การเสนอข่าวสารที่ปลอบประโลมในประเทศอิตาลี
เราเป็นคนประเภทที่มีความเชื่อ
การเสนอข่าวสารที่ปลอบประโลมในประเทศอิตาลี
พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง.” โดยการเรียนรู้ที่จะเลียนแบบพระองค์ ผู้รับใช้ของพระองค์ “สามารถปลอบโยนคนเหล่านั้นในความทุกข์ยากอย่างหนึ่งอย่างใด.” (2 โกรินโธ 1:3, 4, ล.ม.; เอเฟโซ 5:1) การนี้เป็นหนึ่งในหลายเป้าหมายหลักเกี่ยวกับงานประกาศสั่งสอนที่พยานพระยะโฮวาทำกันอยู่.
การช่วยเหลือสตรีที่ขัดสนรายหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เกิดความยากจนข้นแค้น, สงคราม, และความต้องการยังชีพในสภาพที่ดีกว่าจึงกระตุ้นให้หลายคนย้ายไปอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยกว่า. แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์แวดล้อมใหม่. มันโยเลอาศัยอยู่กับเพื่อนชาวแอลเบเนียในเมืองบอร์โกมาเนโร. เนื่องจากเธออยู่ในอิตาลีอย่างคนผิดกฎหมาย เธอลังเลที่จะพูดกับวันดาซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวา. กระนั้นก็ดี ในที่สุดวันดาก็ได้จัดแจงนัดหมายกับมันโยเลซึ่งแสดงความสนใจอย่างมากในเวลาอันรวดเร็วที่จะศึกษาพระคำของพระเจ้า แม้ไม่ง่ายเสียทีเดียวเพราะภาษาเป็นอุปสรรค.
อย่างไรก็ตาม หลังการเยี่ยมสองสามครั้ง วันดาไม่พบใครเลยในบ้านนั้น. เกิดอะไรขึ้น? วันดาได้มารู้ว่าทุกคนที่อาศัยในบ้านหลังนั้นหนีไปหมดแล้ว เพราะหนึ่งในพวกนั้น—คู่รักของมันโยเล—ถูกตามล่าด้วยข้อหาฆาตกรรม!
สี่เดือนต่อมา วันดาได้เจอมันโยเลอีก. วันดาเล่าว่า “เธอซีดเซียวและผอมลง อยู่ในสภาพคนที่ประสบความยุ่งยาก.” มันโยเลเล่าว่าอดีตชายคนรักของเธอติดคุก และเมื่อหันไปขอความช่วยเหลือจากบรรดาเพื่อน ๆ พวกเขาก็ทำให้เธอผิดหวังอย่างขมขื่น. เมื่อสิ้นหวังเธอได้ทูลอธิษฐานขอพระเจ้าช่วย. แล้วเธอก็นึกถึงวันดา ซึ่งเคยพูดคุยกันถึงเรื่องคัมภีร์ไบเบิล. มันโยเลดีอกดีใจเพียงไรที่ได้เจอเธออีก!
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้เริ่มใหม่อีกครั้งหนึ่ง และไม่นานต่อมา มันโยเลก็เริ่มเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. เธอประสบความสำเร็จเมื่อยื่นคำร้องขออยู่ในอิตาลี. หลังจากหนึ่งปี มันโยเลก็เข้ามาเป็นพยานฯ ที่รับบัพติสมาแล้ว. เนื่องจากได้รับการชูใจจากคำสัญญาต่าง ๆ ของพระเจ้า เธอจึงกลับไปที่ประเทศแอลเบเนียเพื่อบอกข่าวสารที่ปลอบประโลมจากคัมภีร์ไบเบิลแก่เพื่อนร่วมชาติของเธอ.
