ความสำเร็จเนื่องจากความพากเพียร
ความสำเร็จเนื่องจากความพากเพียร
ความพากเพียรกลายเป็นคุณลักษณะที่หายากในสมัยปัจจุบัน. หลายคนเชื่อว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับการอยู่ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสมยิ่งกว่าขึ้นอยู่กับความพากเพียร. ใครจะว่าพวกเขาได้? สื่อมวลชนเต็มไปด้วยคำขวัญโฆษณาที่ทำให้ผู้คนยอมรับโดยไม่รู้ตัวว่าแทบทุกสิ่งที่คนเราต้องการนั้นสามารถหามาได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากเลยและเพียงแต่ใช้เงินมากขึ้นอีกนิดหน่อยเท่านั้น. หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ตีพิมพ์เรื่องราวจำนวนมากมายอยู่เสมอเกี่ยวกับความสำเร็จแบบฉับพลันและผู้ประกอบการอัจฉริยะที่อายุยังน้อยซึ่งทำเงินล้านไม่นานหลังจบการศึกษา.
เลนนาร์ด พิตส์ นักเขียนคอลัมน์คร่ำครวญว่า “ในสังคมที่ครอบงำด้วยการรับรู้ ความยิ่งใหญ่ดูเหมือนได้มาง่ายเหลือเกิน. . . . ดูเหมือนเป็นอะไรบางสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้หากเขาเข้าใจกลวิธี, มีความสามารถ, หรือถ้าฟ้าประทานให้.”
ความพากเพียรคืออะไร?
พากเพียรหมายถึง ‘ยึดมั่นอย่างคงเส้นคงวาในจุดประสงค์, สภาพ, หรือภารกิจบางอย่างแม้จะมีอุปสรรคหรือความล้มเหลว.’ นั่นบอกเป็นนัยถึงการดำเนินต่อไปอย่างแน่วแน่แม้จะเผชิญความยากลำบาก, ยืนหยัดต่อไป, ไม่เลิกรา. คัมภีร์ไบเบิลเน้นความสำคัญของคุณลักษณะนี้. ตัวอย่างเช่น พระคำของพระเจ้าเตือนเราว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอไป,” “จงเคาะต่อ ๆ ไป และจะเปิดให้แก่ท่าน,” “จงหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ,” และ “สิ่งที่ดีนั้นจงถือไว้ให้มั่น.”—มัดธาย 6:33, ล.ม.; ลูกา 11:9, ล.ม.; โรม 12:12; 1 เธซะโลนิเก 5:21.
บทบาทสำคัญของความพากเพียรคือการรับมือกับอุปสรรคที่เลี่ยงไม่ได้. สุภาษิต 24:16 (ล.ม.) กล่าวว่า “คนชอบธรรมอาจล้มถึงเจ็ดครั้ง และเขาจะลุกขึ้นเป็นแน่.” แทน ที่จะ ‘วางมือ’ เมื่อเผชิญความยุ่งยากหรือความล้มเหลว บุคคลที่พากเพียร “ลุกขึ้น” ‘ทำต่อไป’ และพยายามอีก.
แต่หลายคนไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับความยุ่งยากและความล้มเหลวที่เขาอาจเผชิญ. โดยไม่เคยพัฒนาความตั้งใจที่จะพากเพียร พวกเขาเลิกราอย่างง่าย ๆ. นักเขียนมอร์ลีย์ แคลเลแฮน ตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้คนมากเกินไปมีปฏิกิริยาต่อความล้มเหลวในลักษณะที่ยังความเสียหายแก่ตัวเอง. พวกเขายอมจำนนต่อความสงสารตัวเอง, เขาตำหนิทุกคน, รู้สึกแค้นเคืองและ . . . วางมือ.”
