันว่าเป็นการจงใจดูหมิ่นไม้กางเขนโดยนักศึกษาบางคนจากมหาวิทยาลัยราคาว. เหตุการณ์นี้กลายเป็นข้ออ้างสำหรับการทำลายศูนย์กลางของพวกโพลิช เบรเทร็น. เจ้าของราคาวถูกกล่าวหาต่อหน้ารัฐสภาเรื่อง ‘การเผยแพร่ความชั่ว’ โดยการสนับสนุนมหาวิทยาลัยแห่งเมืองราคาวและแท่นพิมพ์ของเมืองนั้น. พวกโพลิช เบรเทร็นถูกกล่าวหาเรื่องกิจกรรมที่เป็นการบ่อนทำลาย, การเข้าร่วมในงานเลี้ยงปล่อยตัวแบบไม่บันยะบันยัง, และการดำเนินชีวิตที่ผิดศีลธรรม. รัฐสภาได้ตัดสินว่าควรปิดมหาวิทยาลัยราคาวและควรทำลายแท่นพิมพ์และโบสถ์ที่เป็นของพวกโพลิช เบรเทร็น. มีการสั่งให้สานุศิษย์ออกจากเมือง. พวกศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยถูกเนรเทศออกจากประเทศมิฉะนั้นจะถูกลงโทษประหารชีวิต. พวกโพลิช เบรเทร็นบางคนย้ายไปยังที่พำนักอันปลอดภัย เช่น ไซลีเซียและสโลวะเกีย.
ในปี 1658 รัฐสภาออกคำสั่งให้พวกโพลิช เบรเทร็นขายทรัพย์สินของพวกเขาแล้วให้ย้ายไปต่างประเทศภายในสามปี. ต่อมา เส้นตายนั้นถูกลดลงเหลือสองปี. ใคร ๆ ที่ศรัทธาความเชื่อของพวกเขาหลังจากนั้นจะถูกประหารชีวิต.
พวกโซซิเนียนบางคนได้ตั้งถิ่นฐานในเนเธอร์แลนด์ ที่นั่นพวกเขาดำเนินกิจการการพิมพ์ของตนต่อไป. ในทรานซิลวาเนีย ประชาคมหนึ่งดำเนินงานต่อไปจนกระทั่งตอนต้นศตวรรษที่ 18. ณ การประชุมของพวกเขา ซึ่งจัดขึ้นถึงสัปดาห์ละสามครั้ง พวกเขาร้องเพลงโดยใช้บทเพลงสรรเสริญ, ฟังคำเทศน์, และอ่านจากบทเรียนแบบถาม-ตอบที่ได้รับการเตรียมไว้เพื่ออธิบายคำสอนของพวกเขา. เพื่อรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของประชาคม เพื่อนร่วมความเชื่อได้รับการแก้ไข, กระตุ้นเตือน, และถ้าจำเป็นก็ถูกไล่ออก.
พวกโพลิช เบรเทร็นเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้า. พวกเขาได้ค้นพบความจริงอันล้ำค่าบางข้อ และพวกเขาไม่ลังเลที่จะแบ่งปันความจริงนั้นให้กับคนอื่น. อย่างไรก็ดี ในที่สุด พวกเขากระจัดกระจายไปทั่วยุโรป และพบว่าเป็นการยากขึ้นทุกทีที่จะรักษาไว้ซึ่งเอกภาพ. ในที่สุด พวกโพลิช เบรเทร็นก็สาบสูญไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 อาริอุส (ส.ศ. 250-336) เป็นบาทหลวงแห่งอะเล็กซานเดรียซึ่งโต้แย้งว่าพระเยซูต่ำกว่าพระบิดา. สภานีเซียปฏิเสธทัศนะของเขาในปี ส.ศ. 325.—โปรดดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 มิถุนายน 1989 หน้า 27.
^ วรรค 9 โปรดดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 พฤศจิกายน 1988 หน้า 19 “พวกโซซิเนียน—ทำไมพวกเขาปฏิเสธตรีเอกานุภาพ?”
[ภาพหน้า 23]
บ้านหลังที่เคยเป็นของนักเทศน์โซซิเนียน
[ภาพหน้า 23]
ภาพบน: เมืองราคาวในปัจจุบัน; ด้านขวาเป็นอารามที่สร้างขึ้นในปี 1650 เพื่อกำจัดร่องรอยใด ๆ ของ “นิกายอาเรียน”; ภาพล่าง: ณ ที่แห่งนี้นักบวชคาทอลิกได้ตั้งไม้กางเขนขึ้นเพื่อยั่วยุให้เกิดการต่อสู้กับพวกโพลิช เบรเทร็น
[ที่มาของภาพหน้า 21]
Title card of Biblia nieświeska by Szymon Budny, 1572