ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พัฒนาความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระยะโฮวา

พัฒนาความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระยะโฮวา

พัฒนา​ความ​สนิทสนม​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา

สาวก​ยาโกโบ​เขียน​ว่า “จง​เข้า​ใกล้​พระเจ้า แล้ว​พระองค์​จะ​ทรง​เข้า​ใกล้​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” (ยาโกโบ 4:8, ล.ม.) และ​ดาวิด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ร้อง​เพลง​ดัง​นี้: “ความ​สนิทสนม​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา​ย่อม​มี​อยู่​แก่​คน​ที่​เกรง​กลัว​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 25:14, ล.ม.) เห็น​ได้​ชัด​ว่า พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​มี​สัมพันธภาพ​ที่​สนิทสนม​ใกล้​ชิด​กับ​พระองค์. กระนั้น ไม่​ใช่​ทุก​คน​ที่​นมัสการ​พระเจ้า​และ​ปฏิบัติ​ตาม​กฎหมาย​ของ​พระองค์​จะ​มี​ความ​รู้สึก​ใกล้​ชิด​กับ​พระองค์​เสมอ​ไป.

คุณ​ล่ะ​เป็น​อย่าง​ไร? คุณ​มี​สัมพันธภาพ​ส่วน​ตัว​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​ไหม? ไม่​ต้อง​สงสัย คุณ​ต้องการ​เข้า​ใกล้​พระองค์. เรา​จะ​พัฒนา​ความ​สนิทสนม​กับ​พระเจ้า​ได้​โดย​วิธี​ใด? เรื่อง​นี้​จะ​มี​ความหมาย​อย่าง​ไร​สำหรับ​เรา? บท​สาม​ของ​พระ​ธรรม​สุภาษิต​มี​คำ​ตอบ​ให้​เรา.

จง​แสดง​ความ​รัก​กรุณา​และ​ความ​จริง​ให้​ปรากฏ

กษัตริย์​ซะโลโม​แห่ง​ยิศราเอล​โบราณ​เริ่ม​ต้น​พระ​ธรรม​สุภาษิต​บท​สาม​ด้วย​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้: “ศิษย์​ของ​เรา​เอ๋ย, อย่า​ลืม​โอวาท​ของ​เรา; แต่​จง​ให้​ใจ​ของ​เจ้า​รักษา​บัญญัติ​ทั้ง​หลาย​ของ​เรา: เพราะ​ว่า​บัญญัติ​นั้น​จะ​เพิ่ม​วัน​และ​ปี​เดือน​ทั้ง​หลาย​แห่ง​ชีวิต​ของ​เจ้า, กับ​สันติ​สุข​ให้​แก่​เจ้า.” (สุภาษิต 3:1, 2) เนื่อง​จาก​กษัตริย์​ซะโลโม​เขียน​โดย​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า คำ​แนะ​นำ​เชิง​บิดา​สอน​บุตร​เช่น​นี้ จริง ๆ แล้ว​ก็​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า และ​มุ่ง​สู่​พวก​เรา​โดย​ตรง. จาก​ข้อ​คัมภีร์​เหล่า​นี้​เรา​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ให้​ยึด​ถือ​ข้อ​เตือน​ใจ​จาก​พระเจ้า—ข้อ​กฎหมาย, หรือ​คำ​สอน, และ​ข้อ​บัญญัติ​ต่าง ๆ ของ​พระองค์—ที่​ได้​รับ​การ​บันทึก​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. หาก​เรา​ทำ​เช่น​นั้น ข้อ​เตือน​ใจ​เหล่า​นี้ “จะ​เพิ่ม​วัน​และ​ปี​เดือน​ทั้ง​หลาย​แห่ง​ชีวิต . . . กับ​สันติ​สุข” ให้​เรา. ใช่​แล้ว แม้​แต่​เวลา​นี้​เรา​สามารถ​ชื่นชม​กับ​ชีวิต​ที่​สงบ​สุข​ได้ และ​สามารถ​หลีก​เลี่ยง​การ​มุ่ง​แสวง​หา​อัน​อาจ​นำ​เรา​ตก​เข้า​สู่​อันตราย​เสีย​ชีวิต​ก่อน​กาล​อัน​ควร อย่าง​ที่​มัก​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​คน​ประพฤติ​ชั่ว. ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​ยัง​มี​ความ​หวัง​จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร์​ใน​โลก​ใหม่​ที่​สงบ​สุข.—สุภาษิต 1:24-31; 2:21, 22.