นี่เป็นเรื่องน่าเสียดาย. พิตส์ชี้แจงว่า “เราลืมไปว่ามีเหตุผลที่จะผ่านการทดลอง ซึ่งเป็นคุณประโยชน์บางอย่างที่จะพบได้ในความทุกข์ยาก.” ประโยชน์นั้นคืออะไร? เขาสรุปว่า “[คนเรา] เรียนรู้ว่าความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ความพ่ายแพ้ใช่ว่ามีอยู่ตลอดไป. คนเราได้มาซึ่งความสุขุม. คนเรากลายเป็นคนเตรียมพร้อม.” คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเรื่องนี้อย่างชัดแจ้งว่า “ในการทำงาน [“งานหนัก,” ล.ม.] ทั้งปวงมีผลกำไร.”—สุภาษิต 14:23.
แน่นอน การตั้งตัวใหม่หลังจากความล้มเหลวใช่ว่าเป็นเรื่องง่ายเสมอไป. บางครั้ง เราเผชิญกับข้อท้าทายที่อาจดูเหมือนต้านทานความพยายามทั้งสิ้นของเราที่จะเอาชนะ. แทนที่จะเข้าใกล้เป้าหมายของเรายิ่งขึ้น อาจดูเหมือนว่าเป้านั้นค่อย ๆ เลือนหายไป. เราอาจรู้สึกหมดเรี่ยวแรง, ไร้ความสามารถ, และอาจรู้สึกท้อแท้, กระทั่งซึมเศร้าด้วยซ้ำ. (สุภาษิต 24:10) กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราว่า “อย่าให้เราเลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม เพราะเราจะเก็บเกี่ยวผลในเวลาอันควรถ้าเราไม่เลื่อยล้า.”—ฆะลาเตีย 6:9, ล.ม.
อะไรจะช่วยเราพากเพียรได้?
ขั้นแรกสำหรับการพากเพียรในแนวทางที่เลือกไว้คือ ตั้งเป้าหมายที่คุ้มค่าและบรรลุได้. อัครสาวกเปาโลเข้าใจเรื่องนี้แน่นอน. ท่านบอกชาวโกรินโธว่า “ข้าพเจ้าจึงวิ่งแข่งโดยหวังชนะเป็นแน่ ข้าพเจ้าต่อสู้ไม่เหมือนนักมวยที่ชกลม.” เปาโลทราบว่าหากท่านต้องการให้ความพยายามของตัวเองบรรลุผลสำเร็จแล้ว ท่านจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดแจ้ง เหมือนนักวิ่งที่เอาใจจดจ่ออยู่กับการเข้าเส้นชัยในการแข่งขัน. ท่านกระตุ้นเตือนพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่าคนเหล่านั้นที่วิ่งแข่งกันก็วิ่งด้วยกันทุกคน, แต่คนที่ได้รับรางวัลมีแต่คนเดียว? เหตุฉะนั้น จงวิ่งเอารางวัลให้ได้.” (1 โกรินโธ 9:24, 26) เราจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร?
สุภาษิต 14:15 กล่าวว่า “คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.” เป็นการฉลาดที่จะประเมินดูแผนการในชีวิตของเราใหม่อีกเป็นครั้งคราว ถามตัวเองว่าเรากำลังมุ่งไปที่ไหนและต้องปรับปรุงหรือไม่. นับว่าสำคัญที่จะให้สิ่งซึ่งเราต้องการบรรลุผลสำเร็จและเหตุผลที่เราต้องการเช่นนั้นแจ่มชัดอยู่ในความคิด. แนวโน้มที่จะเลิกราจะมีน้อยลงหากเราคอยระวังให้ภาพของจุดหมายปลายทางของเรานั้นติดตรึงอยู่ในจิตใจของเราเสมอ. สุภาษิตที่มีขึ้นโดยการดลใจกระตุ้นเตือนว่า “ให้ตาของเจ้ามองตรงไปข้างหน้า . . . แล้วทางทั้งสิ้นของเจ้าจะแน่นอน [“ตั้งอย่างมั่นคง,” ล.ม.].”—สุภาษิต 4:25, 26, ฉบับแปลใหม่.