ให้คำพยานในบริเวณค่ายผู้อพยพเข้าประเทศ
หลายประชาคมในอิตาลีได้เตรียมการเพื่อให้คำพยานแก่ผู้อพยพเข้าประเทศอย่างมันโยเล. ตัวอย่างเช่น ประชาคม
หนึ่งในเมืองฟลอเรนซ์ได้จัดการไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพเข้าประเทศเป็นประจำ. ผู้คนในค่ายอพยพ—จำนวนมากมาจากยุโรปตะวันออก, สาธารณรัฐมาซิโดเนีย, และโคโซโว—ล้วนประสบความยากลำบากหลากหลายต่าง ๆ กัน. บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพย์ติดหรือแอลกอฮอล์. หลายคนประทังชีวิตด้วยการลักเล็กขโมยน้อย.การประกาศในชุมชนแห่งนี้เป็นการท้าทาย. อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ผู้เผยแพร่ข่าวดีเต็มเวลาชื่อปาโอลาได้พบชักลีนา สตรีชาวมาซิโดเนีย. หลังการสนทนาเพียงไม่กี่ครั้ง ชักลีนาก็ได้สนับสนุนซูซันนา เพื่อนของเธอเองให้ตรวจสอบดูคัมภีร์ไบเบิล. แล้วซูซันนาก็ได้พูดคุยกับญาติคนอื่น ๆ อีกต่อหนึ่ง. มิช้ามินาน ห้าคนในครอบครัวก็ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ และนำเอาสิ่งที่ตนเรียนรู้ไปปฏิบัติ. ทั้ง ๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน กระนั้น พวกเขาได้รับการชูใจจากพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์.
แม่ชียอมรับการปลอบประโลมจากพระยะโฮวา
ในเมืองฟอร์มีอา ผู้เผยแพร่ข่าวดีเต็มเวลาชื่ออัสซุนตา ได้คุยกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเดินด้วยความลำบาก. หญิงคนนี้เป็นแม่ชีในองค์การศาสนาที่ให้การช่วยเหลือคนป่วยไข้ และคนอ่อนกำลังซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลและรักษาตัวที่บ้าน.
อัสซุนตาคุยกับแม่ชีว่า “ตอนนี้คุณก็ไม่สบายด้วยใช่ไหม? น่าเศร้านะ เราทุกคนต่างก็มีปัญหาต้องสู้ด้วยกันทั้งนั้น.” แม่ชีถึงกับร้องไห้โฮและชี้แจงว่าปัญหาด้านสุขภาพของเธออยู่ในขั้นร้ายแรง. อัสซุนตาพูดให้กำลังใจเธอว่าพระเจ้าแห่งคัมภีร์ไบเบิลสามารถชูใจเธอได้. อัสซุนตาได้เสนอวารสารที่ยึดหลักคัมภีร์ไบเบิล แม่ชีก็ตกลงรับไว้.
ในระหว่างการสนทนาครั้งถัดไป แม่ชีคนนี้ที่ชื่อพัลมีรายอมรับว่าเธอมีความทุกข์ใจอย่างยิ่ง. เธอเคยอาศัยอยู่ในสำนักที่ดำเนินงานโดยแม่ชีเป็นเวลานาน. พอเกิดมีความจำเป็นด้วยเหตุผลด้านสุขภาพต้องลาพักชั่วคราว เธอไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปอีก. กระนั้นก็ดี พัลมีราสำนึกถึงภาระผูกพันกับพระเจ้าตามที่เธอในฐานะแม่ชีได้ปฏิญาณไว้. เธอหันไปหาผู้รักษาโรคเพื่อ “การบำบัดรักษา” แต่กลับประสบความชอกช้ำใจจากการรักษานั้น. พัลมีราตกลงใจศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และเธอได้เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนประมาณหนึ่งปี. แต่แล้วเธอย้ายไปอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง และพยานฯ ติดต่อเธอไม่ได้. สองปีผ่านไป กว่าอัสซุนตาจะได้พบเธออีกครั้ง. พัลมีราประสบการต่อต้านอย่างหนักจากครอบครัวและจากนักบวช. อย่างไรก็ตาม เธอก็ได้เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอีก ทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ และรับบัพติสมาฐานะเป็นพยานพระยะโฮวา.
ใช่แล้ว ข่าวสารของ ‘พระเจ้าผู้ทรงให้การปลอบโยน’ ได้ชูใจหลายคน. (โรม 15:4, 5, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ เหล่าพยานพระยะโฮวาในอิตาลีจึงมุ่งมั่นจะเลียนแบบพระเจ้าต่อ ๆ ไป โดยเสนอข่าวสารที่ปลอบประโลมอย่างวิเศษเช่นนี้แก่คนอื่น ๆ.