ซะโลโม​ตรัส​ต่อ​ไป​ว่า “อย่า​ให้​ความ​กรุณา [“ความ​รัก​กรุณา,” ล.ม.] และ​ความ​จริง​ละ​จาก​ตัว​เจ้า​ไป: จง​ผูก​ความ​กรุณา​และ​ความ​จริง​ไว้​รอบ​คอ​ของ​เจ้า; จง​จารึก​ไว้​ที่​ดวง​ใจ​ของ​เจ้า; ดัง​นั้น​แหละ​เจ้า​จะ​ได้​พบ​การ​สงเคราะห์​และ​ชื่อเสียง​ดี​เฉพาะ​พระ​เนตร​พระเจ้า​และ​ต่อ​ตา​มนุษย์.”—สุภาษิต 3:3, 4.

คำ “ความ​รัก​กรุณา” ใน​ภาษา​เดิม​ได้​รับ​การ​แปล​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ว่า “ความ​รัก​ภักดี” และ​เกี่ยว​โยง​กับ​ความ​ซื่อ​สัตย์, ความ​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน, และ​ความ​ภักดี. เรา​ตั้งใจ​แน่วแน่​จะ​ติด​สนิท​กับ​พระ​ยะโฮวา​ไหม​ไม่​ว่า​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น? เรา​สำแดง​ความ​รัก​กรุณา​ไหม​ใน​สาย​สัมพันธ์​ของ​เรา​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ? เรา​พยายาม​จะ​ใกล้​ชิด​สนิทสนม​กับ​พวก​เขา​อยู่​เรื่อย ๆ ไหม? แต่​ละ​วัน​ที่​เรา​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ แม้​เมื่อ​อยู่​ภาย​ใต้​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก เรา​ให้ ‘กฎ​แห่ง​ความ​รัก​กรุณา​อยู่​ที่​ลิ้น​ของ​เรา’ เสมอ​ไหม?—สุภาษิต 31:26.

พระ​ยะโฮวา​ทรง​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​กรุณา​อุดม​เหลือ​ล้น พระองค์​จึง “พร้อม​จะ​ให้​อภัย.” (บทเพลง​สรรเสริญ 86:5, ล.ม.) หาก​เรา​สำนึก​ผิด​และ​กลับ​ใจ​จาก​การ​บาป​ใน​อดีต​และ​บัด​นี้​จัด​ทาง​เดิน​ของ​เรา​ให้​ตรง เรา​มี​คำ​รับรอง​ว่า “วาระ​แห่ง​ความ​สดชื่น” จะ​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา. (กิจการ 3:19, ล.ม.) เรา​น่า​จะ​เลียน​แบบ​พระเจ้า​ของ​เรา​มิ​ใช่​หรือ​ใน​การ​ให้​อภัย​คน​อื่น​เนื่อง​ด้วย​การ​ผิด​ของ​เขา?—มัดธาย 6:14, 15.

พระ​ยะโฮวา​เป็น “พระเจ้า​แห่ง​ความ​สัตย์​จริง” และ​พระองค์​ทรง​ประสงค์ “ความ​จริง” จาก​บรรดา​ชน​ที่​แสวง​หา​เพื่อ​จะ​ใกล้​ชิด​สนิท​กับ​พระองค์. (บทเพลง​สรรเสริญ 31:5) เรา​คาด​หมาย​ได้​จริง ๆ ไหม​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​เป็น​มิตร​ของ​เราถ้า​เรา​เป็น​คน​ตี​สอง​หน้า—ประพฤติ​แบบ​หนึ่ง​เมื่อ​อยู่​ต่อ​หน้า​เพื่อน​คริสเตียน และ​ลับหลัง​ประพฤติ​อีก​แบบ​หนึ่ง—เหมือน “คน​อสัตย์” ปิด​บัง​อำพราง​คน​อื่น​ไม่​ให้​รู้​ว่า​ตน​เป็น​คน​ชนิด​ใด? (บทเพลง​สรรเสริญ 26:4, ล.ม.) คง​จะ​เป็น​ความ​โง่​เขลา​สัก​เพียง​ไร​ที่​ทำ​เช่น​นั้น เนื่อง​จาก “สรรพสิ่ง​ปรากฏ​แจ้ง​ต่อ​พระ​เนตร” ของ​พระ​ยะโฮวา!—เฮ็บราย 4:13.