เมื่อระบุเป้าหมายได้แล้ว ขั้นต่อไปคือวิเคราะห์ดูวิธีลงมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น. พระเยซูตรัสถามว่า “ในพวกท่านมีผู้ใดเมื่อปรารถนาจะสร้างป้อม, แล้วจะไม่นั่งลงคิดราคาดูเสียก่อน?” (ลูกา 14:28) ประสานกับหลักการข้อนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตให้ข้อสังเกตไว้ว่า “หนึ่งในบรรดาสิ่งที่ผมได้สังเกตเกี่ยวกับคนที่ประสบผลสำเร็จคือ พวกเขามีความเข้าใจแจ่มชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลในชีวิตของเขา. คนที่ประสบผลสำเร็จเข้าใจว่า หากเขาต้องการอะไรสักอย่างแล้ว เขาต้องทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อจะได้สิ่งนั้น.” การมีความเข้าใจแจ่มชัดเกี่ยวกับทุกขั้นตอนที่จำเป็นต้องทำเพื่อบรรลุสิ่งที่เราต้องการนั้นจะช่วยให้เราจดจ่อ. นั่นจะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับเราด้วยที่จะตั้งตัวใหม่หากเราประสบความล้มเหลว. การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นหลักพื้นฐานของความสำเร็จของออร์วิลล์และวิลเบอร์ ไรต์.
ดังนั้น เมื่อเกิดความล้มเหลว จงพยายามสุดความสามารถที่จะมองดูสภาพนั้นในแง่บวกและถือเป็นประสบการณ์เพื่อเรียนรู้. จงวิเคราะห์สภาพการณ์ สังเกตให้ออกว่าคุณพลาดไปตรงไหน แล้วแก้ไขข้อผิดพลาดหรือปรับปรุงจุดบกพร่อง. เป็นประโยชน์ที่จะพูดคุยกับคนอื่น เนื่องจาก “แผนงานดำรงอยู่ได้ด้วยการปรึกษาหารือ.” (สุภาษิต 20:18, ฉบับแปลใหม่) ตามธรรมดาแล้ว ด้วยความพยายามแต่ละครั้ง คุณพัฒนาความเชี่ยวชาญและทักษะมากขึ้น ซึ่งมีส่วนส่งเสริมความสำเร็จของคุณในที่สุด.
แง่มุมสำคัญประการที่สามของความพากเพียรคือ การกระทำที่เสมอต้นเสมอปลาย. อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนเราว่า “เราได้ก้าวหน้ามาถึงขั้นไหนแล้วก็ตาม จงให้เราดำเนินอย่างมีระเบียบตามแบบแผนเดียวกันนี้ต่อไป.” ฟิลิปปอย 3:16, ล.ม.) ดังที่ผู้ทำงานด้านการศึกษาคนหนึ่งกล่าวไว้ “การรู้จักประมาณและความเสมอต้นเสมอปลายตลอดช่วงเวลาหนึ่งก่อผลที่สำคัญ.” มีการแสดงให้เห็นเรื่องนี้อย่างเหมาะเจาะในนิทานอีสปซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเรื่องเต่ากับกระต่าย. เต่าชนะการแข่งขันถึงแม้ช้ากว่ากระต่ายมาก. เพราะเหตุใด? เพราะเต่าเดินอย่างคงเส้นคงวาและมีวินัย. มันไม่หยุดแต่เลือกอัตราความเร็วที่สามารถรักษาไว้ได้อย่างที่ตรงกับสภาพจริง และยึดอยู่กับความเร็วนั้นจนกระทั่งเข้าเส้นชัย. เนื่องจากบุคคลที่มีระเบียบ คงเส้นคงวา ทำความก้าวหน้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เขาจึงยังคงมีแรงจูงใจต่อไปและด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ที่เขาจะไม่ค่อยหยุดเลิกกลางคันหรือถูกตัดออกจากการแข่งขัน. ถูกแล้ว “จงวิ่ง” อย่างที่คุณจะบรรลุเป้าหมายของคุณ.