อาจ​ประเมิน​ค่า​ความ​รัก​กรุณา​และ​ความ​สัตย์​จริง​เสมอ​กับ​สร้อย​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่ ‘คล้อง​รอบ​คอ​ของ​เรา’ เพราะ​ว่า​เป็น​สิ่ง​เสริม​ให้​เรา ‘พบ​การ​สงเคราะห์​เฉพาะ​พระ​เนตร​พระเจ้า​และ​ต่อ​ตา​มนุษย์.’ เรา​ต้อง​ไม่​เพียง​แสดง​คุณลักษณะ​เหล่า​นี้​ให้​ปรากฏ​ภาย​นอก​เท่า​นั้น แต่​ต้อง​จารึก​ไว้​ที่ ‘ดวง​ใจ​ของ​เรา’ ทำ​ให้​คุณลักษณะ​เหล่า​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​แห่ง​บุคลิก​อัน​แท้​จริง​ของ​เรา.

ปลูกฝัง​ความ​ไว้​วางใจ​เต็ม​ที่​ใน​พระ​ยะโฮวา

กษัตริย์​ผู้​สุขุม​ทรง​กล่าว​ต่อ​ดัง​นี้: “จง​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​เจ้า, อย่า​พึ่ง​ใน​ความ​เข้าใจ​ของ​ตน​เอง: จง​รับ​พระองค์​ให้​เข้า​ส่วน​ใน​ทาง​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า, และ​พระองค์​จะ​ชี้​ทาง​เดิน​ของ​เจ้า​ให้​แจ่ม​แจ้ง.”สุภาษิต 3:5, 6.

เป็น​ที่​แน่นอน​ว่า พระ​ยะโฮวา​สม​ควร​ได้​รับ​ความ​ไว้​วางใจ​เต็ม​ที่​จาก​พวก​เรา. ใน​ฐานะ​เป็น​พระ​ผู้​สร้าง พระองค์​ทรง​มี “กำลัง​แข็งขัน” และ​เป็น​แหล่ง “พลังงาน​พลวัต.” (ยะซายา 40:26, 29, ล.ม.) พระองค์​ทรง​สามารถ​ดำเนิน​การ​ทุก​อย่าง​ให้​ลุ​ล่วง​ตาม​ที่​ทรง​มุ่ง​หมาย. ทั้ง​นี้​เพราะ​พระ​นาม​ของ​พระองค์​ตาม​ตัว​อักษร​หมายความ​ว่า “พระองค์​ทรง​บันดาล​ให้​เป็น” และ​ข้อ​นี้​เอง​สร้าง​ความ​มั่น​ใจ​แก่​เรา​เกี่ยว​กับ​พระ​ปรีชา​สามารถ​ของ​พระองค์​ใน​การ​ทำ​ให้​สำเร็จ​ตาม​ที่​ได้​ทรง​สัญญา​ไว้! ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า “เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​พระเจ้า​จะ​ตรัส​มุสา” ทำ​ให้​พระองค์​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เลิศ​ใน​ด้าน​ความ​สัตย์​จริง. (เฮ็บราย 6:18, ล.ม.) ความ​รัก​เป็น​คุณลักษณะ​โดด​เด่น​ของ​พระองค์. (1 โยฮัน 4:8) พระองค์ “ทรง​ชอบธรรม​ใน​ทาง​ทั้ง​ปวง​ของ​พระองค์ และ​ภักดี​ใน​กิจการ​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 145:17, ล.ม.) ถ้า​เรา​ไว้​ใจ​พระเจ้า​ไม่​ได้ เรา​จะ​ไว้​ใจ​ใคร​ได้​ล่ะ? จริง​อยู่ ที่​จะ​ปลูกฝัง​ความ​ไว้​วางใจ​ใน​พระองค์ เรา​ต้อง “ชิม​ดู​จึง​จะ​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​ประเสริฐ” โดย​นำ​สิ่ง​ที่​เรา​เรียน​รู้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​ใช้​ใน​ชีวิต​ส่วน​ตัว​ของ​เรา และ​โดย​การ​ใคร่ครวญ​ดู​ผล​ดี​ที่​เกิด​ขึ้น.—บทเพลง​สรรเสริญ 34:8.

โดย​วิธี​ใด​เรา​จะ ‘รับ​พระองค์​ให้​เข้า​ส่วน​ใน​ทาง​ทั้ง​หลาย​ของ​เรา’? ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ให้​กล่าว​ดัง​นี้: “ข้าพเจ้า​จะ​ใคร่ครวญ​ดู​บรรดา​กิจการ​ของ​พระองค์​ด้วย, และ​จะ​รำพึง​ถึง​กิจการ​ที่​พระองค์​ได้​ทรง​กระทำ​นั้น.” (บทเพลง​สรรเสริญ 77:12) เนื่อง​จาก​พระเจ้า​ไม่​เป็น​ที่​ประจักษ์ การ​ใคร่ครวญ​ดู​พระ​ราชกิจ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระองค์​และ​วิธี​ดำเนิน​การ​ของ​พระองค์​กับ​ไพร่พล​ของ​พระองค์​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ใน​การ​พัฒนา​ความ​สนิทสนม​ใกล้​ชิด​กับ​พระองค์.

อนึ่ง การ​อธิษฐาน​เป็น​แนว​ทาง​สำคัญ​ใน​การ​รับ​พระ​ยะโฮวา​ให้​เข้า​ส่วน​ใน​ทาง​ของ​เรา. กษัตริย์​ดาวิด​ได้​เฝ้า​ร้อง​ทูล​ถึง​พระ​ยะโฮวา “ตลอด​วัน​ยัง​ค่ำ.” (บทเพลง​สรรเสริญ 86:3, ล.ม.) บ่อย​ครั้ง​ดาวิด​ทูล​อธิษฐาน​ตลอด​คืน​ยัง​รุ่ง เช่น ใน​คราว​ที่​ท่าน​ลี้​ภัย​อยู่​ใน​ป่า​กันดาร. (บทเพลง​สรรเสริญ 63:6, 7) อัครสาวก​เปาโล​ได้​กระตุ้น​เตือน​ว่า “จง​ทูล​อธิษฐาน​ต่อ​ไป​ด้วย​พระ​วิญญาณ​ใน​ทุก​โอกาส.” (เอเฟโซ 6:18, ล.ม.) เรา​อธิษฐาน​บ่อย​แค่​ไหน? เรา​รู้สึก​ชื่นชม​ยินดี​ไหม​เมื่อ​เรา​เอง​ได้​สื่อ​ความ​กับ​พระเจ้า​จาก​ใจ​จริง? เมื่อ​ประสบ​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก เรา​ทูล​วิงวอน​ขอ​พระองค์​ช่วย​เรา​ไหม? เรา​อธิษฐาน​เพื่อ​แสวง​การ​ชี้​นำ​จาก​พระองค์​ไหม​ก่อน​จะ​ตัดสิน​ใจ​ใน​เรื่อง​สำคัญ? การ​ทูล​อธิษฐาน​ด้วย​ความ​จริง​ใจ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ให้​เรา​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระองค์. และ​เรา​ได้​รับ​คำ​รับรอง​ว่า​พระองค์​จะ​สดับ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​และ ‘ชี้​ทาง​เดิน​ของ​เรา​ให้​แจ่ม​แจ้ง.’

นับ​ว่า​ไม่​ฉลาด​เสีย​เลย​ที่​จะ “พึ่ง​ใน​ความ​เข้าใจ​ของ​ตน​เอง” หรือ​พึ่ง​ผู้​คน​ของ​โลก​ที่​มี​ชื่อเสียง​โด่งดัง​ใน​เมื่อ​เรา​สามารถ​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​ได้​เต็ม​ที่! ซะโลโม​กล่าว​ว่า “อย่า​อวด​ว่า​ตน​เป็น​คน​ฉลาด.” ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม ท่าน​ได้​ตักเตือน​ดัง​นี้: “จง​ยำเกรง [“เกรง​กลัว,” ล.ม.] พระ​ยะโฮวา, และ​ละ​จาก​ความ​ชั่ว. นั่น​แหละ​จะ​เป็น​สุขภาพ​แก่​ร่าง​กาย​ของ​เจ้า, และ​สดชื่น​แก่​กะดูก​ของ​เจ้า.” (สุภาษิต 3:7, 8) ความ​เกรง​กลัว​ว่า​จะ​ทำ​ให้​พระเจ้า​ไม่​ชอบ​พระทัย​น่า​จะ​ควบคุม​การ​กระทำ​ทุก​อย่าง​ของ​เรา ทั้ง​ความ​คิด​และ​อารมณ์​ของ​เรา. ความ​เกรง​กลัว​ด้วย​ความ​เคารพ​นับถือ​เช่น​นั้น​ป้องกัน​เรา​ที่​จะ​ไม่​ทำ​สิ่ง​ที่​ไม่​ดี และ​เป็น​การ​เยียว​ยา​ฝ่าย​วิญญาณ​พร้อม​ทั้ง​ยัง​ความ​สดชื่น.