(การเลือกเป้าหมายที่คุ้มค่า
แน่นอน เพื่อความพากเพียรจะมีคุณค่า เราต้องมีเป้าหมายที่คุ้มค่า. หลายคนพยายามจะไล่ตามสิ่งที่ไม่ได้นำความสุขมาให้. แต่คัมภีร์ไบเบิลชี้แจงว่า “ผู้ที่เพ่งพิจารณาในกฎหมายอันสมบูรณ์แห่งเสรีภาพ และยึดมั่นอยู่ในกฎหมายนั้น . . . จะเป็นสุขในการปฏิบัติตามกฎหมาย [นั้น].” (ยาโกโบ 1:25, ล.ม.) ถูกแล้ว การศึกษาเพื่อเข้าใจกฎหมายของพระเจ้าดังที่ชี้แจงไว้ในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง. เพราะเหตุใด? โดยพื้นฐานแล้ว เป็นเพราะกฎหมายของพระเจ้าอาศัยมาตรฐานที่สมบูรณ์และชอบธรรมของพระองค์เป็นหลัก. ในฐานะเป็นพระผู้สร้าง พระองค์ทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงสร้างมา. ดังนั้น หากเราเพียรพยายามต่อไปในการเรียนรู้คำสั่งสอนของพระเจ้าและนำมาใช้ในชีวิตของเราแล้ว ความเพียรพยายามเช่นนั้นจะนำความสุขมาให้เราแน่ ๆ. สุภาษิต 3:5, 6 สัญญาว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า . . . จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.”—สุภาษิต 3:5, 6.
นอกจากนี้ พระเยซูตรัสว่า การรับเอาความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระเจ้าและพระเยซู “หมายถึงชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 17:3, ล.ม.) คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้ว่าเรามีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” ของระบบนี้. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.; มัดธาย 24:3-13) ในไม่ช้าราชอาณาจักรของพระเจ้า รัฐบาลที่ชอบธรรมของพระองค์ จะสำแดงอำนาจปกครองเหนือประชากรของแผ่นดินโลก. (ดานิเอล 2:44; มัดธาย 6:10) รัฐบาลนี้จะนำมาซึ่งยุคแห่งสันติภาพ, ความเจริญรุ่งเรือง, และสวัสดิภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อนสำหรับมวลมนุษยชาติที่เชื่อฟัง. (บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11; วิวรณ์ 21:4) กิจการ 10:34 บอกว่า “พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด.” ถูกแล้ว ทุกคนได้รับการเชิญให้รับเอาผลประโยชน์นั้น!
คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือเก่าแก่ที่เต็มด้วยสติปัญญาและความหมาย. การเข้าใจพระคัมภีร์ต้องใช้เวลาและความพยายาม. แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า และถ้าเราเพียรพยายามต่อไปในการแสวงหาความรู้ในพระคัมภีร์แล้ว คัมภีร์ไบเบิลจะเป็นหนังสือที่ให้ประโยชน์แก่เรา. (สุภาษิต 2:4, 5; ยาโกโบ 1:5) เป็นที่ยอมรับว่า การนำสิ่งที่เราเรียนรู้มาใช้อาจเป็นการท้าทาย. เราอาจต้องทำการปรับเปลี่ยนความคิดหรือนิสัยของเรา. เพื่อน ๆ หรือสมาชิกในครอบครัวที่เจตนาดีอาจถึงกับต่อต้านการที่เราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยซ้ำ. ดังนั้น การยืนหยัดต่อไปเป็นสิ่งสำคัญ. อัครสาวกเปาโลเตือนเราให้ระลึกว่าพระเจ้าจะทรงประทานชีวิตนิรันดร์แก่คนเหล่านั้นที่แสดง “ความเพียรอดทนในการงานที่ดี.” (โรม 2:7, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาจะยินดีช่วยคุณให้บรรลุเป้าหมายนี้.
ขอมั่นใจว่าคุณจะประสบความสำเร็จหากคุณพากเพียรในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระทัยประสงค์ของพระองค์แล้วยืนหยัดต่อไปในการนำสิ่งที่เรียนรู้นั้นมาใช้.—บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3.
[ภาพหน้า 6]
คุณจะประสบความสำเร็จหากคุณพากเพียรในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระทัยประสงค์ของพระองค์
[ที่มาของภาพหน้า 4]
Culver Pictures