ถวาย​สิ่ง​ดี​ที่​สุด​แด่​พระ​ยะโฮวา

ด้วย​วิธี​อื่น​อะไร​บ้าง​ที่​เรา​จะ​เข้า​ใกล้​พระเจ้า​ได้? กษัตริย์​ทรง​แนะ​นำ​ว่า “จง​ถวาย​พระ​เกียรติยศ​แด่​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ทรัพย์​ของ​เจ้า, และ​ด้วย​ผล​แรก​ทั้ง​หมด​ที่​เพิ่ม​พูน​แก่​เจ้า​นั้น.” (สุภาษิต 3:9) การ​ถวาย​พระ​เกียรติยศ​แด่​พระ​ยะโฮวา​หมาย​ถึง​การ​แสดง​ความ​เคารพ​อย่าง​สูง​และ​เทิดทูน​พระองค์​อย่าง​เปิด​เผย​โดย​เข้า​ส่วน​ร่วม​และ​สนับสนุน​การ​ประกาศ​พระ​นาม​ของ​พระองค์​แก่​สาธารณชน. ทรัพย์​มี​ค่า​ที่​เรา​ใช้​เพื่อ​ถวายเกียรติ​พระ​ยะโฮวา​ได้​แก่​เวลา​ที่​เรา​มี​อยู่, ความ​สามารถ​พิเศษ​ของ​เรา, กำลัง​วังชา​และ​วัตถุ​ปัจจัย​ของ​เรา. สิ่ง​เหล่า​นี้​ต้อง​เป็น​ผล​แรก หรือ​สิ่ง​ดี​ที่​สุด​ของ​เรา. วิธี​ที่​เรา​ใช้​ทรัพยากร​ส่วน​ตัว​ควร​สะท้อน​ถึง​ความ​ตั้งใจ​จะ ‘แสวง​หา​ราชอาณาจักร​และ​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ก่อน​เสมอ​ไป’ มิ​ใช่​หรือ?—มัดธาย 6:33, ล.ม.

การ​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ทรัพย์​สิ่ง​ของ​อัน​มี​ค่า​ของ​เรา​จะ​ไม่​ขาด​บำเหน็จ. ซะโลโม​ทรง​รับรอง​ว่า “เมื่อ​กระทำ​เช่น​นั้น​แล้ว​ยุ้ง​ฉาง​ของ​เจ้า​จะ​เต็ม​บริบูรณ์, และ​ถัง​ของ​เจ้า​จะ​เปี่ยม​ล้น​ด้วย​น้ำ​องุ่น​สด.” (สุภาษิต 3:10) แม้​ความ​เจริญ​มั่งคั่ง​ฝ่าย​วิญญาณ​ใน​ตัว​มัน​เอง​ไม่​ทำ​ให้​ร่ำรวย​ทาง​วัตถุ​ก็​ตาม แต่​การ​ใช้​ทรัพยากร​ของ​เรา​อย่าง​ใจ​กว้าง​เพื่อ​ถวาย​พระ​เกียรติ​พระ​ยะโฮวา​ย่อม​ได้​รับ​พระ​พร​อุดม. การ​กระทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​เป็น “อาหาร” ยัง​ชีพ​สำหรับ​พระ​เยซู. (โยฮัน 4:34) ทำนอง​เดียว​กัน การ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​สั่ง​สอน​และ​งาน​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก​ซึ่ง​ถวาย​เกียรติยศ​แด่​พระเจ้า​ก็​เป็น​อาหาร​บำรุง​เลี้ยง​เรา​เช่น​กัน. ถ้า​เรา​ยืนหยัด​ใน​งาน​นี้ คลัง​เสบียง​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา​จะ​เต็ม​บริบูรณ์. ความ​ชื่นชม​ยินดี​ของ​เรา—ซึ่ง​เหล้า​องุ่น​ใหม่​หมาย​ถึง—จะ​ไหล​ล้น.

อนึ่ง เรา​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​และ​ทูล​ขอ​พระองค์​โปรด​ให้​มี​อาหาร​พอ​เพียง​สำหรับ​ร่าง​กาย​ใน​แต่​ละ​วัน​ด้วย​มิ​ใช่​หรือ? (มัดธาย 6:11) ที่​จริง สิ่ง​สารพัด​ที่​เรา​มี​อยู่ เรา​ได้​รับ​จาก​พระ​บิดา​ทาง​ภาค​สวรรค์​ผู้​ทรง​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก. พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​หลั่ง​พระ​พร​ต่อ ๆ ไป​ตราบ​เท่า​ที่​เรา​ใช้​ทรัพย์​อัน​มี​ค่า​ของ​เรา​เพื่อ​ถวาย​การ​สรรเสริญ​แด่​พระองค์.—1 โกรินโธ 4:7.

ยินดี​รับ​การ​ตี​สอน​จาก​พระ​ยะโฮวา

เมื่อ​ชี้​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​ตี​สอน​เพื่อ​จะ​ได้​เข้า​มา​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา กษัตริย์​แห่ง​ยิศราเอล​แนะ​นำ​พวก​เรา​ว่า “บุตร​ชาย​ของ​เรา​เอ๋ย, อย่า​ประมาท​ต่อ​บท​วินัย​ของ​พระ​ยะโฮวา; และ​อย่า​อ่อน​ระอา​ต่อ​การ​เตือน​สอน​ของ​พระองค์: เพราะ​ผู้​ใด​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​พระองค์​ทรง​เตือน​สอน​ผู้​นั้น, เช่น​บิดา​กระทำ​ต่อ​บุตร​ที่​ตน​ชื่นชม.”—สุภาษิต 3:11, 12.

แม้​ว่า​อาจ​ไม่​ง่าย​ที่​เรา​จะ​รับ​การ​ตี​สอน. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ไว้​อย่าง​นี้ “ไม่​มี​การ​ตี​สอน​ใด​ดู​เหมือน​น่า​ชื่น​ใจ​เมื่อ​ได้​รับ​อยู่ แต่​น่า​เศร้า​ใจ; กระนั้น​ใน​ภาย​หลัง​ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึก​โดย​การ​ตี​สอน​ก็​ได้​ผล​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​สันติ​สุข คือ​ความ​ชอบธรรม.” (เฮ็บราย 12:11, ล.ม.) การ​ว่า​กล่าว​และ​การ​ตี​สอน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ที่​จำเป็น​ของ​การ​ฝึก​อบรม​ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​ใกล้​ชิด​พระเจ้า​ยิ่ง​ขึ้น. การ​แก้ไข​จาก​พระ​ยะโฮวา—ไม่​ว่า​เรา​จะ​ได้​รับ​จาก​บิดา​มารดา, จาก​ประชาคม​คริสเตียน, หรือ​จาก​การ​ใคร่ครวญ​ข้อคัมภีร์​ต่าง ๆ ระหว่าง​ที่​เรา​ศึกษา​ส่วน​ตัว—แสดง​ถึง​ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​พวก​เรา. นับ​ว่า​สุขุม​ที่​จะ​ตอบรับ​การ​ตี​สอน.

ยึด​ถือ​สติ​ปัญญา​และ​การ​สังเกต​เข้าใจ​ไว้​ให้​ได้

ต่อ​จาก​นั้น ซะโลโม​เน้น​ความ​สำคัญ​ของ​สติ​ปัญญา​และ​การ​สังเกต​เข้าใจ​ใน​การ​พัฒนา​สัมพันธภาพ​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า. ท่าน​แถลง​ดัง​นี้: “ความ​ผาสุก​มี​แก่​คน​นั้น​ที่​พบ​พระ​ปัญญา, และ​แก่​คน​นั้น​ที่​รับ​ความ​เข้าใจ [“การ​สังเกต​เข้าใจ,” ล.ม.]. เพราะ​ว่า​การ​หา​พระ​ปัญญา​มา​ได้​นั้น​ก็​ดี​กว่า​ได้​เงิน, และ​ผล​กำไร​นั้น​ก็​ประเสริฐ​กว่า​ทองคำ​บริสุทธิ์. . . . พระ​ปัญญา​เป็น​ต้น​ไม้​แห่ง​ชีวิต​แก่​คน​นั้น ๆ ที่​ฉวย​เอา​พระองค์​ไว้​ได้: และ​ทุก​คน​ที่​ยึด​ถือ​พระองค์​ไว้​นั้น​ก็​จะ​มี​ความ​ผาสุก.”สุภาษิต 3:13-18.

เพื่อ​เตือน​เรา​ให้​นึก​ถึง​การ​สำแดง​สติ​ปัญญา​และ​ความ​สังเกต​เข้าใจ​ที่​มี​อยู่​ใน​ราชกิจ​อัน​น่า​พิศวง​เกี่ยว​กับ​การ​สร้าง​ของ​พระ​ยะโฮวา กษัตริย์​ตรัส​ว่า “โดย​พระ​ปัญญา​นั้น​เอง​พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​ประดิษฐาน​โลก​ไว้; โดย​ความ​เข้าใจ [“การ​สังเกต​เข้าใจ,” ล.ม.] นั่น​เอง​พระองค์​ได้​ทรง​แต่ง​ตั้ง​ฟ้า​สวรรค์. . . . ศิษย์​ของ​เรา​เอ๋ย, จง​สงวน​พระ​ปัญญา​อัน​เลิศ​และ​ความ​สุขุม​รอบคอบ​ไว้: อย่า​พ้น​จาก​สายตา​ของ​เจ้า​ไป; เพื่อ​ว่า​จะ​ได้​เป็น​ชีวิต​แก่​วิญญาณ​ของ​เจ้า, และ​เป็น​คุณ​ประดับ​คอ​ของ​เจ้า.”สุภาษิต 3:19-22.

สติ​ปัญญา​และ​การ​สังเกต​เข้าใจ​เป็น​คุณลักษณะ​ของ​พระเจ้า. เรา​ไม่​เพียง​ต้องการ​จะ​พัฒนา​คุณลักษณะ​เหล่า​นี้ แต่​จะ​ยึด​ถือ​ไว้​ด้วย โดย​ที่​เรา​จะ​ไม่​ย่อหย่อน​ใน​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​อย่าง​แข็งขัน และ​การ​ใช้​สิ่ง​ที่​เรา​เรียน. ซะโลโม​ตรัส​ต่อ​ไป​ว่า “ขณะ​นั้น​เจ้า​จะ​ดำเนิน​อยู่​ใน​ทาง​ของ​เจ้า​โดย​ปลอด​ภัย และ​เท้า​ของ​เจ้า​จะ​มิ​ได้​สะดุด.” ท่าน​เสริม​ดัง​นี้: “เมื่อ​เจ้า​เอน​หลัง, เจ้า​จะ​ไม่​ต้อง​วิตก: เออ, ยาม​เจ้า​นอน​ลง, ความ​หลับ​ของ​เจ้า​จะ​สดชื่น.”สุภาษิต 3:23, 24.

ใช่ เรา​จะ​เดิน​อยู่​ใน​เส้น​ทาง​ที่​ปลอด​ภัย​และ​นอน​หลับ​ด้วย​ใจ​สงบ​ขณะ​ที่​เรา​เฝ้า​ระวัง​วัน​ที่​คืบ​ใกล้​เข้า​มา​นั้น​เหมือน​ขโมย​ดอด​มา ซึ่ง​จะ​เกิด “ความ​พินาศ​โดย​ฉับพลัน” แก่​โลก​ชั่ว​ของ​ซาตาน. (1 เธซะโลนิเก 5:2, 3, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19) แม้​แต่​ระหว่าง​ความ​ทุกข์​ลำบาก​ใหญ่​ซึ่ง​จวน​จะ​มา​ถึง​อยู่​แล้ว เรา​สามารถ​มี​คำ​รับรอง​ดัง​นี้: “อย่า​วิตก​ถึง​เหตุ​น่า​กลัว​อัน​จะ​เกิด​ขึ้น​ฉับพลัน, หรือ​วิตก​ถึง​พายุ​แห่ง​ความ​พินาศ​ของ​คน​ชั่ว​อัน​จะ​เกิด​ขึ้น; เพราะ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​เป็น​ที่​ไว้​วางใจ​ของ​เจ้า, และ​จะ​ทรง​รักษา​มิ​ให้​เท้า​ของ​เจ้า​พลาด​พลั้ง​ไป.”สุภาษิต 3:25, 26; มัดธาย 24:21.

จง​กระทำ​การ​ดี

ซะโลโม​ทรง​ตักเตือน​ว่า “อย่า​กีด​กัน​ความ​ดี​ไว้​จาก​คน​ใด ๆ ที่​เขา​ควร​จะ​ได้​ความ​ดี​นั้น, ใน​เมื่อ​เจ้า​มี​อำนาจ​อยู่​ใน​กำ​มือ​อาจ​จะ​ทำ​ได้.” (สุภาษิต 3:27) การ​ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​อื่น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ใช้​ทรัพยากร​ของ​เรา​ด้วย​น้ำใจ​เผื่อแผ่​เพื่อ​ประโยชน์​แก่​คน​เหล่า​นั้น และ​การ​ทำ​ดี​มี​หลาย​แง่​มุม. แต่​การ​ช่วย​ผู้​อื่น​ให้​มี​สัมพันธภาพ​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​เป็น​สิ่ง​ดี​ที่​สุด​ซึ่ง​เรา​สามารถ​ทำ​เพื่อ​พวก​เขา​ได้​ใน​ช่วง “เวลา​อวสาน” นี้​มิ​ใช่​หรือ? (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) ดัง​นั้น วัน​เหล่า​นี้​ใน​สมัย​อวสาน​เป็น​ช่วง​เวลา​อัน​เหมาะ​ที่​จะ​แสดง​ความ​กระตือรือร้น​ทำ​การ​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร​และ​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก.—มัดธาย 28:19, 20.

อนึ่ง กษัตริย์​ผู้​สุขุม​องค์​นี้​ยัง​จัด​เอา​กิจ​ปฏิบัติ​บาง​อย่าง​เข้า​ใน​รายการ​ที่​พึง​หลีก​เลี่ยง โดย​ตรัส​ว่า “อย่า​พูด​กับ​เพื่อน​บ้าน​ของ​เจ้า​ว่า, ‘ไป​ก่อน​เถอะ​แล้ว​ค่อย​มา​อีก​ที, พรุ่ง​นี้​เถอะ​ฉัน​จะ​ให้,’ ใน​เมื่อ​เจ้า​มี​สิ่ง​นั้น​อยู่​ใกล้​ตัว​ของ​เจ้า. อย่า​คิด​ทำ​ร้าย​เพื่อน​บ้าน​ของ​เจ้า, เห็น​แล้ว​ว่า​เขา​รู้สึก​ว่า​ปลอด​ภัย​ที่​อาศัย​อยู่​ใกล้​เคียง​เจ้า. อย่า​หา​เหตุ​ทะเลาะ​กับ​ผู้​ใด, เมื่อ​เขา​มิ​ได้​ทำ​อันตราย​อย่าง​ใด​แก่​เจ้า. อย่า​อิจฉา​คน​ห้าว, และ​อย่า​เลือก​ทาง​ประพฤติ​ของ​เขา​ไว้.”—สุภาษิต 3:28-31.

ใน​การ​สรุป​เหตุ​ผล​ที่​ท่าน​ให้​คำ​แนะ​นำ ซะโลโม​ทรง​กล่าว​ว่า “เพราะ​ผู้​หลง​ผิด​เป็น​ที่​สะอิดสะเอียน​แด่​พระ​ยะโฮวา; แต่​ทรง​เป็น​มิตร​กับ​คน​ตรง. การ​สาป​สรร​ของ​พระ​ยะโฮวา​ตก​อยู่​ใน​เรือน​ของ​คน​ชั่ว​ร้าย; แต่​พระองค์​ทรง​อวย​พระ​พร​ต่อ​บ้าน​เรือน​ของ​ผู้​ชอบธรรม. พระองค์​ทรง​ประมาท​เยาะเย้ย​ผู้​ประมาท​เยาะเย้ย​เป็น​แน่; แต่​พระราชทาน​พระคุณ​ต่อ​ผู้​ถ่อม​ตัว​ลง. คน​มี​ปัญญา​จะ​ได้​สง่า​ราศี​เป็น​มรดก, แต่​ความ​อับอาย​ขายหน้า​จะ​เป็น​รางวัล​สำหรับ​คน​โง่.”—สุภาษิต 3:32-35.

หาก​เรา​จะ​ประสบ​ความ​ชื่นชม​ด้วย​การ​สนิทสนม​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา เรา​ต้อง​ไม่​คิด​ทำ​ร้าย​และ​กะ​การ​ชั่ว​ที่​ก่อ​อันตราย. (สุภาษิต 6:16-19) ถ้า​เรา​ทำ​แต่​สิ่ง​ถูก​ต้อง​ใน​คลอง​พระ​เนตร​ของ​พระ​ยะโฮวา เรา​ย่อม​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​และ​พระ​พร​จาก​พระองค์. เรา​ยัง​อาจ​ได้​รับ​เกียรติ​โดย​ที่​เรา​ไม่​ได้​แสวง​หา เมื่อ​คน​อื่น​สังเกต​เห็น​ว่า​เรา​ได้​ประพฤติ​ประสาน​กับ​สติ​ปัญญา​ของ​พระเจ้า. ดัง​นั้น ให้​เรา​ปฏิเสธ​แนว​ทาง​ชั่ว​และ​ความ​รุนแรง​ของ​โลก​นี้. โดย​แท้​แล้ว​ขอ​ให้​เรา​มุ่ง​ติด​ตาม​แนว​ทาง​ชอบธรรม​และ​พัฒนา​ความ​สนิทสนม​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา​ต่อ ๆ ไป!

[ภาพ​หน้า 25]

“จง​ถวาย​เกียรติยศ​แด่​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ทรัพย์​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า”